Archive

Archive for the ‘Telecom’ Category

UIH งัดแผน BCM สู้ภัยน้ำท่วม

November 9th, 2011 No comments

และกลุ่มเบญจจินดา โฮลดิ้ง พร้อมบริษัทในกลุ่มงัดแผนสำรองฉุกเฉินใช้ยามวิกฤตการณ์น้ำบุกกรุงฯ สวมหมวก 2 ใบ ทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตภัยพิบัติ และเป็น Network Service Provider ให้บริการลูกค้าที่ประสบภัย

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง ไล่เรียงลงมากระทั่งน้ำเข้าถึงกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด รวมถึงบริเวณพื้นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) แต่ก็มิได้ทำให้ UIH นิ่งนอนใจ ประกาศมาตรการความพร้อมในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น บริษัทฯ คำนึงถึงการเป็น Network Service Provider (NSP) จึงได้เตรียมความพร้อมในสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ย้ายพื้นที่ชุมสาย (Node) ที่กระจายอยู่พื้นที่เขตภัยพิบัติ และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย อีกทั้งเคลื่อนย้ายตำแหน่งการวางอุปกรณ์ให้อยู่บนที่สูง รวมถึงเตรียมเครื่องสำรองไฟและเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับ Node หลัก เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ในกรณีที่ระบบไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้

2. ทีมงานฝ่ายขาย เตรียมพร้อม Standby เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการคำปรึกษาในการย้ายสำนักงานใหญ่ ไปยัง DR site เพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง UIH จะช่วยวิเคราะห์เส้นทางที่เหมาะสม เพิ่มความเร็วในการใช้งาน Network หรือ Internet ให้เหมาะกับสถานการณ์ รวมทั้งให้คำปรึกษาบริการต่างๆ ที่น่าจะสามารถช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ Co-location, VDO Conference, VoIP หรืออื่นๆ

และเพื่อให้การดำเนินการที่กล่าวไปข้างต้นราบรื่น จึงได้นำแผน Business Continuity Management (BCM) มารองรับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการดังนี้

1. ภายในพื้นที่สำนักงานใหญ่ ณ อาคารเบญจจินดา ซึ่งเป็นพื้นที่ในการให้บริการหลักของบริษัทฯ รวมถึง ศูนย์ Network Operation Center บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมดังนี้
- ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่อง Generator ได้จัดสำรองไว้เพื่อให้บริการได้ 2 ชุด โดยสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวถูกตัดกระแสไฟฟ้า ท่านลูกค้ายังคงมั่นใจได้ด้วยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าระบบน้ำมันที่ได้ทำการสำรองไว้อย่างเพียงพอ พร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วเพื่อปกป้องพื้นที่ส่วนสำคัญเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
- ทีมงาน UIH ทั้งฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่าย Network Management Center ฝ่าย Provisioning รวมถึงฝ่าย Product Development พร้อมให้บริการและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือท่านลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง

2. ในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่สามารถใช้สำนักงานใหญ่ในการดำเนินการได้ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมในการทำงานของระบบ Network Operation Center ไว้ที่ Disaster Recovery Site (DR site) โดยมีระบบไฟฟ้าสำรอง พร้อมด้วยเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่รองรับกรณีระบบไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทีมงานทุกฝ่ายยินดีในการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มความสามารถ ณ สำนักงานย่อยชั่วคราวที่ได้จัดเตรียมไว้ และพนักงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนงานจะไปประจำการในสถานที่ดังกล่าว

3. กรณีที่สำนักงานใหญ่ และ DR site ดังกล่าวข้างต้นเกิดผลกระทบและไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ บริษัทฯ จะแต่งตั้งศูนย์บริการของ UIH ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยรวม 24 ศูนย์ ขึ้นเป็นสำนักงานชั่วคราว โดยพิจารณาจากความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

โดยทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าทุกรายสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นต่อเนื่องเป็นไปอย่างปกติ สามารถให้บริการได้อย่างไม่สะดุด

ทั้งนี้ UIH ขอขอบคุณลูกค้า พันธมิตร ที่แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์ดังกล่าว และให้กำลังใจทีมงาน UIH เสมอมา และขอแสดงความห่วงใยไปยังลูกค้า พันธมิตร ทุกราย

