Home > Press/Release, กระทรวงไอซีที > รมว.ไอซีที นำทีมสื่อมวลชนดูงานศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง จังหวัดราชบุรี

รมว.ไอซีที นำทีมสื่อมวลชนดูงานศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง จังหวัดราชบุรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ชุมชนต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร จากเครื่องมือของศูนย์การเรียนรู้ฯ พร้อมชมกระบวนการผลิตน้ำข้าวกล้องงอก ที่ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวชุมชนบ้านรางไม้แดง โดยมี นายสุรพล แสวงศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับ

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนมีความแข็งแกร่งและสามารถยืนด้วยลำแข้งของชุมชนเองได้ โดยชุมชนบ้านรางไม้แดงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ในด้านการฝึกอบรมและสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของหมู่บ้าน จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก น้ำข้าวกล้องงอก ไอศครีมข้าวกล้องงอก ผลิตผลทางการเกษตรผลผลิตจากหมู่บ้านรางไม้แดงที่โดดเด่น

ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการเตรียมการเพาะปลูก ค้นคว้าเรื่องดิน สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ราคาสินค้าเกษตร ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เพื่อวางแผนการผลิตสินค้าได้เท่าทันความต้องการของตลาด และใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในการหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกร เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้านการเกษตร ทำให้สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยง อีกทั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนยังเป็นแหล่งข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น เมื่อมีศัตรูพืชระบาด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิต และขายสินค้าของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือก การแปรรูป และต่อยอดการผลิต ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายเปิดร้านอาหารปลอดภัย และล่าสุดอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของชุมชนและเครือข่าย สำหรับเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

กระทรวงไอซีที ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนกระจายครอบคลุมทั่วประเทศแล้วมากกว่า 1,800 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

“ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน มีเป้าหมายหลักเพื่อลดช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างคนเมืองและคนชนบท ให้สามารถใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน พบว่า ประชาชนทั่วประเทศได้ใช้งานศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์หลากหลายด้าน ซึ่งนอกจากประชาชนจะได้เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีแล้วยังสามารถเป็นแหล่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนอีกด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ฯ กล่าว

ปัจจุบันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนขึ้น ทั่วประเทศแล้วมากกว่า ๑,๘๐๐ แห่ง ซึ่งมีที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในชุมชน ให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้รับการยอมรับจากชุมชน ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี

ดังนั้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับทราบข้อมูล และสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน กระทรวงไอซีที จึงได้จัดทำ “กิจกรรมประกวดแผนการประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” ภายใต้โครงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ขึ้น เพื่อส่งเสริมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ให้คนไทยทั่วประเทศได้รู้จัก และเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเป็นแผนต้นแบบเพื่อให้ชุมชนสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยการเชิญชวนนิสิตนักศึกษาที่สนใจด้านไอที ร่วมสร้างสรรค์และส่งผลงานของตนเองเข้าประกวดกับโครงการประกวดแผนประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมฯ กว่า ๑๐๐ ทีม และเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ได้ประกาศผลทีมที่เข้ารอบ ๒๐ ทีมสุดท้ายไปแล้ว โดยผู้สนใจสามารถชมผลงานของทั้ง ๒๐ ทีมได้ที่ www.ictcontest.com หรือ www.facebook.com/ictcontest

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนตัวอย่างที่ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการสืบค้นข้อมูลด้านการเกษตร และต่อยอดสร้างอาชีพจากผลผลิตทางการเกษตร ใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการเกษตรระหว่างชุมชนเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับขายสินค้าของชุมชนอีกด้วย

ประกอบกับในขณะนี้กระทรวงไอซีที ได้จัดทำโครงการร้านค้าชุมชนออนไลน์ที่ www.ThaiTelecentreMall.com หรือ e-Shop ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายแกนนำผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนภาคกลางเป็นแกนหลักในการรวบรวมข้อมูลสินค้า/บริการจากชุมชนเพื่อสร้างช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้แก่กลุ่มอาชีพและสินค้าชุมชนโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อของการซื้อขายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้าง e-Women ระดับเอเชียและแปซิฟิคมาแล้ว จำนวน ๓ คน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของจุดเปลี่ยนในการประยุกต์ใช้ ICT กับกลุ่มอาชีพในชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า ICT เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มพูนรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง

นายสุรพล แสวงศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้รับการดูแลการสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนจากภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมทั้งสมาชิกในชุมชนเองก็พยายามสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งยืนด้วยลำแข้งของตนเอง โดยการสร้างชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ได้เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้ในหลายด้าน รวมถึงการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนบ้านรางไม้แดงด้วย

สำหรับแผนงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้วางแผนที่จะรวบรวมองค์ความรู้ขึ้นเว็บไซต์ของชุมชน เพื่อเผยแพร่แก่คนในชุมชนและแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนอื่นๆ โดยมุ่งให้บริการเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ผู้สนใจทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาศึกษาโดยตรงที่จังหวัดราชบุรีอีกต่อไป

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน “บ้านรางไม้แดง”

ข้อมูลจำเพาะของชุมชน
บ้านรางไม้แดงไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน พื้นที่เป็นชายเขามีป่าเบญจพรรณขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยเฉพาะต้นไม้แดงและมีลำรางน้ำในหมู่บ้านจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ประชากรอพยพมาจากบ้านโรงช้าง บ้านบางป่า และคนจีนอพยพเข้ามาถากทางทำมาหากินในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้านเท่าที่สามารถค้นหาประวัติได้ 5 ท่าน บ้านรางไม้แดงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี 6 กม. มีประชากรทั้งสิ้น 1,329 คน แยกเป็นชาย 656 คน เป็นหญิง 673 คน ประกอบอาชีพทางการเกษตร 54 ครัวเรือน 104 ราย ในอดีตมีการทำนาแบบดั้งเดิมไม่ประสบปัญหา ต่อมาเมื่อสังคมเจริญขึ้นมีการจัดรูปที่ดินและทำนาสองครั้งในหนึ่งปีเพื่อเพิ่มผลผลิตรวมถึงมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ในปี 2528 ชุมชนบ้านรางไม้แดงประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพและการใช้สารเคมีส่งผลกระทบกับตัวเกษตรกร จากการสำรวจโดยการตรวจเลือดพบสารปนเปื้อนในกระแสเลือดของเกษตรกร นอกจากนั้นปัญหาการเพาะปลูกทวีความรุนแรงขึ้นเกิดการ ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนที่สูงแต่ได้ผลิตผลที่ต่ำ ผลพวงในครั้งนั้นชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา จึงเกิดการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนขึ้นเมื่อปี 2544 วัตถุประสงค์หลักเมื่อเริ่มต้นนั้นเพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลประมาณ 4,500 ไร่ และเกิดกลุ่มผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพ เพื่อรณรงค์ให้ลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันสามารถลดการใช้สารเคมีได้ประมาณ 50% และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกร และกลุ่มยังหวังที่จะแปรรูปผลผลิตออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มอีกต่อไป

การสนับสนุนจากภาครัฐด้านอาชีพ
หมู่บ้านรางไม้แดงมีหน่วยงานจากภาครัฐหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนทางด้านการเกษตร สำหรับการก่อตั้งชุมชนเพื่อด้านอาชีพได้มีการจัดตั้งเป็น ศูนย์ข้าวชุมชน ด้านการทำนาและเพาะเห็ด โดยได้รับการอบรมความรู้จากสถาบัน/องค์กรหลายแห่ง อาทิเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานร่วมประชุมแก้ไขปัญหา

ด้านอาชีพเสริมของชุมชนหลังการปลูกข้าว ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้า OTOP โดยใช้ผลผลิตที่ได้ในชุมชนจากการปลูกข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตข้าวกล้องงอก น้ำข้าวกล้องงอก เป็นต้น

จุดเด่นของชุมชนบ้านรางไม้แดง
ชุมชนบ้านรางไม้แดง ได้รับการดูแล การสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนจากภาครัฐ สมาชิกในชุมชนเองก็พยายามสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งยืนด้วยลำแข้งของตนเอง โดยสร้างชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านการเกษตร ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ได้เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งหน่วยงานต่างๆ เข้ามาอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านรางไม้แดง โดยในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ชุมชนวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศและเครื่องมือในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอาชีพเสริมที่มีอยู่ทั้งหมด มาบรรจุใส่ในระบบสารสนเทศและจัดทำเป็นเว็บไซต์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ให้เพื่อน ๆ เกษตรกรในหมู่บ้านสามารถเข้ามาค้นคว้าได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งเผยแพร่ไปยังพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้เข้ามาศึกษาข้อมูลด้านการเกษตรได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ชุมชนดังเช่นปัจจุบัน

การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ประโยชน์ในชุมชน
เมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ให้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้กับหมู่บ้านรางไม้แดงแล้ว หลังจากนั้นก็มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมให้ความรู้วิธีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ วิธีการสืบค้นข้อมูล ตลอดจนอบรมให้ความรู้แก่ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน เพื่อให้บริการและถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในหมู่บ้าน ทำให้ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดงสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศ ดังนี้

