Home > Article > มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขไทย

มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขไทย

โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกสบาย ความถูกต้องแม่นยำ และความรวดเร็ว ซึ่งด้านการสาธารณสุขก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลได้มีการปรับเปลี่ยนระบบภายในต่างๆ จากระบบในรูปแบบกระดาษมาเป็นระบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เวชระเบียน ซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ที่ใช้บันทึกและรวบรวมประวัติของผู้ป่วย ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการรักษา และประวัติการแพ้ยา โดยโรงพยาบาลมีการจัดเก็บเอกสารเวชระเบียนให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยการส่งข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์ระหว่างโรงพยาบาลในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยเกิดขึ้น

โรงพยาบาลในประเทศไทยมีการจัดเก็บเวชระเบียนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากความสะดวกในการค้นหา และสามารถเรียกดูเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยวิธีการออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีการจัดเก็บเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่โรงพยาบาลประสบปัญหาในการรับส่งข้อมูลในกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีระบบสารสนเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลที่ส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทำให้โรงพยาบาลที่รับการส่งต่อต้องเสียเวลาในการแปลงข้อมูล หรือต้องติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลที่ไม่สามารถอ่านได้ ซึ่งหากปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาอย่างรุนแรง อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เพียงเพราะโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อไม่สามารถอ่านข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งทำให้ไม่ทราบข้อมูลการรักษาที่ควรระวังเป็นพิเศษ

จากปัญหาดังกล่าว มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพจึงถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการ การรับส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เพื่อให้ทุกระบบในโรงพยาบาลสามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งนี้ การสร้างมาตรฐานของข้อมูลไม่ได้เป็นการบังคับให้ทุกโรงพยาบาล ต้องมีระบบการเก็บข้อมูล และระบบการทำงานที่เหมือนกันทุกประการ ตรงกันข้าม การกำหนดมาตรฐานของข้อมูลให้ถือปฏิบัติเหมือนกัน เป็นการให้อิสระแก่หน่วยงานแต่ละแห่งในการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ผลสุดท้าย ทุกโรงพยาบาลจะบันทึกข้อมูลด้วยรหัสที่มีความหมายอย่างเดียวกัน และจัดรวบรวมตัวแปรต่างๆ ที่กำหนดในข้อมูลชุดที่เป็นมาตรฐานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

Health Level Seven (HL7) เป็นมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นมาตรฐานที่ไม่เฉพาะเจาะจง ถูกออกแบบมาเพื่อตีกรอบกว้าง โดยแต่ละโรงพยาบาลสามารถปรับลักษณะให้เหมาะสมกับกระบวนการทำงานของตัวเองที่ต่างกันได้ โดยสามารถกำหนดภาษา โครงสร้าง และชนิดข้อมูลที่จำเป็นในการบูรณาการ เพื่อให้ข้อมูลถูกส่งต่อจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่งได้อย่างราบรื่น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในงานบริหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กร (Administrative) หรือการบริหารงานด้านสุขภาพการแพทย์ (Health and Clinical) ได้

มาตรฐาน HL7 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีเวอร์ชั่น 3 เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด เรียกว่า HL7 V3 โดยมีการกำหนดรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการสร้างวัตถุข้อมูลของ HL7 ให้ใช้ภาษา XML (Extensible Markup Language) เพื่อเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการระหว่างระบบหรือองค์กร (Interoperability) ให้เป็นไปได้อย่างสะดวกราบรื่น แต่เนื่องจาก HL7 มีนโยบายการพัฒนามาตรฐานที่ยืดหยุ่นได้ ดังนั้นในอนาคตถ้ามีเงื่อนไขการใช้งานอื่นๆ ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการเก็บชุดข้อมูลได้
ปัจจุบันมีประเทศที่นำมาตรฐาน HL7 ไปใช้และเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 55 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศหลักที่มีบทบาทในการประยุกต์ใช้และส่งเสริมเผยแพร่ HL7 ได้แก่

ประเทศแคนาดา ได้รับการสนับสนุนจาก HL7 Canadian Constituency ซึ่งอยู่ภายใต้ Canadian Health Infoway Standards Collaborative โดยการมีส่วนร่วมกับ HL7 ของแคนาดาส่วนมากอยู่ในรูปของการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับ HL7 ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เช่น การเป็นพันธมิตรกับองค์กร HL7 International การให้คำตอบและข้อมูลแก่ HL7 international การสนับสนุนการประชุมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับ HL7 การดำเนินการและจัดการ forum ที่เกี่ยวกับ HL7 เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการประยุกต์ใช้ HL7 ที่เป็นที่รู้จักดีคือการใช้มาตรฐาน HL7 ในระบบ Prince Edward Island’s drug information system (DIS) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลยาที่จัดเก็บภายใต้มาตรฐาน HL7

ประเทศฟินแลนด์ สำนักงานประกันสังคม (Social Insurance Institution) ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพและสวัสดิการของประเทศในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยยึดตามมาตรฐาน HL7 โดยให้ชื่อระบบฐานข้อมูลว่า KanTa ซึ่งระบบจะมีรายละเอียดของข้อมูลการสั่งจ่ายยาทางอิเล็กทรอนิกส์ และร้านขายยาทั้งหมดในฟินแลนด์ โดยประชาชนในประเทศสามารถล็อกอินเข้าไปในระบบผ่านอินเทอร์เน็ตและใช้ authentication service ทำการระบุตัวตนเพื่อดูข้อมูลของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้สองวิธี คือ

- ใช้ระบบการระบุตัวตนที่ควบคุมโดยรัฐบาล
- ใช้ระบบการระบุตัวตนเดียวกับที่ใช้กับระบบ online banking

ระบบการระบุตัวนี้เป็นการรักษาความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการขโมยข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งระบบฐานข้อมูล KanTa ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านสาธารณสุขของประเทศฟินแลนด์เป็นอย่างมาก นอกจากผู้ป่วยสามารถดูประวัติการรักษาและข้อมูลการสั่งจ่ายของแพทย์ได้แล้ว ด้วยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับร้านขายยาทั้งประเทศทำให้สามารถควบคุมการซื้อยาของผู้ป่วยในประเทศ และยังสามารถใช้ควบคุมการใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลของประชาชนในประเทศได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน อินเดีย เกาหลี เป็นต้น ได้มีการนำมาตรฐาน HL7 มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน และจัดเก็บข้อมูลสุขภาพให้มีความราบรื่นและประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. มีภารกิจในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นรหัสยามาตรฐานไทย หรือมาตรฐาน HL7 โดยในอนาคต สพธอ. จะร่วมมือกับศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษามาตรฐานข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะด้าน Health Informatics และมาตรฐาน HL7 ในการสนับสนุนการจัดสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ

ทั้งนี้การมีมาตรฐานด้านข้อมูลสุขภาพที่ใช้ได้จริงในระดับประเทศจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการมีมาตรฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่ง สพธอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชาได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง:

View :1373

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.