Home > Press/Release > ก.ไอซีที เร่งผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ หวังเพิ่มมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ก.ไอซีที เร่งผลักดันนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ หวังเพิ่มมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติตามที่กระทรวงฯ เสนอเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553ที่ผ่านมา ซึ่งในนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติได้มีการวางเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของคณะกรรมการธุรกรรม
ทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อ GDP ขึ้นเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2558

ดังนั้น คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไว้ 4 แนวทาง คือ 1.ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับบรอดแบนด์ เช่น ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตโปรแกรมประยุกต์ ผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 2.พัฒนายกระดับบุคลากรผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศและโครง ข่ายทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 3.กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบเชิงลบและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ บริการบรอดแบนด์อย่างแพร่หลาย โดยการสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในการป้องกันอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และ 4.สร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน ภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของประเทศเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ

“ใน การดำเนินงานตามแนวทางทั้ง 4 นั้น คณะกรรมการฯ ได้กำหนดภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังจะจัดตั้งขึ้น คือ สำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สธอ.)และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)(สพธ.)
นำไปปฏิบัติ โดย สธอ.มีภารกิจในการจัดทำนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
การติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์ในการทำธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการจัดทำคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ และระบบขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบอิสระด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ จัดทำมาตรการป้องกันผลกระทบเชิงลบและภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ( CIO )ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวกับแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศในเชิงบริหาร รวมถึงการติดตามและประเมินผล

ขณะ ที่ สพธ. มีภารกิจในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากบรอดแบนด์ในการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัย ของระบบสารสนเทศ และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบเชิง ลบด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นให้แก่
ทุกภาคส่วน รวมถึงกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศเชิงปฏิบัติการให้กับ
บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในเชิงปฏิบัติการด้วย” นางจีราวรรณฯ กล่าว

สำหรับ การจัดตั้ง สพธ. นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 โดย สพธ. จะทำหน้าที่พัฒนาและขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เห็นผลเป็น รูปธรรม ซึ่งบทบาทและภารกิจต่างๆ จะต้องสอดคล้องตามแผนและนโยบายของกระทรวงฯ และแผนระดับประเทศ ส่วน สธอ.นั้นเป็นส่วนราชการภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการ สื่อสาร ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและทิศทางการดำเนินงานด้านธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะทำงานสอดประสานกันภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจในระดับนโยบายและกำกับดูแลทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว

View :1573

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.