Home > Press/Release > ก.ไอซีที แถลงผลสำเร็จโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ ดาวน์โหลดใช้งานแล้วมากกว่า 300,000 ราย

ก.ไอซีที แถลงผลสำเร็จโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ ดาวน์โหลดใช้งานแล้วมากกว่า 300,000 ราย

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว ผลการดำเนินการจัดสัมมนาและประชาสัมพันธ์โปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ ภายใต้โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม ว่า ในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ทวีปเอเชียมีการขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็น 44% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 18 ล้านคน จัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของทวีปเอเชีย ซึ่ง 52% เป็นเด็กและเยาวชน จากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางส่งผ่านข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ อาจทำให้เยาวชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นโทษจากเว็บไซต์อันตรายได้ เช่น เว็บลามกอนาจาร เว็บการพนันออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เยาวชนมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การถูกล่อลวงหรือการชักชวนในทางเสื่อมเสีย รวมถึงการเสพสิ่งเสพติดได้ โดยผลสำรวจทางสถิติพบว่าเยาวชนไทยติดการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.4 ในปี 2553 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์อย่างไม่เหมาะสมนี้ นอกจากจะมีผลต่อเยาวชนแล้ว ยังมีผลต่อครอบครัว สังคม และสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยเฉพาะเรื่องเว็บไซต์ลามกอนาจารนั้นเป็นปัญหาที่ประชาชนมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีครัวเรือนถึง 46% ต้องการให้ภาครัฐควบคุมดูแลเว็บไซต์ลามกอนาจาร ดังนั้นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินโครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับพัฒนาและเผยแพร่โปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีเครื่องมือในการป้องกันและดูแลเยาวชนให้ปลอดภัยจากเว็บอันตราย และยังสามารถควบคุมเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับคุณสมบัติหลักของโปรแกรมฯ นี้ คือ สามารถปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน ซึ่งผู้ปกครองสามารถเพิ่มรายชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการปิดกั้นเองได้ รวมทั้งสามารถจำกัดเวลา กำหนดประเภท และลักษณะการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น การกำหนดเวลาในการเข้าเว็บไซต์ การกำหนดเวลาการใช้งานคอมพิวเตอร์ และการกำหนดเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ต พร้อมกันนี้ยังสามารถปิดกั้นและกำหนดประเภทหรือโปรแกรมที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้งาน กำหนดเวลาการใช้งานโปรแกรมต่างๆ เช่น กำหนดเวลาเล่นเกม เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดทำอัพเดทฐานข้อมูลเว็บที่ไม่เหมาะสมจากกระทรวงไอซีทีตลอดเวลา และมีโปรแกรมรายงานการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้ปกครองสามารถตรวจดูพฤติกรรมของเยาวชนได้อีกด้วย

“ในการดำเนินโครงการฯ ได้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่โปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์สู่ประชาชน ด้วยการจัดสัมมนา “การป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน” ไปยังสถานศึกษา ร้านอินเทอร์เน็ต นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่สนใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ถึงภัยจากเว็บและเกมที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการประยุกต์นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไปใช้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย

โดยกระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานท้องถิ่น เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินการจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น จัดสัมมนาแก่โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 (กรุงเทพมหานคร) เขต 12 (นครศรีธรรมราช-พัทลุง) เขต 16 (สงขลา-สตูล) เขต 18 (ชลบุรี-ระยอง) เขต 24 (กาฬสินธุ์) เขต 35 (ลำปาง-ลำพูน) เขต 39 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) และเขต 42 (นครสวรรค์-อุทัยธานี) ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมการสัมมนาทั่วประเทศกว่า 10,000 คน มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 157% และผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 90% มีระดับความพึงพอใจ

“มากและมากที่สุด” ในเรื่องได้รับเนื้อหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการนำข้อมูลและโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ ไปประยุกต์ใช้ในครอบครัวพร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังมีการแจกจ่ายโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ให้แก่สถานศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของเยาวชน ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการดาวน์โหลดโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ไปใช้งานแล้วมากกว่า 300,000 ราย โดยประชาชนผู้ใช้งานโปรแกรมกว่าร้อยละ 90 ต่างมีความพึงพอใจในระดับ “มากที่สุด”

โดยเฉพาะในการนำโปรแกรมไปประยุกต์ใช้งาน กระทรวงฯ จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองติดตั้งโปรแกรมไอซีทีเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อดูแลบุตรหลานเยาวชนให้ตระหนักและรู้เท่าทันภัยแฝงที่มาจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งร่วมปกป้องเยาวชนไทยจากเว็บร้าย เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1824

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.