Home > Article, Press/Release > เทคโนโลยี 3G กับ Digital Media Channel

เทคโนโลยี 3G กับ Digital Media Channel

โดย…..บลจ. บัวหลวง จำกัด

ประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี ภายใต้คลื่นความถี่ 2.1 MHz ในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ถกเถียงและยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สาเหตุของความล่าช้าในการประมูลคลื่นนั้น เกิดจากประเทศไทย ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับผิดชอบการจัดสรรและเปิดประมูลคลื่นความถี่ หน่วยงานดังกล่าว ก็คือ กสทช. ก็กำลังจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้เกิดการคาดหมายกันว่าการประมูลใบอนุญาต จะเริ่มอย่างเร็วสุดในช่วงปลายปีหน้า หรือต้นปี 2556 และหลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตก็จะทำการพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการใช้ของผู้บริโภคมากขึ้น

• ทำไมประเทศไทย จึงควรที่จะมีเทคโนโลยี 3G

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทในชีวิตจนเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว โดยจากผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ นีลเส็น ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า คนไทยเป็นกลุ่มผู้ที่มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 56% ของคนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ โดยคาดว่า ภายใน 1 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น และจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น และไทยยังมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ต่ำ และผู้บริโภคมีระดับการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตที่ไม่บ่อยนัก จึงสรุปได้ว่าสื่อ “Digital” ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกอย่างมากในประเทศ

ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ใช้เทคโนโลยี 2.75G หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) แต่เมื่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้บริการ Non-voice ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เทคโนโลยี 2.75G ที่ใช้อยู่ จึงเกิดข้อจำกัดค่อนข้างมากในการให้บริการระบบเสียงและการส่งข้อมูล เนื่องจากความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดประมาณ 384 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) และจำนวนช่องสัญญาณก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เมื่อผู้บริโภคมีการใช้บริการในการ Download ข้อมูล ก็จะไปแย่งพื้นที่ของช่องสัญญาณที่มีอยู่จนเหลือพื้นที่ในการบริการด้านเสียงลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดให้บริการ Non-Voice ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะเกิดผลรบกวนต่อการให้บริการ Voice

จากข้อจำกัดและความต้องการใช้บริการ Non-voice ที่เร็วและมากกว่าคาด สอดคล้องกับจำนวนยอดขายของโทรศัพท์ Smart Phone ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำเป็นต้องเร่งการเปิดให้บริการ 3G โดยเทคโนโลยี 3G จะสามารถรองรับการใช้บริการมัลติมีเดีย และส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งความเร็วสูงสุดในการ Download ข้อมูล จะอยู่ที่ 42 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) เร็วกว่าเทคโนโลยี 2.75G ถึง 109 เท่า ทำให้สามารถใช้บริการ Multimedia ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรับส่ง File ที่มีขนาดใหญ่ การประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร การโทรศัพท์ต่างประเทศผ่านระบบ Internet เช่น Skype การโทรศัพท์โดยเห็นหน้าคู่สนทนา รวมถึงการใช้บริการทางด้านสื่อ Entertainment ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดเพลง หรือการชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ โดยเทคโนโลยี 3G นั้น จะมีช่องสัญญาณความถี่และความจุในการรับส่งข้อมูลมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลและบริการระบบเสียงดีขึ้นกว่าเทคโนโลยีเดิม

• ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากการมีเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz

ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยในระบบสัมปทานเดิมนั้น จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ 25-30% ให้ทีโอที หรือ กสท. แต่ใบอนุญาตใหม่ของเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz ผู้ประกอบการจะเสียส่วนแบ่งรายได้ลดลงเหลือประมาณ 6.50% ให้กับหน่วยงาน กสทช. เท่านั้น จะเห็นได้ว่าใบอนุญาต 3G จะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และทำให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการภายใต้เงื่อนไขอันเดียวกัน ซึ่งจะเกิดผลดีกับผู้บริโภค ทำให้เสียค่าบริการในการใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูกลง และได้รับบริการทางด้าน Non–voice ที่ดีขึ้น

ข้อดีของการมีเทคโนโลยี 3G จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาไปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ ศึกษาของเด็กๆ และคนไทยในชุมชนห่างไกลที่จะเรียนรู้ผ่านทาง E-Learning ได้ รวมไปถึงระบบการขนส่งและติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี 3G จึงช่วยทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเมือง จนไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ในปัจจุบันนี้สามารถมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ผ่านทาง Air Card ของผู้ให้บริการ 3G ในระบบต่างๆ และทำให้ชีวิตดีขึ้น เรียนรู้เท่าเทียมคนเมืองมากขึ้น

• เทคโนโลยี 3G กับการทำการตลาด

เนื่องจากการขับเคลื่อนทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Global Generation ที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต บริษัทเจ้าของสินค้าและบริการจึงสามารถใช้โลกอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้าและบริการได้ และให้ความสำคัญกับช่องทางใหม่นี้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณสื่อสารทางการตลาดผ่าน Digital Media มากขึ้น ทั้งยังใช้งบประมาณที่ไม่สูง แต่สามารถเข้าตรงถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทาง เช่น Facebook, Twitter, Google ที่มีผู้เข้าใช้บริการดูข้อมูลจำนวนมาก ทำให้สามารถเห็นและเกิดการจดจำแบรนด์สินค้าต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การทำธุรกรรมต่างๆ ก็มีช่องทางผ่านทางสื่อโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น

• การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของธนาคารต่างๆ จะมีการให้บริการระบบ iBanking เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้า ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ธนาคารด้วยตัวเอง
• ห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะมีบริการให้ลูกค้า Shopping Online สามารถเลือกสั่งสินค้าและจ่ายเงิน โดยการตัดยอดเงินผ่านเครดิตคาร์ด หรือ เดบิตคาร์ด
• โรงภาพยนตร์ ระบบขนส่งมวลชน ต่างเพิ่มช่องทางในการให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้น บริษัทใดที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากช่องทางนี้มากและได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เนื่องจากการกระจายตัวของข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์นี้ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ถือว่าเป็น Value Added ที่บริษัทได้รับจากการมี Network และมูลค่าที่ Network สร้างขึ้นมาให้กับบริษัทนั้นก็มหาศาล ซึ่ง Network ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างการเติบโตที่ดีของบริษัท โดยสะท้อนกลับมาในรูปของกำไรและผลการดำเนินงานในที่สุด

—————————-
Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

View :1586

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.