Home > Press/Release, Science > “งานประชุมสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติด้านอาหารในโลกอนาคต InnovAsia 2011: Food in the Future (FIF2011)”

“งานประชุมสัมมนาและนิทรรศการนานาชาติด้านอาหารในโลกอนาคต InnovAsia 2011: Food in the Future (FIF2011)”

จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แนวโน้ม/ทิศทางนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของโลก

ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและได้หันกลับมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น แนวโน้มการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพจึงเพิ่มขึ้นตามมาอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ถือแนวคิดที่ว่า “การป้องกันดีกว่าการรักษา” อาหารจึงไม่เป็นเพียงปัจจัยในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
ดังนั้น แนวโน้มของการพัฒนาอาหารของโลกในปัจจุบันและอนาคตจึงมีทิศทางไปยังการพัฒนานวัตกรรมอาหารในกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพในรูปของอาหารฟังก์ชั่นและผลิตภัณฑ์นิวตราซูติคอล (functional food and nutraceutical) เป็นหลัก

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพของโลกโดยรวมภายในปี 2553 จะมีมูลค่าประมาณ 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปเป็นตลาดหลักของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ นอกจากนี้ จากการศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของประชากร และการศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะ 5 ปีข้างหน้า คือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน (specialty supplements) ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้

1. อาหารเพื่อบำรุงสมอง (food for brain)
เป็นอาหารที่มีสารอาหารสำหรับบำรุงสมองที่ได้จากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีหน้าที่นำไปใช้ในการซ่อมแซมหรือทำให้การทำงานและสุขภาพของสมองเจริญเติบโตแข็งแรง สามารถทำงานตามหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารอาหารบำรุงสมองที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่น โอเมก้า-3 (Omega-3) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองและระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้ รวมทั้งเกี่ยวกับเรตินาในการมองเห็น โคลีนมีบทบาทสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาทางด้านความจำ หลงลืม เศร้าหมอง ขาดสมาธิและจิตใจหดหู่ และวิตามินบี เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นในการทำงานของระบบประสาทและสมอง
2. อาหารเพื่อการควบคุมน้ำหนัก (food for weight management)
เป็นอาหารที่มีส่วนผสมสารอาหารในกลุ่มควบคุมปริมาณอาหารและลดไขมัน เช่น สารสกัดจากผลส้มแขก ซึ่งมีผลต่อการลดความอยากอาหารและลดปริมาณการรับประทานอาหารอย่างได้ผล สารอาหารในกลุ่มเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เช่น แอล-คาร์นิที ซึ่งมีฤทธิ์เป็นตัวนำพาไขมันที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายออกมาเผาผลาญให้เป็นพลังงาน และกลุ่มกำจัดไขมันออกจากร่างกายได้แก่ ไคโตซาน โดยหน้าที่เหมือนฟองน้ำ เพื่อดูดซับไขมันในกระเพาะอาหารไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
3. อาหารเพื่อความสวยงาม (food for beauty & anti-aging)
เป็นอาหารที่มีการใช้สารสกัดจากพืชผักและผลไม้มาเป็นส่วนผสมซึ่งสามารถซ่อมแซม บำรุงโครงสร้างผิว และป้องกันการทำลายผิวจากอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังรักษาสมดุลของร่างกาย ตั้งแต่ฮอร์โมน สารอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และระบบชีวเคมี ในร่างกายให้สมดุลกัน เพื่อให้สวยจากภายไม่ใช่แค่ความสวยงามภายนอกเท่านั้น เช่น คอลลาเจนซึ่งเป็นตัวช่วยให้ผิวพรรณเกิดความชุ่มชื้น เสริมความเรียบตึงให้กับผิวหนัง ทำให้ผิวดูเรียบเนียนกระชับ และโคเอนไซม์คิวเท็นที่มีหน้าที่ช่วยป้องกันการทำงานเซลล์ผิวจากการถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระ และป้องกันการทำงานเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสติน
4. อาหารเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน (food for well-being)
เป็นอาหารที่ประกอบด้วยสารสกัดจากธรรมชาติที่มีส่วนช่วยสำหรับการเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค เพิ่มศักยภาพให้กับระบบต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบ ความเสื่อมของกระดูก และจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น ซึ่งมีผลให้สุขภาพโดยรวมมีความแข็งแรงมากขึ้น ต้านทานต่อโรคและความเสี่ยงต่างๆที่เข้ามาสู่ร่างกายของมนุษย์ เช่น กลูโคซามีน ซึ่งเป็นสารสกัดจากเปลือกกุ้งและปูที่มีฤทธิ์ช่วยในการสร้างกระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงไขข้อที่สูญเสียไปในผู้สูงวัย หรือลูทีนซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความ สำคัญในการปกป้องจอประสาทตา โดยลูทีนจะทำงานร่วมกันกับกรดไขมันดีเอชเอซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก

