Home > Press/Release > อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นำผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก WMO เข้าพบรัฐมนตรีไอซีทีหารือการจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นำผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก WMO เข้าพบรัฐมนตรีไอซีทีหารือการจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืนในประเทศไทย


เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ดร.สมศรี ฮั่นตระกูล อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ดร.วูล์ฟกัง อีริค แกรบส์ (Dr. Wolfgang Eric Grabs) ผู้อำนวยการระดับสูงด้านการพยากรณ์อุทกวิทยาและทรัพยากรน้ำขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและประชุมหารือกับ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รมว.ทก.) ณ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยนาวาอากาศเอก รศ.ดร. ประสงค์ ประณีตพลกรัง ที่ปรึกษา รมว.ทก. และคณะ

สืบเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมหาศาล ซึ่งจากความเสียหายที่เกิดขึ้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ในฐานะองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทในการให้บริการ พัฒนางานวิชาการ รวมทั้ง หามาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางด้านสภาพอากาศ ภูมิอากาศ น้ำ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ในการบริหารจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการ (Integrated Flood Management : IFM) สำหรับประเทศไทย ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2555 ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นผู้ประสานงานกลางของประเทศและเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งหน่วยงานภาคการศึกษา วิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้ร่วมส่งผู้แทนระดับตัดสินใจ เข้าร่วมประชุมระดมสมองในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการระดับชาติในครั้งนี้

สรุปผลที่ได้จากการประชุมดังกล่าว ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณชนเพื่อทราบในเบื้องต้นในการ จัดสัมมนาในงานวันอุตุนิยมวิทยาโลก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ณ กรมอุตุนิยมวิทยา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนทุกแขนง เป็นอย่างมาก

ในโอกาสที่ ดร.วูล์ฟกัง อีริค แกรบส์ ได้เดินทางมาประเทศไทย ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ อธิบดี กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีโอกาสนำผู้แทน WMO และทีมงานของกรมอุตุนิยมวิทยา เข้าเยี่ยมคารวะและประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และทีมงานที่ปรึกษา รมว.ทก. ณ กระทรวงไอซีที เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เกี่ยวกับแนวทางในการจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการ และประสบการณ์ที่ WMO ได้ดำเนินการในประเทศต่างๆ รวมทั้งการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วม เชิงบูรณาการสำหรับประเทศไทย ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ได้จัดขึ้นเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติและใช้สนับสนุนการจัดการน้ำท่วมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

การหารือสนทนาได้กล่าวถึงสรุปผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามประเด็นต่างๆ ได้แก่ การนำแนวคิดมาสนับสนุนแผนแม่บทของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของชุมชน การทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การพยากรณ์และการเตือนภัย การกำหนดหน่วยงานและผู้รับผิดชอบหลักในการพยากรณ์และเตือนภัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

การนำแนวคิดและหลักการในการบริหารจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการมาสนับสนุนแผนแม่บทของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ควรต้องนำข้อเสนอแนะจากการระดมความคิดในการประชุม เชิงปฏิบัติการไปใช้สนับสนุนหรือบูรณาการเข้ากับนโยบายและแผนแม่บทของชาติ

การมีส่วนร่วมของชุมชน ให้มีการจัดฝึกอบรมผู้แทนจากชุมชนเพื่อเป็นผู้ฝึกสอน โดยทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้จากรัฐบาลสู่ชุมชน จัดทำคู่มือการปฏิบัติและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครเพื่อจัดการกับภาวะวิกฤติ เชิญตัวแทนจากชุมชนมารับทราบมาตรการในการจัดการน้ำท่วมและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการจ่ายชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างหรือการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลด้วย

การทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ควรมีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการเผยแพร่แผนที่เสี่ยงภัยให้แก่ชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ทั้งก่อนเกิดและระหว่างเกิดน้ำท่วม

การพยากรณ์และการเตือนภัย ทั้งด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และ การจัดทำโครงข่ายการปฏิบัติงาน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องมีการปรับปรุงการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนระยะสั้น (1-3 ชั่วโมง) ในหน่วยมิลลิเมตร จากเรดาร์ตรวจอากาศ จัดทำคำพยากรณ์ฝนสำหรับพื้นที่ในลุ่มน้ำต่างๆ และพัฒนาการพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลัน ปรับปรุงและพัฒนาระบบเครือข่ายการตรวจวัดข้อมูลอุทกวิทยา โดยประยุกต์ใช้ระบบการตรวจวัดฝนอัตโนมัติ (โทรมาตร) ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงและพัฒนาข้อมูลพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำ (Cross section) และข้อมูลโค้งความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำและปริมาณน้ำ (Rating curve) ส่วนเรื่องระบบเตือนภัยล่วงหน้า ให้มีการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายระบบสื่อสารสำหรับเตือนภัย น้ำท่วม จัดทำข่าวคำเตือนภัยที่ง่ายต่อการเข้าใจและจัดทำโครงการเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยธรรมชาติและภาวะวิกฤติ และในการจัดทำโครงข่ายการปฏิบัติงาน ให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติมาจัดทำข้อตกลงในการแบ่งปันข้อมูล และกำหนดข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดทำ web portal เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorological data) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการยังมีความเห็นว่าหน่วยงานและผู้รับผิดชอบหลักในการทำหน้าที่พยากรณ์และเตือนภัย กำหนดให้กรมอุตุนิยมวิทยาทำหน้าที่พยากรณ์อากาศและข้อมูลสารสนเทศภูมิอากาศ พยากรณ์น้ำท่วมฉับพลัน กรมชลประทานทำหน้าที่พยากรณ์น้ำล้นตลิ่ง กรมทรัพยากรธรณีทำหน้าที่พยากรณ์โคลนและดินถล่ม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทำหน้าที่พยากรณ์น้ำท่วมชายฝั่ง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทำหน้าที่เตือนภัยสึนามิ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำหน้าที่ในการปฏิบัติการตอบสนองการเตือนภัย (Action on warning) ทั้งนี้ ในการพยากรณ์และการเตือนภัยจะต้องมีการกำหนดปริมาณ การตรวจวัดให้ชัดเจน เช่น ปริมาณฝนเป็นมิลลิเมตร ระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ความเร็วลม ความรุนแรง ระยะเวลา และระดับการเตือนภัย นอกจากนี้จะต้องกำหนดพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและเวลาที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตอบสนอง หลังจากที่ได้มีการแจ้งข่าวพยากรณ์และการเตือนภัยออกไป

ในตอนท้าย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและผู้แทน WMO ได้เสนอข้อมูลการเสนอแนะจากผล การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปในอนาคตแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและ ที่ปรึกษาว่าควรนำผลของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมเชิงบูรณาการครั้งนี้ ไปสนับสนุนหรือ บูรณาการเข้ากับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ควรมีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำท่วมตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน และควรจัดตั้งหน่วยบัญชาการเพียงหน่วยเดียวในการบริหารจัดการน้ำท่วมภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ควรมีการกำหนดช่องทางการสื่อสารให้ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เช่น ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข้อมูล กับใคร เมื่อไร และในโอกาสใด ให้การสนับสนุนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ น้ำท่วมให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือ ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน (NGOs) และสถาบันการศึกษาในทุกระดับเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำท่วม พัฒนาหลักเกณฑ์การเตือนภัยระดับต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงพัฒนาทางวิชาการ ความเชี่ยวชาญในงาน ตลอดจนการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อปรับปรุงการให้บริการของหน่วยงาน รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำท่วมให้ดียิ่งขึ้น

View :2091

Related Posts

Categories: Press/Release Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.