Home > Technology, กระทรวงไอซีที > กรมการปกครองจับมือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ผลักระบบเลข 13 หลักของบัตรชาชน เข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

กรมการปกครองจับมือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ผลักระบบเลข 13 หลักของบัตรชาชน เข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง


หวังให้ทุกหน่วยงานดึงฐานข้อมูลหลักผ่านอินเทอร์เน็ต เชื่อประหยัดงบประมาณ และสร้างมาตรฐานการใช้งานภาครัฐใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนในระยะยาว

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาระบบบริการภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน โดยต้องอิงจากฐานข้อมูลจริงเพื่อยืนยันการเป็นตัวตนของแต่ละคน
ดังนั้นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จึงมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นความท้าทายของกระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องพัฒนาให้มีความก้าวหน้า ปลอดภัย และรองรับการใช้งานของทุกส่วนราชการต่อไป
การเชื่อมต่อกับระบบไอทีของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ.ในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้วางรากฐานข้อมูลประชากรมาตั้งแต่ปี 2525 โดยการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ และสร้างดัชนีให้กับรายการบุคคลทุกคนที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 103 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเช่น กรมการกงสุล ใช้ในการบริการประชาชนด้านการออกหนังสือเดินทาง
กรมการขนส่งทางบก ใช้ในการออกใบอนุญาตขับรถ โดยเฉพาะกรมสรรพากรได้มีการปรับเปลี่ยนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
มาเป็นเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแทน

นอกจากนั้น กระทรวงมหาดไทย ยังให้ความสำคัญกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ให้สามารถจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ ไม่ต้องเดินทางกลับมาทำที่ประเทศไทย ซึ่งในปี 2555 จะดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนนำร่อง ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย จำนวน 6 แห่ง รวมทั้งได้สนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการพัฒนาระบบการเลือกตั้งทั่วไป สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่งนับได้ว่า ในยุคของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น การได้ร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการขยายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไปสู่การให้บริการต่อประชาชนอย่างแท้จริง

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หนึ่งในพันธกิจเร่งด่วนของกระทรวงไอซีทีในขณะนี้คือ การสร้างระบบการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐโดยใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน หรือ Citizen Smart Info ขึ้นมา โดยเป้าหมายสูงสุดของระบบนี้คือ การที่ประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลของตนเองที่เกี่ยวกับธุรกรรมภาครัฐมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสะดวกสบายและทั่วถึงนโยบาย Citizen Smart Info นั้นต้องการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลแบบ Single Sign On หรือการใช้รหัสผ่านครั้งเดียว ก็สามารถดึงข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองขึ้นมาได้
ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของตน เพื่อทำให้เกิดการวางแผนและบริหารกิจกรรมต่างๆ ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งต้องนำข้อมูลบัตรประชาชนจากกรมการปกครองมาเป็นตัวอ้างอิงหลัก ไปสู่บริการของหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ง่ายขึ้น จากเดิมหากหน่วยงานใดต้องการใช้ข้อมูลของกรมการปกครองก็จำเป็นต้องเดินสายต่อเชื่อมข้อมูลเข้าหากรมการปกครองโดยตรง ซึ่งสร้างภาระงบประมาณทั้งกรมการปกครองและหน่วยงานต่างๆ และยังทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการสถาปัตยกรรมทางด้านไอซีทีเป็นอย่างมาก

การลงนามสัญญาบันทึกข้อตกลงหรือ การทำ MOU ระหว่างกรมการปกครองกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสรอ.จึงเป็นการจัดระบบและสร้างความร่วมมือให้เกิดระบบ Citizen Smart Info ด้วยการที่สรอ.จะเข้าไปเพิ่มขนาดเครือข่ายจากกรมการปกครอง
ซึ่งเป็นปลายทางหลักเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มของสรอ. ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ Government
Information Network หรือ GIN แล้วสร้างระบบเซิร์ฟเวอร์ของสรอ.ให้เป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

ดังนั้นสรอ.จะกลายเป็นแม่ข่ายหลักในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ แทนกรมการปกครอง หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้ฐานข้อมูลบัตรประชาชนก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในรูปแบบของข้อมูลดิบ หรือผ่านระบบแอพพลิเคชันที่เขียนขึ้นมาครอบฐานข้อมูลนี้

