Home > Technology > สวทช.โชว์เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแม่นยำและปลอดภัยเครื่องแรกโดยฝีมือคนไทย

สวทช.โชว์เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแม่นยำและปลอดภัยเครื่องแรกโดยฝีมือคนไทย

เพื่อให้บริการผู้ป่วยศัลยกรรมช่องปากและทันตกรรมไทยในราคาเข้าถึงได้

ณ ศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมการสาธิตใช้งานเครื่อง Dental CT หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมทางช่องปากและงานทันตกรรมเครื่องแรกที่ผลิตโดยฝีมือนักวิจัยไทยจาก สวทช. ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยผ่านการรับรองด้านความปลอดภัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวให้บริการอยู่ที่คลีนิกนำร่องจำนวน 2 แห่ง ที่ภาคเหนือ ณ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ทันตกรรม เอสดีซี ย่านประชาชื่น พร้อมเตรียมขยายผลต่อยอดกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยได้รับความสะดวกและปลอดภัยในงานศัลยกรรมช่องปากและทันตกรรมตลอดจนมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพทางช่องปากโดยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย โดย ดร.ปลอดประสพเปิดเผยในรายละเอียดว่า

“เครื่อง Dental CT หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ผลงานวิจัยพัฒนาโดยสวทช. เนคเทค และเอ็มเทค กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ร่วมกันทำงานและนำร่องใช้งานกับศูนย์ทันตกรรมเอสดีซีนี้ให้ข้อมูลแบบสามมิติซึ่งต่างจากเครื่องถ่ายภาพรังสี (X-ray) แบบสองมิติโดยทั่วไป ทำให้การวินิจฉัยโรคบริเวณช่องปาก ขากรรไกร และกระดูกใบหน้ามีความแม่นยำมากขึ้น สามารถใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนและผ่าตัดบริเวณช่องปาก สำหรับงานทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าฟันคุด การรักษาคลองรากฟัน ขากรรไกรและใบหน้า นอกจากนี้เครื่องดังกล่าว ช่วยให้การวางแผนทางทันตกรรมจัดฟันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ร่นระยะเวลาในการวินิจฉัยเพื่อวางแผนแก้ไขความผิดปกตินั้นๆ เดิมเครื่อง CT สำหรับทางการแพทย์สามารถนำมาใช้กับงานทันตกรรมได้ แต่ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจะสูงกว่ามาก อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่ และความละเอียดของภาพที่ต่ำกว่าเครื่อง Dental CT ที่พัฒนา ทั้งนี้ ผลงานวิจัยและพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมนี้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนไทยได้รับความสะดวกและปลอดภัยในงานศัลยกรรมช่องปากและทันตกรรมตลอดจนมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพทางช่องปากโดยเทคโนโลยีระดับสูงได้ รวมไปถึงตอบรับกับนโยบายศูนย์สุขภาพแห่งเอเชีย (Health Hub of Asia) และช่วยลดการนำเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาก โดย สวทช. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่สามารถรับมือกับสภาพปัญหาได้ทันเหตุการณ์ ทั้งในแง่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆไปล่วงหน้า และการสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการบริการวิจัยให้เอกชน การรับจ้างทดสอบ หรือแม้กระทั่งการร่วมลงทุนตั้งบริษัทกับเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ ที่ สวทช. ได้ริเริ่มดำเนินการไว้ นำมาดำเนินการเชื่อมโยงกับหน่วยงานหลักๆ ในภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการวิจัยพัฒนาตลอดจนทดสอบเครื่อง Dental CT จนสามารถใช้งานได้จริงในระดับอุตสาหกรรมก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างต่อยิ่งทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย”

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. หัวหน้าโครงการฯเปิดเผยว่า “สวทช. ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือวิจัยพัฒนากับหลาย ๆ ภาคส่วน อาทิ ส่วนราชการ เอกชน และสถาบันการศึกษา โดยครั้งนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาต้นแบบเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม (Dental CT) ที่มีชื่อเรียกในการเผยแพร่ว่า DentiiScan ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นผลสำเร็จเครื่องแรกในประเทศไทย โดยเนคเทคเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ส่วนเอ็มเทคเป็นผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ เครื่องดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยเรื่องปริมาณรังสีจากกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เครื่อง DentiiScan1.1 เป็นรุ่นที่ใช้รังสีเอกซ์ที่มีลำแสงแบบทรงกรวย และฉากรับภาพรังสี (Flat panel X-ray detector) ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกัน อุปกรณ์ทั้งสองจะหมุนไปพร้อมๆ กันรอบผู้ป่วย 1 รอบ เป็นเวลา 18 วินาที เพื่อเก็บข้อมูลดิบในแต่ละมุมมอง จากนั้นนำข้อมูลดิบที่ได้มาผ่านอัลกอรึทึมในการสร้างภาพตัดขวาง (Image Reconstruction) เพื่อสร้างภาพตัดขวางที่เป็นข้อมูลสามมิติบริเวณช่องปาก ขากรรไกรและใบหน้าของผู้ป่วย ภาพตัดขวางที่ได้จะถูกแสดงผลในมุมมองสองมิติและสามมิติโดยผ่านซอฟต์แวร์แสดงภาพ (Viewer) เครื่อง DentiiScan1.1 ได้ถูกติดตั้งเพื่อทดสอบทางคลินิก ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี เมื่อกลางปี พ.ศ. 2554 ปัจจุบันเครื่อง DentiiScan1.1 ได้นำไปใช้ในการถ่ายภาพอวัยวะภายในบริเวณช่องปากและใบหน้าของผู้ป่วยอาสาสมัคร เพื่อใช้ในวางแผนการผ่าตัดและการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น งานทันตกรรมรากฟันเทียม การผ่าตัดเพื่อทำหูเทียม การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งกรามช้าง เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 140 ราย DentiiScan1.1 จะช่วยส่งเสริมให้งานทางด้านทันตกรรมของประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รองรับนโยบาย Medical hub of Asia และ Medical tourism นอกจากนี้สังคมไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ภายใน 15 ปี จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการรับการบริการทางด้านทันตกรรม ก็จะมีมากขึ้น เพื่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านั้นสะดวกสบายเหมือนปรกติ การพัฒนาเทคโนโลยีทีจนสามารถผลิตเครื่องเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมขึ้นได้ภายในประเทศไทยเราเอง อย่างเครื่อง DentiiScan1.1 จะช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูง มีโอกาสได้รับการบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น

View :1575

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.