Home > Enterprise/ Business, Press/Release > ไอดีซี แมนูแฟคเจอริ่ง อินไซด์ ชี้ผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าควรประยุกต์ใช้การผลิตแบบลีนอย่างไร

ไอดีซี แมนูแฟคเจอริ่ง อินไซด์ ชี้ผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าควรประยุกต์ใช้การผลิตแบบลีนอย่างไร

ไอดีซี แมนูแฟคเจอริ่ง อินไซด์ เปิดเผยผลสำรวจการปรับตัวเข้าสู่การผลิตแบบลีน(Lean Manufacturing) ว่ามีผู้ผลิตในประเทศไทยเกือบ 20% เท่านั้น   ที่ได้มีการประยุกต์ใช้การผลิตแบบลีนในขั้นสูงแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และ สินค้าอิเล็คทรอนิคส์ แต่อย่างไรก็ตาม 70%บริษัทผู้เข้าร่วมการสำรวจนั้นได้มีการเริ่มวางแผนหรืออยู่ในขั้นเริ่มต้นของการประยุกต์ใช้การผลิตแบบลีนแล้ว โดยรายละเอียดทั้งหมดของการสำรวจนี้อยู่ในรายงานที่มีชื่อว่า “Driving Operations Excellence: Lean Adoption in Thailand”

ดร. วิลเลียม ลี ซึ่งเป็นผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัยของ ไอดีซี แมนูแฟคเจอริ่ง อินไซด์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “ผู้ผลิตในประเทศไทยให้ความสำคัญไปที่การสร้างความเป็นเลิศทางด้านการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในสภาวการณ์ที่ต้นทุนและความเข้มข้นของการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า การนำปรัชญาการผลิตแบบลีนมาปรับใช้คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มประสิทธิผลและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต แต่ก็เห็นได้ชัดว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีแผนพัฒนาและบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตในประเทศไทยประมาณ 90% ได้ยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปรับใช้ระบบการผลิตแบบลีนเป็นไปได้ยากในขณะนี้คือการที่พนักงานในองค์กรนั้นไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยดร. ลีได้แนะนำว่า “สิ่งที่จำเป็นมากในการปรับใช้การผลิตแบบลีนคือการสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ การต่อต้านนั้นเป็นเหตุการณ์ปกติที่จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลากรในองค์กรเห็นว่าสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากไม่ได้รับการเห็นชอบหรือยอมรับจากบุคคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง การสั่งการใดๆ จากผู้บริหารก็อาจจะเห็นผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น เครื่องมือสื่อสารภายในองค์กรที่ดีคือการใช้เทคนิคการทำแผนภูมิสายธารแห่งคุณค่า (Value Stream Mapping) ซึ่งเป็นการทำให้แผนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เป็นนามธรรมถูกสื่อออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม หากได้มีการวางแผนและสื่อสารให้พนักงานได้ทราบถึงขั้นตอนและเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างมีระบบแล้ว พนักงานในองค์กรก็จะพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ มากขึ้น”

ยิ่งไปกว่านั้นผู้เข้าร่วมการสำรวจส่วนใหญ่ยังชี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ มีส่วนสำคัญในการสร้างช่องทางการเข้าถึง การแสดงผลการวิเคราะห์ และ การรายงานข้อมูล รวมทั้งยังช่วยในการจัดตารางการผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารจัดการควบคุมคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มองเทคโนโลยีสารสนเทศว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือระหว่างแผนก การควบคุมประสิทธิภาพใช้งานเครื่องมือ และการดูแลกิจกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าระดับการหลอมรวมข้อมูลภายในองค์กรของผู้ผลิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

“ไอทีมีส่วนสำคัญในการสร้างการควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) ในองค์กรที่เป็นลีน” ดร. ลีกล่าวเสริม “ผู้ผลิตควรปรับใช้เครื่องมือและแอพพลิเคชันทางด้านไอทีที่เกี่ยวข้องกับลีน เพื่อเพิ่มการส่งผ่านข้อมูลและขั้นตอนการทำงานภายในองค์กร อันจะนำไปสู่การช่วยสร้างการประยุกต์ใช้กระบวนการผลิตแบบลีนและเชื่อมโยงขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในที่สุด”

ปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศไทยยังคงต้องพบกับอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตแบบลีนมากมาย ซึ่งการที่จะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้นั้น ต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้อีกประการก็คือการฝึกอบรม และการสนับสนุนซึ่งกันและกันของทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานนั่นเอง

ไอดีซีเชื่อว่า การผลิตแบบลีนที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดคลื่นการพัฒนาด้านการปฏิบัติงานระลอกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่การผลิตแบบลีนตามแบบฉบับดั้งเดิมนั้นได้เดินทางมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ปริมาณข้อมูลและความซับซ้อนของการทำงานได้เพิ่มมากขึ้นจนต้องใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยจัดการแล้ว

View :1992

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.