ในทางปฏิบัติต่อจากการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้เสร็จแล้ว ทุกหน่วยงานหากจะใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนเพียงแค่ทำความตกลงกับกรมการปกครอง หลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนทางด้านไอทีเพิ่มเติมก็สามารถเชื่อมต่อข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ GIN ซึ่งไม่มีค่าบริการ ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทุกหน่วยงานก็จะต้องเร่งพัฒนาแอพพลิเคชันของตนเองเป็นระบบ Web Services เพื่อเรียกการใช้งานผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ. ได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นจะเกิดมาตรฐานกลางของแอพพลิเคชันต่างๆขึ้นมา
ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลข้ามหน่วยงานด้วยกันทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันถ้าหากแอพพลิเคชันและข้อมูลเหล่านั้นติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ.ด้วยแล้วก็จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการเรียกใช้บริการง่ายขึ้นอีกด้วย จากแผนงานหลักของสรอ.ในการเร่งพัฒนาระบบ GIN และคลาวด์คอมพิวติ้งให้มีประสิทธิภาพแล้ว คาดว่าภายในปีนี้จะมีบริการหลักของหน่วยงานรัฐมาเข้าสู่ระบบเพื่อบริการประชาชนได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์คนพิการ สปสช.,โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเมื่อหน่วยงานเข้ามาใช้บริการแล้ว จะดึงดูดให้บริการส่วนอื่นๆ เข้ามาต่อเชื่อมเพื่อใช้ฐานข้อมูลร่วมกันได้ง่ายขึ้น และคาดว่าภายในปีหน้าจะมีหน่วยงานไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยงานเข้ามาเชื่อมต่อฐานข้อมูลร่วมกันได้ และคาดว่าภายใน 3 ปีนี้จะมีหน่วยงานรัฐที่พร้อมจะเข้ามาร่วมในโครงการ Citizen Smart Info มากกว่า 50%

นอกจากการผลักดัน Citizen Smart Info กระทรวงไอซีทียังดำเนินการในส่วนอื่นๆ ไปพร้อมกันไม่ว่าจะเป็น smart province, โครงการ ICT Free Wifi และอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมในการใช้ Citizen Smart Info ได้อย่างสมบูรณ์แบบไปพร้อมๆ กัน

นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า งานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเป็นด่านแรกของการให้บริการภาครัฐ เนื่องจากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิสูจน์ ยืนยัน และรับรองตัวบุคคล เพื่อการเข้าถึงบริการภาครัฐและเอกชนได้ ดังนั้น หากมีการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการต่าง ๆ กับกรมการปกครองแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันกรมการปกครอง ได้อนุญาตให้ส่วนราชการต่าง ๆ เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง จำนวน 103 หน่วยงาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณการใช้งานจากการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรของกรมการปกครอง มากกว่าปีละ 100 ล้านรายการ โดยหน่วยงานที่มีการใช้งานมากที่สุดคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ใช้สูงถึง 24,500,547 รายการต่อปี รองลงมาคือ กรมการขนส่งทางบก 14,296,246 รายการ ขณะที่หน่วยงานอันดับสามคือ กรมสรรพากร 13,131,703 รายการ ทุกหน่วยงานมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคเอกชน ที่กฎหมายยังไม่อนุญาตให้สามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ได้นั้น กรมการปกครองได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ การอนุญาตให้ใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card แทน หรือเรียกว่า Smart Card Off-line
ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว
จำนวน 86 หน่วยงาน เพื่อต้องการอ่านข้อมูลตามรายการที่ปรากฏตามหน้าบัตรประจำตัวประชาชนที่กรมการปกครองได้จัดเก็บไว้ใน IC Chip ซึ่งรวมถึงภาพใบหน้า

