Home > Press/Release, Technology > ไอดีซีฟันธง 2555 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับวงการไอทีไทย

ไอดีซีฟันธง 2555 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับวงการไอทีไทย

คลื่นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ไหลบ่ารวมเข้ากับมหาอุทกภัย ได้ส่งผลกระทบใหญ่ต่ออำนาจการซื้อและการลงทุนในประเทศไทย นั่นทำให้ผู้ขายสินค้าและบริการด้านไอที ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ในการรักษาระดับการเติบโตของรายได้ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในอุตสาหกรรมไอซีทีในปี 2555 อย่างไรก็ตามไอดีซียังคงเชื่อว่าระดับการลงทุนขององค์กรใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังพลิกกลับมาสดใสอีกครั้ง

โดยนายอรรถพล สาธิตคณิตกุล ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษา ( Asia/Pacific’s Research Manager for Cross products & Consulting) เผยว่า “ไอดีซีคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายและการลงทุนด้านไอทีจะได้รับแรงหนุนจากการผสมผสานกันของเทคโนโลยีและรูปแบบการประกอบธุรกิจใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะรักษาระดับการขยายตัวของตลาดไอซีที แต่ก็มีเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ smart-devices, consumerization และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ cloud-computing” ซึ่งตัวเลขการคาดการณ์ล่าสุดของไอดีซีแสดงให้เห็นว่าตลาดไอซีทีของไทยน่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 10.4% โดยมีมูลค่าตลาด 1.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2555

ไอดีซีได้ใช้ข้อมูลที่ได้จากงานศึกษาวิจัยล่าสุด ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการระดมสมองของนักวิเคราะห์ทั้งที่ประจำประเทศไทยและประจำภูมิภาค มาจัดทำเป็นงานวิจัยเรื่องการคาดการณ์ถึงแนวโน้มสำคัญ 10 ประการที่จะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อทิศทางของอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศไทยโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การใช้จ่ายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย

แม้ว่าสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยจะยังไม่สดใสนักแต่ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 การใช้จ่ายจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วนของไอซีที ไม่ว่าจะเป็นตลาด hardware software การบริการด้านไอทีหรือการบริการด้านโทรคมนาคม โดยจะเป็นอีกปีที่การเติบโตหลักมากจากฝั่ง hardware ซึ่งไอดีซีคาดการณ์ว่าตลาดรวมไอซีทีทั้งหมดของไทยจะเติบโต 10.4% ไปสู่ระดับ 1.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้

การใช้จ่ายด้าน Data จะเป็นพระเอกของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ไอดีซีคาดการณ์ว่า บริการด้านข้อมูลไร้สาย (mobile data services) จะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดบริการโทรคมนาคมในประเทศไทยเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 15.5% ไปอยู่ที่ระดับ 968 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริการยอดนิยมหนีไม่พ้นด้านมัลติมีเดียทั้งการท่องอินเทอร์เน็ต เข้าเว็บไซต์ ดูวิดีโอ และส่งอีเมล์ผ่านโทรศัพท์มือถือ

Consumerization: นิยามใหม่ของไอที
ตัวเลขการคาดการณ์ล่าสุดของไอดีซีชี้ให้เห็นว่า ในปี 2555 smart-phone และ media-tablet จะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในส่วนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ระบบ ปฏิบัติการณ์ iOS และ android ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากตลาดเนื่องจากมีฟีเจอร์ที่หลากหลายภายใต้อินเตอร์เฟซที่สวยงามใช้งานง่าย ซึ่งทำให้พนักงานในองค์กรได้เริ่มนำแกดเจ็ทเหล่านี้มาใช้ในที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาก็คือองค์กรต่างๆ ก็ต้องพยายามหาโซลูชันหรือเทคโนโลยีที่จะมารองรับการทำงานร่วมกับแกดเจ็ทที่มีหลากหลายขนาด และ หลากหลายระบบ ปฏิบัติการเหล่านี้ ไอดีซีคาดว่าโซลูชันที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมที่สุดคือ client-virtualization และโซลูชั่นที่มีพื้นฐานจาก cloud นอกจากนี้องค์กรต่างๆ ก็ยังเริ่มมองหาทางเลือกเช่น พัฒนาการโซลูชันแบบ non-virtualization ของตัวเอง ใช้ประโยชน์จากโซลูชันแบบ non-virtualization ที่มีขายอยู่ในตลาด หรือแม้กระทั่งนำโซลูชันและเครื่องมือเดิมที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ให้ครอบคลุมถึงแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น

ฟ้าสดใสสำหรับ Cloud-Computing
ไอดีซีได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการที่เกี่ยวกับ cloud มาโดยตลอด นับตั้งแต่ cloudเข้ามาสู่ประเทศไทยในปี 2553 ซึ่งในปี 2554 ที่ผ่านมานั้นเหล่าผู้ให้บริการด้านไอที ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการ data center ได้เริ่มนำ cloud ในรูปแบบ infrastructure-as-a-service (IaaS) และ application-as-a-service (AaaS) มาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่ช่วยสร้างพื้นฐานที่ดีของ cloud และเทคโนโลยีหรือการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นไอดีซีเชื่อว่าในปีนี้องค์กรต่างๆ จะให้ความสนใจกับ cloudมากขึ้น ทั้งองค์กรในภาคการเงิน การสื่อสาร การผลิต และการบริการ ซึ่งบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดน่าจะเป็น Iaas รองลงมาคือ AaaS และ PaaS นั่นเป็นเพราะว่าผู้ให้บริการได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบ cloud ของตัวเองให้รองรับกับความต้องการจากตลาดที่มากขึ้นและหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง

