Home > Press/Release > 3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

สวทช.// เดินหน้าความร่วมมือการจัดการข้อมูลงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เร่งด่วนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูลภาพรวมงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ มีประโยชน์ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากร วางนโยบาย และการใช้ประโยชน์

เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีพิธีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังที่จะบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีความเข้มแข็งในสาขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ สวทช. มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ นำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สำหรับ วว. มีการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน ส่วนอพวช. มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างต้นแบบที่พบครั้งแรกในโลก

“การบรูณาการข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 100,000 ข้อมูล โดยจะมีการประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท ดูสถานภาพการแพร่กระจาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธุ์ มีกลไกการประเมินศักยภาพ ตลอดจนการตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อแสดงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2554 ” ดร.วีระชัย กล่าว

ผลที่ตามมาจากการทำฐานข้อมูล จะทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในรูปแบบมาตรฐานสืบค้นได้ง่าย ข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้นการเข้าถึง มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทำให้ประเทศมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลก

ด้าน ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อความรู้และข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการ และวางนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานต่อไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ของประเทศในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้

View :1400

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.