Archive

Archive for the ‘กระทรวงไอซีที’ Category

ก.ไอซีที ตั้งศูนย์ประสานการกำกับ ติดตาม ประสานงานและการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

November 17th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เรื่อง การมอบหมายความรับผิดชอบป้องกันดูแลพื้นที่สำคัญ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยให้ปฏิบัติหน้าที่กำกับ ติดตาม ประสานงานและการสื่อสาร พร้อมให้รายงานการปฏิบัติงานต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแจ้งให้ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ทราบทุกวันนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานการกำกับ ติดตาม ประสานงานและการสื่อสารขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานหลักที่ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 8 ด้าน คือ 1. การดูแลสถานที่สำคัญ 2. การดูแลพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และเส้นทางคมนาคม 3. การอพยพผู้ประสบภัย 4. การจัดหาและการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค 5. การระบายน้ำสู่ทะเลและการบำบัดน้ำเสีย 6. การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและการจราจร 7. การช่วยเหลือชาวต่างประเทศ สถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศ และ 8. การประชาสัมพันธ์

สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานฯ กระทรวงไอซีที นั้น ได้มีการจัดกลุ่มหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงฯ 8 กลุ่ม เพื่อรับผิดชอบประสานงานกับหน่วยงานหลักที่ปฏิบัติภารกิจทั้ง 8 ด้านเกี่ยวกับการสรุปผลการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานความพร้อมของทรัพยากรที่จำเป็นและแผนการจัดหาให้เพียงพอ ตามการคาดการณ์ความต้องการใช้ ตลอดจนรายงานปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน รวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของ ศปภ. โดยหลังจากได้รับรายงานสรุปจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว ศูนย์ประสานงานฯ กระทรวงไอซีที จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานสรุปภาพรวมเพื่อเสนอต่อผู้บริหาร และรายงานให้นายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทราบเป็นประจำทุกวัน

และเพื่อให้การดำเนินการของศูนย์ประสานฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงไอซีที ได้จัดทำระบบ resource pool ซึ่งรวมฐานข้อมูลผู้ประสานงานหลักที่รับผิดชอบสนับสนุนทรัพยากร (resource) ในแต่ละเรื่องเอาไว้ เพื่อให้หน่วยงานสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็วเมื่อมีความต้องการการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการศูนย์อพยพ ระบบบริหารจัดการสิ่งของรับบริจาค และระบบการช่วยเหลือขึ้น โดยจะนำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจต่างๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกด้วย

View :1439

ก.ไอซีที จับมือ จุฬาฯ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย พัฒนาระบบ Thai Crisis Planner & Reporter ตรวจสอบสถานการณ์น้ำแทรกซึมผ่านเมือง

November 9th, 2011 No comments


นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทยในปีนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับมอบหมายให้จัดทำระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ระบบตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม และระบบศูนย์รวมข้อมูลอุทกภัยไทย เพื่อให้บริการการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่พื้นฐานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ (Geographic Information : GI) ผ่านโครงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) และโครงการจัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ภาพถ่าย มาตราส่วน 1 : 4,000 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการประยุกต์ใช้งานระบบบริการแผนที่กลาง (Web Map Portal / GI Portal) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก บ. ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนระบบให้บริการภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศมาใช้งานเพื่อรองรับการบริการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำข้อมูลพื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ (Geographic Information : GI) มาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ Thai Crisis Planner & Reporter กับระบบบูรณาการข้อมูลของกระทรวงฯ

สำหรับระบบ Thai Crisis นี้ เป็นระบบที่เหล่าคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ รองศาสตราจารย์ชัยยุทธ สุขศรี และอาจารย์ ดร. อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว ภาควิชาการสื่อสารมวลชน จากคณะนิเทศศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนาต่อเนื่องมาจาก ระบบ Flood_REST เพื่อใช้เป็น “เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตนเอง” ซึ่งหลังการเปิดตัวระบบ Flood_REST ปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจและนำระบบไปใช้งานเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการพัฒนาระบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น

