Home > 3G, Article > เศรษฐศาสตร์ชันสูตรว่าด้วยการประมูล 3G พิสดาร

เศรษฐศาสตร์ชันสูตรว่าด้วยการประมูล 3G พิสดาร

โดย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปุจฉา: ในต่างประเทศกับในประเทศไทยต่างกันอย่างไร?
วิสัชนา: ในต่างประเทศ รัฐออกแบบการประมูลให้เอกชนแข่งขันกัน เพราะรู้ว่าเอกชนจะพยายามประมูลต่ำ
ในประเทศไทย รัฐออกแบบการประมูลไม่ให้เอกชนแข่งขันกัน แต่เอกชนกลับพยายามประมูลสูง!!

การประมูล 3G ของ กสทช. จบลงไปแล้ว พร้อมกับทิ้งความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ “ลาภลอย” เป็นกำไรแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท เพราะราคาคลื่นที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินมากมาย

ทันที่ที่จบการประมูล ร่องรอยความผิดปรกติก็เริ่มปรากฏมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข่าวเสียงข้างน้อยใน กสทช. ตลอดจน ผู้บริหารกระทรวงการคลังต่างออกมาท้วงติงว่าการประมูลนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ “กฎหมายฮั้ว” แม้กระทั่งที่ปรึกษาประธาน กทค. เองก็ยังทำหนังสือเสนอล้มประมูล เพื่อไม่ให้ กสทช. ต้องเสี่ยงคุกตะราง

อย่างไรก็ตาม กสทช. กลับเร่งเดินหน้าออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสามรายอย่างรีบร้อน และแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อผู้ที่ท้วงติงทั้งหลาย ในขณะที่ สื่อมวลชนบางส่วนก็ประสานเสียงไปทางเดียวกับ กสทช. โดยพยายามเบี่ยงเบนประเด็นให้ประชาชนไปสนใจเรื่องอื่น เช่น อัตราค่าบริการ 3G ในอนาคต โดยไม่พยายามสืบเสาะหาความผิดปรกติในการประมูลที่เกิดขึ้นเลย

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอใช้วิชา “เศรษฐศาสตร์ชันสูตร” (forensic economics) มาชวนท่านผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ว่า มีความผิดปรกติในการเคาะราคาในการประมูลอย่างไร และความผิดปรกติดังกล่าวน่าจะเกิดจากอะไร

คำถามที่ต้องการคำตอบ

ดังที่ทราบกัน ในการประมูลครั้งนี้ AIS เสนอราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ส่วน DTAC และ TRUE เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูล ผลก็คือทำให้รัฐได้รายได้รวมทั้งสิ้นเพียง 41,625 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.8% เท่านั้น และทำให้มูลค่าการประมูล 3G ในประเทศไทยต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

คำถามที่เกิดขึ้นกับการประมูลมี 2 คำถาม คำถามแรกคือ ทำไมการประมูลจึงล้มเหลวจนสร้างความเสียหายต่อประชาชนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท? คำถามนี้ตอบง่ายมากว่า การประมูลล้มเหลวเพราะ กสทช. ออกแบบให้การประมูลแทบไม่เหลือการแข่งขันเลย จึงทำให้ผู้เข้าประมูลทุกรายมั่นใจได้ว่า จะได้คลื่น 3G ไปตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องแข่งขันกันเสนอราคามาก

คำถามที่สองซึ่งที่น่าสนใจกว่า ก็คือ ทำไมการประมูลยังมีการแข่งขันเหลืออยู่ ทั้งๆ ที่กฎการประมูลถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดการแข่งขัน? โดยมีคำถามที่เกี่ยวเนื่องกันคือ AIS ทำไมจึงประมูลสูงกว่ารายอื่นมาก?

คำตอบที่เป็นไปได้

เหตุที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่น ก็น่าจะเพราะอยากได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยเลือกที่จะอยู่ติดกับย่านของ TOT ซึ่งทำให้ทั้งสองรายสามารถนำเอาคลื่นของตนมารวมกันเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ในขณะที่ DTAC และ TRUE ไม่ได้สนใจที่จะเลือกย่านความถี่ไหนเป็นพิเศษ ทั้งสองรายจึงประมูลต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้คือ ที่ราคาตั้งต้น การที่ AIS เสนอราคาสูงกว่ารายอื่นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ราคาที่ AIS ประมูลนั้นสูงกว่ารายอื่นมากเกินความจำเป็น

