Home > Press/Release, Science, Seminar, Technology > สวทช. กระทรวงวิทย์ฯจัดทัพเทคโนโลยีพร้อมรับมือพิบัติภัยในงาน NAC 2012 “รู้ สู้ พิบัติภัยไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

สวทช. กระทรวงวิทย์ฯจัดทัพเทคโนโลยีพร้อมรับมือพิบัติภัยในงาน NAC 2012 “รู้ สู้ พิบัติภัยไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”


สวทช.กระทรวงวิทย์ฯ โชว์นวัตกรรมและผลงานช่วยรับมือพิบัติภัย ในงานประชุมประจำปี สวทช.หรือ ดร.ปลอดประสพมั่นใจจะเป็นเวทีรวมองค์ความรู้การรับมือพิบัติภัยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุด พร้อมย้ำให้ภาคธุรกิจพลิกกลยุทธ์แปลงวิกฤติเป็นโอกาสขยายผลงานวิจัยไปสู่การผลิตอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในวงกว้าง

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “สวทช.ได้มีการจัดงานประชุมประจำปีขึ้นทุกปี โดยเน้นการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกิดจากองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนาของ สวทช.และเครือข่ายเพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์และความมั่นคงประเทศ ด้วยการเน้นบูรณาการระหว่างกัน ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีจากหลายๆ แห่งมารวมเข้าไว้ด้วยกัน และนำเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สำหรับหัวข้อการจัดงาน “รู้สู้ ไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”ในปีนี้ นับว่าเหมาะและเข้ากับสถานการณ์ในการที่จะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านจัดการภัยพิบัติตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งในแง่เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน “

“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เสนอแนะนโยบายระยะยาวเพื่อใช้ในด้านการวางแผนการจัดการภัยพิบัติด้านน้ำในหลายๆด้าน โดยผมได้รับผิดชอบในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ( กบอ.) กำหนดวิธีการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นไปโดยเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ รวมทั้งการดำเนินการอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการป้องกันและแก้ไข ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภายนอกและภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำให้ปัจจุบันเรามีระบบข้อมูลนำเสนอด้านสภาวะน้ำ ข้อมูลพยากรณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุด ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ ปริมาณฝนรายวันสูงสุดในพื้นที่ต่างๆ เส้นทางพายุจากภาพถ่ายดาวเทียม ปริมาณและระดับน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งระดับน้ำในเขื่อน ระดับน้ำในลุ่มน้ำ รวมถึงปริมาณฝนและระดับน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ“

“สวทช.เองก็เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงของกระทรวงฯ ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันและการสนับสนุนทำงานอย่างดีจาก ดร.ทวีศักดิ์ ผอ.สวทช. นอกเหนือจากการวิเคราะห์พยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว คาดว่าในอนาคตจะมีนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดจากภัยพิบัติ เช่น เทคโนโลยีการก่อสร้าง เทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้าง และอื่นๆให้ต้านทานภัยพิบัติได้ดีขึ้น หรือช่วยบรรเทาความสูญเสียให้น้อยลงได้ ดังตัวอย่างของเทคโนโลยีหลายๆอย่างที่สาธิตให้ชมหรือข้อคิดจากเวทีอภิปรายต่างๆในงานนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลที่ต้องการแนวทาง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหลายๆภาคส่วนเพื่อปรับปรุงแผนงานและบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”ดร.ปลอดประสพกล่าว

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน NAC 2012 ภายใต้แนวคิด “รู้ สู้พิบัติภัยไปกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิจัยของ สวทช. จาก ๔ ศูนย์แห่งชาติได้นำเสนอผลงานความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับประชาชนและสังคมได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งก่อนเกิดภัย เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว และหลังพิบัติภัยผ่านพ้นไป โดยเฉพาะภัยจากน้ำท่วม ตัวอย่างผลงานเด่นที่นำมาจัดแสดงในงานแถลงข่าวครั้งนี้ อาทิ

