Home > Technology > ข้อเข่าขาเทียมสำหรับคนพิการขาขาดจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

ข้อเข่าขาเทียมสำหรับคนพิการขาขาดจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บริษัท แฮลเชี่ยนเมทอล จำกัด และ สถานีวิทยุจส.๑๐๐ จัดทำโครงการข้อเข่าขาเทียมสำหรับคนพิการขาขาดระดับเหนือเข่า ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนให้คนพิการขาขาดระดับเหนือเข่าประสบประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการดำรงชีวิตในสังคม อันเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรที่พิการ

ปัจจุบันมีผู้พิการแขนขาขาดเป็นจำนวนมาก ตามรายงานการสำรวจคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้พิการขาขาดทั้งหมด ๒๓,๗๗๗ คน คิดเป็นร้อยละ๑.๘ ของผู้พิการทั้งหมดและเป็นร้อยละ ๓๖.๙๘ ของประชากรคนพิการแขนขาขาด สาเหตุของความพิการอาจเป็นจากความพิการแต่กำเนิด อุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการกลุ่มนี้ โดยการจัดหาขาเทียมที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะช่วยให้ผู้พิการเหล่านี้มีระดับความสามารถสูงขึ้นช่วยเหลือตนเองได้ และสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุขตามที่สภาพร่างกายและสังคมจะเอื้ออำนวย พร้อมทั้งยังสามารถก่อให้เกิดผลผลิตแก่สังคมได้

การจัดทำขาเทียมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาเทียมแกนใน (Endoskeleton Prosthesis) ยังต้องมีการนำเข้าวัสดุส่วนประกอบจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง โดยนักกายอุปกรณ์หรือช่างกายอุปกรณ์จะนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเป็นขาเทียมให้เหมาะสมแก่คนพิการขาขาดแต่ละราย จากสถิติคนพิการขาขาดข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีจำนวนคนพิการขาขาดมีจำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากสาเหตุต่างๆ หลายประการ รวมทั้งสาเหตุจากการจราจรทางบก หน่วยงานที่มีความสามารถและให้บริการยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ และงบประมาณในการจัดหาส่วนประกอบมีจำกัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาหาส่วนประกอบที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ และมีคุณภาพที่เหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถให้บริการได้ทั่วถึงมากขึ้น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และบริษัทแฮลเชี่ยน เมทอล จำกัด ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุน และส่วนประกอบแกนในไม่รวมฝ่าเท้าขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๒ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการขึ้นรูป การใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทานขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบปรับหน่วง และระบบล็อคข้อเข่าเพื่อป้องกันการพับงอของข้อเข่าซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการใช้งานของคนพิการ เช่น การหกล้ม ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวใช้เทคโนโลยีและวัสดุภายในประเทศไทย เพื่อเป็นการลดการนำเข้าวัสดุข้อเข่าขาเทียมจากต่างประเทศ โดยได้นำผลงานวิจัยดังกล่าวมาทดสอบทางวิศวกรรมเทียบตามมาตรฐานการทดสอบของ ISO 10328 : 2006 ประกอบด้วย

การทดสอบแรงพิสูจน์สถิตย์ และการทดสอบวัฏจักรของโครงสร้างรวม และทดสอบทางการแพทย์โดยให้คนพิการขาขาดเหนือเข่าจำนวน ๕ คนทดสอบใส่ขาเทียมที่พัฒนาขึ้นใหม่ในเวลา ๓ เดือน ผลการทดสอบปรากฏว่า ข้อเข่าเทียมที่พัฒนาขึ้น ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานการทดสอบของ ISO 10328 : 2006 โดยข้อเข่าเทียมแบบสี่จุดหมุนและส่วนประกอบแกนใน ผ่านการทดสอบแรงพิสูจน์สถิตย์ และการทดสอบแบบวัฎจักร จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ รอบ สำหรับผู้ใช้งานที่มีน้ำหนักไม่เกิน ๘๐ กิโลกรัม และผ่านการทดสอบโดยคนพิการขาขาดเหนือเข่าทดสอบการใช้งานทางการแพทย์ โดยพบว่า อาสาสมัครทั้ง ๕ รายสามารถใช้งานขาเทียมได้ในชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่มีความเสียหายที่มีผลต่อการใช้งาน

