Home > Press/Release > ว่าที่ กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภคซัดปัญหาผู้บริโภคไม่ทะลุ เพราะสำนักงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ว่าที่ กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภคซัดปัญหาผู้บริโภคไม่ทะลุ เพราะสำนักงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ว่าที่ กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภคประสานเสียง หัวใจสำคัญคือการตั้งกลไกอิสระและงานเครือข่าย

ว่าที่ กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภคชี้สำนักงาน กสทช. ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ และถูกประเมินอย่างใกล้ชิด ประสานเสียงเห็นความสำคัญการตั้งกลไกอิสระในการทำงานและส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชน ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ระบุ การเข้าถึงดิจิตอล คือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการเสวนา เรื่อง “เอ็กซเรย์ ว่าที่ กสทช. รายบุคคล” ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ และสมาคมวิทยุชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง โดยในครั้งนี้เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครที่สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านการศึกษา วัฒนธรรมหรือการพัฒนาสังคม ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นวันสุดท้าย

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักสื่อสารมวลชน ในฐานะผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น กสทช. รายบุคคล กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือการเร่งการปรับปรุงประสิทธิภาพของ กสทช. และสำนักงานกสทช. เพื่อทำประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะชนอย่างแท้จริงโดยมีระบบการประเมินและการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด การไม่มีระบบตรวจสอบที่ดีทำให้ที่ผ่านมา กสทช.หรือรักษาการกสทช.และสำนักงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์กับสาธารณะชน เช่น การกำหนดเวลาเติมเงินล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดกำลังเผชิญอยู่ นั้นก็คือการถูกกำหนดให้หมดอายุของเงินเติมโทรศัพท์มือถือ เป็นการเร่งรัดให้มีการใช้บริการ คือเงินยังอยู่แต่ห้ามใช้ ทั้งที่ กทช. ได้ออกประกาศห้ามการกำหนดอายุของเงินที่เติมล่วงหน้า แต่เมื่อมีการฝ่าฝืน กทช.ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ด้วย ปล่อยให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการปีละนับหมื่นล้าน

“นอกจากนี้ยังต้องสนับสนุนให้เกิดหน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ที่เป็นหน่วยงานอิสระปราศจากการแทรกแซงจาก กสทช.และไม่อยู่ภายในสำนักงานกสทช.เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระและมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง ให้องค์กรเครือข่ายผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องผู้ประกอบการที่กระทำผิด หรือ พบการทุจริต การไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือเจตนาให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานของ กสทช.และเจ้าหน้าที่สำนักงานกสทช. รวมถึงให้อำนาจการชี้เบาะแสและการให้ความเห็นต่อการลงโทษต่อ กรรมการ กสทช. และเจ้าหน้าที่ ที่ละเลยการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ”กรรณิการ์กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้สมัครที่สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องเร่งรีบสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากในหน่วยงานมีการตีความอ้างกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ เพื่อยุบเลิกกลไกที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมในลักษณะที่เป็นเชิงรุกและรอบด้าน อย่าง สบท. ทิ้งไปแล้ว รวมถึงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการสร้างมาและลงไปถึงระดับชุมชนและให้ชุมชนเข้มแข็งรวมตัวกันขึ้นมา ตอนนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนต่อ ดังนั้นในอนาคตจึงต้องสร้างกลไกที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นมาใหม่ โดยมีหน้าที่ให้การศึกษาให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคเท่าทันการใช้เทคโนโลยี และเป็นกลไกกลางในแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องรื้อและทบทวนสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเพื่อแก้ไขให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวว่า ปัญหาโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่มีบทเรียนมาก่อนในต่างประเทศ ทั้งเอสเอ็มเอสขยะ โทรหลอกลวง และผลกระทบคลื่น จึงเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ล่วงหน้าได้ สำหรับอนาคตประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่อาจนำไปสู่การล่อลวง ปัญหาความเที่ยงตรงของข้อมูล เช่น การแจ้งเหตุผ่านอินเทอร์เน็ตแต่ไม่เกิดจริง การปลุกเร้าสังคมเช่น การทำให้สังคมเกลียดเด็กหญิงคนหนึ่งภายในข้ามคืน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร และล่าสุดปัญหาอันดับหนึ่งที่พบในสหรัฐอเมริกาคือ การขโมยตัวตนทางอินเทอร์เน็ต หรือโลกไซเบอร์ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกเพราะเป็นการลักลอบใช้ฐานข้อมูลบัตรเครดิต ดังนั้นอนาคตเรื่องสำคัญคือ ความเป็นส่วนตัวทางโลกอินเทอร์เน็ต เรื่องเหล่านี้คนไทยจะเท่าทันได้โดยการศึกษาบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ และที่สำคัญอีกประการคือ การพยายามลดช่องว่างทางดิจิตอล
“ที่ผ่านมาการศึกษาเปลี่ยนสถานะทางสังคม แต่ปัจจุบันการศึกษาไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นเรื่องของข้อมูล ดังนั้นโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลคือ โอกาสทางการศึกษาที่แท้จริง ดังนั้นถ้าเราทำให้คนเข้าไม่ถึงข้อมูลเพราะขาดโอกาสอันนี้เป็นการในการเข้าถึง จะเป็นการแยกโลกออกจากกันจริงๆ เป็นความเหลื่อมล้ำจริง เป็นคนที่เข้าถึงกับคนที่เข้าไม่ถึง ดังนั้นทำอย่างไรให้ดิจิตอลเป็นของทุกๆคน ไม่ทิ้งคนใดคนหนึ่งออกไป” นายประวิทย์กล่าว

นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้สมัครที่สมควรได้รับเลือกเป็น กสท. กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด โดยเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ใช้ประโยชน์เพื่อศึกษา องค์กรของรัฐจะทำอย่างที่ผ่านมา คือ ตั้งสถานีวิทยุแต่เปิดเพลงทั้งวันเป็นเสือนอนกินไม่ได้ ถ้าเป็นคลื่นของกรมอุตุก็ต้องทำเรื่องอุตุ ถ้าเป็นเคลื่อนสาธารณสุขก็ต้องทำเรื่องสาธารณสุข คือต้องมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ส่วนภาคชุมชนต้องเป็นประชาธิปไตยจริงและกระจายเสียงแพร่ภาพในท้องถิ่นด้วยภาษาท้องถิ่น โดยมีกฎกติกาการให้ใบอนุญาตที่เป็นธรรม นอกจากนี้ต้องมีการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคและระบบการร้องเรียนที่เข้มแข็ง การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน

แหล่งที่มา:
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค Foundation for Consumers(FFC) www.consumerthai.org

View :1550

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.