Archive

Archive for the ‘Article’ Category

เทคโนโลยี 3G กับ Digital Media Channel

August 12th, 2011 No comments

โดย…..บลจ. บัวหลวง จำกัด

ประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี ภายใต้คลื่นความถี่ 2.1 MHz ในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ถกเถียงและยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สาเหตุของความล่าช้าในการประมูลคลื่นนั้น เกิดจากประเทศไทย ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจในการรับผิดชอบการจัดสรรและเปิดประมูลคลื่นความถี่ หน่วยงานดังกล่าว ก็คือ กสทช. ก็กำลังจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้เกิดการคาดหมายกันว่าการประมูลใบอนุญาต จะเริ่มอย่างเร็วสุดในช่วงปลายปีหน้า หรือต้นปี 2556 และหลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตก็จะทำการพัฒนาระบบให้ตรงกับความต้องการใช้ของผู้บริโภคมากขึ้น

• ทำไมประเทศไทย จึงควรที่จะมีเทคโนโลยี 3G

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทในชีวิตจนเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว โดยจากผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ นีลเส็น ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า คนไทยเป็นกลุ่มผู้ที่มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 56% ของคนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ โดยคาดว่า ภายใน 1 ปีข้างหน้า คนไทยจะต้องการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น และจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น และไทยยังมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ต่ำ และผู้บริโภคมีระดับการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตที่ไม่บ่อยนัก จึงสรุปได้ว่าสื่อ “Digital” ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกอย่างมากในประเทศ

ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ใช้เทคโนโลยี 2.75G หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) แต่เมื่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยใช้บริการ Non-voice ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เทคโนโลยี 2.75G ที่ใช้อยู่ จึงเกิดข้อจำกัดค่อนข้างมากในการให้บริการระบบเสียงและการส่งข้อมูล เนื่องจากความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดประมาณ 384 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) และจำนวนช่องสัญญาณก็มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เมื่อผู้บริโภคมีการใช้บริการในการ Download ข้อมูล ก็จะไปแย่งพื้นที่ของช่องสัญญาณที่มีอยู่จนเหลือพื้นที่ในการบริการด้านเสียงลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดให้บริการ Non-Voice ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะเกิดผลรบกวนต่อการให้บริการ Voice

จากข้อจำกัดและความต้องการใช้บริการ Non-voice ที่เร็วและมากกว่าคาด สอดคล้องกับจำนวนยอดขายของโทรศัพท์ Smart Phone ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำเป็นต้องเร่งการเปิดให้บริการ 3G โดยเทคโนโลยี 3G จะสามารถรองรับการใช้บริการมัลติมีเดีย และส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น ซึ่งความเร็วสูงสุดในการ Download ข้อมูล จะอยู่ที่ 42 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) เร็วกว่าเทคโนโลยี 2.75G ถึง 109 เท่า ทำให้สามารถใช้บริการ Multimedia ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรับส่ง File ที่มีขนาดใหญ่ การประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร การโทรศัพท์ต่างประเทศผ่านระบบ Internet เช่น Skype การโทรศัพท์โดยเห็นหน้าคู่สนทนา รวมถึงการใช้บริการทางด้านสื่อ Entertainment ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดเพลง หรือการชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ โดยเทคโนโลยี 3G นั้น จะมีช่องสัญญาณความถี่และความจุในการรับส่งข้อมูลมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลและบริการระบบเสียงดีขึ้นกว่าเทคโนโลยีเดิม

• ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากการมีเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz

ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยในระบบสัมปทานเดิมนั้น จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ 25-30% ให้ทีโอที หรือ กสท. แต่ใบอนุญาตใหม่ของเทคโนโลยี 3G ภายใต้คลื่น 2.1 MHz ผู้ประกอบการจะเสียส่วนแบ่งรายได้ลดลงเหลือประมาณ 6.50% ให้กับหน่วยงาน กสทช. เท่านั้น จะเห็นได้ว่าใบอนุญาต 3G จะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง และทำให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการภายใต้เงื่อนไขอันเดียวกัน ซึ่งจะเกิดผลดีกับผู้บริโภค ทำให้เสียค่าบริการในการใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูกลง และได้รับบริการทางด้าน Non–voice ที่ดีขึ้น

ข้อดีของการมีเทคโนโลยี 3G จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาไปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการ ศึกษาของเด็กๆ และคนไทยในชุมชนห่างไกลที่จะเรียนรู้ผ่านทาง E-Learning ได้ รวมไปถึงระบบการขนส่งและติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี 3G จึงช่วยทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเมือง จนไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ในปัจจุบันนี้สามารถมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ผ่านทาง Air Card ของผู้ให้บริการ 3G ในระบบต่างๆ และทำให้ชีวิตดีขึ้น เรียนรู้เท่าเทียมคนเมืองมากขึ้น

• เทคโนโลยี 3G กับการทำการตลาด

เนื่องจากการขับเคลื่อนทางด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Global Generation ที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต บริษัทเจ้าของสินค้าและบริการจึงสามารถใช้โลกอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้าและบริการได้ และให้ความสำคัญกับช่องทางใหม่นี้ ด้วยการจัดสรรงบประมาณสื่อสารทางการตลาดผ่าน Digital Media มากขึ้น ทั้งยังใช้งบประมาณที่ไม่สูง แต่สามารถเข้าตรงถึงกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทาง เช่น Facebook, Twitter, Google ที่มีผู้เข้าใช้บริการดูข้อมูลจำนวนมาก ทำให้สามารถเห็นและเกิดการจดจำแบรนด์สินค้าต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การทำธุรกรรมต่างๆ ก็มีช่องทางผ่านทางสื่อโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น

• การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของธนาคารต่างๆ จะมีการให้บริการระบบ iBanking เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้า ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ธนาคารด้วยตัวเอง
• ห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ จะมีบริการให้ลูกค้า Shopping Online สามารถเลือกสั่งสินค้าและจ่ายเงิน โดยการตัดยอดเงินผ่านเครดิตคาร์ด หรือ เดบิตคาร์ด
• โรงภาพยนตร์ ระบบขนส่งมวลชน ต่างเพิ่มช่องทางในการให้บริการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้น บริษัทใดที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากช่องทางนี้มากและได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เนื่องจากการกระจายตัวของข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์นี้ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ถือว่าเป็น Value Added ที่บริษัทได้รับจากการมี Network และมูลค่าที่ Network สร้างขึ้นมาให้กับบริษัทนั้นก็มหาศาล ซึ่ง Network ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างการเติบโตที่ดีของบริษัท โดยสะท้อนกลับมาในรูปของกำไรและผลการดำเนินงานในที่สุด

