Home > Press/Release, Science > สวทช.ส่งเสริมการเลื้ยงโคนม โดยนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในการคัดเลือกสัตว์พันธุ์ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สวทช.ส่งเสริมการเลื้ยงโคนม โดยนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในการคัดเลือกสัตว์พันธุ์ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. )


ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในการสนับสนุนการวิจัย “ โครงการพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมในประเทศไทย” ซึ่งผลงานที่ได้จากโครงการฯ นำไปประยุกต์ใช้และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการคัดเลือกพันธุ์โคนมและพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมโคนมภายใต้ระบบการผลิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการผลิตโคนม ทั้งในด้านผลผลิตน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม ส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรรายย่อย พัฒนาอุตสาหกรรมโคนมและ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้โครงการฯ ดังกล่าว ยังได้สนับสนุนการผลิตบุคลากรระดับบัณฑิตศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบบจำลอง การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์โคนมและเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของแหล่งเก็บข้อมูลดีเอ็นเอที่ได้จากตัวอย่างเนื้อเยื่อของโคนมที่ถูกเลี้ยงดูและให้ผลผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับการพัฒนางานวิจัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของโคนมที่แสดงออกภายใต้สภาพแวดล้อมในเขตร้อนชื้น

ผศ.ดร. ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ นักวิจัย สังกัด ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ผศ.ดร. ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ นักวิจัย สังกัด ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมโคนมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ถูกพัฒนาขึ้นในเขตภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยความร่วมมือระหว่าง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เผยแพร่ข้อมูล “คุณค่าการผสมพันธุ์โคนม(EBV)” ให้เกษตรกรใช้คัดเลือกพันธุ์โคนมอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมประชากรโคนมในประเทศไทยที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัญหาที่สำคัญ คือ การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมดังกล่าวมีความแม่นยำต่ำ ด้วยเหตุนี้อัตราการพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมสำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจในประชากรโคนมของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องถูกเร่งทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่ง คือ การเพิ่มการพิจารณา ข้อมูลจีโนม ร่วมกับ ข้อมูลพันธุ์ประวัติ และความสามารถในการแสดงออกที่ปรากฏของสัตว์แต่ละตัว ตามที่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ด้วยเทคนิคชีววิทยาโมเลกุลในปัจจุบัน จีโนมสนิป (Genomic SNP) ถูกตรวจสอบ ได้อย่างแม่นยำในโคนม โดยใช้ต้นทุนต่ำ และนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมได้ (Genetic-Genomic Evaluation System)

ดังนั้นโครงการวิจัยฯ จึงมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาระบบการประเมินพันธุกรรมจีโนม ได้แก่ แบบจำลองและวิธีการทำนายความสามารถทางพันธุกรรมจีโนม ความสัมพันธ์ระหว่างสนิปและลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจในโคนม และระบบฐานข้อมูลร่วมของพันธุ์ประวัติ-ลักษณะปรากฏ-จีโนไทป์ ทำให้เกิดข้อมูล “คุณค่าการผสมพันธุ์จีโนม (GEBV)” สำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่มีความแม่นยำสูงกว่า “คุณค่า การผสมพันธุ์(EBV)” ที่ทำโดยการใช้วิธีการประเมินค่าทางพันธุกรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปประมาณร้อยละ 30 สำหรับใช้ในการการคัดเลือกพันธุ์สัตว์ เร่งอัตราความก้าวหน้าทางพันธุกรรมในประชากรโคนม ทำให้พันธุกรรมของโคนมในประชากรหลากหลายพันธุ์ของประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมระดับจีโนมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของโคนมในเขตร้อนชื้น

View :1865

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.