• ถุงกระสอบ nSack ซึ่งมีขนาดเล็กและเบา สะดวกในการใช้งาน โดยไม่ต้องบรรจุทราย เพียงแช่น้ำไว้ประมาณ ๔๕ นาที ถุงจะดูดซับน้ำได้มากถึง ๑๐๐ เท่า และนำไปใช้งานเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกับกระสอบทรายแบบดั้งเดิม
• จ่าเฉยวัดระดับน้ำ หุ่นจำลองตำรวจที่ติดตั้ง sensor เพื่อใช้ในการตรวจจับความเร็วของรถที่วิ่งผ่าน และตรวจการแซงทับเส้นทึบ (จุดห้ามจอด หรือคอสะพาน) นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองต่อการรับมืออุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงได้มีแนวคิดในการเพิ่มการตรวจสอบระดับน้ำบนพื้นถนน เพื่อให้สามารถรายงานสถานภาพน้ำท่วมบนพื้นถนนได้ตามความเป็นจริง โดยใช้อุปกรณ์อัลตร้าโซนิคตรวจวัดระดับความสูงของน้ำบนพื้นถนนเทียบกับถนนปกติ ทำให้ผู้ใช้ถนนสามารถตรวจสอบข้อมูลว่าสามารถที่จะวิ่งผ่านถนนดังกล่าวได้หรือไม่
• แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งของอ่าวไทย ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบต่อชายฝั่งอันเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงศึกษาการรุกล้ำของคลื่นทะเลอันเกิดจากพายุที่อาจมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดน้ำท่วมได้
• ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูด ช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูดได้มีโอกาสใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปในสังคม โดยเฉพาะในขณะที่เกิดพิบัติภัย
• nCA :- “น้ำใส หายเหม็น ออกซิเจนสูง” นวัตกรรมแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียให้กลายเป็นน้ำดี ระบบดังกล่าวประกอบด้วยสารจับตะกอนเพื่อให้น้ำใส และเครื่องเติมอากาศด้วยปั๊มที่ออกแบบการใช้งานที่ง่าย
• Flood Sign Application เครื่องมือในการช่วยเก็บข้อมูลระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี ๒๕๕๔ ซึ่งถือเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ โดยให้ประชาชนช่วยเก็บรวบรวมและรายงาน (Crowd Sourcing) ข้อมูลระดับคราบน้ำท่วมสูงสุดในแต่ละพื้นที่ผ่านทางMobile Application นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือในการรายงานระดับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และมีความทันสมัยหรือเป็นปัจจุบันมากที่สุด สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีที่แอนดรอยด์มาร์เก็ตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำป้าย Flood Sign ที่ใช้อลูมิเนียมปรับปรุงผิวด้วยอะโนไดซิ่ง (Anodized Aluminium) มอบให้กับ อบต. ครอบคลุม ๑๗ จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อนำไปติดตั้งยังจุดที่มีระดับน้ำท่วมสูงสุดด้วย
• ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ “ข้าวเหนียวข้าวก่ำ” มีสารฟีนอลิกและสารแอนโทไซยานินสูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยจะทูลเกล้าฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานประชุมวิชาการในวันที่ ๒๓ มีนาคมนี้ และ สวทช. จะนำไปมอบให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.อยุธยา และ จ.สระบุรีได้นำไปปลูกต่อไป
• Thai Science Biodiversity ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ข้อมูล สืบค้นหาข้อมูลได้ง่าย ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลกได้ ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพของไทยหลังเกิดพิบัติภัยต่างๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่พร้อมให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ อาทิ ระบบผลิตไบโอดีเซล เจลรักษาแผลยับยั้งแบคทีเรียและกระตุ้นการหายของแผล สารเคลือบผิวผลไม้จากไขรำข้าว และโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพครอบครัวแบบพกพา เป็นต้น สำหรับการประชุมในครั้งนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจกว่า ๒๘ เรื่อง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศที่จะมาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการรับมือพิบัติภัย อาทิ

• การสัมมนาในหัวข้อ “การบริหารทรัพยากรน้ำเพื่อการรับมือมหาอุทกภัย” ซึ่งจะถอดบทเรียนความจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ และเสวนาถึงแผนการจัดการและแนวทางการรับมือของภาครัฐ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ และชี้แนะแนวทางการใช้เครื่องมือ/เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนแผนการดังกล่าว ซึ่งจะถูกใช้เพื่อเตรียมการ ป้องกัน รับมือ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ วิทยากรได้แก่ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รศ.ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ สิรินธร และ ผศ.ดร.สุทัศน์ วีสกุล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

• การเสวนาในหัวข้อ “มองไปข้างหน้ากับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” บริษัทชั้นนำด้านฮาร์ดิสก์ไดร์ฟที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเวสท์เทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตซิบา สตอเรจ ดีไวท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศ) จำกัด บริษัท ซีเกท เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะมาร่วมพูดคุยและให้มุมมองต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของไทย นอกจากนี้ในส่วนของภาคการศึกษากับการพัฒนาฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ จะได้ฟังมุมมองและประสบการณ์จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ ที่ได้นำเครื่องบินบังคับวิทยุสำรวจพื้นที่น้ำท่วม และได้นำมาประยุกต์ใช้สำรวจการลอกคูคลองในพื้นที่ต่างๆ

• การเสวนาในหัวข้อ “รู้ทันข้อมูลเพื่อรับมือพิบัติภัย” โดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชน และอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะมาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองในการที่ประชาชนจะเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างไรในช่วงวิกฤต ขณะเดียวกันภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก

• การสัมมนาเรื่อง “การปรับตัวของเกษตรกรในภาวะน้ำท่วม” เป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะได้รับฟังประสบการณ์ของเกษตรกรไทยที่ต้องปรับวิถีชีวิตและการทำกินในช่วงน้ำท่วม ซึ่งในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา เกษตรกรบางรายสามารถสร้างรายได้จากวิกฤตนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อสัมมนาวิชาการอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น ความเป็นไปได้ของการพัฒนาอุตสาหกรรม Organic and Printed Electronics ในประเทศไทย และศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ Printed Electronic ซึ่งผลิตภัณฑ์ Printed Electronic ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น RFID tags หรือจอภาพต่างๆ

การจัดงานประชุมและแสดงผลงานประจำปี ๒๕๕๕ ของ สวทช. หรืองาน NAC 2012 เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ ๒๔-๒๘ มีนาคม นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีกิจกรรมสำหรับครอบครัว “นักวิทยาศาสตร์น้อย รู้ สู้ พิบัติภัย” ในวันที่ ๒๔-๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ด้วย ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการจัดงานในปีนี้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วไป ซึ่งข้อมูลและความรู้จากงานในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับพิบัติภัยได้อย่างเหมาะสมต่อไป ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nstda.or.th/nac2012

View :1975

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.