Home > Press/Release, กระทรวงไอซีที > ก.ไอซีที จัดโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ก.ไอซีที จัดโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

September 22nd, 2011 Leave a comment Go to comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน”ขึ้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี และสิงห์บุรี ซึ่งจะดำเนินการในเรื่อง การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง การจัดรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ การจัดตั้งระบบ e-Conference เพื่อใช้สนับสนุนการสั่งการแก้ปัญหากรณีระบบสื่อสารขัดข้องในพื้นที่ รวมทั้งการจัดหาพาหนะขนส่งสิ่งของบริจาคเพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอ การจัดอาหารและน้ำดื่มเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (fit its) ร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเพื่อเข้าไป ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบข้อขัดข้อง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการประสานงานและ บูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานหลักในพื้นที่ อันจะเป็นช่องทางให้เกิดการวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ในอนาคต

“ในการวางแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันนั้น ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านต่างๆ โดยให้กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามและรายงานสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ ประมวลผล ประเมินสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเพื่อแจ้งข่าว – เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ เสี่ยงภัย เช่น โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน 192 โทรสาร วิทยุสั่งการ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และอื่นๆ

นอกจากนั้น ยังให้มีการเตรียมความพร้อมของรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ โดยให้วางไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที พร้อมกันนี้ให้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั้งโครงข่ายหลัก และโครงข่ายสำรองให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา จัดเตรียมและสำรองอุปกรณ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมและอื่นๆ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ จัดเตรียมแผนที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดนั้นๆ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สำรองให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ตรวจสอบและจัดเตรียมฐานข้อมูลและระบบบริหารจัดการ จัดเตรียมระบบด้านการเตือนภัยให้พร้อม และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งระบบเตือนภัยให้รับทราบ ตลอดจนตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัยในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการคาดการณ์สภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าจะมีฝนตกเป็นระยะต่อไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2554 ฝนจึงจะเบาบางลง หลังจากนั้นร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นในภาคใต้ตอนบน ส่วนการคาดการณ์สภาวะน้ำท่วมนั้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีจำนวนมากและอยู่ในสภาวะวิกฤติ จึงคาดว่าสภาพน้ำท่วมจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปนานอีกพอสมควร บางพื้นที่อาจจะท่วมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลทำได้ลำบาก

View :1398

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.