• การเตรียมการเพาะปลูก สมาชิกของชุมชนบ้านรางไม้แดงเข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ค้นคว้าเรื่องดินโดยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนและที่ดินโดยใช้ GPS ช่วยค้นหาระบุตำแหน่ง เมื่อได้ตำแหน่งแล้วก็ไปค้นหาข้อมูลดินว่าดินที่ตำแหน่งนี้เป็นดินชุดไหน ประเภทอะไร เหมาะสมในการเพาะปลูกอะไร คุณสมบัติของดินเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงดินอย่างไรเพื่อเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เราจะสามารถรู้และแก้ปัญหาสภาพดินได้ ซึ่งดินเป็นหัวใจหลักของการเพาะปลูก และคนในชุมชนจะช่วยกันดูแลรักษา สภาพดิน เช่น การลดปริมาณสารเคมีเพื่อไม่ให้ดินนั้นมีสารเคมีตกค้าง ปัจจุบันคนในชุมชนเปลี่ยนวิธีการเกษตรจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเป็นทำปุ๋ยใช้เองลดสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกได้ถึงร้อยละ 50
• การเพาะปลูก ชาวชุมชนบ้านรางไม้แดงใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนหลายอย่างสรุปโดยสังเขปดังนี้
1) ก่อนการเพาะปลูกพืชชนิดใด คนในชุมชนจะเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อตรวจสอบเว็บไซต์ที่แสดงข้อมูลราคาพืชผลการเกษตร แล้วนำไปคิดเรื่องต้นทุนว่าเมื่อปลูกพืชผลนั้นๆ แล้วจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ ทำให้ลดความเสี่ยงและปัญหาการเพาะปลูกที่อาจขาดทุนได้
2) ในฤดูการเพาะปลูกเกษตรสามารถเข้ามาตรวจสอบสภาพอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝน ปริมาณน้ำฝนในแต่ละช่วง เพื่อลดปัญหาพืชผลการเกษตรเสียหาย การเตรียมการสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลนั้นๆ ความเสี่ยงในการเพาะปลูก
3) เมื่อเพาะปลูกแล้ว หากพบปัญหาในการเพาะปลูกเราก็เข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สืบค้นข้อมูลที่เราอยากทราบ เช่น เมื่อมีศัตรูพืชระบาด ปัญหาศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรทุกที่ต้องเจอ ชุมชนศึกษาข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรที่ได้เผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ ทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ลดการสูญเสียของผลผลิต ไม่ต้องลองถูกลองผิดเอง และในอนาคตกำลังจะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อจัดตั้งหมู่บ้านรางไม้แดงเป็นศูนย์พยากรณ์ศัตรูพืชและเชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน
• ด้านผลผลิต การจัดการผลผลิตในชุมชน พยายามแปรรูปผลิตผลของชุมชนเอง เพื่อสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในขณะนี้คือ ข้าวกล้องงอก (Gaba Rice) น้ำข้าวกล้องงอก และไอศกรีมข้าวกล้องงอก พยายามประยุกต์แปรรูปผลผลิตที่มีในชุมชน นอกจากนี้ยังใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิต โดยได้เริ่มจัดทำเว็บไซต์ของชุมชนและร้านค้าชุมชน ผ่าน www.thaitelecentre.org และ www.thaitelecentremall.com ตามลำดับ เพื่อขายสินค้า รวบรวมผลผลิตข้าวเปลือก การแปรรูป และต่อยอดการผลิต พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายเปิดร้านอาหารปลอดภัย และกำลังรวบรวมข้อมูลของชุมชนและเครือข่าย สำหรับนำขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่สินค้าของชุมชนและเครือข่ายให้ให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
• การให้บริการอื่น ๆ ชุมชนบ้านรางไม้แดง มีแผนงานที่จะรวบรวมองค์ความรู้ขึ้นเว็บไซต์ของชุมชน เพื่อเผยแพร่แก่คนในชุมชนและแลกเปลี่ยนความรู้กับชุมชนอื่นๆ โดยมุ่งให้บริการเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ผู้สนใจทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัดและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางไกลมาศึกษาโดยตรงที่ตำบลเจดีย์หัก รวมทั้งจะเปิดให้บริการถาม-ตอบในเว็บไซต์ เพื่อแลกเปลี่ยนและจัดการความรู้ด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

View :1982

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.