—————————-
Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

View :1585

สมาร์ทโฟนแรงต่อเนื่อง…ครองตลาดคนกรุงกว่าร้อยละ 50 และยังมีแนวโน้มเพิ่มอีกในอนาคต

August 2nd, 2011 No comments

โดย

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมยุคใหม่ นอกเหนือจากการใช้ในการติดต่อสื่อสารแล้ว ขีดความสามารถของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค โดยกลจักรสำคัญในการผลักดันการเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความนิยม และได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบัน เนื่องจากมีคุณลักษณะที่โดดเด่นในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ทันสมัย การมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้ที่หลากหลาย หรือแม้แต่สมรรถนะในการใช้งานด้านมัลติมีเดียที่สูงกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 17 มิถุนายน 2554 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการที่จะเปลี่ยนมาใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในอนาคต รวมไปถึงฟังก์ชั่น จำนวนเครื่อง และประเภทของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้บริโภคถือครองและใช้งานเป็นประจำในปัจจุบัน

 ผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2553 ตลาดสมาร์ทโฟนมีมูลค่า 24,894 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 29.7 ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทั้งหมด และในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 32,789 ถึง 34,544 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8 คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าของตลาดรวมอยู่ที่ร้อยละ 38.0

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯที่ครอบครองสมาร์ทโฟนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สะท้อนถึงความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนกรุงที่อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาผลการสำรวจแยกตามอายุ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ถึง 24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งเริ่มทำงาน (First Jobber) มีสัดส่วนใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึงร้อยละ 56 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานประจำในกลุ่มช่วงอายุดังกล่าว อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 54 ปีขึ้นไปยังคงมีสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนน้อยที่สุดคือร้อยละ 14

เมื่อสอบถามผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังคงไม่มีสมาร์ทโฟนในครอบครอง เกี่ยวกับแผนที่จะใช้งานในอนาคต พบว่า โดยภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุมีสัดส่วนของผู้มีแผนที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตมากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนถึงความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนกรุงที่ยังคงมีอยู่มาก แม้จะมีสัดส่วนของผู้ที่ครอบครองสมาร์ทโฟนอยู่แล้วในระดับค่อนข้างสูง

สำหรับกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีแผนจะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตนั้น เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่คิดเช่นนั้น (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า เหตุผลหลักคือ สมรรถนะที่สูงของสมาร์ทโฟนคิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเหตุผลต่างๆแบ่งตามช่วงอายุ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุต่ำกว่า 54 ปีลงมา ยังคงให้ความสำคัญกับสมรรถนะของสมาร์ทโฟนเป็นหลักเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 54 ปี ให้ความสำคัญกับราคาของสมาร์ทโฟนที่ไม่แตกต่างจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไปมากกว่าสมรรถนะของสมาร์ทโฟน นอกเหนือจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 54 ปี ก็ให้ความสำคัญกับขนาดจอที่โหญ่ของสมาร์ทโฟน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น

 ผลสำรวจพฤติกรรมภาพรวมในการครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่

 คนส่วนใหญ่ต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
จากกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งมีความต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าการเป็นแค่เครื่องมือพูดคุยสื่อสารอย่างเช่นในอดีต ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องมีการแข่งขันกันพัฒนาฟังก์ชันการทำงานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค จากผลสำรวจพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มักถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย (ดูวีดีโอ ฟังเพลง และเล่นเกม) และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (EDGE/WIFI/) ในสัดส่วนที่สูงราวร้อยละ 58 ขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุก็ยังคงถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นทั้ง 3 ดังกล่าว ในสัดส่วนที่สูงกว่าฟังก์ชั่นอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะอุปกรณ์พกพาที่มีอรรถประโยชน์หลากหลายแทนที่อุปกรณ์พกพาดั้งเดิมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลซึ่งผู้บริโภคมักจะพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวหรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆที่มีการวางแผนไว้แล้ว หรือแม้แต่อุปกรณ์ฟังเพลงพกพา หรือเครื่องเล่นเกมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ยังสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือบริการต่างๆบนอินเทอร์เน็ต และยังแสดงถึงความพร้อมของผู้บริโภคในด้านอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับบริการ 3G ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมของกลุ่มผู้ใช้ในช่วงอายุต่างๆ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี นิยมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่สูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่นๆ แม้ว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ จากผลสำรวจเห็นได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ราวร้อยละ 37 ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นครบทั้งหมด

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 44 ปี ก็มีความนิยมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานสูงเช่นเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่แต่อยู่ในสัดส่วนที่รองลงมา นอกเหนือจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจอสัมผัส ในสัดส่วนที่สูงกว่าคีย์บอร์ดแบบ QWERTY ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความไม่ค่อยนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการแชท ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นทั้ง 2 ไม่แตกต่างกันมากนัก

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 44 ปี จะให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นที่ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยจะสังเกตได้ว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจอสัมผัส ในสัดส่วนที่มากกว่าฟังก์ชั่นการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความสามารถในการลงแอพพลิเคชั่น

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีศักยภาพสามารถตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการฟังก์ชั่นการทำงานของผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุมากที่สุด คือ สมาร์ทโฟน จากสมรรถนะที่สูง ใช้งานง่าย และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ตลาดสมาร์ทโฟน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการถือครองและความต้องการสมาร์ทโฟนจากผลสำรวจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

 ผู้บริโภคราวร้อยละ 26 นิยมใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่องเป็นประจำ

