Home > Science, Technology > อสมท.จัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Robocon 2011

อสมท.จัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Robocon 2011

ร่วมเชียร์เด็กไทย ชิงชัยกับ 17 ประเทศ 28 สค.นี้ ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี
หลังจากจัดแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2554 เพื่อคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest กับประเทศต่างๆ ซึ่ง จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าว จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์เป็นกำลังใจให้กับ สองทีมตัวแทนตัวประเทศไทย ได้แก่ “ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แชมป์ประเทศไทย และ “ทีมซุ้มกอ” จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร รองแชมป์ประเทศไทย เพื่อคว้าแชมป์ในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 , Bangkok ครั้งที่ 10 ในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี พร้อมชมถ่ายทอดสด ตั้งแต่เวลา14.15 – 17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

นายพรชัย ปิยะเกศิน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี หนึ่งในสมาชิกสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union – ABU) และเป็นตัวแทนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ในการหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia-Pacific Robot Contest หรือ ABU Robocon และส่งทีมตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

“การแข่งขันหุ่นยนต์ ถือเป็นวิทยาการขั้นสูงของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ สอดคล้องกับบทบาทของอสมท ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านการสื่อสารที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robocon จึงเป็นกิจกรรมหลักของบริษัท ในการขับเคลื่อนโครงการซีเอสอาร์ ตอกย้ำภาพลักษณ์ “สังคมอุดมปัญญา” ของ อสมท ให้เด่นชัดมากขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กร ด้านการส่งเสริมนวัตกรรม สร้างภาพลักษณ์องค์กรทันสมัยได้อีกทาง”

สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 หรือ ABU Robocon 2011 ในโอกาสครบรอบปีที่ 10 ของการแข่งขัน ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จึงได้นำเอา ประเพณีลอยกระทง จากโบราณประเพณีอันงดงาม บางส่วนได้ถูกประยุกต์ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือหุ่นยนต์ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “จุดประกายแห่งความสุขด้วยมิตรภาพ (Lighting Happiness with Friendship) ผู้ใดเอาชนะใจตนเอง และเอาชนะใจผู้อื่นได้ ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล ซึ่งเป็นหัวใจของเกมการแข่งขันนี้

โดยปีนี้มีทีมเยาวชนตัวแทนจาก 18 ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อียิปต์ ฟิจิ ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล รัสเซีย ศรีลังกา ตุรกี เวียดนามและไทย สำหรับประเทศลาว และรัสเซีย เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้เป็นครั้งแรก เตรียมเดินทางมาเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งแต่ละประเทศสามารถส่งทีมตัวแทนได้ประเทศละ 1 ทีม ส่วนประเทศเจ้าภาพ ส่งได้ 2 ทีม รวมทั้งหมด 19 ทีม แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยนักศึกษา 3 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ทั้งหมดต้องอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา/อาชีวศึกษาเดียวกันเท่านั้น ทีมเยาวชนตัวแทนประเทศไทย มี 2 ทีม ได้แก่ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา The Limited” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แชมป์ประเทศไทยสมัยที่ 3 ประกอบด้วย นายน้ำเพชร สุขเกษม ,นายสุปรีชา เหมยเป็ง,นายจักรพงศ์ เพ็งแจ่มแจ้ง และดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ “ทีมซุ้มกอ” จากวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร รองแชมป์ประเทศไทย ประกอบด้วย นายประเสริฐ สะมะถะเขตการณ์ ,นายนคร คุยศรี ,นายวุฒิชัย ทิศกระโทก และ อ.บัณฑิต ออกแมน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ประธานคณะทำงานฝ่ายจัดการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia – Pacific Robot Contest 2011 กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม ทีมตัวแทนประเทศไทยทั้ง 2 ทีมได้จัดสร้างหุ่นยนต์ สำหรับการแข่งขันขึ้นใหม่ทีมละ 3 ตัวโดยได้รับการสนับสนุนจาก อสมท ทีมละ 500,000 บาท พร้อมส่งมอบให้กับคณะกรรมการจัดการแข่งขันพร้อมกับทุกประเทศแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการฝึกซ้อมในโค้งสุดท้ายเพื่อชิงแชมป์ระดับนานาชาติในการแข่งขันที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้

นอกจากนี้ทั้ง 2 ทีมยังได้เปิดเผยด้วยว่า ในการจัดสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ยังได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ดังกล่าวด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถได้ไม่แพ้กับหุ่นยนต์ของประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องสถิติการทำเวลา ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดเผยว่า สามารถทำสถิติได้เร็วที่สุด 45 -50 วินาทีในหนึ่งเกมส์การแข่งขัน

