Home > Press/Release > สามารถ อินโนเวชั่น อวอร์ด ดันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ “ หนุนการท่องเที่ยว ”

สามารถ อินโนเวชั่น อวอร์ด ดันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ “ หนุนการท่องเที่ยว ”

3 หนุ่ม ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คว้าถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ และรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ในโครงการ ครั้งที่ 8 ด้าน “ สามารถ ” พร้อมผลักดันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จับมือ สวทช.และ ททท.เปิดตัวโครงการประกวดในปีที่ 9 เน้นแอพพลิเคชั่น Travel & Leisure เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง โครงการแข่งขันประกวดออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ SAMART Innovation Awards ปี 2010 ว่า “ จากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่โครงการฯ ได้สร้างความภาคภูมิใจ และความคึกคักให้กับการประกวดมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 200 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอย่างเข้มข้นถึง 3 รอบ ท้ายสุดมี 15 ผลงานที่ได้รับรางวัล โดยรางวัลสูงสุด Gold Award 1 รางวัล ได้แก่ทีม iSightAd จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สามารถคว้าถ้วยพระราชทานและรางวัลชนะเลิศประเภท Mobile Application ไปครอง โดยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการนำโปรแกรม QR Code มาใช้เป็นสื่อโฆษณาเคลื่อนไหว (VDO ) ที่สามารถวัดจำนวนผู้ชมสื่อโฆษณาในแต่ละที่ได้ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่จะสามารถผลักดันให้เข้าสู่ตลาดได้

ส่วน Silver Award มี 4 รางวัล ได้แก่ 1. ผลงานการประยุกต์ใช้โทรศัพท์มือถือแอนดรอยในระบบโลจิสติกส์ (Apply android phone in logistics) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. สารานุกรมเคลื่อนที่แบบเติมความเป็นจริง ( Mobile Augmented Reality Encyclopedia) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 3. ระบบเลือกแว่นและบริหารจัดการร้านขายแว่นตาแนวใหม่ Emergency Mobile Service และ 4. ระบบแจ้งเหตุที่ลดอันตรายและการสูญเสีย สำหรับรางวัลอื่นๆ Bronze Award มี 6 รางวัล และชมเชย มี 4 รางวัล ”

โครงการ SIA 2011 (ครั้งที่ 9) ยังคงความเข้มข้นและท้าทายสำหรับผู้ที่มีฝีมือด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดย หัวข้อในการประกวด คือ TRAVEL & LEISURE เพื่อเฟ้นหาซอฟต์แวร์แอพริเคชั่นเด็ดๆ ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท และปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ การนำเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์มาใช้ในการยกระดับคุณภาพบริการ เพิ่มความรวดเร็ว สะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารให้แก่นักท่องเที่ยว

“ แม้จะมีซอฟต์แวร์ที่ดีเพียงใดแต่ถ้าไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และไม่มีดีมานด์ในตลาด การพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นๆ ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ ดังนั้น จากนี้ไป การประกวด Samart Innovation ในแต่ละปีจะมีการกำหนดหัวข้อการประกวด เพื่อสรรหาซอฟต์แวร์แอพลิเคชั่นที่เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม เริ่มต้นจากการท่องเที่ยวในปีนี้ โดยทางโครงการฯ ได้รับเกียรติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนข้อมูลความต้องการในการใช้ซอฟต์แวร์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และร่วมเป็นคณะกรรมการในการตัดสินผลงานอีกด้วย
นายชัยสงค์ ชูฤทธิ์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ ททท. พร้อมให้การสนับสนุนโครงการ Samart Innovation Awards อย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ในการพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นที่สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็น นักท่องเที่ยว จากทั่วโลก และยังสามารถต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ ผู้ประกอบการ ซึ่งในท้ายที่สุด ก็จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาพรวม ”
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกล่าวว่า “ ปัจจุบันความต้องการในตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีมาก แต่จำนวนนักพัฒนายังมีน้อย การเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้แสดงฝีมือ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการส่งเสริมด้านการพัฒนาคน ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เห็นเยาวชนไทยมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยม ผ่านเวทีประกวด Samart Innovation Awards นี้ ซึ่งภาครัฐเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเสริมความรู้ผ่านโครงการต่างๆ ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ของ สวทช . เอง หรือการสนับสนุนเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ด้านข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ ที่เรียกว่า Traffy API ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ NECTEC รวมถึงแผนสนับสนุนของทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ที่กำลังจะจัดตั้ง Mobile Testing Center เพื่อเป็น Lab Test อุปกรณ์หรือเครื่องโทรศัพท์ ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ทดสอบผลงานของตน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องทดสอบ รวมถึงระบบปฏิบัติการที่ไม่สามารถลงทุนจัดซื้อได้เอง ซึ่งเมื่อศูนย์นี้เสร็จแล้วก็จะทำให้การสร้างผลงานของผู้เข้าประกวดทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ”

นายเจริญรัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ กลุ่มบริษัทสามารถ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กลับคืนมาสู่ประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่เรามุ่งเน้นในปี 2011 นี้ เราไม่ได้จัดประกวด Samart Innovation Awards เพียงเพราะต้องการทำตามกระแสของ CSR ที่ใครๆ ก็พูดถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่เรามีความเชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาส สร้างความรู้ และความเชื่อมั่นให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์คนไทยที่มีฝีมือต่อไป ผู้สนใจโครงการฯ สอบถามหรือแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้ที่ www.samartsia.com และ www.facebook.com/Samart-Innovation”

View :1253

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.