Home > 3G, Telecom > “ประวิทย์” ยันร่วมพิจารณาบีเอฟเคทีโปร่งใส ชี้มติ กทค. ชุบชีวิตกลุ่มทรู-สวนกฎหมาย

“ประวิทย์” ยันร่วมพิจารณาบีเอฟเคทีโปร่งใส ชี้มติ กทค. ชุบชีวิตกลุ่มทรู-สวนกฎหมาย

“ประวิทย์” แย้งข้อกล่าวหาบีเอฟเคที ยันมีคุณสมบัติครบในการร่วมพิจารณา ไม่เข้าหลักต้องห้ามตามกฎหมาย และที่ประชุม กทค. เป็นฝ่ายตัดสินให้ตนอยู่ร่วมพิจารณากรณีดังกล่าวเอง ย้ำชัด มติที่ประชุมเสียงข้างมากมีปัญหา จะทำวงการโทรคมนาคมป่วน ชี้กระแสข่าวโจมตีมาจากภายในองค์กร กสทช. เอง เพราะมีคนร้อนตัวกลัวความผิด

ตามที่ปรากฏข่าวว่า บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งหนังสือถึง พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อขอคัดค้านการเข้าประชุมของนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะกรรมการ กทค. ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2556 เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ บริษัท บีเอฟเคที กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทเห็นว่านายประวิทย์ไม่เป็นกลาง จากกรณีที่มีการให้ข่าวก่อนหน้านั้นในแนวทางว่าบริษัทกระทำผิดกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม

นายประวิทย์เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่ได้เห็นในที่ประชุมพร้อมกับ กทค. ท่านอื่นๆ โดยประธาน กทค. เป็นผู้แจ้งให้ทราบและทำสำเนาแจก รวมทั้งมีการขอหารือว่าควรทำอย่างไร ตนจึงเสนอว่า เมื่อหนังสือส่งถึงประธาน และประธานนำมาแจ้งที่ประชุมแล้วก็ควรให้ที่ประชุมวินิจฉัยตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หากเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงทำให้การพิจารณาขาดความเป็นกลาง ตนก็ยินดีออกจากที่ประชุม แต่ในที่สุดที่ประชุมก็เพียงมีมติรับทราบคำค้านของบริษัท และให้ตนร่วมพิจารณาต่อไปได้

“ตาม พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มีการกำหนดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐห้ามพิจารณาทางปกครองไว้ในมาตรา 13 โดยกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ก็คือ (1) เป็นคู่กรณีเอง (2) เป็นคู่หมั่นหรือคู่สมรสของคู่กรณี (3) เป็นญาติของคู่กรณี (4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี (5) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี (6) กรณีอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง คุณสมบัติของผมไม่เข้าตามนี้อยู่แล้ว แต่มีอีกมาตราที่กำหนดคือมาตรา 16 ได้บัญญัติห้ามหากเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองนั้น “มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง” ซึ่งผมไม่คิดว่า การให้ความเห็นหรือให้ข่าวจะเข้าข่ายเป็นสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่ผมก็ไม่ได้ตัดสินเอง ให้ที่ประชุม กทค. ตัดสิน แต่ที่ประชุมก็เห็นว่าผมไม่จำเป็นต้องออกจากที่ประชุม”

ส่วนเรื่องการพิจารณากรณีที่เป็นประเด็นปัญหานั้น นายประวิทย์เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค. ได้ใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างยาวนาน โดยที่ส่วนใหญ่เป็นประเด็นความเห็นทางกฎหมาย รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ จึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ควรจะส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ให้ความเห็น เพื่อความชัดเจน ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ กทค. ที่เหลือต้องการพิจารณาลงมติกันเอง และในที่สุดก็มีการพิจารณาตามประเด็นที่สำนักงานเสนอก่อน คือพิจารณาว่ากรณีเป็นการประกอบกิจการหรือไม่ ซึ่งเมื่อที่ประชุมมีมติโดยเสียงข้างมากว่ากรณีไม่เป็นการประกอบกิจการ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อไปว่าจะต้องแจ้งความหรือไม่

“ผมต้องสงวนความเห็นแตกต่างจากที่ประชุม เพราะหากถือว่า บีเอฟเคทีไม่ได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม บรรทัดฐานเรื่องการประกอบกิจการและการกำกับดูแลก็จะมีปัญหาแน่นอน นอกจากนี้ผมพิจารณาจากรายงานของคณะทำงานและเลขาธิการ กสทช. แล้ว ต่างก็เห็นว่ากรณีนี้เป็นการประกอบกิจการ รวมทั้งผมได้ปรึกษาผู้ทรงวุฒิหลายๆ ทางต่างก็เห็นตรงกันหมด และที่ให้ข่าวล่วงหน้าก็เพราะอยากให้สังคมได้มีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของ กทค. ด้วย เพื่อที่การใช้ดุลพินิจจะอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ ยึดหลักเหตุผลและข้อกฎหมาย มากกว่าจะมีธงล่วงหน้าแล้วพยายามขมวดเรื่องให้ออกมาในแนวทางที่ต้องการ ผมเองไม่ได้มีธงก่อน แต่มีธงหลังการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว แต่เมื่อที่ประชุม กทค. เห็นว่าไม่ใช่ ก็เป็นอันยุติตามนี้ เพราะองค์อำนาจในการชี้ขาดเรื่องนี้ก็คือ กทค.”

อย่างไรก็ดี นายประวิทย์ย้ำว่า เขาคิดว่าดุลพินิจของ กทค. มีปัญหา โดยเฉพาะยิ่ง ก่อนหน้านั้น กทค. ก็เคยมีมติสั่งให้ กสท. และ บีเอฟเคที แก้สัญญาในประเด็นตามมาตรา 46 พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เกี่ยวกับประเด็นการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการ ซึ่งกฎหมายห้ามการประกอบกิจการแทนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาแล้ว ดังนั้นมติของ กทค. จึงขัดแย้งกันเอง และมติคราวนี้ก็ส่งผลช่วยกู้ชีพกลุ่มทรูมูฟโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัย

“ช่วงนี้มีข่าวโจมตีผมมาก ทั้งในเรื่องบีเอฟเคทีและเรื่องการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 ผมไม่แปลกใจ เพราะการสรุปเรื่องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในแนวของผมไม่เป็นคุณกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องนัก ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ที่แปลกคือ ผมเช็กแล้วพบว่าการเล่นงานผมจริงๆ แล้วมาจากภายใน กสทช. เอง มิใช่จากผู้ประกอบการหรือสังคมภายนอก จึงชวนให้คิดว่าเป็นเพราะคนทำผิดกำลังดิ้นรนเพื่อทำลายพยานหรือเปล่า หรือเพราะว่าแกะขาวอย่างผมไปขับให้เห็นสีดำเด่นชัด จึงมีคนเดือดร้อน” นายประวิทย์กล่าวในที่สุด

View :1288

Related Posts

Categories: 3G, Telecom Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.