Home > 3G > NBTC Policy Watch ชี้ มาตรการขยายระยะเวลาคลื่น 1800 MHz ละเมิดกฎหมาย และเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค

NBTC Policy Watch ชี้ มาตรการขยายระยะเวลาคลื่น 1800 MHz ละเมิดกฎหมาย และเป็นการเยียวยาผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้แถลงรายงานศึกษาในหัวข้อ “ขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz: เพื่อผู้บริโภคหรือเพื่อใคร?”

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการ และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า กรณีการหมดอายุสัมปทานของคลื่น 1800 MHz ซึ่งบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ดีพีซี) ได้รับสัมปทานมาจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (กสท) ในเดือนกันยายนนี้ หากพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะพบว่า คลื่นดังกล่าวจะต้องกลับคืนมาสู่มือสาธารณะในฐานะทรัพยากรสื่อสารของชาติ และนำไปจัดสรรใหม่โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผ่านระบบใบอนุญาตด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้น การที่ กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ….. (ประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ) ซึ่งมีใจความสำคัญที่การขยายระยะเวลาให้บริการบนคลื่นที่จะหมดอายุสัมปทานต่อไปเป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าเป็นการเยียวยาผู้บริโภคจากเหตุการณ์ “ซิมดับ” จึงไม่สามารถทำได้ตามฐานอำนาจทางกฎหมาย และถือเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานซึ่งขาดความโปร่งใสและสร้างกฎกติกาในการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ไปสู่ระบบใบอนุญาตซึ่งโปร่งใสและส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมมากกว่า

นายวรพจน์ชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว กสทช. โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รับรู้ถึงภารกิจในการจัดการให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตของคลื่น 1800 MHz เป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา ตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2554 (มีเวลาเกือบ 2 ปี) หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในต้นเดือนเมษายน 2555 (มีเวลาเกือบ 18 เดือน) ดังนั้น กทค. จึงมีเวลาเตรียมตัวเพียงพอสำหรับ 1) การจัดตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน 2) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน 3) ขยายขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (mobile number portability หรือการย้ายค่ายเบอร์เดิม) รวมถึงเพิ่มช่องทางในการขอใช้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม (เช่น ผ่านเอสเอ็มเอสหรือเว็บไซต์) และ 4) จัดประมูลให้ทันล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่สามารถให้บริการรองรับลูกค้าคงค้างได้อย่างต่อเนื่อง หรือไม่เกิดเหตุการณ์ “ซิมดับ” ทว่า กทค. กลับละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ทำสิ่งที่กล่าวมาจนล่วงเลยสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ซึ่งทำให้ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันจนนำไปสู่มาตรการขยายระยะเวลา

นายวรพจน์กล่าวต่อว่า ที่จริงแล้ว กทค. สามารถพิจารณาแนวทางอื่นๆ ที่ทั้ง “เยียวยาผู้บริโภค” และ “ไม่ละเมิดกฎหมาย” ไปพร้อมๆ กัน เช่น การนำคลื่น 1800 MHz ในช่วงคลื่นที่ยังว่างอยู่ ซึ่งดีแทคทำสัญญากับ กสท มาใช้รองรับลูกค้าคงค้างเป็นการชั่วคราว ทว่า กทค. กลับไม่เคยสำรวจความเป็นไปได้ของทางเลือกดังกล่าว นายวรพจน์ชี้ว่า การที่ กทค. ไม่สามารถดำเนินการจัดประมูลล่วงหน้าทั้งที่มีเวลาพอเพียง และการไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของแนวทางที่อาจช่วยเยียวยาผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับรักษาเจตนารมณ์ในกฎหมาย ย่อมทำให้อดตั้งข้อกังขาไม่ได้ว่า มาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่นดังกล่าวอาจไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การเยียวยาผู้บริโภค (เพราะผู้บริโภคไม่เสียหายอะไรตราบเท่าที่แนวทางที่ใช้สามารถทำให้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง) แต่เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการรายเดิมจากการสูญเสียฐานลูกค้ามากกว่า โดยผู้ประกอบการรายเดิมอย่างทรูมูฟและดีพีซีสามารถยืดเวลารักษาฐานลูกค้าของตนบนคลื่น 1800 MHz ออกไปได้ (โดยเฉพาะทรูมูฟซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 17 ล้านราย) อีกทั้งอาจได้ประโยชน์จากการไม่ต้องเสียค่าสัมปทานร้อยละ 30 ของรายได้ให้กับ กสท ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท (เพราะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปแล้ว) รวมถึงอาจไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เกือบร้อยละ 6 ของรายได้ให้กับ กสทช. (เนื่องจากไม่ใช่เป็นการให้บริการในระบบใบอนุญาต)

นายวรพจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สังคมมีราคาต้องจ่ายจากมาตรการขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz นั่นคือ โอกาสในการสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โอกาสในการสร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม โอกาสที่ประเทศชาติเสียไปจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร และโอกาสที่ผู้บริโภคเสียไปจากการได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ อย่าง 4G ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้น กทค. ไม่ควรใช้มาตรการขยายเวลาโดย “จับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน” ทั้งที่เป็นความผิดพลาดในการดำเนินงานของตนเอง และ กทค. ต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเยียวยาผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการกันแน่

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.nbtcpolicywatch.org

View :1325

Related Posts

Categories: 3G Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.