Home > Press/Release > 9 หน่วยงาน ก่อตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ หรือ Mobile Technology for Thailand (MT2 )

9 หน่วยงาน ก่อตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ หรือ Mobile Technology for Thailand (MT2 )

ภาครัฐ เอกชน การศึกษา รวมพลังตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ จับมือสร้างซอฟต์แวร์มือถือไทย สร้างมิติใหม่เปิดกว้างการเข้าร่วม หวังทุกองค์กรส่งแผนคืนสู่สังคม เชื่อเกิดกระแสสร้างมาตรฐานใหม่รับสมาร์ทโฟนเติบโต

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกลุ่มเอ็มทีสแควร์ กล่าวว่า ทริดี้เห็นโอกาสและแนวโน้มตลาดแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรรวม 9 หน่วยงาน ก่อตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ หรือ Mobile Technology for Thailand ( ) ขึ้น เพื่อหาความร่วมมือรูปแบบใหม่ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์มือถือให้กับนักพัฒนาในประเทศไทย รวมถึงการระดมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จากองค์กรสมาชิกให้เป็นในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ในช่องทางที่ถูกต้อง

จุดสำคัญของการตั้งกลุ่ม MT2 ขึ้นในครั้งนี้คือ การร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากในกลุ่มจัดตั้งแรกเริ่มได้คัดเลือกกลุ่มที่มีความหลากหลายและเป็นตัวแทนของทั้งอุตสาหกรรม นั่นคือ มีทั้งภาครัฐทั้งจากโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์ ทีมวิจัยและพัฒนา ภาคการศึกษา องค์กรเอกชนที่มาจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก แล

ะเอกชนของไทย
โดยในช่วงต้น ทริดี้จะทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์คทำหน้าที่เป็นเลขานุการ วาระดำรงตำแหน่งและโครงสร้างของกลุ่มจะมีการพิจารณาใหม่หลังจากที่มีการเปิดรับสมาชิกผู้เข้าร่วมได้จำนวนหนึ่ง โดยสมาชิกใหม่ที่จะเข้าร่วมนั้นจะรับเฉพาะสมาชิกแบบองค์กร ส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือทุกคนถือเป็นกลุ่มผู้รับผลประโยชน์และเข้าร่วมกิจกรรมได้

ทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่ม MT2 เข้มแข็งขึ้นก็คือ จะมีองค์กรซึ่งเป็นที่รวมของทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางร่วมกัน ซึ่งถือเป็นองค์แรกทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย จะทำให้การแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางการสนับสนุน รวมถึงการตั้งธงในการพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือของไทยทำได้ง่ายและมีความถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดได้ รวมถึงการเข้าไปกำหนดมาตรฐานต่างๆ เช่น การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับ ทริดี้เองนั้นจะมีการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักพัฒนากับผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย การจัดตั้งศูนย์ทดสอบแอพพลิเคชั่น (Application Test Center: ATC) และร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมแอพพลิเคชั่นของไทยไปสู่ตลาดโลกต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า กระบวนการเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นสมาชิก MT2 ทุกหน่วยงานมุ่งเป้าหมายไปที่การคืนสู่สังคม เพื่อทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือของไทยเติบโตแบบยั่งยืน แม้ช่วงแรกจะยังไม่มีเป้าหมายกิจกรรมที่จะผลักดันในเชิงนโยบายอย่างชัดเจน เนื่องจากเพิ่งเป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ และเน้นการประชุมร่วมกันแบบกระชับ เพื่อทำให้เกิดการเจรจานอกรอบ และแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันทั้งในแบบทวิภาคี และพหุภาคี แต่คาดว่าเมื่อเกิดการพบปะและร่วมกันทำงานแบบต่อเนื่อง และการที่มีประเด็นทางสังคมเกิดขึ้น กลุ่มนี้จะมีทิศทาง ข้อเรียกร้อง และแนวทางการทำงานเพื่อสังคมอย่างชัดเจนในที่สุด

ในเบื้องต้น MT2 ได้วาง Road Map ในการดำเนินงานโดยกำหนดจากสองกรณี คือ งานใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และงานที่เป็นหลักของสมาชิกแต่สามารถเชื่อมต่อและส่งผ่านข้อมูลหรือประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยงานหลักที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น การเข้าร่วมงาน BOI Fair หรือ การจัดงาน e-market place ทางด้านซอฟต์แวร์ และงานอื่นๆ ซึ่งงานเหล่านี้สมาชิกกลุ่มก่อตั้งจะเข้าร่วมในนามกลุ่มและทุ่มเททรัพยากรเพื่อนำเสนอผลงานของซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือไทยออกสู่ตลาด มีการกระจายความรู้ และสร้างฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนงานขององค์กรสมาชิกที่นำเข้ามาสู่ Road map จะนำลักษณะงานที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมอยู่แล้วมาเชื่อมต่อ และแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ให้กับสมาชิก เช่น การอบรมแอนดรอยด์ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park) ก็สามารถโอนถ่ายข้อมูลของผู้เข้าร่วมอบรมให้กับองค์กรสมาชิกที่สนใจได้นักพัฒนาฝีมือดีไปร่วมงาน หรือได้รับรู้ข้อมูลว่านักพัฒนาเหล่านั้นเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมด้านใด