“เพื่อเป็นกำลังให้กับตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2011 , Bangkok ทั้งสองทีม อสมท ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเชียร์ทีมไทยให้สามารถคว้าแชมป์นานาชาติในครั้งนี้ภายในงาน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคมศกนี้ ณ อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี พร้อมชมการถ่ายทอดสดได้ตั้งแต่เวลา 14.15 – 17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ติดตามรายละเอียดการแข่งขันได้ทาง www. aburobocon2011.com” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวในที่สุด
————————————————————

การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ หรือ ABU Asia-Pacific Robot Contest (ABU Robocon) เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2543(ค.ศ.2000) โดยประเทศสมาชิก ABU (The Asia-Pacific Broadcasting Union) มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์โดย นักศึกษาของภูมิภาค ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ และ การพัฒนาทักษะในการประดิษฐ์นวัตกรรมของเยาวชนให้มีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจได้อย่างทัดเทียมกัน ควบคู่ไปกับการเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

การแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Robocon เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี คือ ประเทศไทย (2546/2003) เกาหลี (2547/2004) จีน (2548/2005) มาเลเซีย (2549/2006) เวียดนาม (2550/2007) อินเดีย (2551/2008) ญี่ปุ่น (2552/2009) และอียิปต์ (2553/2010)

ปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เป็นปีที่ครบรอบทศวรรษของการแข่งขัน ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้ได้นำเอา ประเพณีลอยกระทง จากโบราณประเพณีอันงดงามบางส่วนได้ถูกประยุกต์ให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือหุ่นยนต์ ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “จุดประกายแห่งความสุขด้วยมิตรภาพ (Lighting Happiness with Friendship) ผู้ใดเอาชนะใจตนเอง และเอาชนะใจผู้อื่นได้ ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะตลอดกาล นั่นคือหัวใจของเกมการแข่งขันนี้ โดยจะจัดการแข่งขันขึ้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2554 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี

สำหรับทีมที่เข้าแข่งขันนั้น แต่ละประเทศ ส่งตัวแทนได้ ประเทศละ 1 ทีม ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่งได้ 2ทีม โดยแต่ละทีม จะประกอบไปด้วยนักศึกษา 3 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ทั้งหมดต้องอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา/อาชีวศึกษาเดียวกัน เท่านั้น ทีมเข้าแข่งขันแต่ละทีมสร้างหุ่นยนต์ทั้งหมดไม่เกิน 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) และ หุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 หรือ 2 ตัว (Automatic Robots) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) ต้องทำภารกิจแรกให้สำเร็จด้วยการหยิบกระถางธูป จำนวน 3 กระถาง นำไปวางไว้บนเสา ก่อนการทำภารกิจอื่นๆ หลังจากนั้นหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ นำฐานต้นเทียน ไปวาง ณ จุดตกแต่ง (Decoration Point) หุ่นยนต์บังคับด้วยมือนำธูปเตรียมไปใช้ในการประกอบกระทง

หุ่นยนต์อัตโนมัติ นำกลีบกระทง และดอกไม้ ทำการประกอบกระทง ภายหลังจากที่ ทำภารกิจนี้เสร็จ หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ จึงจะสามารถนำ ไปเสียบลงไปในกระทง หลังจากนั้น หุ่นยนต์อัตโนมัติ ยกกระทงที่ประกอบเสร็จ นำไปปล่อยลงใน ในฝั่งของตนเอง โดยห้ามมิให้ชิ้นส่วนใดๆของหุ่นยนต์ทุกตัวสัมผัสกับแม่น้ำ

ท้ายสุด หุ่นยนต์อัตโนมัติ เพียง 1 ตัว จะนำเปลวเทียน ไปปล่อยเพื่อสวมลงบนต้นเทียนบนกระทง ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ (River Surface) โดยห้ามมิให้ชิ้นส่วนใดๆของหุ่นยนต์ทุกตัวสัมผัสกับแม่น้ำ และกระทง ที่ประกอบเสร็จแล้ว ทีมใดที่สามารถปล่อยเปลวเทียน ลงบนต้นเทียน ได้สำเร็จก่อน ทีมนั้นเป็น ฝ่ายชนะ”การแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ สีแดง และ สีน้ำเงิน การแข่งขันจะใช้เวลาทั้งหมด 3 นาที

View :1734

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.