ปัจจุบัน จำนวนคนไทยที่ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่มีทั้งสิ้น 38.2 ล้านคน ในขณะที่จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกใช้งานในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 70.6 ล้านเลขหมาย อาจกล่าวได้ว่าคนไทยโดยเฉลี่ยถือครองเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราว 1.8 เลขหมายต่อคน แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคบางส่วนถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในเขตกรุงเทพฯมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำเพียง 1 เครื่องอยู่ราวร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่องอยู่เป็นประจำราวร้อยละ 24 และมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่องอยู่เป็นประจำราวร้อยละ 2 ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจมีส่วนผลักดันให้ผู้บริโภคมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง มีดังนี้

1. ความหลากหลายของโปรโมชั่นระหว่างผู้ให้บริการ จากความหลากหลายของโปรโมชั่นที่ผู้ให้บริการแต่ละค่ายพยายามพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นโทรในช่วงกลางคืนไม่อั้นโดยจ่ายเพียงราคาเดียว สำหรับคนที่ชอบโทรคุยกับเพื่อนๆในช่วงกลางคืน หรือแม้แต่โปรโมชั่นเติมเงินเท่าไรก็อยู่ได้นาน 1 ปี สำหรับคนที่มักจะรับสายเพียงอย่างเดียว ประกอบกับช่วงออกโปรโมชั่นใหม่ ผู้ให้บริการแต่ละค่ายมักจะแจกซิมของโปรโมชั่นนั้นให้ผู้บริโภคฟรี หรือแม้แต่แถมเงินส่วนหนึ่งในซิมที่แจกฟรีนั้นด้วย ด้วยเหตุผลต่างๆดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มสมัครใช้บริการมากกว่า 1 ค่าย เพื่อสามารถได้รับโปรโมชั่นที่คุ้มค่ากับตนเองมากที่สุด

2. การแบ่งการใช้งานระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องหนึ่งไว้ใช้รับสายของที่ทำงาน หรือธุรกิจที่ตนประกอบอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทางบริษัทหรือองค์กรมอบให้ และอีกเครื่องหนึ่งไว้รับสายของครอบครัวหรือเพื่อน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมระหว่างความเป็นส่วนตัว และเรื่องที่เกี่ยวกับงาน จากผลการสำรวจ พบว่า พนักงานบริษัทมีสัดส่วนการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำมากกว่า 1 เครื่องมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในอาชีพอื่น โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามในอาชีพพนักงานบริษัท รองลงมาคือ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหรือกิจการส่วนตัวมีสัดส่วนร้อยละ 26

3. ความหลากหลายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากความพยายามของผู้พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องการสร้างความแตกต่างของสินค้า และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายเครื่อง เนื่องจากความชอบในสีสันและการออกแบบของตัวเครื่อง หรือการมีฟังก์ชั่นที่โดดเด่นต่างจากเครื่องอื่น เช่น โทรศัพท์บางเครื่องมีคีย์บอร์ดซึ่งเหมาะสำหรับการแชท ในขณะที่โทรศัพท์บางเครื่องมีจุดแข็งในเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่มีให้ใช้อย่างหลากหลาย เป็นต้น

ถึงแม้ว่า ผู้ผลิตบางรายได้มีการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถใช้งานได้ 2 ซิมออกมา แต่ด้วยลักษณะการออกแบบและฟังก์ชั่นที่ไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบซิมเดียวที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยังคงนิยมใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง

นอกเหนือจากนี้ ในอดีตที่ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้หมายเลขเดิมได้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายกว่า 1 เครื่อง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถย้ายไปใช้บริการของค่ายอื่นได้โดยยังคงใช้เลขหมายเดิม แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดการใช้บริการบางอย่าง ซึ่งอาจจำกัดปริมาณการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายของผู้บริโภคให้มีไม่มากนัก เช่น การให้บริการที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นต้น

บทสรุป
กระแสพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีความต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอรรถประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ง่ายและใช้งานสะดวก หรือแม้แต่การรองรับการใช้งานมัลติมีเดีย เช่น ชมวีดีโอ ฟังเพลง เป็นต้น ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับการพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานใหม่ๆที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯมีการถือครองสมาร์ทโฟนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งเริ่มทำงานในช่วงอายุ 20 ถึง 24 ปี มีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึงร้อยละ 56 ถึงแม้ว่าสัดส่วนการถือครองสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุที่ยังคงไม่มีสมาร์ทโฟนในครอบครองก็มีแผนที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตมากกว่าร้อยละ 50 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้เริ่มทำงาน และกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 30 ถึง 34 ปี มีสัดส่วนของผู้มีแผนจะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตสูงที่สุดคือร้อยละ 83 และทั้งสองกลุ่มให้ความสำคัญกับสมรรถนะของสมาร์ทโฟนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องการใช้งานในอนาคต

จากผลสำรวจดังกล่าว นับได้ว่าความต้องการสมาร์ทโฟนในตลาดยังคงมีอยู่มาก และยังคงมีช่องว่างทางการตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีก ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน และกลุ่มผู้ที่ใช้งานอยู่แล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดสมาร์ทโฟนจะขยายตัวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8 โดยมีมูลค่าตลาดราว 32,789 ถึง 34,544 ล้านบาท

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับฟังก์ชั่นการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (EDGE/WIFI/3G) ในสัดส่วนที่สูงราวร้อยละ 58 ขึ้นไป สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะอุปกรณ์พกพาสารพัดประโยชน์แทนที่อุปกรณ์พกพาที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะอย่าง เช่น กล้องดิจิตอล เครื่องเล่นเกมพกพา เป็นต้น และยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในด้านอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับการให้บริการ 3G ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

——————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

View :2073

อินเทลร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกสานต่อนวัตกรรมคอมพิวเตอร์จากปัจจุบันสู่อนาคต

July 29th, 2011 No comments


อินเทลร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่บริษัทมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวงการไอทีตั้งแต่ยุคของคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเครื่องแรกไปจนถึงยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์และยุครุ่งเรืองของแท็บเบล็ต

ในขณะที่เรากำลังฉลองช่วงเวลาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่นี้ การทำความเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอิทธิพลสูงเพียงใดต่อชีวิตประจำวันในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมานั้นนับเป็นสิ่งที่ยากทีเดียว ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส และราคาของคอมพิวเตอร์ถูกลงมากอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรังสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมากอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นของ “สิ่งเร้นลับหลังม่านดำ”