แนวทางการคืนสู่สังคมนี้ถือเป็นข้อกำหนดในการรับสมาชิกใหม่ โดยนอกจากจะพิจารณาตัวองค์กรของผู้สมัครแล้ว ยังจะพิจารณาเรื่องแนวทางการคืนสู่สังคมขององค์กรนั้นเป็นสำคัญอีกด้วย

สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีหน้าพัฒนาบุคคลากรที่มีความสามารถสูงด้านเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ประเทศ การมาถึงของเทคโนโลยีด้านโมบายล์คอมพิ้วติ้งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการไอทีและสร้างโอกาสให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระดับโลก ทางภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกันในรูปแบบพันธมิตรทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทางภาควิชาได้เรียนรู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการได้ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีโมบายล์ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้างต่อไป

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ในฐานะเลขานุการกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของตลาดโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนมีการเติบโตสูงมากทั้งในตลาดโลกและตลาดในประเทศไทย โดยในประเทศมียอดขายเครื่องไปแล้วกว่า 3 ล้านเครื่อง เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีเพียง 1.2 ล้านเครื่อง ขณะที่ตลาดโลกนั้นเติบโตยิ่งกว่า เพราะมีการใช้งานอยู่ถึง 54 ล้านเครื่อง และมีมูลค่าซอฟต์แวร์อยู่ถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นการรวมกลุ่ม MT2 ในครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมาก

สิ่งที่กลุ่ม MT2 จะต้องเร่งก่อนที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือของไทยจะเสียโอกาสคือการสร้างตลาดที่เหมาะสมกับนักพัฒนาไทย ซึ่งครอบคลุมตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากซอฟต์แวร์ประเภทนี้เหมาะสมกับแนวทางการพัฒนาของไทยอย่างมาก เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างแอพพลิเคชั่นขนาดใหญ่ดังเช่น ซอฟต์แวร์ทางด้านธุรกิจ โดยเมื่อกลุ่ม MT2 มีสมาชิกจากองค์กรทางด้านโทรศัพท์มือถือเข้าร่วม ก็สามารถผลักดันให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสามารถเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ผ่านการสนับสนุนของกลุ่มได้ทันที

ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่ม MT2 ด้วยการรับหน้าที่เป็นเลขานุการ เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งในส่วนขององค์กรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อเป็นประโยชน์ของกลุ่มและอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนั้นจะมีการก่อตั้ง Mobile Testing Center หรือศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือ โดยองค์กรและสมาชิกสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่ซอฟต์แวร์พาร์คได้นำเสนอเพิ่มเข้ามาอีกคือ การนำระบบ Business Matching หรือการเชื่อมต่อทางธุรกิจ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักพัฒนาและผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ และเร่งให้เกิดการเจรจาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขององค์กรมากขึ้น โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ทำให้ซอฟต์แวร์พาร์คจะสามารถเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนา เวิร์คช็อป และอื่นๆ มาเสริมตลอดเวลาอีกด้วย

ดร.ภาสกร ประถมบุตร ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยสารสนเทศการสื่อสารและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในฐานะสมาชิกกลุ่ม กลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า บทบาทที่สำคัญของเนคเทคต่อกลุ่มนี้จะมี 2 ประการคือ เป็นผู้สนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้ง Hardware และ Software โดยเฉพาะเทคโนโลยีฐานในเชิงลึกเพื่อให้นักพัฒนานำไปต่อยอดเป็น mobile application ที่หลากหลาย ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น VAJA ที่ให้บริการเสียงสังเคราะห์จากข้อความภาษาไทย และ Traffy API ที่ให้บริการทำนายสภาพจราจร สามารถนำไปสร้าง mobile application ในธุรกิจท่องเที่ยวหรือโลจิสติกส์ได้

นอกจากนั้นเนคเทคจะเป็นผู้ประสานการเชื่อมโยงข้อมูลจากภาครัฐ ในฐานะที่เนคเทคสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนคเทคสามารถติดต่อประสานงานกับภาครัฐด้วยกัน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานในการเชื่อมต่อ การออกแบบโครงสร้างข้อมูล อันจะเป็นประโยชน์ทั้งภาครัฐเองและกลุ่ม MT2 ให้เชื่อมโยงกันได้ ตัวอย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานกลางในการสื่อสารข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล นอกจากนี้เนคเทคยังสนับสนุนกิจกรรมในภาคการศึกษาในรูปแบบการจัดประกวดแข่งขันซึ่งทำเป็นประจำทุกปี

