Home > Press/Release > ไอบีเอ็มเผยกลยุทธ์ สร้างสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ เชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์และศูนย์การผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร

ไอบีเอ็มเผยกลยุทธ์ สร้างสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ เชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์และศูนย์การผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร

ไอบีเอ็มเผยกลยุทธ์ สร้างสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ เชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์และศูนย์การผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร
 

เชียงใหม่ – 3 พฤษภาคม 2554…บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เผยกลยุทธ์ร่วมกับผู้บริหารเมืองเชียงใหม่ สร้างสมาร์ทเตอร์ซิตี้ เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์ใน 3 ด้านคือ สร้างเสริมประสิทธิภาพของโรงพยาบาล สร้างระบบการรักษาและสถานพยาบาลให้เชื่อมต่อกันทั่วทั้งจังหวัด และเสริมศักยภาพการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ในระดับสูง ควบคู่กับการพัฒนาสร้างแบรนด์และการตลาด เพื่อดึงดูดผู้ป่วยจากทั่วโลก พร้อมเสนอแนวทางการเป็นศูนย์การผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือเกษตรกร นำไปใช้วางแผนจัดการปลูก เก็บเกี่ยว และตั้งราคาผลผลิตผ่าน SMS หรือ เว็บพอร์ทัล อี-ฟาร์เมอร์ นำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรื่องน้ำ และตรวจสอบกระบวนการจากแหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำการตลาดสร้างตราสินค้าเชียงใหม่ฟู้ด  สร้างศักยภาพการผลิตและส่งออกไปต่างประเทศ คณะผู้บริหารเมืองเชียงใหม่ เตรียมสานต่อ โครงการให้บรรลุเป้าหมาย ภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมต่อยอดวิสัยทัศน์ เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ ซิตี้

หลังจากที่ไอบีเอ็ม ได้ส่งทีม เอ็กซ์เซ็คคิวทีฟ เซอร์วิส คอร์ป ( Executive Service Corps)  หรือ ESC ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายประเทศทั่วโลก ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับคณะผู้บริหารเมืองเชียงใหม่ ในการสร้างสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ เชียงใหม่ ตามแนวทางสมาร์ทเตอร์ ซิตี้โมเดลของไอบีเอ็ม โดยคณะทำงานใช้เวลาทำงานร่วมกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เชียงใหม่บรรลุเป้าหมายหลัก 2 ด้านคือ การสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และศูนย์กลางการผลผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร  วันนี้ ไอบีเอ็มได้เปิดเผยแผนการดำเนินงานเป็นโรดแมพที่ชัดเจน เพื่อให้คณะผู้บริหารเมืองเชียงใหม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม 2 แผนงาน ได้แก่

กลยุทธ์การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) สรุปแนวทางในการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ข้อคือ

1. Hospital Efficiencies สร้างเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่และ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและกระบวนการทางการวิเคราะห์ข้อมูล มาใช้ในการตรวจรักษา ปรับปรุงเวลาในการให้บริการ เพิ่มความถูกต้องของการใช้อุปกรณ์ สร้างระบบอาคารอัจฉริยะ เพื่อประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย

2. Ecosystem Integration สร้างระบบการรักษาและสถานพยาบาลในเชียงใหม่ให้เชื่อมต่อเป็นข้อมูลเดียวกันทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน สปา สถานบริการนวดแผนไทย โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล ประวัติการรักษา ยา การให้บริการ เพื่อสะดวกในการรักษาคนไข้

3. Service Identification and Marketing เสริมศักยภาพการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานและความแตกต่างในการให้บริการ จัดกลุ่มคนไข้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการการรักษาพยาบาลในระดับสูง คนไข้ที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว และนักท่องเที่ยว จัดลำดับความต้องการในการรักษาพยาบาลของคนไข้กลุ่มต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาสร้างแบรนด์และการตลาดให้เกิดการรับรู้ ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและคนไข้จากต่างประเทศที่มองหาศูนย์การแพทย์ที่มีมาตรฐาน ซึ่งนอกจากคนไข้ในชุมชนทั้งในเมืองและจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับบริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยสร้างเชียงใหม่ให้ขยายการให้บริการรักษาพยาบาลระยะยาวอีกด้วย

