Home > Press/Release > กสทช. เปิดแหล่งสืบค้นและวิเคราะห์สิทธิบัตรทั่วโลก สำหรับ R&D และนวัตกรรมไทย พร้อมสร้างมูลค่าให้ธุรกิจไทยในอนาคต

กสทช. เปิดแหล่งสืบค้นและวิเคราะห์สิทธิบัตรทั่วโลก สำหรับ R&D และนวัตกรรมไทย พร้อมสร้างมูลค่าให้ธุรกิจไทยในอนาคต

สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้)สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน )  เปิดแหล่งข้อมูล สืบค้นและวิเคราะห์สิทธิบัตรทั่วโลก เพื่อง่ายต่อบุคลากร หน่วยงานที่ต้องการศึกษา ค้นคว้าถึงงานด้านสิทธิบัตรจากทั่วโลก ในกลุ่มนวัตกรรม โทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ซึ่งเป็นถือเป็นภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายใหม่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงาน โดยได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบสิทธิบัตรตามกฎหมาย มุ่งเน้นสร้างเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย
 

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมและกิจการโทรคมนาคม ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงาน กสทช. มาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาทริดี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งภายหลัง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกาศใช้ ภารกิจในด้านนี้ยังคงอยู่และยังคงได้รับการสนับสนุนเช่นเดิม ดังนั้นเมื่อนักวิจัยไทยที่มีศักยภาพสร้างสรรค์ผลงานวิจัยใหม่ขึ้นมา เราควรให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นประโยชน์ของประเทศที่ในอนาคตผลงานต่าง ๆ เมื่อได้รับการต่อยอด อันจะส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศในด้านอุตสาหกรรม โทรคมนาคม โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงของประเทศ และยังสามารถสร้างรายได้ เม็ดเงินที่จะเข้าประเทศต่อไปในอนาคต ดังนั้นการได้รับการคุ้มครองในด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่นการจดสิทธิบัตรของทางสำนักงาน กสทช. จึงจัดตั้งแหล่งสืบค้นและวิเคราะห์สิทธิบัตรทั่วโลกเอาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้นักวิจัยสามารถมาสืบค้นก่อนได้ ถึงข้อมูลต่าง ๆ และวิเคราะห์ในด้านผลงานที่จะคิดค้นขึ้นมาใหม่หรือต่อยอดได้ในอนาคต

 

ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ ทริดี้ได้ปฏิบัติงานมากว่า 4 ปี ได้ดำเนินงานในด้านสร้างบุคลากร ผลงาน สนับสนุนทั้งในส่วนขององค์กร หน่วยงาน ที่ต้องการให้ทริดี้เขาสนับสนุน ทำให้เราพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยไทยมีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ไม่แพ้นานาชาติ ดังนั้น สำนักงาน กสทช. จึงไม่เพียงแต่สนับสนุนการจดสิทธิบัตรในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนให้เกิดความคุ้มครองในระดับนานาชาติ โดยได้จัดตั้งแหล่งสืบค้นและวิเคราะห์สิทธิบัตรทั่วโลกที่อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาทุน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้บริการได้ นอกจากนี้ การสืบค้นสิทธิบัตร ทำให้สามารถทราบข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มงานวิจัย หรือกำหนดทิศทางวิจัย รวมทั้งสามารถใช้ประกอบการเขียนข้อเสนอโครงการขอทุนต่างๆ ได้อีกด้วย

“การบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญามีความสาคัญมากสำหรับผู้คิดค้น นักวิจัย และระบบเศรษฐกิจของประเทศ  โดยเป็นการกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์และนักธุรกิจลงทุนวิจัยได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงการนั้นๆและเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ที่มีมูลค่าเพิ่มมหาศาลในเชิงธุรกิจ โดยวิธีการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเริ่มตั้งแต่การทาวิจัยในห้องปฏิบัติการไปถึงการพัฒนาเพื่อนำเข้าสู่ตลาด ซึ่งการสืบค้นเอกสารสิทธิบัตรเป็นขบวนการแรกเริ่มและเป็นรากฐานที่สาคัญในการเข้าถึงการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับประเทศไทยการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและที่เกี่ยวข้องยังมีไม่มากเท่าที่ควรซึ่งอาจเป็นเพราะความยุ่งยากในกระบวนการ ซึ่งส่งผลต่อการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ซึ่งยังมีไม่มากเท่าที่ควร”

ดังนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงาน กสทช. ที่ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนากิจการโทรคมนาคมโดยรวมของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ การสืบค้นเอกสารสิทธิบัตร ” ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นนักวิจัย บุคคลที่สนใจให้เห็นความสาคัญของการบริหารและจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและได้ทราบวิธีการ เทคนิค ตลอดจนได้ฝึกทักษะการสืบค้นสิทธิบัตรให้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อนักวิจัยในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย โดยหากเกิดกระแสความสนใจของกลุ่มนักวิจัย ผู้ผลิตคิดค้นผลงานใหม่ในด้านโทรคมนาคม โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงเป็นจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในภาพรวมของประเทศในระยะยาว โดยวันนี้เราควรต้องร่วมมือในการสร้าง สนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้เกิดบุคลากรที่มีคุณภาพ สร้างผลงานที่ได้ศักยภาพ และเกิดมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ผ่านรากฐานที่แข็งแกร่งจากแหล่งศึกษาข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เราลดการนำเข้า สร้างผลงานเองได้ ใช้ผลผลิตเองได้จากในประเทศในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน ดร.สุพจน์ กล่าวสรุป

View :1271

Related Posts

Categories: Press/Release Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.