หลักเบื้องต้นในการประมูลก็คือ ในกรณีที่มีของชิ้นเดียว ผู้เสนอราคาสูงสุด จะได้รับของในการประมูลนั้นไป ส่วนในกรณีที่มีของหลายชิ้น เช่นในการประมูล 3G ครั้งนี้ ผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิในการเลือกของก่อน ในทั้งสองกรณี ราคาที่เสนอสูงสุดไม่จำเป็นต้องสูงมาก แค่ให้มากกว่าผู้ได้อันดับสองเล็กน้อย เช่น เฉือนกันสลึงเดียว บาทเดียว หรือในกรณีนี้เฉือนกันเพียง 225 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในการเคาะราคาเพิ่มแต่ละครั้ง ก็เพียงพอแล้ว

เราจึงควรถามว่า เหตุใด AIS จึงเสนอราคาประมูลมากกว่า DTAC และ TRUE ถึง 1,125 ล้านบาท ทั้งที่เสนอสูงกว่าเพียง 225 ล้านบาท ก็ทำให้ได้เป็นผู้ชนะประมูลตามที่ต้องการแล้ว ทำไม AIS ต้องจ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็นถึง 900 ล้านบาท?

เมื่อวิเคราะห์ดูการเคาะราคาในการประมูล เราจะพบว่า ราคาการประมูลของ AIS ที่สูงขึ้นเกิดใน 2 กรณีคือ หนึ่ง เมื่อมีผู้ประกอบการรายอื่น เลือกสล็อตความถี่เดียวกันกับที่ AIS เลือก ก็พบว่ามีการแข่งราคากัน ทั้งที่แต่ละฝ่ายสามารถหลบไปหาสล็อตอื่นที่ว่างอยู่ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับทั้งคู่ เพราะไม่ต้องเพิ่มราคาในการประมูลเลย (เปรียบเสมือนการย้ายไปหาเก้าอี้ที่ว่างอยู่ในการเล่นเก้าอี้ดนตรี แทนที่จะต้องสู้เพื่อแย่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน) และ สอง AIS เสนอราคาสูงขึ้นเองในบางสล็อต ทั้งที่ไม่มีคู่แข่งเลย โดยการเสนอราคาสูงขึ้นเพื่อแข่งกับตนเองดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการประมูล ซึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่า ทำไปเพื่อให้มั่นใจว่าชนะรายอื่น เพราะหากจำเป็นต้องเสนอราคาสูงขึ้นพื่อให้ตนเป็นผู้ประมูลสูงสุด ก็ยังสามารถทำในรอบท้ายๆ ได้

การกระทำของผู้ประกอบการทั้งสามราย โดยเฉพาะ AIS จึงเป็นเรื่องที่แปลกพิสดารมาก เพราะทำให้ต้องเสียเงินประมูลมากเกินความจำเป็น ซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของบริษัทเอง

เราอาจอธิบายพฤติกรรมที่แปลกพิสดารนี้ได้หลายทาง หนึ่ง ผู้บริหาร AIS ที่เข้าร่วมประมูลมีสติปัญญาที่จำกัดมาก จนทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย ซึ่งสมควรถูกกรรมการบริษัทลงโทษ ปลดออกจากตำแหน่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต หรือควรถูกผู้ถือหุ้นฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย สอง การยื่นราคาสูงเกินจำเป็นอาจเกิดขึ้นจากความพยายาม “จัดฉาก” ของบางฝ่าย เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า การประมูลมีการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริง การประมูลนี้ไม่สามารถมีการแข่งขันจริงได้เลย เพราะถูกออกแบบไม่ให้มีการแข่งขันมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ DTAC และ TRUE ต่างต้องการได้คลื่นความถี่ในราคาต่ำที่สุด โดยไม่สนใจที่จะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อนเลย การแข่งขันใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็น “การแข่งขันเทียม” เพื่อสร้างภาพเท่านั้น

ข้อสันนิษฐานใดจะเป็นจริง หรือจะมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ อีก ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน แต่ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะหาข้อสรุปที่แท้จริงได้ไม่ยากนัก หากมีการตรวจสอบอย่างจริงจังโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ปปช.

ก่อนการประมูล ผู้เขียนเคยคิดว่า พิสดารมากแล้วที่ กสทช. ใจกล้าออกแบบการประมูลให้แทบไม่มีการแข่งขัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเลย แต่หลังการประมูล ผู้เขียนกลับพบว่า ที่พิสดารยิ่งกว่าก็คือ การที่ผู้ประกอบการเอกชนพยายามหาช่องทางในการแข่งขันกันจนได้ ทั้งที่กติกาไม่เอื้อต่อการแข่งขันเลย!

View :1511

Related Posts

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.