กลยุทธ์การเป็นศูนย์การผลิต จัดส่งสินค้าทางการเกษตร

1. Creating insight to enable smart decision making สร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้รัฐบาลและเกษตรกรมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องมากเพียงพอที่จะช่วยในการตัดสินใจ โดยการพัฒนาคุณภาพและการรายงานข้อมูลที่สามารถนำมาช่วยวางแผนการปลูก เก็บเกี่ยว คาดการณ์ล่วงหน้า พยากรณ์อากาศในพื้นที่ ตลาดการซื้อขาย ตั้งราคาผลผลิต ด้วยการใช้ อี-ฟาร์มเมอร์ เว็บ พอร์ทัล (e-Farmer Portal) พร้อมทั้งมี SMS แจ้งเตือน ทางโทรศัพท์มือถือที่ให้ข้อมูลที่สำคัญดังกล่าวกับเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

2. Chiang Mai Food Branding สร้างตราสินค้าทางด้านอาหารของเชียงใหม่ โดยกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ทางการตลาด ให้เป็นอาหารจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อบริโภคในประเทศ และเป็นอาหารที่มีราคาเหมาะสมมีคุณภาพดีเพื่อการส่งออก

3. Focusing Improvements มุ่งเน้นการปรับปรุงทางด้าน การตรวจสอบแหล่งที่มาทุกขั้นตอนของอาหาร (Food Tracebility) การบริหารจัดการเรื่องน้ำ แหล่งน้ำบริเวณไหนที่เหมาะสมกับการปลูก การจัดการเรื่องน้ำท่วม เป็นต้น

โครงการนี้ช่วยทำให้ผลผลิตการเกษตรทั้งระบบของเชียงใหม่ดึขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมในระบบจะสามารถประมาณการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีขึ้น ลดความสูญเปล่าในขั้นตอนต่างๆ มีระบบตรวจสอบแหล่งผลิต รวมถึงการจัดการเรื่องน้ำและความปลอดภัยของอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับเชียงใหม่ทั้งในระดับประเทศและการส่งออกผลผลิตอาหารไปยังต่างประเทศ

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “การที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย สามารถผลักดันให้เชียงใหม่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญทั่วโลก 24 เมืองที่ไอบีเอ็มจะลงทุนในโครงการ Excecutive Service Corps ด้วยการนำเอาความแข็งแกร่งของนวัตกรรมไอที ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ไอบีเอ็มมี เพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะในปีนี้ รวมถึงการที่สามารถนำคณะผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มจากต่างประเทศทั้ง 5 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำโครงการ Smarter Cities ในประเทศอื่นเป็นอย่างดีมาแล้ว เข้ามาช่วยเราจัดทำโครงการ Executive Service Corps ให้กับเมืองเชียงใหม่ จนสามารถบรรลุผลในขั้นตอนที่วางไว้ นับเป็นความภาคภูมิใจของไอบีเอ็มอย่างยิ่ง

แผนโรดแมพที่ชัดเจนที่คณะทำงานของไอบีเอ็ม ESC และคณะทำงานของจังหวัดร่วมกันศึกษาและจัดทำขึ้นนี้ นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์ และการเป็นศูนย์การผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร หรือ Smart Food ของเชียงใหม่เป็นจริงขึ้นได้ การสานต่อแผน Roadmap ทั้งสองให้คืบหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลจริงจะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อจังหวัดเชียงใหม่และสอดรับกับวิสัยทัศน์ ‘เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์’ ของจังหวัดในการเตรียมพร้อมที่จะขยายการเติบโตและรองรับการแข่งขันของจังหวัดในระดับประเทศต่อไป”
 

มล. ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่ขอขอบคุณ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ทีม ESC คณะทำงานครีเอทีฟเชียงใหม่ และทุกหน่วยงาน ที่ได้ร่วมศึกษาและจัดทำแผนโรดแมพเพื่อสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และศูนย์กลางการผลิต จัดส่งสินค้าทางการเกษตร ซึ่งแผนงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ นั่นคือ การเป็นศูนย์กลางที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการสร้างสรรค์กิจกรรม มีความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ความพร้อมด้านไอที และมีการสนับสนุนนวัตกรรมที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก เช่นเดียวกับการสร้างเมืองน่าอยู่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และผู้คน เป็นเมืองที่น่าสนใจสำหรับการใช้ชีวิต, การลงทุน, การท่องเที่ยว การศึกษาและการทำงาน
จังหวัดเชียงใหม่มีผลงานเด่นเป็นรูปธรรมในการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ความช่วยเหลือของไอบีเอ็มในโครงการนี้ นับเป็นการนำเอาไอทีเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดศักยภาพของเชียงใหม่ทางด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมการเกษตร พัฒนาความสามารถ และส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนและธุรกิจ, พัฒนากลุ่มสร้างสรรค์กลุ่มใหม่ ๆ อีกทั้งยกระดับอุตสาหกรรมที่มีอยู่โดยให้การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในทุกระดับ”

View :1355

Related Posts

Categories: Press/Release Tags: ,
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.