View :1494

ดีแทคห่วงใยร่วมช่วยเหลือพี่น้องสื่อมวลชนประสบภัยน้ำท่วม

November 7th, 2011 No comments

7 พฤศจิกายน 2554 – นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ (ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายวรรษิษฐ์ ไสยวรรณ (ที่ 2 จากขวา) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค มอบเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมน้ำดื่มจำนวน 1,000 ขวด แก่สื่อมวลชนผ่านทางนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (ที่ 3 จากซ้าย) นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวอศินา พรวศิน (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นตัวแทนรับมอบที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือของคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจประสานงานช่วยเหลือสื่อมวลชนผู้ประสบอุทกภัย (ศปสภ.) ที่จะนำไปประสานงานช่วยเหลือพี่น้องและเพื่อนๆ สื่อมวลชนที่ประสบความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยในครั้งนี้ทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวต่อไป

View :1302
Categories: Press/Release, Telecom Tags:

“ทรูมูฟ เอช” เปิดตัว “iSIM” ออนไลน์ไร้สายด้วย 3G+

November 3rd, 2011 No comments

ตอกย้ำผู้นำบริการ และผู้ให้บริการที่ตอบสนอง ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รองรับการใช้งาน Convergence device อย่างแท้จริง เปิดตัว ซิมใหม่สำหรับคนเล่นเน็ต ให้อิสระออนไลน์แบบไร้สายได้แรงกว่าด้วยเครือข่าย 3G+ เร็วสูงสุด 42 Mbps ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด ทั่วกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัดทั่วไทย

เลือกซื้อแพ็กเกจท่องเน็ตไร้สายแบบออนไลน์ถึง 3 แพ็กเกจได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน www.truemove-h.com/iSIM ครั้งแรกของวงการโมบายล์อินเทอร์เน็ตที่ให้วันใช้งานนานถึง 6 เดือนทุกแพ็กเกจ เปิดใช้ซิมวันนี้ รับฟรี 150 MB ทันที ขาเน็ตตัวจริงหาซื้อ iSIM ได้แล้ววันนี้ที่ร้านทรูช็อป ทรูสเตชั่น และร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เพียง 169 บาทเท่านั้น พร้อมนำเงินรายได้จากการจำหน่าย iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2554 ซิมละ 20 บาท ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท เรียล มูฟ จำกัด กล่าวว่า “ทรูมูฟ เอช เปิดตัว iSIM ซิมใหม่สำหรับคนท่องเน็ตโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าบริหารจัดการการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของ iSIM ผ่าน www.truemove-h.com/iSIM ได้ง่ายๆ แบบออนไลน์ เช่น การเช็คยอดอินเทอร์เน็ตคงเหลือ การสั่งซื้อแพ็กเกจเสริมเน็ต สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมาะกับลูกค้าที่ใช้งานแท็ปเล็ต แอร์การ์ด Mi-Fi หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่รองรับ3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz โดยทรูมูฟ เอช ออกแบบ iSIM จากประสบการณ์และความเข้าใจการใช้งานของลูกค้าที่ใช้ Convergence device ผนวกจุดเด่นที่เหนือกว่าด้วยเครือข่าย 3G+ เร็วสูงสุด 42 Mbps และครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากที่สุด ทั่วกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัดทั่วไทย* ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ อยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และกระบี่ นอกจากนี้ iSIM ยังเป็นซิมเล่นเน็ตซิมแรกที่ให้วันใช้งานนานถึง 6 เดือน ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลหรือรีบเร่งใช้เน็ตให้หมดภายในเดือนที่เปิดใช้งาน และเพิ่มความคุ้มค่ายิ่งขึ้นด้วยการคิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริงเป็นเมกะไบท์ (MB) และเพื่อฉลองการเปิดตัวครั้งนี้ ลูกค้าที่เปิดใช้ iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2555 ราคาเพียง 169 บาท รับฟรี 150 MB ทันที! มั่นใจว่า iSIM จะเพิ่มอิสระในการเข้าถึงข้อมูลและความบันเทิงอย่างไร้ขีดจำกัด แบบ FREEYOU และจะเป็นซิมคู่กายของนักท่องเน็ตแบบไร้สายได้อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น ทรูมูฟ เอช จะนำเงินรายได้จากการจำหน่าย iSIM ตั้งแต่วันนี้ – 30 ธันวาคม 2554 ซิมละ 20 บาท ร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านมูลนิธิ
ราชประชานุเคราะห์ต่อไป”