ก่อนที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปี 2524 ผู้สนใจคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มที่มีความสนใจในเทคโนโลยี ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่สนใจนำไปใช้ในกิจกรรมอดิเรกของตน และกระหายที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการใช้งาน องค์ประกอบต่างๆ และพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไอบีเอ็มได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าว โดยการสร้างมาตรฐานสากลขึ้นมาในวงการอุตสาหกรรม และผลักดันการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ออกมาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกในวงกว้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมองว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือชนิดหนึ่งและไม่ใช่ของเล่นอีกต่อไป
ไอบีเอ็มเปิดตัวพีซีเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2524 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของยุคแห่งการหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของคอมพิวเตอร์ และก้าวสู่ยุคของการพัฒนาอย่างแท้จริง เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกของไอบีเอ็มใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น อินเทล 8086 เป็น “สมอง” ภายในคอมพิวเตอร์

การแปรสภาพของเครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง
ระบบประมวลผลผ่านการแปรสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปีอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มแรกเป็นอย่างไร จอภาพที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นจอโมโนโครมที่แสดงตัวอักษรและตัวเลขสีเขียวเรืองแสงออกมา แม้ว่าในช่วงแรกๆ มีการจำหน่ายจอสีด้วยเช่นกัน แต่จอสีมีการใช้ในแวดวงที่จำกัดและมีราคาค่อนข้างสูงมาก ในยุคนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ไม่คล่องตัวมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการแสดงผลแบบกราฟฟิกและไม่มีเมาส์สำหรับใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ในยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ถึง ในขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไมโครโปรเซสเซอร์ชั้นยอดอย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ทั้งสามรุ่น คือ อินเทล คอร์ ไอ5 ไอ7 และ ไอ3 ทีมีพลังสมรรถนะในการประมวลผลที่ดีเยี่ยมกว่าสมัยก่อนมาก รวมทั้งยังประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมาย (ขึ้นอยู่กับรุ่นของโปรเซสเซอร์) อาทิ ® Quick Sync, ® Wireless Display 2.0, ® Turbo Boost Technology 2.0 และเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดอื่นๆ อีกหลากหลาย

ในปัจจุบัน เราสามารถเพลิดเพลินกับภาพกราฟฟิกที่มีความละเอียดสูง สร้างวิดีโอหรือภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดาย ดาวน์โหลดข้อมูลได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแตกต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง

เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกมีราคาราวๆ 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 91,000 บาท) หรือราคาสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยในขณะนั้นประมาณ 10 เท่า ปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.75 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทย และในอนาคตราคาอาจจะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ

ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์จำนวน 10,000 เครื่อง ถือเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลแล้ว จอห์น มาร์คอฟ นักเขียนของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ผู้เขียนบทความชื่อ “มองย้อนหลังพีซีเครื่องแรกของฉัน” ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 เล่าว่า ไอบีเอ็มคาดว่าจะจำหน่ายคอมพิวเตอร์ได้ 240,000 เครื่องภายในเวลา 5 ปี แต่ปรากฏว่าไอบีเอ็มได้รับยอดสั่งซื้อจำนวนนี้ภายในเดือนแรกเท่านั้น ปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์กว่าหนึ่งล้านเครื่องต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลาไม่นานในช่วงชีวิตของเรา

เครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มรุ่นแรก และ “เครื่องเลียนแบบ” ที่ปรากฏตามมาในช่วงต้นปี 2525 ถูกผู้คนมองว่าเป็นแค่ “เครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง” หรือ “เครื่องคิดเลขชั้นดีกว่าปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์เหล่านี้ยังทำงานได้อย่างจำกัด แต่ในปัจจุบัน คุณสมบัติต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ได้ขยายขอบเขตออกไปถึงระดับที่ผู้คนในยุคก่อนหน้านี้ไม่เคยจินตนาการว่าจะทำได้มาก่อน คอมพิวเตอร์สามารถทำหน้าที่เป็นโทรศัพท์ ไปรษณีย์ โรงภาพยนตร์ คลังจัดเก็บข้อมูล และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของเราไปแล้ว

วันนี้และอนาคต

กอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทลตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในปี 2508 ว่า ความจุของโปรเซสเซอร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกๆ 18 เดือน ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่เพิ่มเป็นทวีคูณภายในช่วงเวลาสั้นๆ คำพูดดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็น “กฎของมัวร์” และแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นจริงมาจนถึงทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับผู้บริโภคมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้ในการส่งคนไปดวงจันทร์เสียอีก และวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็มิได้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้นหลังจากผ่านไปแล้ว 30 ปี

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในสามทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวิธีการที่ผู้คนสื่อสาร ทำงาน ศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความสุขใส่ตัว ในขณะที่วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับโปรเซสเซอร์ของอินเทลจะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการจัดการงานต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ผู้คนในช่วงหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้านี้คาดไม่ถึงว่าจะทำได้”

ปัจจุบันระบบประมวลผลมีการแปลงสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก จากยุคที่เป็นแค่เครื่องพิมพ์ดีดซึ่งมีจอเรืองแสง ไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้งานร่วมกับพีซีได้ กระทั่งมาถึงยุคของแท็บเบล็ต คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และยังคงทวีความแข็งแกร่งไปทั่วโลก วิสัยทัศน์ของอินเทลในอนาคตอันใกล้นี้คือ การนำรูปแบบการใช้งานแนวใหม่มาใช้ ซึ่งมาในรูปของคอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่อย่าง Ultrabook นั่นเอง คอมพิวเตอร์ชนิดนี้จะให้ประสิทธิภาพและคุณสมบัติต่างๆ ของโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ในปัจจุบันไปผสมผสานกับคุณสมบัติต่างๆ ของแท็บเบล็ต เพื่อให้มีรูปแบบการใช้งานที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยดีไซน์ของเครื่องที่บางมาก (บางไม่ถึง 20 มม.) น้ำหนักเบาและดูเรียบหรู ในราคาทั่วไปที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,900 บาท) นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคแต่ละรายสามารถเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือขณะอยู่บนท้องถนนก็ตาม


นอกจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะใช้เป็นระบบประมวลผลข้อมูล เพื่อความบันเทิง หรือใช้ระบบสื่อสารก็ตาม โดยใช้เทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการอย่าง Wi-Di (Wireless Display) ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และทีวีได้ และสมาชิกในบ้านทุกคนสามารถหันมาใช้เวลาอันมีค่าร่วมกันได้มากขึ้น ใน “ยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์ที่บ้านจะได้รับการใช้งานมากขึ้น และผู้บริโภคจะกลายเป็นศูนย์กลางเพื่อกำหนดประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ที่ปลายนิ้วในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อินเทลคาดหวังว่าการก้าวกระโดดของประสิทธิภาพในครั้งต่อไปจะทำให้ระบบประมวลผลก้าวไปสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับคำสั่งที่เป็นเสียงพูดและตอบสนองได้ในทันทีเป็นต้น

เราได้เดินทางมาไกลมาก นับตั้งแต่ยุคที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาที่ผู้คนต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบันที่ไลฟ์สไตล์และความต้องการต่างๆ ของผู้คนได้กลายเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับเทคโนโลยีไปแล้ว ระบบประมวลผลส่วนบุคคลได้กลายมามีความเป็นส่วนบุคคลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

View :2117

เปิดเทคโนโลยี Near Field Communications

July 29th, 2011 No comments

โดย เจเรมี่ เบโลสต็อก หัวหน้าฝ่าย โนเกีย

Near Field Communications () เป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ทำให้อุปกรณ์สื่อสารที่อยู่ใกล้กันสามารถเชื่อมต่อกันได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Open (แบบเปิด) และ Secure (แบบรักษาความปลอดภัย) Open หมายถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารที่มีเทคโนโลยี เข้าด้วยกัน หรือการใช้อุปกรณ์สื่อสาร เพื่ออ่าน tag (ชิพที่ฝังในโปสเตอร์ การ์ด หรือสิ่งพิมพ์) เพื่อรับข้อมูลหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วน Secure คือ การใช้อุปกรณ์สื่อสารเสมือนกระเป๋าสตางค์ หรือเครดิตการ์ด เพื่อจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ เพียงแค่วางลงบนเครื่องอ่าน

NFC เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบันของอุตสาหกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่ในแง่ของการสร้างรายได้ โดยคาดการณ์ว่า โทรศัพท์มือถือที่มีเทคโนโลยี NFC จะขายได้ถึง 700 ล้านเครื่อง ภายในปี 2013 ในฐานะ
หนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยี NFC และผู้ก่อตั้ง NFC Forum โนเกียเชื่อว่า Open NFC จะมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและระบบนิเวศน์ NFC ได้มากกว่า Secure NFC เพราะ Open NFC มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจ ผู้ค้าปลีก ผู้โฆษณา ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ได้มากกว่า

ข้อเด่น
ด้วย Open NFC คุณเพียงแค่แตะอุปกรณ์สื่อสารที่มีเทคโนโลยี NFC บน NFC tag เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเช็คอิน ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง การเก็บแต้มสะสมของร้านค้า หรือการเข้าเว็บไซต์โดยไม่ต้องพิมพ์ URL นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ NFC tag เพื่อโปรโมตแอพพลิเคชั่นบนร้านค้าออนไลน์ได้อีกด้วย อาทิ แทนที่จะเข้าไปยังร้านค้าออนไลน์เพื่อหาแอพพลิเคชั่น คุณเพียงแค่แตะบน tag ก็สามารถดาวน์โหลดแอพได้ทันที

NFC tag ซึ่งมีราคาไม่กี่บาท จะมอบศักยภาพมหาศาลให้กับผู้โฆษณา ผู้ค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อให้เข้าถึง มอบสิทธิประโยชน์ และติดต่อสื่อสารกับลูกค้า เราสามารถติดตั้ง NFC tag ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายโทรศัพท์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านกาแฟ ซึ่งสามารถวัดผลลัพธ์ได้และเห็นผลทันที การเปิดศักยภาพ NFC tag ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานอะไรมากมาย เพียงแค่มีการวางตลาดอย่างแพร่หลายของอุปกรณ์สื่อสารที่มีเทคโนโลยี NFC และการตระหนักถึงคุณประโยชน์ของ NFC tag ในกลุ่มผู้โฆษณาเท่านั้น

นอกจากการอ่าน tag แล้ว Open NFC ยังสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์ NFC 2 เครื่องได้ง่ายๆ เพียงแค่นำเครื่องทั้งสองแตะกัน คุณก็สามารถแบ่งปันเนื้อหา เช่น รูปถ่าย หรือการเล่นเกมส์คู่ โดยไม่เสียเวลาเชื่อมต่ออย่างบลูทูธ ล่าสุดเกมส์สุดฮิตอย่าง Angry Birds ได้ออก Angry Birds Free With Magic เกมส์เวอร์ชั่นพิเศษสำหรับอุปกรณ์สื่อสารที่มีเทคโนโลยี NFC อย่าง C7 ซึ่งได้ซ่อนขั้นพิเศษของเกมส์เอาไว้ ซึ่งจะเข้าไปเล่นได้ต่อเมื่อนำโทรศัพท์ NFC ของคุณแตะกับ C7 หรืออ่าน NFC tag ที่จะนำคุณสู่ร้านค้าออนไลน์ของโนเกียเพื่อดาวน์โหลดขั้นพิเศษของเกมส์

Open NFC ยังสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือของคุณไปยังลำโพงไร้สาย หรือหูฟังที่มีเทคโนโลยี NFC ได้อย่างง่ายดาย ถ้าคุณกลับถึงบ้านขณะฟังเพลงจากโทรศัพท์ด้วยหูฟังค้างอยู่ เพียงแค่แตะโทรศัพท์มือถือกับลำโพง NFC ที่บ้าน คุณก็เปลี่ยนไปฟังเพลงจากลำโพงได้อย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ก็ทำให้จินตนาการถึงอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้อีกมากมาย