เตรียมเปิดประตูบ้านรับ FTTx
การบริการโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านไฟเบอร์ หรือที่เรียกกันแพร่หลายว่า FTTx จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2555 และจากการที่ภาครัฐและเอกชนต่างก็เพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีนี้ทำให้ FTTx น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีก 2 – 3 ปีที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามความแพร่หลายของ FTTx ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขยายขอบเขตการให้บริการของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยลูกค้าที่มีกำลังซื้อในระดับสูงน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้

ศึกระหว่าง PC และ Smart-Devices ยังคงเข้มข้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากกล่าวถึง PC อุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอันดับแรกคือ notebook และdesktop แต่ในปัจจุบันกระแสของ smart-devices (smart-phone และ media-tablet) กำลังทะยานก้าวข้ามกระแสเดิมของ notebook และ desktop ถือได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของ PC ไอดีซีเชื่อว่าทั้งผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ยังคงมีความต้องการใช้ notebook และdesktop อยู่ แต่ในปี 2555 จะเป็นครั้งแรกที่ยอดจัดส่งของ smart- devices (ทั้งหมด 6.7 ล้านเครื่อง) มีจำนวนสูงกว่ายอดจัดส่งของ notebook และ desktop (ทั้งหมด 4.1 ล้านเครื่อง)

ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะหันมาหา Wi-Fi ในขณะที่รอ 3G
ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของไทยได้เริ่มทดสอบให้บริการ 3G มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และด้วยสภาพการแข่งขันด้าน data ที่สูงขึ้นทำให้ผู้ให้บริการบางรายในประเทศได้นำบริการ Wi-Fi มารวมเข้าใน data package เพื่อสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง โดยจุดประสงค์ของการขยายเครือข่าย Wi-Fi ของผู้ให้บริการในไทยไม่ใช่เพียงแค่รองรับความต้องการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการขยายพื้นที่ครอบคลุมให้กว้างขึ้นอีกด้วย ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2555 Wi-Fi จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการที่ต้นทุนของการวางระบบบรอดแบนด์ไร้สายนั้นยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้เราน่าจะได้เห็นความร่วมมือที่แนบแน่นมากขึ้นระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต นี่จะช่วยลดภาระในเรื่องของต้นทุนในการปฏิบัติการณ์ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และช่วยแบ่งเบาภาระของการส่งผ่านข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G เพียงอย่างเดียวลงได้ ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็สามารถเพิ่มรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายของตนได้ด้วย

Business Continuity และ Disaster Recovery จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไอทีในองค์กร
Business Continuity และ Disaster Recovery (BC/DR) ได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ความนิยมมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2555 ด้วยอานิสงค์จากความต้องการในการเข้าถึงการบริการแบบ 24×7 ของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องรับมือกับความเสี่ยง และ ความไม่แน่นอนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นของภาคธุรกิจนั่นเอง ไอดีซีขอแนะนำให้องค์กรต่างๆ เลือกใช้บริการ BC/DR จากผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์และมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้ไอดีซีเชื่อว่าความต้องการใช้บริการ BC/DR โดยมากจะมาจากภาคการเงิน การสื่อสาร และภาคการผลิต

มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง: วิธีใหม่ๆ ที่จะร่วมมือกับลูกค้า
การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและลงทุนด้านไอทีในปี 2555 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำ โดยองค์กรต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ช่วยในการลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเป็นอันดับแรก ความต้องการของลูกค้าทุกวันนี้นั้นหลากหลายมากขึ้น และลูกค้าก็มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น บังคับให้องค์กรต่างๆ ต้องใช้แนวคิดแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลางเพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการให้ได้ดีและมากที่สุด การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงต้องการมากกว่าแค่การทำ CRM แต่จะต้องหาวิธีเรียนรู้ลูกค้าให้มากขึ้นด้วย เครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ก็คือเครื่องมือด้านไอที ซึ่งจะช่วยให้การค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นของลูกค้าที่มีอยู่ในแหล่งต่างๆ รวมทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการชี้ชัดให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการกันแน่

ความต้องการที่จะวิเคราะห์ Big Data จะเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลที่มีขนาดมหึมาหรือ big data นั้นถือเป็นหนึ่งในกระแสที่มีการถกเถียงกันในแวดวงไอทีในปัจจุบัน ในระยะหลังนั้นปริมาณของแหล่งข้อมูลได้เพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งข้อมูลจากการใช้ notebookโทรศัพท์มือถือ media-tablet social-network และแหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลแบบ real-time ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณของข้อมูลถีบตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และก็ได้มีเครื่องมือที่สามารถวิเคราห์ข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้ ความนิยมของการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนเริ่มลงทุนในการหาเครื่องมือวิเคราะห์ความคิดเห็นจากสังคมออนไลน์ และไอดีซีเชื่อว่าการวิเคราะห์ big data คือเทรนด์ใหม่ที่องค์กรต่างๆ ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป

View :1619

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.