Home > Press/Release > ธุรกิจโฆษณาปี ’54: รับอานิสงส์เลือกตั้ง…คาดทั้งปีขยายตัวได้ 12-13%

ธุรกิจโฆษณาปี ’54: รับอานิสงส์เลือกตั้ง…คาดทั้งปีขยายตัวได้ 12-13%

 

หลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.)ทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ก.ค. 2554 นี้ ทำให้คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจน่าจะได้รับอานิสงส์จากค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และยังอาจมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในด้านความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างเร่งเพิ่มงบโฆษณา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะคึกคักมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 อาจเติบโตได้ถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 11 จากอานิสงส์ค่าใช้จ่ายกิจกรรมต่างๆในช่วงการเลือกตั้ง และคาดว่าทั้งปี 2554 จะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (เทียบจากกรณี  หากไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ก็คาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อทั้งปี 2554 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.11 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา)

อานิสงส์เลือกตั้งช่วยหนุนธุรกิจโฆษณาไตรมาส 2…แต่ต้องจับตาเสถียรภาพรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

    จากรายงานของบริษัท นีลสัน มีเดีย รีเสิร์ซ(ประเทศไทย) พบว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทุกช่องทาง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 34,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 11.2 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2553 ที่ทั้งปีมีเม็ดเงินใช้จ่ายในธุรกิจโฆษณาประมาณ 1.01 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากปี 2552 (นับเป็นปีแรกที่ค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของไทยมีมูลค่าเกินหนึ่งแสนล้านบาท)

ทั้งนี้ เพราะได้รับแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2554 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ช่วงไตรมาสแรกของทุกปียังถือเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจจะเร่งเพิ่มยอดขายรับเทศกาลและวันหยุดสำคัญต่างๆ ขณะที่สัดส่วนงบโฆษณาส่วนใหญ่  ร้อยละ 60 อยู่ในส่วนของโฆษณาทางทีวี ตามมาด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 15 ที่เหลือจะเป็นสื่อวิทยุ สื่อในโรงภาพยนตร์ สื่อแมกกาซีน ป้ายโฆษณา/บิลบอร์ด สื่อรถเคลื่อนที่ สื่อในร้านค้า และสื่อทางอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ

    เมื่อพิจารณาปัจจัยที่กำหนดทิศทางการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนด้วยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ในช่วงปี 2554 มีทิศทางกระเตื้องขึ้นกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของยอดค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในเดือน เม.ย.2554 ดัชนีดังกล่าวได้ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดือนก่อนหน้า (อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอัตราที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.5)  ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจนในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภาของรัฐบาลฯ แต่ภายหลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว ก็คาดว่าทิศทางการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และเป็นปัจจัยบวกต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของภาคธุรกิจในระยะต่อไป

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจากปัจจัยบวกในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะช่วยหนุนให้ค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในครั้งนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ยังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่อง)

โดยมองว่าเม็ดเงินใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อน่าจะขยายตัวสูงในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยบวกด้านการใช้จ่ายในกิจกรรมการเลือกตั้ง  นอกจากนี้ ยังมีส่วนของงบโฆษณาสินค้าและบริการที่ต่างเร่งโหมโฆษณา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเวลานี้ เนื่องจากคาดว่าศึกการเลือกตั้งจะส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะระดับกลางถึงล่างจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ภายหลังผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง เนื่องจากจะมีผลถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายที่สำคัญของภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของประชาชน

กิจกรรมเลือกตั้งปี ’54…สร้างแรงหนุนให้ธุรกิจสื่อโฆษณา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้พิจารณาแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่องทางต่างๆที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 ไว้ ดังนี้

    การติดตามสถานการณ์เลือกตั้งของประชาชน…เอื้อประโยชน์แก่สื่อวิทยุ และโทรทัศน์
โฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์จัดว่าเป็นช่องทางสื่อที่มีประสิทธิภาพสูง และสร้างการรับรู้ได้ในวงกว้าง โดยช่วงที่ผ่านมาความต้องการเวลาโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ มีทิศทางที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเติบโตเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาของหลายสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มอัตราค่าโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับสื่อช่องทางอื่นๆ ประกอบกับช่วงเวลาโฆษณาที่มีข้อจำกัดด้วยกฎหมาย  จึงส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งจำเป็นต้องเข้ามาจัดสรรการออกอากาศการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม

ซึ่งครั้งนี้ได้กำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดสรร และวางหลักเกณฑ์การโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยเป็นการขอความร่วมมือสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐและสถานีท้องถิ่น เพื่อนำเสนอสปอร์ตโฆษณาแบบสั้นของพรรคการเมือง(ความยาวไม่เกิน 30 วินาที) และนโยบายของพรรคการเมือง(ความยาวไม่เกิน 10 นาที) ซึ่งมีลำดับการออกอากาศตามที่ กกต.กำหนด ขณะที่เวลาในการนำออกอากาศนั้นได้ขอความร่วมมือให้แต่ละสถานีวิทยุโทรทัศน์จัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน  เพื่อประโยชน์แก่ทุกพรรค โดยที่พรรคการเมืองไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานีวิทยุและโทรทัศน์จะไม่ได้รับรายได้จากการหาเสียงของพรรคการเมือง แต่คาดว่าจะมีรายได้จากงบการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของ กกต. บางส่วน และรายได้จากค่าโฆษณาของผู้ประกอบการสินค้าและบริการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค. 2554 ทุกช่องสถานีโทรทัศน์ต่างต้องเร่งแข่งขันกันรายงานสถานการณ์เกาะติดการเลือกตั้งแบบนาทีต่อนาทีตลอดทั้งวัน ต่อเนื่องถึงเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงปิดหีบเลือกตั้ง ก็ยิ่งคาดว่าประชาชนทั่วประเทศจะให้ความสนใจเฝ้าดูผลการนับคะแนน และการรายงานความเคลื่อนไหวตลอดคืน นอกจากนี้ ภายหลังผ่านพ้นการนับผลคะแนนจนถึงช่วงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง รวมทั้งความเคลื่อนไหวในการจับขั่วทางการเมืองก็ยิ่งน่าจะมีความเข้มข้นขึ้นไม่แพ้กัน ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ต่างเร่งปรับผังรายการเพื่อช่วงชิงเรตติ้งจากผู้ชม เพราะจะส่งผลต่อรายได้โฆษณาของทางสถานีที่จะได้รับจากผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องการกระตุ้นตลาดในช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการเน้นย้ำความเป็นผู้นำด้านการนำเสนอข่าวสารแบบเกาะติดสถานการณ์ ซึ่งช่วยผลักดันให้ความนิยมของสถานีเพิ่มสูงขึ้น และมีผลต่อการดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาในระยะต่อไป

ส่วนการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1-2 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 จากที่ทั้งปี 2553 มีการใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อหดตัวเกือบร้อยละ 1 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้งเพียงเล็กน้อยเช่นกัน

    สื่อนอกบ้าน…รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแผ่นป้ายหาเสียง
โฆษณาผ่านสื่อนอกบ้าน(ประกอบด้วยป้ายโฆษณาและบิลบอร์ด, สื่อรถเคลื่อนที่ และสื่อในร้านค้า) ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7-8 ของค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อรวม ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554  โฆษณาผ่านสื่อนอกบ้านมีอัตราขยายตัวร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงการเลือกตั้งประมาณ 1,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายเพื่อจัดทำป้ายโฆษณา แผ่นโปสเตอร์ แผ่นพับ และใบปลิว เพื่อใช้หาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง และเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ กกต. รวมถึง จากการเร่งทำโฆษณาของผู้ประกอบสินค้าและบริการต่างๆ ตามแนวโน้มการจับจ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่หมุนเวียนจากค่าใช้จ่ายด้านการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังจะส่งผลต่อธุรกิจสื่อในร้านค้าให้ขยายตัวตามไปด้วย ทั้งสื่อในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และดิสเคาน์สโตร์  ซึ่งเป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจในตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ณ จุดขาย

    หาเสียงผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ ยังคงบางตา…คาดเข้มข้นขึ้นช่วงใกล้วันเลือกตั้ง
การโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์เป็นอีกช่องทางสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมากเป็นอันดับสองรองจากสื่อโทรทัศน์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 14-15 ของค่าใช้จ่ายผ่านสื่อโดยรวม เนื่องด้วยสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้ครอบคลุมทั่วประเทศ(สำหรับหนังสือพิมพ์ที่จัดจำหน่ายทั่วประเทศ) ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะมีฐานผู้อ่านในพื้นที่ที่จำกัดกว่า ขณะที่อัตราค่าโฆษณาผ่านสื่อทั้งสองชนิดนี้จะมีราคาที่แตกต่างกันมาก โดยหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายทั่วประเทศและมีความนิยมสูง จะมีอัตราค่าโฆษณา 4 สี 1 หน้า อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ถึงมากกว่า 700,000 บาท ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั้นมีอัตราค่าโฆษณา 4 สี 1 หน้า ต่ำกว่า 10,000 บาท