เปิดสู่อนาคต

โนเกียในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารที่มีประสบการณ์สูงในเทคโนโลยี NFC ได้เปิดตัวอุปกรณ์สื่อสาร NFC แล้ว 5 รุ่น อย่างไรก็ดี พันธมิตรสำคัญ ได้แก่ หน่วยงานด้านการชำระเงิน ธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้จัดการระบบ นักพัฒนา และอื่นๆ จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยี NFC ให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน Open NFC จะให้ประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากขึ้น และให้ผู้คนได้คุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์สื่อสาร NFC ก่อนที่ Secure NFC จะเริ่มได้รับความนิยม เมื่อโทรศัพท์มือถือ NFC เข้ามาในตลาดในปี 2554-2555 Open NFC จะเปลี่ยนรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ของผู้บริโภค และเปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั้งใหญ่และเล็ก เราเชื่อว่า นักพัฒนาจะใช้โอกาสที่ได้รับจาก Open NFC ในการสร้างแอพสำหรับการ แบ่งปันข้อมูล การอ่าน tag การร่วมสังคมออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย และโอกาสของ Open NFC จะมาถึงก่อนที่ Secure NFC จะเริ่มต้นขึ้น

—–
เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือของคุณเป็นสมาร์ทการ์ดเอนกประสงค์ด้วยเทคโนโลยี NFC

รู้จัก NFC
• เป็นวิธีการที่สะดวกในการโอนย้ายข้อมูลระหว่างโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ โดยการนำอุปกรณ์ทั้งสองมาสัมผัสกัน
• เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นสมาร์ทการ์ด
• ซื้อสินค้าและบริการโดยการแตะโทรศัพท์กับเครื่องอ่าน NFC
• ให้โทรศัพท์ของคุณเป็นบัตรโดยสาร ณ ประตูทางเข้าที่มี NFC
• NFC ทำงานในระยะห่างเพียงไม่กี่เซนติเมตร
• ใช้ชิพสำหรับเก็บรายละเอียดวงเงินและการเดินทางอย่างปลอดภัย

NFC คืออะไร
NFC เป็นวิธีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโทรศัพท์มือถือกับอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ เครื่องอ่านเครดิต NFC ที่ประตูทางเข้าที่มี NFC หรือ RFID tag โดยการแตะอุปกรณ์ทั้งสองเข้าด้วยกัน คุณสามารถใช้โทรศัพท์มือถือที่มีเทคโนโลยี NFC เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นหรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง คุณยังสามารถรับข้อมูลข่าวสาร เช่น ข่าวประจำวัน หรือข้อมูลการเดินทางล่าสุดได้โดยแตะโทรศัพท์ของคุณกับ RFID tag ที่ฝังอยู่บนโปสเตอร์ หรือแลกเปลี่ยนนามบัตรได้ง่ายๆ เพียงแค่แตะโทรศัพท์เข้าด้วยกัน โทรศัพท์ NFC จะติดตั้งชิพที่เก็บข้อมูลลับ เช่น ข้อมูลวงเงิน หรือข้อมูลการเดินทาง ไว้อย่างปลอดภัย คุณสามารถใช้โทรศัพท์ NFC กับ RFID tag เพื่อรับข้อมูลและบริการต่างๆ เพียงแค่แตะเบาๆ ลงบน tag

โทรศัพท์รุ่นไหนมี NFC
พร้อมใช้งานใน Nokia C7 และอีกหลายรุ่นในอนาคตอันใกล้ ตรวจสอบเพิ่มเติมที่ www.nokia.co.th หรือโนเกีย แคร์ไลน์ 02-255-2111

ทำไมต้องใช้ NFC
NFC ทำให้เราชำระค่าสินค้าและบริการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลจาก smart poster, RFID tag และบุคคลอื่นๆ ได้ง่ายๆ เพียงแค่แตะโทรศัพท์ของคุณกับอุปกรณ์ NFC อื่นๆ

ด้วยโทรศัพท์ NFC คุณจะสามารถ
• ซื้อหนังสือพิมพ์ได้ในเวลาไม่กี่วินาที โดยเฉพาะในช่วงเร่งรีบยามเช้า
• รับตารางเวลาต่างๆ เพียงแค่แตะโทรศัพท์มือถือกับ smart poster
• โดยสารรถประจำทาง รถไฟ หรือรถไฟฟ้า เพียงโหลดข้อมูลบัตรโดยสารเข้าไปในโทรศัพท์ และแตะโทรศัพท์ของคุณกับประตูทางเข้า NFC
• แลกเปลี่ยนข้อมูลการติดต่อ และข้อมูลอื่นๆ กับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานโดยเพียงแค่นำโทรศัพท์มาแตะกัน
• ทำ RFID tag ของคุณเอง โดยใส่ข้อมูลการติดต่อ และเชื่อมต่อไปยังบริการมือถือ เช่น ข่าว พยากรณ์อากาศ ราคาหุ้น

ในอนาคตโทรศัพท์ NFC สามารถนำไปใช้เป็น
• อุปกรณ์ยืนยันสถานะบุคคล
• บัตรโดยสารเครื่องบิน
• กุญแจอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ โรงแรม หรือสำนักงาน

View :2440

กฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว: ได้เวลาที่จะสะสางแล้วหรือยัง?

July 28th, 2011 No comments

โดย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อต่างๆ มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัท DTAC ว่ามีลักษณะของการถือหุ้นแทนหรือไม่ และมีบทความจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับปรุงนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดมากขึ้นดังเช่นในต่างประเทศซึ่งมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง อำนาจในการควบคุมบริษัทในทางปฏิบัติ ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องการลงทุนของคนต่างด้าวมิใช่เพียงเรื่องของนิยามของคนต่างด้าวเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อบทของกฎหมายในภาพรวมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราควรที่จะมีการแก้นิยามของ “คนต่างด้าว” พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ และอย่างไรดังนี้

ประการแรก นิยามของ “คนต่างด้าว” ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบันที่มีความหละหลวมนั้นมิได้เกิดจากความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ร่างกฎหมาย หากแต่เกิดจากเจตนาของรัฐบาลที่จะผ่อนปรน กฎ กติกาในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวเพื่อที่จะรักษาและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อประมาณสองทศวรรษมาแล้ว