“ผลของความร่วมมือและบูรณาการในครั้งนี้ จะทำให้มีระบบ Crisis Planner ที่สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการวิกฤตสำหรับประชาชนได้กว้างขวางขึ้น ประชาชนจะมีเครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมที่ออกแบบสำหรับผู้วางแผนเตรียมรับมือน้ำท่วม ไปจนถึงการฟื้นฟูกู้วิกฤต ประชาชน ผู้ประกอบการ และส่วนราชการ สามารถใช้ในการประเมินกายภาพ วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วม และวางแผนการกู้และฟื้นฟูบ้านเรือน สถานประกอบการ พื้นที่อุตสาหกรรมในภาพกว้างได้

ส่วน Crisis Reporter จะเป็นเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการตรวจจับภาวการณ์ขึ้น – ลงของน้ำท่วมโดยอาศัยการรายงานจากเครือข่ายสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังการแพร่ขยายวงของน้ำท่วมที่กำลังแทรกซึมสู่กรุงเทพมหานครในขณะนี้ อีกทั้งใช้ติดตามการลดลงของระดับน้ำเพื่อกลับเข้าไปฟื้นฟูหรือเข้าอยู่อาศัยต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมต่างๆ สามารถเข้าเป็นพันธมิตรกับ “Thai Crisis” ได้ โดยการส่งเสริมให้สมาชิกเข้ามารายงานสถานการณ์น้ำ เรียกดูข้อมูลสรุป และนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนรับมือวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนฟื้นฟูอีกด้วย โดยเว็บไซต์ หรือเครือข่ายสังคมที่มีอยู่แล้ว จะสามารถเชื่อมต่อและนำเข้ามูลเพื่อบูรณาการกับระบบที่มีอยู่เดิม รวมทั้งเรียกใช้ข้อมูลที่สาธารณชนได้บันทึกเข้ามาในระบบ Thai Crisis และนำไปวิเคราะห์วิจัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ซึ่งขณะนี้ได้มีพันธมิตรที่ให้ความสนใจในระบบ Thai Crisis แล้ว คือ Longdo Map, Thai Flood และ Flood Helps โดยจะนำข้อมูลไปผนวกรวมกับการบริการข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนและสังคมได้เข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

View :1376

เอไอเอส ควงแขน ทีวีพูล จัดหนัก แจกจริง รางวัลรถยนต์นิสสันมาร์ช ให้ลูกค้าผู้โชคดีจากบริการ “*357 ทีวีพูลบุฟเฟ่ต์”

October 11th, 2011 No comments

เอไอเอส โดยคุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด ร่วมกับ ทีวีพูล โดยคุณพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย ประธานกรรมการบริหารบริษัท โน้ต พับลิชชิ่ง จำกัด มอบรางวัลใหญ่ รถยนต์นิสสันมาร์ช ให้กับลูกค้าเอไอเอสผู้โชคดีที่ใช้บริการ *357 ทีวีพูล บุฟเฟ่ต์ ได้แก่ คุณเกษศิรินทร์ คำโมนะ จากจังหวัดเชียงราย โดยมี 2 ดาราสาวชื่อดัง พิ้งกี้-สาวิกา และ เชียร์-ทิฆัมพร ร่วมแสดงความยินดี

พร้อมเชิญลูกค้าเอไอเอสคอบันเทิงร่วมสนุกกับแคมเปญใหม่ “ตอบง่ายๆได้ทองทุกวัน” ที่ให้สมาชิกบริการทีวีพูลบุฟเฟ่ต์ *357 โทรเข้ามาร่วมตอบคำถามกับรายการทีวีพูลรอบโลก ทางช่อง 11 เวลา 20.30 – 20.40 น. เพื่อลุ้นรับทองคำรวมมูลค่ากว่า 700,000 บาท โดยสามารถร่วมสนุกกันได้ทุกวัน ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2554

View :1951

ก.ไอซีที เปิดสายด่วน GCC 1111 กด 5 รับแจ้งขอความช่วยเหลือหรือติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง

October 6th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทันกับเหตุการณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้เปิดช่องทางแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชนของรัฐบาล GCC 1111 กด 5 ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และภาคส่วนต่างๆ โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งเหตุ หรือต้องการสอบถามสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 กด 5 โดยกระทรวงไอซีที จะนำข้อมูลมาบริหารและจัดระบบฐานข้อมูล พร้อมทั้งจัดส่งไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้นำข้อมูลนั้นไปใช้ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างทันการณ์ ทั้งนี้ GCC 1111 กด 5 จะให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์รายวัน อาทิ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เส้นทางหลวงที่ใช้ได้ และใช้ไม่ได้ พร้อมทางเลี่ยง สถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน สรุปสถานการณ์พื้นที่อุทกภัยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายชื่อจังหวัดที่ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย (จำนวนอำเภอ/ตำบล) จำนวนราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน (ครัวเรือน) ตรวจรายชื่อผู้เสียชีวิต ข้อมูลการประกาศเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ประกาศเตือนภัยพายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ข้อมูลข่าวสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข่าวผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ถึงระดับน้ำ หน่วยงานราชการแจ้งข่าวเตือนภัยถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังสถานการณ์ต่างๆ เช่น ให้ระวังน้ำป่า ดินโคลนถล่ม โรคระบาดต่างๆ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รายชื่อบัญชีที่รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานหรือองค์กรที่รับบริจาคสิ่งของ เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 กด 5 ยังให้บริการข้อมูลมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ทั้งด้านการเกษตร ด้านเงินกู้ ด้านสุขภาพ และด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงข้อมูลการติดต่อต่างๆ อาทิ สายด่วนเพื่อสังคม หมายเลขกลุ่มฉุกเฉิน (Emergency Hotline) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการปัญหาเรื่องอุทกภัย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปภ.เขต ปภ.จังหวัด เป็นต้น

View :1535

รมว.ไอซีที นำหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยใน จ.อุทัยธานี

October 1st, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่พบปะประชาชนในจังหวัดอุทัยธานี เพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จึงได้เดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสภาพน้ำท่วมในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ 37 ตำบล 291 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 52,901 คน 16,950 ครัวเรือน รวมความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 51 ล้านบาท

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เดินทางไปตรวจสภาพน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี พร้อมตรวจเยี่ยมพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกจากนี้ยังได้ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือ จากนั้นได้ประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference ร่วมกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากส่วนกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและตรงกับความต้องการของประชาชนต่อไป

ส่วนการดำเนินงานในด้านของกระทรวงไอซีทีนั้น ได้มีการดำเนินงานตามมาตรการ 2P2R ในส่วนการฟื้นฟู โดยนำหน่วยงานในสังกัด คือ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ร่วมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายในด้านการสื่อสาร และได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง การจัดรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ การจัดตั้งระบบ e-Conference เพื่อใช้สนับสนุนการสั่งการแก้ปัญหากรณีระบบสื่อสารขัดข้องในพื้นที่ รวมทั้งการจัดหาพาหนะขนส่งสิ่งของบริจาคเพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอ การจัดอาหารและน้ำดื่มเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (fit its) เพื่อเข้าไปให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ ภายใต้ชื่อ โครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดสายด่วน 192 และ GCC 1111 เพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมและต้องการแจ้งเหตุ หรือมีเรื่องราวเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งเข้ามาที่หมายเลขดังกล่าวได้ตลอดเวลา น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1769

ก.ไอซีที จับมือภาครัฐ และเอกชนบูรณาการแจ้งเตือนภัย เพื่อป้องกันภัยต่อประชาชน

September 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย และป้องกันภัยต่อประชาชน ว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยและเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับทราบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กระทรวงฯ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชนผ่านช่องทางสื่อสารสารสนเทศที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

“กระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงกลาโหม กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บจ.ไปรษณีย์ไทย ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชน

โดยจากการหารือสรุปว่า หน่วยงานรับผิดชอบที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน จะเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งกระจายข่าวสารให้แก่ประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในยามปกติ และขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารให้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อนำไปวิเคราะห์และตัดสินใจกรณีที่จะมีภัยพิบัติกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อนกระจายข้อมูลแจ้งเตือนภัยไปสู่ประชาชน หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยใช้ช่องทางต่างๆ อาทิ วิทยุภาคประชาชน วิทยุสื่อสาร หอกระจายข่าว สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย Social Network , website รวมถึงข้อความสั้น (SMS) ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนรับทราบได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือสังคมด้วยการสนับสนุนการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับเกณฑ์การกระจายข้อมูลและข่าวสารของศูนย์เตือนภัยฯ นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.รายงาน เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิด คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย โดยจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยช่วยเหลือและกู้ภัย ตลอดจนประชาชน 2.เฝ้าระวัง เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและการเข้าใจผิดของประชาชน โดยจะกระจายข่าวให้กับผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลในการชี้แจงกับประชาชน
3. เตือนภัย เป็นการกระจายข่าวเมื่อคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ ที่จะเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยจะมีการให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิดคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย และ 4. ยกเลิก เป็นการกระจายข่าว เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติกลับสู่ภาวะปกติ และทำการตรวจสอบข้อมูลจากทุกๆ แหล่ง จนเป็นที่แน่ใจและเป็นไปตามเกณฑ์ยกเลิกสถานการณ์ของภัยแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีความปลอดภัย และให้หน่วยช่วยเหลือกู้ภัยดำเนินการบรรเทาสาธารณภัยได้ต่อไป

View :1694

ก.ไอซีที จับมือ มศว ประสานมิตร พัฒนาความรู้ด้านไอซีทีให้บุคลากร

September 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากําลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบุคลากรในศาสตร์สาขาอาชีพอื่นๆ ทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ รวมถึงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนมั่นคง

ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์ บุคลากร และนิสิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อวิจัยและพัฒนางานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการสื่อสารและการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนและขยายผลงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการสื่อสาร และการสร้างนวัตกรรมของทั้งสององค์กรไปสู่ชุมชนและสังคม

สำหรับขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1.ร่วมกันส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของทั้งสององค์กรให้มีความรู้ในเชิงวิชาการ และความรู้ในภาคปฏิบัติ 2.ร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในทุกรูปแบบ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกงาน 3.ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ โดยการจัดกิจกรรม และ/หรือโครงการที่สนับสนุนการจัดทำและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการตลอดจนการวิจัยที่มีคุณภาพ 4.ร่วมกันจัดสรรและใช้ผลงาน และ/หรือ องค์ความรู้ ทั้งที่มีอยู่เดิมและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เพื่อให้บริการแก่ชุมชนและสังคม โดยการจัดกิจกรรม และ/หรือ โครงการที่ให้บริการและการเป็นที่ปรึกษาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 5.ร่วมกันจัดสรรและใช้ทรัพยากรด้านอาคารสถานที่ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนอุปกรณ์เทคโนโลยีและเครือข่ายสารสนเทศของทั้งสององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 6.ร่วมกันประเมินผลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 2 ปี โดยจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2556

“การลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จรวมทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน นิสิต/นักศึกษา และชุมชนในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถทางวิชาการ ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิตประจำวันและอาชีพของชุมชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือทางด้านงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ระหว่างกันอีกด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1875

ก.ไอซีที อัพเกรดโปรแกรมเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตไม่เหมาะสม

September 26th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึง โครงการจัดการดูแลและเฝ้าระวังภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม ว่า หลังจากที่กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินโครงการจัดทำโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม พบว่าได้รับการตอบรับจากหน่วยงาน สถานศึกษา คณาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้แสดงความจำนงขอโปรแกรมไปใช้งานมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งยังมีการเรียกร้องขอให้มีการดูแลและปรับปรุงโปรแกรมให้ทันสมัย อยู่เสมอ เพื่อที่ผู้ปกครองและโรงเรียนต่างๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันสื่อออนไลน์ที่ ไม่เหมาะสมและดูแลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของเยาวชน

“กระทรวงฯ เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียน สถานศึกษา และเยาวชนที่เป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ จัดการดูแลระบบ และเผยแพร่แนวทางป้องกันภัยแฝงจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วประเทศขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันภัยที่แฝงมากับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินการให้ประชาชนโดยทั่วไปมีโอกาสได้เข้าถึงมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือสำหรับใช้ป้องกันเยาวชนและตนเองจากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงมีแหล่งเครื่องมือ และสามารถเข้าถึงช่องทางการดาวน์โหลดเครื่องมือป้องกันตนเองและบุตรหลานจากภัยแฝงทางอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพสามารถสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

การจัดทำโครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนการดูแลเฝ้าระวังให้เหมาะกับการใช้งาน และมีฐานข้อมูลที่ทันสมัย โดยกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงโปรแกรมเฮ้าส์คีปเปอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานมากขึ้น พร้อมเพิ่มสมรรถนะของกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานให้ทันสมัย และเหมาะสมกับการใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (32bit) ได้แก่ XP, Vista และ Windows 7 เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังสามารถทำงานร่วมกับบราวเซอร์ต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น IE, Firefox และ Chrome ได้ รวมทั้งสามารถปรับปรุงข้อมูลรายการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มเติมได้ด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงฯ ได้จัดทำโปรแกรมดังกล่าวเพื่อแจกจ่ายสำหรับการใช้งานจำนวน 10,000 ชุด และจะมีการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่ประชาชน รวมทั้งกระตุ้นให้รู้ถึงภัยแฝงและการป้องกันตนจากการใช้งานคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมสำหรับประชาชนและสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยหวังว่าโครงการฯ นี้ จะช่วยให้เกิดเครือข่ายป้องกันเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของภาคประชาชนและภาครัฐในรูปแบบสมัครใจ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด”

View :1523

ก.ไอซีที จัดโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

September 22nd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน”ขึ้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี และสิงห์บุรี ซึ่งจะดำเนินการในเรื่อง การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง การจัดรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ การจัดตั้งระบบ e-Conference เพื่อใช้สนับสนุนการสั่งการแก้ปัญหากรณีระบบสื่อสารขัดข้องในพื้นที่ รวมทั้งการจัดหาพาหนะขนส่งสิ่งของบริจาคเพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอ การจัดอาหารและน้ำดื่มเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (fit its) ร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเพื่อเข้าไป ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบข้อขัดข้อง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการประสานงานและ บูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานหลักในพื้นที่ อันจะเป็นช่องทางให้เกิดการวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ในอนาคต

“ในการวางแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันนั้น ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านต่างๆ โดยให้กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามและรายงานสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ ประมวลผล ประเมินสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเพื่อแจ้งข่าว – เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ เสี่ยงภัย เช่น โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน 192 โทรสาร วิทยุสั่งการ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และอื่นๆ

นอกจากนั้น ยังให้มีการเตรียมความพร้อมของรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ โดยให้วางไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที พร้อมกันนี้ให้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั้งโครงข่ายหลัก และโครงข่ายสำรองให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา จัดเตรียมและสำรองอุปกรณ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมและอื่นๆ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ จัดเตรียมแผนที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดนั้นๆ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สำรองให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ตรวจสอบและจัดเตรียมฐานข้อมูลและระบบบริหารจัดการ จัดเตรียมระบบด้านการเตือนภัยให้พร้อม และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งระบบเตือนภัยให้รับทราบ ตลอดจนตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัยในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการคาดการณ์สภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าจะมีฝนตกเป็นระยะต่อไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2554 ฝนจึงจะเบาบางลง หลังจากนั้นร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นในภาคใต้ตอนบน ส่วนการคาดการณ์สภาวะน้ำท่วมนั้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีจำนวนมากและอยู่ในสภาวะวิกฤติ จึงคาดว่าสภาพน้ำท่วมจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปนานอีกพอสมควร บางพื้นที่อาจจะท่วมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลทำได้ลำบาก

View :1398

รมว.ไอซีที ร่วมประชุมชี้​แจงนโยบายและ​แลกเปลี่ยน​ความเห็นเพื่อผลักดันนโยบายด้าน ICT

September 22nd, 2011 No comments


นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานการประชุมชี้​แจงนโยบายและ​แลกเปลี่ยน​ความเห็นกับคณะกรรมการบริหารสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย และผู้แทนจาก 12 สมาคมอุตสาหกรรมด้าน ICT ณ ห้อง MICT ชั้น 9 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อชี้แจงนโยบายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะของแต่ละสมาคมใน 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรม ด้านการตลาด และด้านกฎหมายและระเบียบ ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันผลักดันนโยบายด้าน ICT ให้ประสบความสำเร็จ

View :1447