Home > Press/Release > ก.ไอซีที ร่วมมือ กสทช. และ APT จัดประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12)

ก.ไอซีที ร่วมมือ กสทช. และ APT จัดประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12)

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12) และการเจรจาธุรกิจ หรือ Business Dialogue ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Policy and Regulatory Forum (PRF-12) ขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิก APT ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 38 ประเทศ ทั้งผู้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนา ICT ของประเทศ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และร่วมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลด้าน ICT / โทรคมนาคมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายสากลและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของภูมิภาค

“กระทรวงฯ และสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม PRF – 12 ครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และผู้กำกับดูแลด้าน ICT / โทรคมนาคมให้ประจักษ์ในเวทีระหว่างประเทศ โดยการประชุมดังกล่าว ได้แบ่งหัวข้อการประชุมออกเป็น 2 ส่วน คือ ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็นการประชุม Business Dialogue ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนได้ใช้เวทีดังกล่าวในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง เพื่อสะท้อนความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค และความต้องการไปยังผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแล เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา วางกรอบนโยบาย และการกำกับดูแลในอนาคต ส่วนในวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2555 เป็นการประชุม PRF ที่ให้ผู้กำหนดนโยบาย และผู้กำกับดูแลด้าน ICT / โทรคมนาคมได้แสดงความคิดเห็น และร่วมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้าน ICT“ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการประชุม Business Dialogue นั้น จะมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อหน่วยงานกำกับดูแล นโยบายและการกำกับดูแลกับโอกาสและความท้าทายในการพัฒนา ICT รวมทั้งแนวโน้ม ICT เช่น cloud computing เทคโนโลยี mobile broadband, emergence of smart devices และ green initiatives ตลอดจนบทบาทของผู้กำหนดนโยบายและดูแลในยุคดิจิทัล

ส่วนรายละเอียดของการประชุม PRF นั้น มีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของบรอดแบนด์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง บรอดแบนด์กับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ อินเทอร์เน็ตกับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การใช้เทคโนโลยีที่สามารถส่งผ่านในระยะไกล เช่น Fiber Optic และดาวเทียม ซึ่งมีต้นทุนในการลงทุนสูง แนวทางการเชื่อมต่อสำหรับหมู่เกาะเล็ก ๆ (SIDS: Small Island Developing States) และประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล รวมทั้งยังมีประเด็นนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาบรอดแบนด์ ปัจจัยความต้องการบรอดแบนด์ และปัจจัยสำหรับผู้บริโภคในการเลือกใช้บรอดแบนด์ ซึ่งได้แก่ ความเร็วและคุณภาพการให้บริการ

นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับนโยบายในด้านต่างๆ ได้แก่ ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cyberspace) นโยบายและการกำกับดูแลเพื่อความปลอดภัยบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งแนวคิดริเริ่มด้านสภาพแวดล้อม (Green initiatives) ผลกระทบของ ICT ต่อสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การออกแบบระบบสำหรับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ Smart Grid นโยบายและการกำกับดูแล Green initiatives ตลอดจนการวางนโยบายและการกำกับดูแลเกี่ยวกับราคาค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับ International Mobile Roaming นโยบายและการกำกับดูแลประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจสำหรับภูมิภาค เช่น อัตราค่าธรรมเนียม International Mobile Roaming ที่มีการคิดราคาสูงเกินจริง และการใช้ ICT เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติ แผนบริการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ การใช้โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเตือนภัย การป้องกัน และการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น

View :1229

Related Posts

Categories: Press/Release Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.