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ไทยประกาศใช้เพื่อจำกัดสิทธิการลงทุนของต่างชาติฉบับแรก ประกาศฯดังกล่าว ได้จำกัดสัดส่วนหุ้นส่วนคนต่างด้าวในธุรกิจในบัญชีแนบท้ายกฎหมายไว้ไม่เกินร้อยละ 49 สำหรับธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีแนบท้าย (ก)–(ค) บัญชีดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและบริการบางประเภทที่เกี่ยวโยงกับการประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรม หัตถกรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ฯลฯ โดยความแตกต่างระหว่างบัญชีแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามอยู่เดิมจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย และ วิธีการและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวรายใหม่จะสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามเหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือ บัญชี (ค) นั้นห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทโดยไม่ระบุสาขา ข้อจำกัดดังกล่าวยังคงปรากฏอยูในบัญชี 3 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้ในข้อ 3 ของประกาศฯ ว่า หมายถึง “ นิติบุคคล ซึ่งทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว “ ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้สอบสวน บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ บริษัท เอบีบี อาเซีย อาบราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 49 และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน เอเซีย อาบราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยอีกร้อยละ 49 อีกชั้นหนึ่งทำให้มีสัดส่วนของทุนรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 74 เกินกว่ากึ่งหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวเนื่องจากทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ[1]

สืบเนื่องจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีของบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลไทยในหลายลำดับชั้นของการถือหุ้นและพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่มีสัญชาติเป็นคนต่างด้าวหากนับรวมการถือหุ้นทางอ้อมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต่างด้าวมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าหากมีการตีความคำจำกัดความของคำว่า “ทุน” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 โดยให้ยกเลิกบทนิยามของคำว่า `คนต่างด้าว’ ในข้อ 3(1) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คนต่างด้าว” หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น’ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ ชั้นเดียวโดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นคนไทยกับต่างชาติที่ร้อยละ 49:51 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้กลับไปเหมือนกับนิยามที่กำหนดใน ปว. 281 ย่อมหมายถึงการปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศดังเช่นนโยบายของคณะปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขนิยามของคนต่างด้าว และคงจะยิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ นิยามของคนต่างด้าวในต่างประเทศมีความรัดกุมกว่าประเทศไทย หากแต่ประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าวเพียงไม่กี่สาขา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุก “สาขาบริการ” ในขณะที่ประเทศอื่นมักจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในสาขาบริการหลักๆ เช่น การธนาคาร การขนส่ง การสื่อสาร เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า จีน เวียดนาม กลับมีข้อกำหนดสัดส่วนทุนต่างชาติ “ขั้นต่ำ” ไม่ใช่ “ขั้นสูง” เพราะเขาต้องการดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ หากแต่มีการกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าไทย ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 20 และมีนิยามของคนต่างด้าวที่ค่อนข้างรัดกุม หากแต่กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Federal Communication Commission หรือ FCC) สามารถอนุญาตให้บริษัทต่างชาติประกอบกิจการได้หากเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งต่างจากในกรณีของกฎหมายไทยที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาบางแห่งยังมีการร่างประกาศที่จะทำให้นิยามของคนต่างด้าวสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนมีความเข้มขึ้นเพื่อที่ป้องกันมิให้บริษัทต่างชาติเข้ามา “ฮุบ’ บริษัทไทย หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าหากต่างชาติที่ให้บริการแก่ประชาชนคนไทยอยู่นั้นต้องถอนทุนไปทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดแล้ว คนไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ครั้นจะหันไปพึ่งพากฎหมายป้องกันการผูกขาดของเราก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 12 ปี

ผู้เขียนมองไม่เห็นว่า การห้ามธุรกิจต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทแบบครอบจักรวาลที่เป็นอยู่นั้นเป็นผลดีอย่างไรต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทย เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราห้ามเปรอะไปหมดทำให้เราก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะมีธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากในหลากหลายสาขา รวมถึงบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงจำนวนมากแถวพัทยาที่เป็นของคนต่างด้าวที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนแบบ “ปากว่า ตาขยิบ” ของไทย คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยบางกลุ่มที่พอใจที่จะเห็นคู่แข่งต่างชาติถูกกีดกันในการประกอบธุรกิจ และพร้อมที่จะงัดกฎหมายนี้ออกมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางธุรกิจกับคู่แข่งที่มีหุ้นส่วนต่างชาติ เพราะหากปราศจากการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายอำนาจทางธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดภายในประเทศได้ง่ายดายขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะทบทวนบัญชี 3 ของกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ“ธุรกิจไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน” หากภาคบริการของไทยยังคงไม่พร้อมที่จะแข่งขันหลังจากเวลาเนิ่นนานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีนับจากที่มี ปว. 281 ในปี พ.ศ. 2515 เราก็คงต้องเลิกพูดกันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะภาคบริการจะเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำให้เราล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

ผู้เขียนเห็นว่า บัญชีสามควรให้การคุ้มครองแก่ ธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเท่านั้น มิใช่ส่งเสริมให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางตลาดสูงเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมและผู้บริโภคไทย จากการผูกขาดตลาด ประเทศไทยจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ หากนโยบายของภาครัฐยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคบริการที่สำคัญของประเทศ

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความกล้าหาญที่จะเข้ามารื้อกฎหมายฉบับนี้เพื่อปฏิรูปให้ภาคบริการของประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับภาคการผลิตของเราที่เติบโตแข็งแกร่งจากทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และจากแรงกดดันของการแข่งขันจากทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายที่กีดกันคู่แข่งจากต่างชาติแต่อย่างใด.

——————————————————————————–

[1] บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เลขเสร็จ 332/2535) เรื่อง ความหมายของคนต่างด้าว ตามข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ 2515 (กรณีบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด)

View :1527

นโยบายการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ใครควรเป็นผู้กำหนด?

