Home > Cloud Computing, Technology, กระทรวงไอซีที > ก.ไอซีที จับมือ กลุ่มบีเอสเอ ศึกษาแนวทางนำ Cloud Computing มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับ AEC 2015

ก.ไอซีที จับมือ กลุ่มบีเอสเอ ศึกษาแนวทางนำ Cloud Computing มาใช้พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับ AEC 2015

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “Thailand’s Economic Growth in Digital Environment and amid Transmission to AEC 2015: Readiness of Laws and Regulations” ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทศึกษาเปรียบเทียบเรื่องนโยบายและกฎหมายของประเทศต่างๆ ทั้งหมด 24 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน สำหรับการประเมินความพร้อมของนโยบายและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ในมุมมองที่เกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิตอล (Digital Economy) บนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“กระทรวงฯ มีหลักการและนโยบายที่ชัดเจนเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบ Cloud Computing ในการส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดภูมิภาคนี้ รวมถึงสร้างศักยภาพทางธุรกิจแก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ ประชาชนโดยทั่วไป และภาครัฐ ซึ่งรายงานการศึกษาดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจบนระบบ Cloud Computing และนำไปสู่การสนับสนุนภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นางจีราวรรณ กล่าว

งานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากงานสัมมนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “Digital Economy and Cloud Computing Scorecard” ซึ่งกระทรวงฯ ได้เคยร่วมกับ บีเอสเอ จัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเนื้อหาหลักของงานสัมมนาปีนี้ได้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับประเด็นด้านนโยบายและกฎหมาย เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล (Digital Economy) และ Cloud Computing รวมทั้งเน้นเรื่องการเชื่อมโยงเข้ากับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในการสัมมนาครั้งนี้ คือ ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้มีอำนาจสั่งการ (CIO) ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับสาระสำคัญที่น่าสนใจของการสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้แก่ 1. เกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพของ Cloud Computing ที่ใช้สำหรับวัดความพร้อมของประเทศไทย และผลกระทบต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย 2. Cloud Computing มีส่วนช่วยในการกำหนด ASEAN ICT Master Plan ได้อย่างไร 3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศในโลก Cloud Computing และนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับ Cloud Computing ในระดับชาติ เป็นต้น

ส่วน มร.โรเจอร์ ซัมเมอร์วิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านนโยบายภาครัฐของบีเอสเอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า Cloud Computing เป็นระบบใหม่ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล หน่วยงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อให้ระบบ Cloud Computing เติบโตต่อไป และสร้างประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ประเทศนั้นๆ ในตลาดโลก ซึ่งรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย บีเอสเอ ฉบับนี้ยังจะช่วยประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อีก 23 ประเทศ สำรวจตรวจสอบสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถรับประโยชน์สูงสุดจากระบบ Cloud Computing ได้

รายงานการศึกษาดังกล่าวได้นำเสนอแนวทางการริเริ่มและวางนโยบายที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้ และควรจะพิจารณานำไปใช้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบ Cloud Computing และในรายงานยังนำเสนอการพิจารณาปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างงานบนระบบ Cloud Computing ที่จะเพิ่มโอกาสความได้เปรียบทางเศรษฐกิจได้อย่างมากมาย

นอกจากนี้ รายงานการศึกษาดังกล่าว ยังระบุว่าประเทศไทยได้รับคะแนนสูงในบางด้าน เช่น ความพร้อมของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนการทำธุรกรรมบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) แต่สำหรับความพร้อมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เช่น การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Protection) กลับมีคะแนนไม่สูงมากนัก ถึงกระนั้น ประเทศไทยยังคงมีความพร้อมในเรื่องอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ (Cybercrime) เพราะมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลบนระบบ Cloud Computing โดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม ยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมถึงการสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมบนโลก ไซเบอร์ และการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) มาตรฐานการระงับและการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร (Censorship, Filtering) รวมทั้งการบังคับใช้ระบบเทคโนโลยีเฉพาะทาง (Technology Mandates) อีกด้วย

View :1688

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.