Home > Press/Release > ไอเซ็บ และ ม.หอการค้าไทย ถกทิศทางธุรกิจสื่อ หลัง กสทช. เดินหน้าประกาศใช้ พ.ร.บ. กสทช. เต็มรูปแบบ

ไอเซ็บ และ ม.หอการค้าไทย ถกทิศทางธุรกิจสื่อ หลัง กสทช. เดินหน้าประกาศใช้ พ.ร.บ. กสทช. เต็มรูปแบบ

โดย ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันฯ จับมือกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี และดำเนินการจัดงานโดยACE (เอ๊ซ) จะจัดงานสัมมนา เรื่อง “ทิศทางและโอกาสของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ยุคใหม่” หวังกระตุ้นให้ภาคเอกชนในแวดวงสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม เตรียมความพร้อมหลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เต็มรูปแบบ

ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) กล่าวถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 จะมีผลบังคับใช้และมีการแต่งตั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กสทช.) ซึ่งอำนาจหน้าที่มิได้มีเพียงการจัดสรรคลื่นความถี่ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือการประมูลคลื่นความถี่ 3G เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของประเทศทั้งระบบ โดยเฉพาะภาครัฐที่ดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่จะต้องคืนคลื่นความถี่ และสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เดิม การยกเลิกสัมปทานวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด การเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์จากเจ้าของเดิม เพื่อการนำมาเปิดประมูลใหม่เพื่อการพาณิชย์ จึงเป็นเรื่องน่าคิด น่าติดตามว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไรในสังคมไทยต่อจากนี้ไป

ด้านรองศาสตราจารย์ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ควบคู่กับการมีแผนแม่บท ของ กสทช. ตลอดจนการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ นำไปสู่การเป็นดิจิทัล ทีวีเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้รับสัญญาณในระบบดิจิทัลอย่างทั่วถึง และกรอบการกำกับดูแลเชิงเศรษฐกิจจะส่งผลต่อการแข่งขันในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ ทิศทางของเศรษฐกิจและธุรกิจภายหลังมี กสทช. จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้างนั้น การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้กิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ของประเทศไทย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช. มีความยินดีที่จะสนับสนุนการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปรวมไปถึงผู้ประกอบกิจการชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้ไป โดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลือกและความหลากหลายของบริการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ตลอดจนการเตรียมความพร้อมก่อนที่กฎหมาย กสทช. จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นในงานสัมมนาดังกล่าว รับรองว่าจะสามารถสร้างความกระจ่างให้กับทุกท่านได้อย่างแน่นอน

ด้านผู้แทนจากภาคธุรกิจ การเงิน นายพรชัย ประเสริฐสินธนา กรรมการ และ ผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ทางด้านการเงินการลงทุนก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง การเปิดเสรี ในวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม ครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้เช่นกัน การเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลที่ชัดเจน จะส่งผลโดยตรงกับตลาดเงิน และตลาดทุน ในด้านการแข่งขันและการเจริญเติบโตของธุรกิจวิทยุ โทรทัศน์ และการโทรคมนาคม ตลอดจนการเกิดสื่อใหม่ ๆ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดทีมรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มนักธุรกิจสื่อสารมวลชน ในวันสัมมนาที่จะจัดขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สนับสนุนโดย กสทช.จึงริเริ่มจัดงานสัมมนางานแรก เรื่อง“ทิศทางและโอกาสของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ยุคใหม่” ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ ห้องเมจิก ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ดอนเมือง โดยมีเป้าหมาย เพื่อเปิดเวทีการแลกเปลี่ยนความเห็นของ นักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้รู้ และผู้มองเห็นอนาคต ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในวงการสื่อสารมวลชน และโทรคมนาคม อันจะส่งผลกระทบโดยตรงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม อันเนื่องมาจาก พ.ศ.2553 วิทยากรระดับแถวหน้าจากหลากหลายวงการ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน อาทิ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการ กสทช. จำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย ที่ปรึกษากรรมการ ผู้จัดการ กลุ่มบีอีซี เวิลด์ 1 วสันต์ ภัยหลีกลี้ รองผู้อำนวยการทีวีไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มร.คาริม ซาลามาเทียน บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ยังมี ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนจาก ไมโครซอฟ กูเกิ้ล ปังย่าเกมส์ บริษัท อินิทรี ดิจิตอล จำกัด อารักษ์ ราษฎร์บริหาร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สปริงนิวส์ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยมี รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณะบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นผู้ดำเนินรายการ และมีหัวข้อที่ท้าทายและน่าสนใจ อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ไทยในยุคโลกาภิวัตน์ โฉมหน้าใหม่ของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ไทย อุปสรรคและความท้าทายของธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ประเทศไทย ความท้าทายธุรกิจสื่อใหม่ (New Media) รูปแบบใหม่ของการแข่งขันในธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์ ประเทศไทย…. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการแข่งขันอย่างไร เป็นต้น เชื่อว่า งานสัมมนาครั้งนี้จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางใหม่ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมกับ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ ได้อย่างแน่นอน

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา สามารถจองบัตรได้แล้ววันนี้ที่ ACE (เอ๊ซ) โทร.02 254-8282-3

View :1410

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.