July 28th, 2011 No comments

By

ในการประชุมของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) รักษาการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ…. โดยให้มีการเพิ่มเติมข้อความในส่วนของการเกริ่นนำของร่างประกาศว่าเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มิใช่เป็นการเร่งรัดดำเนินการในห้วงระยะเวลาปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เขียนยิ่งมีข้อสงสัยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเร่งรัดของ รักษาการ กสทช. ชุดนี้ก่อนที่จะหมดวาระในเวลาเพียงอีกเดือนกว่าๆ หรือไม่

ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนดังเช่นของ กรณี พ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ (สืบเนื่องจากการที่บริษัท True Move ขอให้มีการตรวจสอบว่าบริษัท DTAC เป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่) หากแต่จะเป็น กฏ กติกาที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เนื่องจากประกาศดังกล่าวได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวจากอำนาจในการควบคุมบริษัท (corporate control) โดยพิจารณาจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น สิทธิในการออกเสียง แหล่งที่มาของเงินทุน การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาบริหาร การโอนราคา ฯลฯ ในการรับฟังความคิดเห็นนั้น (ซึ่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ลงในเว็บไซต์ ต้องขอ) ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมากกว่า 1 รายได้ทักท้วงว่า นิยามของคำว่า ”อำนาจในการควบคุม” ในร่างประกาศฯ ดังกล่าวกว้างเกินไป ชี้วัดได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการตีความ นอกจากนั้นแล้ว การประเมินว่าคนต่างด้าวมีอำนาจในการควบคุมเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของอำนาจการควบคุมโดยรวมของกิจการนั้นยิ่งไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎ กติการในการกำกับดูแลธุรกิจที่มีความคลุมเครือและให้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวางแก่หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้ ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นในประเทศไทยนั้น เป็นปัจจัยที่ทำลายภาคธุรกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนต้องเสียเวลาและเงินตราในการวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจเพื่อให้มีการตีความที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือเป็นโทษต่อคู่แข่งมากกว่าที่จะใช้เวลาในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ข้อ 3 ของร่างประกาศดังกล่าวระบุไว้ว่า “ … คณะกรรมการอาจพิจารณายกเว้นการบังคับใช้ประกาศนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน แก่การครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทั่วในทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหมาะสมเป็นรายกรณีไป” กสท. ได้ท้วงติงว่าข้อความนี้ให้อำนาจแห่งดุลยพินิจแก่หน่วยงานกำกับดูแลโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส แต่การชี้แจงของสำนักงาน กสทช. เพียงระบุว่า “ผู้ประกอบการที่ดำเนินการแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางธุรกิจ ซึ่งก็เป็นหลักที่ยอมรับได้อย่างเป็นสากลและมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด” ผู้เขียนอาจไม่ฉลาดพอ เพราะต้องยอมรับว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าที่ สำนักงาน กสทช. กล่าวมาได้ตอบข้อข้องใจของ กสท. อย่างไร

ในลักษณะเดียวกัน DTAC ก็ได้หยิบยกประเด็นว่า หากการครอบงำอำนาจในการควบคุมบริษัทของคนต่างด้าวนั้นเป็นไปโดยถูกกฎหมาย (ไม่มีนอมินี) และเกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้นไทยที่อาจขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมจึงไว้วางใจให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเป็นผู้บริการจัดการก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่เสียหาย ทั้งนี้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่ได้ห้ามต่างชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในบริษัทไทยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม นิยามของคนต่างด้าวในกฎหมายดังกล่าวที่จงใจดูการถือหุ้นชั้นเดียวในการกำหนดสัญชาติของบริษัทนั้นสะท้อนชัดเจนว่ากฎหมายต้องการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นผู้ควบคุมนิติบุคคลไทยได้โดยการถือหุ้นทางอ้อมเพียงแต่ในการถือหุ้นในแต่ละลำดับชั้นนั้น ผู้ถือหุ้นข้างมากต้องเป็นคนไทย ในประเด็นนี้ข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้บริษัทควรที่จะมีอิสระในการกำหนดโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทเอง แต่ในบางบริษัท “กรรมการมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ถือหุ้นเป็นพิเศษจนไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทแต่เลือกที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแทน” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่หรืออำนาจที่จะมาตัดสินใจว่ากรรมการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่หรือ และ ผลประโยชน์ของบริษัทมิใช่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือ ? แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า ประกาศฯ ดังกล่าวมีความจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย

เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านเศรษฐกิจที่พิจารณาเรื่องการประมูลคลื่น ได้ตั้งคำถามเดียวกันว่า กทช. มีแนวนโยบายและเหตุผลอย่างไรในการนำเสนอร่างประกาศซึ่งเป็นการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ในช่วงเวลาที่ กทช. ต้องการจะชักจูงให้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลคลื่น 3 G จากการทำ Road show ในหลายประเทศ

อนึ่ง ข้อ 5 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล พ.ศ. 2549 กำหนดให้ กทช. ต้องดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ในกรณีที่มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจควบคุม หรือกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ผู้ประกอบการแต่ละราย ตลอดจนผลดีผลเสียต่อผู้บริโภคคนไทย ผู้เขียนได้พยายามติดต่อ สำนักงาน กสทช. เป็นเวลาเกือบ 2 วันเพื่อที่จะได้มาซึ่งรายงานดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากมีการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างเจ้าหน้าที่หลายส่วนโดยอ้างว่า ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่อยู่ไปประชุม ทั้งๆ ที่ระเบียบข้อ 5 ดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า การเสนอร่างประกาศฯ ต่อคณะกรรมการฯ ต้องแนบรายงานการประเมินผลกระทบไปด้วยทุกครั้ง เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้มีบุคคลคนเดียวที่รับผิดชอบหรือรับรู้หรือ ? ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รายงานดังกล่าวจะต้องปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลโดยไม่ต้องร้องขอ (และไม่ได้) เช่นนี้

ผู้เขียนคิดว่า แม้ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบของ สำนักงาน กสทช. และตามกฎหมายแล้ว แต่ กสทช. ยังไม่สามารถชี้แจงประเด็นหรือปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของประกาศฯ เพื่อคลายข้อกังวลต่างๆ ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบของร่างประกาศฯ ดังกล่าวต่อสภาพการแข่งขันในตลาดและต่อเศรษฐกิจไทยตามที่กำหนดในระเบียบของ สำนักงาน กสทช. เอง ทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการในการออกประกาศฯ ดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดข้อครหาว่าเป็นการเร่งรัดเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น

สุดท้าย ผู้เขียนมีความเห็นว่า การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นประเด็นทางนโยบายที่มีความสำคัญระดับประเทศมิใช่เป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาจะเข้ามาใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจโดยไร้หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ชัดเจน โปร่งใส และปราศจากข้อมูลและหลักฐานของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ได้เวลาหรือยังที่ธุรกิจและประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการรับรู้ที่มาที่ไปของกฎ ระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ?

View :1432