Home > Press/Release > ก.ไอซีที จับมือ 7 หน่วยงานพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามกรอบ TH e-GIF

ก.ไอซีที จับมือ 7 หน่วยงานพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามกรอบ TH e-GIF

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ว่า กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง และเผยแพร่กรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (TH e-GIF) อย่างต่อเนื่องจนมาถึงเวอร์ชั่น 2.0 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องได้มีแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดด้านความแตกต่างของรูปแบบวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศที่เป็น ลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ประกอบกับผลการสำรวจสถานภาพการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน (Road Map) ในการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้พบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลร่วมเฉพาะกลุ่มธุรกรรม (Domain Specific Core Set) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละด้าน เพื่อมุ่งสู่การสร้างมาตรฐานข้อมูลกลางของประเทศ (Universal Core Set) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลด้านการเกษตรที่เป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงฯ ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ

ในปีงบประมาณ 2554 กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งพัฒนามาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือ “Agriculture Disaster Relief Information System (Aggie DRIS)” ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว จะเป็นการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และข้อมูลเกษตรกรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์การเกษตร ตามวิธีการที่ได้เสนอแนะไว้ในกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความสำคัญในการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันและส่งเสริมสนับสนุนการใช้ระบบงานดังกล่าวในด้านนโยบาย กระทรวงไอซีที จึงได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐเพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ระหว่างกระทรวงฯ กับ 7 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อเป็นข้อตกลงในการร่วมใช้ระบบข้อมูล และประชาสัมพันธ์การใช้งานระบบดังกล่าว

“การลงนามในครั้งนี้ เป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “เกษตรกร” ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ และเป็นกลุ่มอาชีพที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพื้นที่ทำกิน ผลผลิตทางการเกษตร และที่อยู่อาศัย ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก กระทรวงไอซีที จึงได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัยมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกระบวนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อันจะส่งผลให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันการใช้งานมาตรฐานข้อมูล และกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้ง “ระบบบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร” เพื่อมุ่งสู่การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มระบบ โดยให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้บูรณาการความร่วมมือและเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ ด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือหลังจากประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรได้อย่างทั่วถึง อันจะเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นได้

View :1469

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.