ภายหลังจากการทดสอบทางวิศวกรรมครั้งที่ ๑ คณะวิจัยได้ปรับปรุงข้อเข่าขาเทียมเดิมให้มีคุณสมบัติดีขึ้นและพร้อมนำไปใช้งานจริงมากขึ้นและทำการทดสอบครั้งที่ ๒ เพื่อขยายผล ภายใต้โครงการ “พัฒนาข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุนและส่วนประกอบแกนในเชิงพาณิชย์เพื่อการทดสอบการใช้งานทางการแพทย์ในพื้นที่ ๕ ภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔” โดยได้ดำเนินการทดสอบข้อเข่าขาเทียมในคนพิการ จำนวน ๘๔ คน ใน ๕ ภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ โดยทำการทดสอบในคนพิการตัดขาระดับเหนือเข่าที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ โดยทำการ ทดสอบทั้งสิ้น ๔ ภาค ประกอบด้วยโรงพยาบาลจำนวน ๗ แห่ง ได้แก่ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี จ.ราชบุรี โรงพยาบาลนครปฐม จ.นครปฐม โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา และโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี จ. สุราษฎร์ธานี ผลการทดสอบ พบว่าคนพิการขาขาดที่เข้าร่วมโรงการมีสาเหตุมาจากการจราจรทางบก (อ้างอิงจากการเก็บข้อมูลการทดสอบในคนพิการระยะที่ ๒ จำนวน ๖๐ คน จาก ๘๔ คน ) ผลการทดสอบภายหลังจากใช้งานเป็นระยะเวลา ๓ เดือน โดยทำการทดสอบจับเวลาการเดิน (Time up and go test) โดยเริ่มจากนั่งเก้าอี้ ลุกขึ้นยืน และเดิน ไป- กลับมานั่งรวมระยะทาง ๖ เมตร พบว่าใช้เวลาในการเดินน้อยกว่าขาเทียมแบบเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ของคนพิการขาขาดที่เป็นอาสาสมัครใช้ขาเทียมแบบแกนนอก
คณะวิจัยจึงได้สรุปว่า สามารถใช้งานได้ในกิจกรรมการใช้งานทั่วไป ถึงกิจกรรมระดับปานกลาง เช่นการเดินในพื้นที่เรียบ ลุก-นั่ง จากพื้นและเก้าอี้ และเดินโดยใช้ความเร็วระดับปานกลาง ที่ระดับน้ำหนักตัวของผู้ใช้งานไม่เกิน ๘๐ กิโลกรัม และคนพิการขาขาดอาสาสมัครมีระดับความพึงพอใจในการใช้งานในระดับดีสามารถเดินได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการใช้ขาเทียมเดิมที่คนพิการใช้ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ด้วยความตระหนักถึงความต้องการของคนพิการขาขาด และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อคนพิการ กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน(กปถ.) จึงขอเชิญชวนผู้พิการจากอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนเข้าร่วม“โครงการข้อเข่าขาเทียมสำหรับคนพิการขาขาดระดับเหนือเข่าที่ประสบประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งจะเปิดรับผู้พิการขาขาดระดับเหนือเข่าเข้าร่วมโครงการฯจำนวน ๘๐ คน อันจะเป็นการช่วยให้ผู้พิการขาขาดระดับเหนือเข่า ๘๐ คน ได้รับข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุน เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศจากการวิจัยและพัฒนาของคนไทย ลดการนำเข้าข้อเข่าขาเทียมต่างประเทศที่มีราคาแพง ซึ่งส่งผลกระทบที่ดีในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าข้อเข่าขาเทียมจากต่างประเทศ (๒๕,๐๐๐ บาทต่อขา) ไม่เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐บาท (สองล้านบาทถ้วน) สำหรับผู้ป่วย ๘๐ คน ด้านสังคม จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการขาขาดระดับเหนือเข่าทำให้สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปกติส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และคนพิการขาขาดได้เข้าถึงการให้บริการขาเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้านวิชาการได้พัฒนากระบวนการให้บริการด้านกายอุปกรณ์ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุข้อเข่าขาเทียมและชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตได้ในประเทศให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต รวมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีข้อเข่าขาเทียมและชิ้นส่วนประกอบอย่างทั่วถึง และ เพิ่มสมรรถนะของบุคลากรในงานบริการด้านกายอุปกรณ์เทียมให้สูงขึ้น

ผู้พิการขาขาดระดับเหนือเข่า สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ที่ สถานีวิทยุ จส.๑๐๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๑๑๓๗.

View :1580

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.