กิจกรรมภายในงาน

1. การจัดประชุม/สัมมนา
- “มุมมองการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมของโลกในศตวรรษที่ 21” โดย Dr. Ad Juriaanse ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิจัยอาหาร NIZO food research BV ประเทศเนเธอร์แลนด์
- “การประยุกต์เทคโนโลยีและงานวิจัยอาหารฟังก์ชั่นและส่วนประกอบของอาหารที่ประสบความสำเร็จ” โดย Dr. Meike te Giffel ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอาหาร NIZO food research BV ประเทศเนเธอร์แลนด์
- “เกณฑ์การกล่าวอ้างทางสุขภาพของยุโรปที่มีการปรับปรุงล่าสุด” โดย Prof. Dr. Alfred Hagen Meyer จาก meyer // meisterernst rechtsanwälte สหพันธรัฐเยอรมนี
- “สาร Glavonoid ในชะเอมที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด” โดย Dr. Kaku Nakagawa ผู้จัดการอาวุโสจากทีมวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา บริษัท Kaneka Corporation ประเทศญี่ปุ่น
- “สาระสำคัญในสารสกัดจากไก่ที่มีผลต่อการทำงานของสมอง” โดย Dr. Keiichi Abe รองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาจากบริษัท เซเรบอส แปซิฟิค จำกัด (บริษัทผู้ผลิตซุปไก่สกัดแบรนด์)
- กระแสและแนวโน้มของผู้บริโภคของอาหารและอาหารเสริมประเภทต่างๆ โดย คุณวฤตดา วรอาคม ผู้อำนวยการแผนกคอนซูเมอร์อินไซต์ บริษัท McCann Worldgroup ประเทศไทย
- คอลลาเจนจากหอยเป๋าฮื้อที่ให้ผลในการชะลอริ้วรอย โดย ดร. สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน กรรมการผู้จัดการจากบริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัด

2. นิทรรศการ – แสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เด่น ได้แก่

2.1 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ QH
“ยูบิควินอล (ubiquinol) หรือ QH” เป็นสารโคเอนไซม์คิวเท็น (coenzyme Q10) ที่มีโครงสร้างทางเคมีในรูปของรีดิวซ์ฟอร์ม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์สารให้พลังงานของสิ่งมีชีวิต (ATP synthesis) อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) อย่างไรก็ดี เนื่องจาก QH เป็นสารที่มีความเสถียรต่ำ ดังนั้น การผลิตสารโคเอนไซม์คิวเท็นในระดับอุตสาหกรรมจึงได้มุ่งผลิตสารโคเอนไซม์คิวเท็นที่มีโครงสร้างทางเคมีในรูปของออกซิไดซ์ฟอร์ม (ubiquinone) ซึ่งมีความเสถียรสูง อนึ่ง ร่างกายจะนำสารโคเอนไซม์คิวเท็นที่ได้รับนี้ไปเปลี่ยนให้เป็น QH และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ความสามารถของร่างกายในการเปลี่ยนโคคิวเท็นให้กลายเป็น “QH” ก็จะได้ด้อยประสิทธิภาพลง ส่งผลให้ร่างกายขาดสาร QH และนำมาซึ่งสภาวะเสื่อมถอยของร่างกาย ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ QH นี้ ก็จะช่วยลดปัญหาสุขภาพของผู้บริโภคในวัยชราได้เป็นอย่างดี

**Source: Kaneka Corporation, Japan

2.2 โยเกิร์ตสำหรับควบคุมน้ำหนักด้วย Plant-Derived LAB
โยเกิร์ตโดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการนมมาผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ชนิดผลิตกรดแล็กติกที่สกัดได้จากสัตว์ (animal-derived lactic acid bacteria; animal-derived LAB) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มักจะไม่สามารถคงอยู่ได้ในสภาวะที่เป็นกรดของระบบย่อยอาหาร ในขณะที่จุลินทรีย์ชนิดผลิตกรดแล็กติกจากพืช (plant-derived lactic acid bacteria; plant-derived LAB) นั้นจะมีความสามารถคงอยู่ได้ในสภาวะที่เป็นกรดของระบบย่อยอาหาร ดังนั้น เพื่อให้คงคุณสมบัติทางด้านโพรไบโอติกของจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหาร จึงได้มีการนำ plant-derived LAB มาใช้ในการผลิตโยเกิร์ต