นายจิรวิทย์ แม้ประสาท ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า อินเทลเห็นการเติบโตด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมาโดยตลอด เพื่อสร้างความโดดเด่นทางเทคโนโลยี และร่วมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน อินเทลฯได้เริ่มโครงการใหม่ เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี, แหล่งความรู้ และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายระบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อโครงการ Intel AppUpSM developer program และยังจัดทำโครงการ Intel AppUpSM Center ซึ่งเป็นแหล่งรวมซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ ซึ่งโครงการเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อความร่วมมือระหว่างบริษัทอินเทลฯ กับกลุ่มเอ็มทีสแควร์ (MT2) ให้เกิดกิจกรรมหลายด้าน เช่น กิจกรรมฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับนักพัฒนา, ให้บริการอุปกรณ์เพื่อการทดสอบซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์แอพพลิเคชั่นที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจจากประเทศไทย

นายไพโรจน์ วโรภาษ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 กล่าวว่า ทางกลุ่มบริษัทสามารถซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีครบวงจรในด้านธุรกิจโมบาย ทั้งโทรศัพท์มือถือและคอนเทนต์ รวมถึงด้านซอฟต์แวร์ธุรกิจ โดยมีนโยบายที่สนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง ผ่านโครงการประกวด Samart Innovation Awards ที่จัดอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 9 แล้วในปีนี้ โดยความร่วมมือกับกลุ่ม MT2 ในช่วงต้น จะให้การสนับสนุนด้านกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ แก่นักพัฒนา และมีแนวทางที่จะสนับสนุนด้านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยให้นักพัฒนามีอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาผลงานใหม่ๆ และยังส่งฐานข้อมูลนักพัฒนายุคใหม่ที่เริ่มมีผลงานจากโครงการนี้ให้กลุ่ม MT2 ได้ใช้เป็นฐานในการส่งเสริมต่อไป

นายชวัล บุญประกอบศักดิ์ รองประธานฝ่ายบริหาร บริษัท สปริงเทเลคอม ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 เปิดเผยว่า สปริงถือว่าเป็นองค์กรกลุ่มเป้าหมายโดยตรงของกลุ่ม MT2 เนื่องจากเป็นบริษัทซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และได้รับทราบปัญหา รวมถึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ในขณะนี้ตลอดเวลา ทำให้สปริงสามารถถ่ายทอดและชี้ทิศทางการแก้ไขปัญหาในองค์รวมให้กับกลุ่มได้ง่ายขึ้น โดยสิ่งที่สปริงจะให้ความร่วมมือกับกลุ่มคือ เสนอให้ฐานข้อมูลของนักพัฒนาที่ผ่านกลุ่ม MT2 สามารถเข้าฝึกอบรมในรูปแบบการทำงานจริง, กลุ่มสามารถใช้งานโปรแกรมสปริงในการเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกลุ่มกับสมาชิกและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไปได้ฟรีแบบไร้ข้อจำกัด นอกจากนั้นในปลายปีทางสปริงจะเปิดเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของสปริง หรือ SDK เพื่อให้สมาชิกสามารถเข้ามาเขียนซอฟต์แวร์ต่อเชื่อมได้

รศ.ดร.จันทร์บูรณ์ สถิตวิรยวงศ์ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า แนวทางการมีส่วนร่วมและบทบาทของสถาบันต่อกลุ่ม MT2 จะประกอบด้วย การเข้าไปช่วยผลิตบุคลากรทางด้านการพัฒนา Mobile Application ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ผ่านทางหลักสูตรอบรม และสร้างนักศึกษาตามรายวิชาที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรของคณะฯ เพื่อเข้าไปสนับสนุนแนวทางของกลุ่ม, ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Wireless Network และ Mobile Application รวมถึงกำหนดทิศทาง มาตรฐาน และผลักดันอุตสาหกรรมด้าน Software บนโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องร่วมกับ MT2

นายเอกราช คงสว่างวงศา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในฐานะสมาชิกกลุ่ม MT2 จากความต้องการที่มากขึ้นของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดจนอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เป็นโอกาสที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยจะสรรค์สร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นบนระบบปฎิบัติการ Windows Phone 7 โดยบริษัทฯมีกิจกรรมสนับสนุนอย่างจริงจังสำหรับนักพัฒนาผ่านศูนย์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Microsoft Innovation Center โดยเริ่มตั้งแต่การอบรม การพัฒนา การทดสอบ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในด้านการนำแอพพลิเคชั่นขึ้นไปจำหน่ายทั่วโลกบนมาร์เกตเพลสของ Windows Phone 7 โดยนำมาเชื่อมการทำงานกับกลุ่ม MT2 เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้วยังเป็นการขยายการเพิ่มและนำรายได้สู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

View :1445

Related Posts

Categories: Press/Release Tags: , ,
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.