Home > 3G > อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเตือนผู้ให้บริการ๓จี มาตรฐานความเร็วในการส่งข้อมูลต้องไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ เค

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเตือนผู้ให้บริการ๓จี มาตรฐานความเร็วในการส่งข้อมูลต้องไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ เค

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เผย บริษัทยังทำผิดเงื่อนไขใบอนุญาต เหตุเพราะโปรโมชั่น กำหนดค่าเอฟยูพี ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ใน ประกาศ กสทช. คือต้องไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ กิโลบิตต่อวินาที หลังพบ แจ้งมาตรฐานความเร็วขั้นต่ำที่ผู้บริโภคได้รับตกลงเหลือเพียง๖๔ กิโลบิตต่อวินาทีเท่านั้น พร้อมหนุน กสทช. เร่งรัดบริษัทลดค่าบริการให้ได้ร้อยละ ๑๕

(๒๐ พ.ค.๕๖) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการหารือกันเกี่ยวกับบริการ ๓จี ในหลายประเด็น ซึ่งที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนการดำเนินการของ กสทช กรณีเร่งรัดเพื่อให้เกิดการลดค่าบริการ ๓ จีลงร้อยละ ๑๕ ให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ยังพบว่าผู้ให้บริการยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ ๓ ในประเด็นคุณภาพการให้บริการและการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการควบคุมคุณภาพบริการให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุว่า ความเร็วเฉลี่ยในการส่งข้อมูลของบริการ ๓จี ต้องไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ กิโลบิตต่อวินาที
“จากข้อมูลโปรโมชั่นของผู้ให้บริการพบว่า อัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลต่ำกว่าที่กำหนดตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือความเร็วในการดาวน์โหลดต้องไม่ต่ำกว่า ๓๔๕ กิโลบิตต่อวินาที และความเร็วในการอัปโหลดต้องไม่ต่ำกว่า ๑๕๓ กิโลบิตต่อวินาที แต่จากรายการส่งเสริมการขายใหม่เพื่อให้บริการ๓จี พบว่าได้กำหนดอัตรารับรองในการรับส่งข้อมูลขั้นต่ำนั้นต่ำลงกว่าเมื่อครั้งเป็นบริการ ๒G คือ อัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลขั้นต่ำเหลือเพียง ๖๔,๑๒๘และ ๒๕๖ กิโลบิตต่อวินาที เท่านั้น” อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว

ดร.เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นว่า ควรมีการกำหนดมินิมัมแพ็คเกจ ที่เป็นมาตรฐานไว้และหากพบว่ามีการใช้บริการเกินกว่ามิติมัมแพ็คเกจ ก็ควรมีการแจ้งเตือนกันผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

“ผู้ให้บริการควรมีการแจ้งเตือนเรื่องค่าใช้จ่ายการใช้บริการ เช่นในต่างประเทศ หากการใช้บริการของผู้ใช้บริการมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบผันผวนเช่น ใช้มากกว่าปกติไป ๒ ถึง ๓ เท่าตัว จะต้องแจ้งผู้ใช้บริการทราบ เพื่อเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคแบบอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับประเทศไทยพบว่า มีบางบริษัทที่โทรสอบถามลูกค้าหากมีการใช้บริการที่มากผิดปกติ ซึ่งควรทำให้เป็นมาตรฐานเป็นการทั่วไป “ ดร.เดือนเด่นกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการ ๓จีประสบปัญหาโดยรวมคือ กรณีโปรโมชั่นเดิม หรือลูกค้ารายเดิมที่เคยใช้บริการ๓จีภายใต้โครงข่าย ๒จี นั้นพบว่า มีการลดค่าบริการให้จริง แต่บริษัทมิได้แจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้บริการทราบ เช่น ลดค่าบริการให้ลูกค้าจาก ๖๙๙ บาทเหลือ ๔๙๙ บาท แต่ไม่แจ้งสิทธิประโยชน์ให้ทราบ ,ลดค่าบริการให้จริงแต่ก็ลดสิทธิประโยชน์ลงด้วย เช่น เคยใช้บริการเสียงได้ ๔๐๐ นาทีถูกลดเหลือ ๓๐๐ นาที , หรือยังไม่ดำเนินการลดค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการเลย

รวมถึงการไม่โอนย้ายเงินคงเหลือในระบบให้ใน กรณีการโอนย้ายบริการจาก ๒ จีไป๓จี ของผู้ใช้บริการระบบเติมเงิน หรือกรณีการโอนย้ายเครือข่ายแล้วไม่สามารถใช้บริการไม่ได้ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการโอนย้ายไปผู้ให้บริการรายใหม่ แต่บริษัทไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่าต้องอยู่กับผู้ให้บริการรายเดิม ๙๐ วัน ซึ่งประกาศ กสทช. ไม่เคยกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องกับอยู่ผู้ให้บริการรายเดิม ๙๐ วัน แต่ผู้ใช้บริการสามารถโอนย้ายเครือข่ายเมื่อใดก็ได้ ,ปัญหาความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ เช่นมีการประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีการให้บริการในพื้นที่นั้น เป็นต้น

View :1174

Related Posts

Categories: 3G Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.