นอกจากนี้ plant-derived LAB บางสายพันธุ์ยังมีคุณสมบัติเด่นในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะด้านระบบภูมิคุ้มกันโรคในระบบย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งการควบคุมน้ำหนัก โดยได้มีการนำ plant-derived LAB สายพันธุ์ L.plantarum LP28 ที่มีคุณสมบัติเด่นด้านการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณไขมันในลำไส้และตับ รวมทั้งยังสามารถลดการสั่งการของยีนในกระบวนการสังเคราะห์ไขมัน มาใช้ในการผลิตโยเกิร์ตสำหรับควบคุมน้ำหนัก

รูปภาพแสดงคุณสมบัติในการลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในตับหนู ของจุลินทรีย์ชนิดผลิตกรดแล็กติก
จากพืช (LP28) เปรียบเทียบกับจุลินทรีย์ชนิดผลิตกรดแล็กติกจากพืชชนิดอื่น (SN13T)

**Source: Center for Collaborative Research & Community Corporation, Hiroshima University, Japan

2.3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก Glavonoid
กลาโวนอยด์ (Glavonoid) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วยกลุ่มสารออกฤทธิ์ทางธรรมชาติ (bio-active compound) ที่สกัดได้จากรากของชะเอม (ricolice) สายพันธุ์ glabra spices ที่มีชนิดของสารกลุ่มพอลิฟีนอลสูงและมีจำนวนมากกว่า 80 ชนิด โดยเฉพาะสารกลาบริดิน (glabridin) ซึ่งพบได้เพียงในชะเอมพันธุ์ดังกล่าวเท่านั้น
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลาโวนอยด์ จะมีปริมาณสารพอลิฟีนอลที่สูงและมีการปนเปื้อนต่ำ เนื่องจากใช้กระบวนการสกัดด้วยไขมัน (lipid extraction) 2 ขั้นตอน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลาโวนอยด์มีสารกลาบริดินสูงมากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่นๆ นำมาซึ่งคุณสมบัติเด่นทางด้านต้านการอักเสบ (anti-inflammatory) ต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) ต้านการเกิดเมลานิน (melanogenesis inhibition) รวมทั้งสามารถลดปริมาณไขมัน

**Source: Kaneka Corporation, Japan

http://www.swansonvitamins.com

2.4 สารสกัดเซราไมด์จากสับปะรดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อความงาม
เซราไมด์ (ceramide) เป็นโมเลกุลของไขมันชนิดหนึ่งที่พบมาในเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเซราไมด์จะมีคุณสมบัติเหมือนกับสารปกป้องผิวตามธรรมชาติมากที่สุด (natural protection factor) ซึ่งจะช่วยปกป้องและรักษาผิวพรรณ ตลอดจนปรับสมดุลและคืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ดังนั้น จึงได้มีการผลิตสารสกัดเซราไมด์ในระดับอุตสาหกรรมจากวัตถุดิบชนิดต่างๆ อาทิ ข้าว (rice-germ ceramide) บุก (konjak ceramide) และนม (milk ceramide) เป็นต้น

สารสกัดเซราไมด์จากสับปะรด (pineapple ceramide) ถือเป็นเซราไมด์ชนิดแรกที่สกัดได้จากผลไม้ โดยเซราไมด์จากสับปะรดนั้นจะมีคุณสมบัติเด่นทางด้านสร้างความกระจ่างใสให้เซลล์ผิว (skin lightening) ให้ความชุ่มชื้นให้แก่เซลล์ผิว (skin moisturizing) และคุณสมบัติด้านการอักเสบ (anti-inflammatory) อนึ่ง เซราไมด์จากสับปะรดนี้เป็นผลจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัท ทิปโก้ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และ Maruzen Pharmaceuticals Co., Ltd ประเทศญี่ปุ่น โดยการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ สารสกัดเซราไมด์จากสับปะรดนี้จะถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชัน และเครื่องดื่มฟังก์ชัน

**Source: Maruzen Pharmaceutical, Japan
2.5 ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวพร้อมดื่มสำหรับลดความดันโลหิตและลดคลอเรสเตอรอล
ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวพร้อมดื่มมีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเปบไทด์ในนม (bioactive milk peptide) ชนิดไตรเปบไทด์ที่มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต โดยจะไปยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่เป็นตัวควบคุมความดันโลหิต (angiotensin converting enzyme; ACE) และมีสารแพลน สเตรอล (plant sterol) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากพืช ทำให้มีฤทธิ์ในการลดระดับคลอเรสเตอรอลได้อีกด้วย

View :6356

Related Posts

Categories: Press/Release, Science Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.