Home > Press/Release > ECIT ปี 55 กับยุค Mobile App เพื่อ SMEs อุตสาหกรรม

ECIT ปี 55 กับยุค Mobile App เพื่อ SMEs อุตสาหกรรม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือม.ศรีปทุม บ่มเพาะมือดีโปรแกรมมือถือ ดึงจับคู่เจ้าของโรงงานสร้างแอพฯรองรับ เร่งเครื่องเดินหน้า ปี 55 ต่อ หลังผลงานดีต่อเนื่อง  3 ปี ทีโอที ซอฟต์แวร์พาร์ค ม.พระนครเหนือ สร้างผลงานแจ๋ว พัฒนาระบบคลาวด์และอีซัพพลายเชนรองรับ

นายวีรพล ศรีเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2555 เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแอพพลิเคชันผ่านโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงจะใช้โอกาสนี้เป็นปีเริ่มต้น โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นองค์กรภาคการศึกษาที่เน้นหนักการพัฒนาบุคลากรด้านนี้อย่างจริงจัง โดยอาศัยฐานจากแนวทางการพัฒนาเดิมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้ามาสนับสนุน ตั้งแต่การใช้ระบบ ERP ออนไลน์ หรือระบบ e-commerce และ e-supply chain โดยโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือสามารถเข้ามาต่อยอดทั้งฐานลูกค้าเดิม และแอพพลิเคชันเดิมที่มีอยู่ได้

ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Enhancing SMEs Competitiveness Through IT: ECIT ) มีลำดับขั้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ ERP และซอฟต์แวร์เชิงเดี่ยวให้มาบริการในระบบ SaaS หรือ Software as a Service บนระบบ Cloud Computing ทำให้ SMEs ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพในราคาประหยัด ต่อจากนั้นก็มาพัฒนาระบบ e-commerce และต่อเนื่องไปยัง e-supply chain เพื่อทำให้ SMEs มีเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ขณะเดียวกันก็มีช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยใช้ระบบไอทีเข้าไปจัดการ

วิวัฒนาการนี้ โครงการ ECIT ยังพัฒนาต่อเนื่องตลอดเวลา โดยในปี 2555 ที่ถือว่าเป็นปีที่เริ่มโครงการใหม่อีกครั้ง ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพิจารณาว่า ทิศทางของการใช้งานแอพพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมภาคบริการนั้นได้นำระบบนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังไม่มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ความสนใจ อาจเป็นเพราะตลาดกลุ่มนี้มีความซับซ้อน ขณะที่จำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านนี้กำลังขาดตลาดทำให้ Mobile Application ของภาคอุตสาหกรรมเกิดปัญหาการขาดแคลนอย่างมากสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านโทรศัพท์มือถือเข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่ายจนเกิดเป็นแอพพลิเคชันที่ดีและทำงานตรงกับความต้องการได้ คาดว่าในช่วงปีแรกจะมีแอพพลิเคชันทางด้านอุตสาหกรรมมารองรับประมาณ 10-20 โปรแกรม โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและศรีปทุมจะร่วมกันหาแนวทางการสนับสนุนทั้งในส่วนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และกลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่จะนำโปรแกรมไปใช้งาน

สำหรับเป้าหมายในปี 2555 ในโครงการ ECIT นั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังวางตัวเลขและงบประมาณหลักอยู่ที่การมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรม SMEs เข้ามาใช้ระบบ ERP ผ่านทางออนไลน์ให้ได้จำนวน 120 ราย และใช้โปรแกรมทั่วไปผ่านทางออนไลน์อีก 80 ราย และมุ่งเน้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาสู่ระบบ e-commerce และระบบ e-supply chain จำนวน 2,000 ราย โดยมีการอบรมการใช้งานไอทีให้ได้ 700 รายเพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้ามาใช้ระบบไอทีของ ECIT ต่อไป รวมถึงจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ภาคอุตสาหกรรมอีก 1,000 ราย ส่งเสริมระบบ Dead Stock Management จำนวน 200 กิจการ โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการในปี 2555 ประมาณ 50 ล้านบาท
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ อุตตมากร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี และคณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ทางม.ศรีปทุมได้ทำโครงการร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใน โครงการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยไอที โดยจะเข้ามาช่วยให้ SMEs ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางในการประยุกต์ใช้ไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีเป้าหมายที่จะให้โรงงานจำนวน 700 โรงได้เข้ามาฝึกอบรมด้านไอทีในเชิงลึก แตกต่างจากเดิมที่จะเน้นแค่พื้นฐาน โดยจะนำหลักสูตรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และหลักสูตร คพอ. ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอยู่แล้วมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาบุคลากร

เมื่อได้โรงงานที่มีพื้นฐานและเข้าใจในการนำระบบไอทีไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ก็จะทำความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมใน 2 ด้าน ในส่วนแรกทางศรีปทุมจะสร้าง Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความตั้งใจและมีพื้นฐานในการนำไอทีไปใช้  หลังจากนั้นจะมีการผลักดันให้กลุ่มโรงงาน SMEs เหล่านี้ได้เข้าในโครงการหลักของ ECIT ด้วยการคัดเลือกและประสานกับซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ในระบบ SaaS หรือ Software as a Service ที่ทำงานผ่านระบบ Cloud Computing จากการคัดเลือกของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ในส่วนที่ 2 นั้นทางศรีปทุมจะจัดทำโครงการ Econovation Appcenter and Incubator for Mobile Developers เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถืออย่างหนัก ความต้องการในปัจจุบันมีมากกว่าแรงงานกว่า 3 เท่า ขณะเดียวกันนโยบายของศรีปทุมต้องการสร้างแนวทางการพัฒนาคนให้เน้นหนักทางด้าน ICT ทั้งในส่วนของระดับ Certified หรือระดับประกาศนียบัตร และ Standard หรือหลักสูตรทั่วไป รวมถึงการเพิ่มในระดับ Success Entrepreneur หรือการสร้างผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จด้วยไอที

ในโครงการนี้ศรีปทุมจะผลักดันให้เกิดวิสาหกิจทางด้านแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไม่ว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการ IOS ของแอปเปิ้ล, ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล และระบบปฏิบัติการ Black Berry ของ RIM ด้วยการผลักดันให้นักศึกษาของศรีปทุมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมโทรศัพท์มือถือ ที่คาดว่าในปีแรกจะมีประมาณ 40 ราย ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ของตนเองขึ้น รวมถึงรับนักพัฒนาโปรแกรมทางโทรศัพท์มือถือที่โดดเด่นจากภายนอกมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมอีก 20 ราย ทั้งหมดจะคดเลือกให้เหลือ 20 ราย โดยจะมีหน่วยงานเครือข่ายเพื่อทำหน้าที่ Coaching หรือผู้ฝึกสอนจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค, สำนักงานส่งเสริมอุตคสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI และทาง True Appcenter เป็นต้น

สิ่งที่ศรีปทุมจะเข้าไปสนับสนุนจะเริ่มตั้งแต่การให้สิ่งอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การให้ใช้ Mobile Application Lab หรือห้องทดลองการสร้างแอพพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นห้องแล็บชั้นนำของประเทศไทยเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังจะมีศูนย์ศึกอบรมของแอปเปิ้ลโดยตรง หรือ Authorized Training Center โดยมี Registered IOS Developer Program ที่เน้นหนักการพัฒนาซอฟต์แวร์บนไอโฟนที่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงโครงการ iTune U ที่เป็นโครงการสำหรับนักพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเท่านั้น

เมื่อทางศรีปทุมได้เข้ามาบ่มเพาะทั้งทางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับ SMEs ได้เตรียมความพร้อมทางด้านไอทีแล้ว บวกกับได้เตรียมการทางด้านผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านโทรศัพท์มือถือเอาไว้ ต่อจากนั้นทางศรีปทุมจะจับคู่ทางธุรกิจ หรือ Business Matching ระหว่างทั้งสองกลุ่ม เพื่อให้ทางผู้ประกอบการ SMEs ได้นำเสนอความต้องการทางด้านภาคอุตสาหกรรมของตนเอง ขณะที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือสามารถพัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ซอฟต์แวร์ทางด้านนี้ยังมีจำนวนที่น้อยมาก

สำหรับรายละเอียดของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะการสร้างแอพพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือนั้น คาดว่าจากจำนวน 20 รายนั้น จะมาจากนักศึกษาจบใหม่ที่มีแนวคิดและตั้งใจจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ หรือเป็นผู้ว่างงานที่มีความตั้งใจเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในระยะเวลา 1-3 ปีที่ผานมาแต่ธุรกิจยังไม่เข้มแข็งและมีความสนใจทางด้านนี้ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอื่นอยู่แล้วหรือผู้รับจ้างอิสระแต่ตั้งใจจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการ สุดท้ายคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดวิสาหกิจทางด้าน Mobile Application ไม่น้อยกว่า 10 รายต่อปี

อย่างไรก็ตามทางศรีปทุมจะมีโครงการที่ผลักดันทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการแอพพลิเคชันเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หรือ 84AppsForTheKing โครงการ mLearning, โครงการ Mobile SMEs : BI-Cloud ที่จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในอีก 2 ปีข้างหน้า, โครงการ Software Camp และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของศรีปทุมมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะตรงกับแนวทางการสร้างศรีปทุมให้เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางด้าน ICT

View :1687

Related Posts

Categories: Press/Release Tags: ,
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.