ดังนั้น การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ จึงมีให้เห็นบางตา เนื่องจากหากต้องการหาเสียงโดยเจาะกลุ่มผู้อ่านจำนวนมาก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้ง หนังสือพิมพ์ยังมีอายุการใช้งานสั้นเพียง 1-3 วัน หรือเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น พรรคการเมืองจึงอาจหันไปให้ความสำคัญกับสื่ออื่นที่ทรงประสิทธิภาพในการหาเสียงมากกว่า อาทิ ป้ายหาเสียง โปสเตอร์ แผ่นพับ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และมีอายุใช้งานนานตลอดระยะเวลาของช่วงการหาเสียง นอกจากนี้ ความนิยมใช้สื่อออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ทุกที่ทุกเวลาและมีต้นทุนต่ำ ก็เป็นอีกช่องทางที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองให้ความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 มีอัตราการขยายตัวเกือบร้อยละ 3 จากที่ทั้งปี 2553 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 2-3 สัปดาห์ ที่เป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียง พรรคการเมืองจะเร่งลงโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์คึกคักมากขึ้น และคาดว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาหาเสียงผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ประมาณ 70 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น และช่วยหนุนให้ความต้องการใช้สื่อโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ตลอดทั้งปี 2554 เติบโตในระดับทรงตัวได้อย่างต่อเนื่อง

    โซเซียลมีเดีย : ช่องทางยอดนิยม…รุกฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน ด้วยความก้าวหน้าของเครื่องมือสื่อสาร การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานด้านต่างๆ และการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย ที่เอื้อให้การรับ-ส่งข้อมูลมีความสะดวกรวดเร็ว และกระจายทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเซียลมีเดีย(เฟซบุ๊ค และทวิสเตอร์) รวมถึงบล๊อค หรือเว็บบอร์ดต่างๆ กลายเป็นอีกช่องทางที่ใช้แสดงความคิดเห็นตามแนวทางประชาธิปไตยยุคใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์พรรค แนะนำตัวผู้สมัคร แสดงแนวคิด นโยบาย วิสัยทัศน์ และมุมมองต่างๆของผู้สมัครและพรรค ทั้งที่เป็นข้อความตัวอักษร และเป็นคลิปวีดีโอ อีกทั้ง ยังเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซักถาม และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สมัครและพรรคที่ชื่นชอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันการตอบกลับหรือความเคลื่อนไหวในหน้าเพจเป็นประจำ ยังช่วยเน้นย้ำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าผู้สมัคร/พรรคการเมือง/ทีมงานของพรรคนั้น มีความเอาใจใส่ประชาชน และสะท้อนได้ถึงความกระตือรือร้น  ดังนั้น ช่องทางโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตจึงเริ่มมีบทบาทในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยค่าใช่จ่ายที่ต่ำกว่าสื่อช่องทางอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมจากหลายพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่ผู้รับรู้ยังคงอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น  ช่องทางนี้จึงเป็นเพียงสื่อทางเลือกใหม่ที่จะใช้เพิ่มโอกาสในการสร้างฐานเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเป็นช่องทางเสริมที่ใช้ควบคู่กับสื่อดั่งเดิม

โดยสรุป การเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 2554 นี้ น่าจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อ ทั้งจากกิจกรรมการหาเสียงของผู้สมัคร พรรคการเมือง และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของ กกต. และจากการเร่งกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการสินค้าและบริการผ่านสื่อต่างๆ ท่ามกลางความสนใจติดตามข่าวสารของประชาชนในการเกาะติดความเคลื่อนไหวช่วงก่อนการเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นในการจับจ่ายซื้อสินค้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายกิจกรรมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะส่งผลให้ธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 เติบโตได้ถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 11 ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2554 จะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (เทียบจากกรณี หากไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ก็คาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 11-12 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ทั้งปี 2554 น่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่ออยู่ที่ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตาม นอกจากช่องทางโฆษณาหาเสียงผ่านสื่อต่างๆดังกล่าวมาแล้วนั้น ยังคงมีช่องทางอื่นที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์พรรคและแนะนำตัวผู้สมัคร ทั้งการเดินสายหาเสียงลงพื้นที่  การจัดเวทีแถลงนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น เป็นจำนวนไม่น้อย และเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้นำมานับรวมไว้ในค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อ

“รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น”

 

View :1658

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.