Home > 3G, Telecom > เตือนผู้บริโภครู้ทันบริการ 3G

เตือนผู้บริโภครู้ทันบริการ 3G

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เตือนผู้บริโภคไทยให้รู้ทันบริการ 3G เผยแพ็คเกจที่ขึ้นป้าย Unlimited แท้จริงแล้วจำกัดเงื่อนไขบริการด้วยนโยบาย Fair Use Policy แนะผู้ประกอบการลบคำว่า Unlimited ออกจากแพ็คเกจ 3G เพื่อป้องกันความสับสน พร้อมเสนอว่าค่าบริการ 3G ของไทยควรถูกสุดในอาเซียน เพราะตั้งราคาประมูลไว้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน

ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2555 ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ พร้อมด้วยอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม อีกจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่พบจากบริการ 3G ของไทยในปัจจุบัน โดยระบุว่า เรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.) สำนักงาน กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้บริการได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราความเร็วของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบริการ 3G อย่างต่อเนื่อง แต่มักได้รับคำอธิบายจากผู้ประกอบการว่าบริการ 3G มีเงื่อนไขเรื่อง หรือนโยบายในการบริหารจัดการให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถใช้บริการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเงื่อนไขนี้มีการแจ้งต่อผู้ใช้บริการแล้ว

อย่างไรก็ดี การให้บริการ 3G ในปัจจุบันพบว่าแพ็คเกจที่ให้บริการมักมีคำว่า Unlimited หรือไม่จำกัด พ่วงท้าย ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ไม่จำกัด ทั้งที่ในอเท็จจริงกลับมีเงื่อนไขของบริการ กล่าวคือ สามารถใช้อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วสูงสุดได้ในปริมาณข้อมูลที่จำกัดไว้ในแต่ละแพ็คเกจ เช่น 2GB หรือ 5GB หลังจากนั้นความเร็วของการส่งผ่านข้อมูลของอินเทอร์เน็ตจะลดลงในระดับ EDGE คือ 384 kbps หรือ 64 Kbps เป็นต้น

ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่า นโยบาย FUP นั้นมีใช้กันในทุกประเทศที่ให้บริการ 3G หรือ 4G ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ใช้บริการกลุ่มหนึ่งจะใช้ข้อมูลจำนวนมาก เช่น การดาวน์โหลดวีดีโอทั้งวัน การแชร์ข้อมูลตลอดเวลา จนทำให้ผู้ใช้บริการรายอื่นไม่สามารถใช้บริการได้ แต่ในต่างประเทศนั้นมีการกำหนดนโยบาย FUB ในรูปแบบที่หลากหลายและไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีการให้ผู้ใช้บริการทุกคนออกจาก 3G ไปเป็น EDGE โดยรูปแบบ FUB ที่ใช้ในต่างประเทศมีดังนี้

1. หากผู้ใช้บริการใช้ปริมาณข้อมูลจนครบกำหนด เช่น 10GB แต่ก็ยังสามารถใช้บริการ 3G ได้ในบริการ อินเทอร์เน็ต บราวเซอร์ แต่จะห้ามใช้ในกิจกรรมที่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก เช่น VDO Streaming, peer to peer sharing เป็นต้น

2. มีการกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการประเภท high data ในช่วง peak time เช่น ช่วงเวลา 18.00-20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากห้ามใช้บริการประเภท high data

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่ต่างประเทศใช้กันนั้น ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในประเทศอังกฤษ คือ ออฟคอม ได้กำหนด Code of Conduct หรือหลักการปฏิบัติในการให้บริการ 3G ไว้ชัดเจนว่า 1.) ผู้ให้บริการต้องใช้ตัวอักษรในขนาดที่เท่ากันกับคำว่า “unlimited” ในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ทั้งส่วนที่เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้บริการ หมายถึงการไม่มี * และตามด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก 2.) ในเนื้อหาของโฆษณา 3G จะต้องบอกเงื่อนไขรายละเอียดและข้อจำกัดของบริการ และห้ามไม่ให้ใช้คำว่า “ไม่จำกัด”หรือ Unlimited เพื่อผู้บริโภคจะได้แยกออกได้ระหว่าง แพ็คเกจบริการ ที่ไม่จำกัดจริงๆ กับแพ็คเกจที่ไม่จำกัดแต่มีเงื่อนไขที่จำกัดการใช้งาน 3.) การโฆษณาอัตราความเร็วสูงสุด เช่น 42 Mbps ต้องให้ข้อมูลด้วยว่า จำนวนผู้ใช้บริการที่สามารถดาวน์โหลดด้วยความเร็วดังกล่าวนั้นคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 5.) ต้องแจ้ง Typical Speed Range (TSR) หรืออัตราความเร็วมาตรฐานกลางที่คนส่วนมากจะสามารถดาวน์โหลดได้สูงสุดไว้ในโฆษณา 6.) ในกรณีที่มีการตัดผู้ใช้บริการออกจากระบบ 3G หรือ4G ต้องบอกด้วยว่า TSR ที่ผู้ใช้บริการจะใช้ได้คือเท่าใด

“ในประเทศไทยเราคงต้องมาคิดกันว่า การให้บริการ 3G ควรที่จะใช้คำว่า Unlimited อีกหรือไม่ ทั้งที่ความเร็วมีจำกัด แต่แพ็คเกจใช้ Unlimited แล้วมีเงื่อนไขที่ตัวเล็กมาก ประการที่สองการแจ้งรายละเอียดเงื่อนไขบางประการ ผู้ให้บริการไม่ได้แจ้งเมื่อโฆษณา เช่น อัตราความเร็วสูงสุด 42 Mbps ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ ก็ควรแจ้งไปด้วยว่า จะได้ใช้จริงตอนตี3 และบ้านต้องอยู่ใกล้เสาไม่เกิน 500 เมตร ก็ต้องบอกผู้บริโภค“ ดร.เดือนเด่นกล่าว

View :1856

Related Posts

Categories: 3G, Telecom Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.