นอกจากนั้นยังได้จัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการอื่น ๆ ที่จำเป็นไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนด้วย เช่น ข้อมูลการแสดงสิทธิการรักษาพยาบาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงสิทธิการรักษาพยาบาลต่อสถานพยาบาลได้ ในส่วนของภาคเอกชน เช่น ธนาคาร รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้เห็นประโยชน์ในการใช้งานโปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการแอบอ้าง สวมตัวเจ้าของรายการบุคคล ซึ่งการอ่านข้อมูลจาก IC Chip ในบัตรฯ สามารถพิสูจน์ ยืนยัน ตัวตนที่แท้จริงได้ และช่วยลดขั้นตอนการบันทึกข้อมูลใหม่ที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ ลดการใช้กระดาษ ลดความเสี่ยงการใช้เอกสารปลอม ที่สำคัญประชาชนได้รับบริการที่ถูกต้อง สะดวก รวดเร็วมากขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า แผนดำเนินการ 3 ขั้นตอนเพื่อทำให้โครงการ การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐโดยใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน (Citizen Smart Info) ลุล่วงนั้นประกอบด้วย ขั้นที่ 1 คือการลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับกรมการปกครองในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของกรมการปกครองและนำไปใช้ได้ทันที โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ในขั้นตอนนี้ทางสรอ.ใช้วิธีบริหารจัดการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) ขึ้นมาใหม่
จากเดิมเป็นการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

จากจุดเริ่มนี้สรอ.ได้เข้ามาตั้งค่าการใช้งาน GIN ให้กับหน่วยงานหลักที่มีความจำเป็นมากขึ้นตามความต้องการใช้งานจริง ในกรณีของระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองที่จะต้องเป็นฐานข้อมูลหลัก ทางสรอ.ได้เพิ่มปริมาณขนาดของเครือข่ายเป็น 50 MPs ในปีนี้
และหากมีความต้องการดึงฐานข้อมูลจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทางสรอ.ก็พร้อมจะเพิ่มขนาดเครือข่ายให้เป็น 100 MPs ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นขนาดเครือข่ายที่ใหญ่มากขณะเดียวกันฐานข้อมูลทั้งหมดของกรมการปกครองจะเข้ามาใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ.
ที่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ระบบ GIN อยู่แล้วสามารถดึงฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายภายในนี้ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องต่อสายตรงไปยังกรมการปกครองเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้อย่างมาก

การดำเนินการประการที่สอง ทางสรอ.มีข้อตกลงกับทางกรมการปกครองในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงมีระบบความปลอดภัยสูงสุดด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถขยายฐานการใช้งานไปได้อย่างไม่จำกัด
โดยมีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยมาสนับสนุน และยังทำให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เข้ามาใช้งานสามารถเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ร่วมกัน
เพื่อทำให้เกิดเอกภาพในการใช้งานระหว่างกันในอนาคต โดยงบประมาณในส่วนของการพัฒนาศูนย์ดาตาเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์คอมพิวติ้งนั้น ทางสรอ.จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดหา โดยในปีแรกจะใช้ประมาณ 50 ล้านบาท และจะเร่งเพิ่มเติมงบประมาณมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐ 30 หน่วยงานอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบ

ดังนั้นทิศทางจากนี้ไป จะมีทั้งหน่วยงานรัฐที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลของกรมการปกครองมากขึ้น โดยลงทุนระบบคอมพิวเตอร์น้อยลง ขณะเดียวกันแต่ละหน่วยงานก็สามารถแบ่งปันข้อมูลของหน่วยงานตัวเองเข้ามาในระบบมากขึ้น และกรมการปกครองรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้งานได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางสรอ.จะทำหน้าที่ในการประสานงาน และเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบสถาปัตยกรรมในส่วนนี้ต่อไปอีกประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของสรอ.ในโครงการ Citizen Smart Info คือ การทำต้นแบบให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ง่าย โดยสรอ.จะนำไปเชื่อมโยงกับโครงการ Smart Province หรือจังหวัดอัจฉริยะ ด้วยการจัดทำกล่องอัจฉริยะต้นแบบไปติดตั้งที่จังหวัด เพื่อเป็นเครืองทดลองใช้ หรือ demo ซึ่งในกล่องนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐทุกรูปแบบ โดยอิงกับฐานข้อมูลบัตรประชาชนของตนเอง ซึ่งในอนาคตกล่องรับสัญญาณนี้จะเหมือนกล่องรับชมทีวีดาวเทียมปกติ และสามารถไปติดตั้งตามบ้านได้ หรือเป็นแอพพลิเคชันเสริมให้กับผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณที่นอกจากจะดูทีวีตามปกติ ยังสามารถใช้งานฐานข้อมูลส่วนบุคคลได้ต่อไป

View :1778

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.