Home > 3G, Cloud Computing, Enterprise/ Business, Internet, Press/Release, Social Media/ Social Network, Software > ทริดี้ เปิดวิสัยทัศน์ระดมความคิด มองทิศทาง แนวโน้มอนาคตของโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ กับนักวิชาการภาคการศึกษากว่า 30 มหาวิทยาลัย

ทริดี้ เปิดวิสัยทัศน์ระดมความคิด มองทิศทาง แนวโน้มอนาคตของโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ กับนักวิชาการภาคการศึกษากว่า 30 มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ จัดประชุมระดมความคิด ครั้งที่ 2 หาทิศทางและแนวโน้มในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ข้อคิดเห็น และเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศในอนาคต โดยการเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ ทริดี้เชื่อว่าจะได้ทราบถึงทิศทางและแนวโน้ม  การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง  โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง    รวมถึงรับทราบถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในด้านดังกล่าว

โดยการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นการรวมกลุ่มจากภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 30 มหาวิทยาลัย ที่ต้องการหาทางออก ปฏิรูปสื่อในประเทศ ให้เกิดการกระจายในระดับมหภาคอย่างเสรีและมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือ ทริดี้ กล่าวว่า การประชุมระดมความคิดเรื่อง “Road map for Broadcasting and Telecommunications Research & Development ครั้งที่ 2” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ทริดี้และสำนักงาน กสทช. มุ่งตรงที่จะได้ทราบถึงทิศทางและแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง เทคโนโลยีโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง  ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม   ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ  เพื่อเป็นแผนการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของ  และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสำนักงาน กสทช.  ตามขอบเขตในภารกิจและการส่งเสริมและสนับสนุนตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553    โดยกิจกรรมในครั้งนี้  ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น   ซึ่งตอกย้ำถึงความร่วมมืออระหว่าง ทริดี้  สำนักงาน กสทช.  กับสถาบันการศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา  และยังมุ่งต่อยอดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคตด้วย

ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ ยังเผยภารกิจในการดำเนินงานของทริดี้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  และการพัฒนาบุคลากรที่ผ่านมา รวมไปถึงทิศทางและแนวโน้มในอนาคต  พร้อมแผนการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา  การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากร   และทราบถึงความพร้อมของสถาบันการศึกษาภายใต้ขอบเขต พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ.2553 เพื่อเป็นการรองรับการแข่งขัน AEC ที่จะมีขึ้นในปี 2015 ซึ่งในครั้งนี้จะมีนักวิจัย รวมถึงผลงานวิจัยในเทคโนโลยีในด้านที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น และสามารถต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีการแพร่ภาพ การกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้ สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอีกด้วย

“ในการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ทริดี้เชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดแผนและแนวทางการพัฒนาการวิจัยและพัฒนา  การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียง โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพของประเทศ   และในอนาคตเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์จะเติบโตไปอีกมาก  ซึ่งประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังในส่วนของงานวิจัย บุคลากร และการมองหาทิศทางของผลิตภัณฑ์ ตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเริ่มพัฒนาคือภาคการศึกษาที่จะสามารถช่วยให้เกิดบุคลากรคุณภาพ เกิดการใช้ในประเทศ ตลอดจนการส่งออกในต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว”  ดร.สุพจน์ กล่าวสรุป

มุมมองของภาคการศึกษา “ความคิดเห็นของกลุ่มนักวิชาการในระดับมหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งนี้ มองถึงความสำคัญของการปฎิรูปในอนาคตที่ชัดเจนและจริงจัง สู่ภาคประชาชนอย่าง “รู้ทันสื่อ” โดยโครงของสื่อในอนาคต กลุ่มนักวิชาการมองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมในอนาคตหากเกิดการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น และหากจะเกิดการพัฒนาในประเทศต้องมองถึงการวางโครงสร้างที่แข็งแรง ตลอดจนการร่วมมือกันอย่างมีศักยภาพทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาเอง โดยทั้งหมดต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนา และยังมองถึงส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคจากสื่ออีกด้วย ซึ่งในอนาคตหากไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนจะเกิดการก่อกวนหรือสร้างปัญหาจากสื่อได้

งานวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญหากที่ผ่านมามีแต่การวางโครงการนำเสนอวิจัย แต่ไม่มีการนำโครงการต่าง ๆ ไปปฏิบัติงานหรือต่อยอด ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งมี ทริดี้ที่สนับสนุนให้นำงานวิจัยไปดำเนินงานต่อยอด แต่ในอนาคตหากเกิดการดำเนินงานในด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ที่เสรีมากขึ้น ต้องช่วยกันในหลายภาคส่วนให้นำผลงานต่าง ๆ ไปต่อยอดให้เกิดการใช้งานจริง ซึ่งหากสามารถนำโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ไปปฏิงานได้จริง ไม่เพียงแต่ผลงานจะสะท้อนถึงทิศทางในอนาคต แต่จะเกิดการลดต้นทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เกิดการจ้างงาน และภาครัฐเองต้องมองหาตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ (ภาคการศึกษา-สนับสนุน วิจัยผลงาน พัฒนาผลงาน, ภาครัฐ-สนับสนุนเงินทุน หาช่องทางตลาด ตลอดจนผลักดันให้เกิดมูงค่าในเชิงพาณิชย์ สร้างมาตรฐานของผลงานที่พัฒนาขึ้นมา, ภาคเอกชน-สนับสนุนการใช้ผลงาน อุปกรณ์ และผลักดันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ) หากมองในตลาดปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ต้องเริ่มที่ พัฒนาความรู้ผลงาน ต่อยอด ใช้เอง และส่งขายตามลำดับ กอปรกับความร่วมมือจากนักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มวิศวะโทรคมนาคม นักวิจัย และลงพื้นที่พัฒนาให้ความรู้ในระดับท้องถิ่น และก้าวสู่การพัฒนาในระดับประเทศในอนาคต

หมายเหตุ :     มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 มีบทบัญญัติ ดังนี้ “ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงาน กสทช. เรียกว่า “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1)    ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนตามมาตรา 51

(2)    ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

(3)    ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กร ซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

(4)    สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

(5)    สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

View :2131

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.