ลูกค้าที่สนใจเปิดใช้ iSIM จากทรูมูฟ เอช ได้แล้ววันนี้ ที่ทรูช็อป ทรูสเตชั่น และตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ และอีก 16 จังหวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า โทร 1331 หรือ www.truemove-h.com

View :2076

เอไอเอสดูแลเครือข่ายภาคกลางตอนบนกลับมาให้บริการได้ตามปกติแล้ว

November 3rd, 2011 No comments

พร้อมเดินหน้าเปิด 900 เพิ่มเขตปริมณฑล ช่วยคนค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์

3 พฤศจิกายน 2554: นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอสในบริเวณภาคกลางตอนบน อาทิ นครสวรรค์, อุทัยธานี, ลพบุรี , สระบุรี ที่เคยได้รับผลกระทบจากการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ ในช่วงวิกฤติอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะนี้เครือข่ายทั้งหมดสามารถกลับมาให้บริการได้ 100% แล้ว หลังจากระดับน้ำเริ่มลดและมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามปกติ เครือข่ายเอไอเอสจึงพร้อมให้บริการได้ทันที”

“สำหรับ จ.อยุธยา, ปทุมธานี และนนทบุรี ซึ่งยังมีน้ำท่วมขังอยู่นั้น ในพื้นที่สำคัญ เช่น ตัวเมือง หรือ ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิคมโรจนะ, ไฮเทค, บางปะอินหรือ แฟ็คทอรี่แลนด์ ทีมวิศวกรได้ใช้เครื่องปั่นไฟและพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เครือข่ายยังคงให้บริการได้ตลอดช่วงวิกฤติอุทกภัยที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการฟื้นฟูภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีเพียงสถานีฐาน ราว 10% เท่านั้นที่ยังคงไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากการงดจ่ายไฟฟ้า”

ส่วนชุมสายของเอไอเอสในพื้นที่อุทกภัย ไม่ว่าจะเป็น รังสิต, แจ้งวัฒนะ และ ทวีวัฒนานั้น ขณะนี้ยังคงปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างไม่ติดขัด โดยมีทีมวิศวกรเฝ้าระวังอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนเครือข่ายในกรุงเทพมหานครที่กำลังเริ่มได้รับผลกระทบจากอุทกภัยก็มีปัญหาน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่บนตัวอาคาร

“นอกจากนี้เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้งาน Data อันจะช่วยให้ประชาชน หรือ อาสาสมัคร สามารถสื่อสารขอความช่วยเหลือ, แจ้งข่าว รวมถึงค้นหาข้อมูลผ่านทาง Social Media ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เอไอเอสจึงได้ขยายเครือข่าย 3G 900 เพิ่มเติมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยติดตั้งเพิ่มเติมอีก 763 แห่ง รวมกับที่เคยเปิดให้บริการก่อนหน้านี้เป็น 1,286 แห่ง ครอบคลุม 64 เขต จากเดิม 29 เขต”

“ผมขอยืนยันความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและประชาชนอีกครั้งว่า เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอไอเอส จะยังคงพร้อมเป็นช่องทางในการส่งต่อความช่วยเหลือ ติดต่อสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง แน่นอน” นายวิเชียรกล่าว

View :2481
Categories: 3G, Press/Release, Telecom Tags:

เปิดตัวแบรนด์โปรเจคเตอร์ “วิวิเทค” ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ปี 2555

October 12th, 2011 No comments

บริษัท วิวิเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวแบรนด์ ในประเทศไทย พร้อมแต่งตั้ง บริษัท ไอคอม เทค จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ พร้อมผยโฉมโปรเจคเตอร์วิวิเทค รุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2555 จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น คิวมิ โปรเจคเตอร์ไซส์มินิ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่รักผลิตภัณฑ์แก็ดเจ็ด รุ่น D871st โปรเจคเตอร์ที่มีฟังค์ชันมากมายสำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ และรุ่น D963HD โปรเจคเตอร์คุณภาพสูงสำหรับการใช้งานในออฟฟิศ และโฮม เอนเตอร์เทนเม้นท์

มร. ออตโต้ คัง หง หมิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วิวิเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำด้านการผลิต Visual Display และ Presentation Products เปิดเผยว่า วิวิเทค เป็นแบรนด์โปรเจคเตอร์จากสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเติบโตเร็ว โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกในปี 2552 ประมาณ 1.25% พร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงขึ้น 3% ในปี 2554 โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกให้ได้ถึง 7% ภายในปี 2558 ทั้งนี้ จุดเด่นของแบรนด์วิวิเทค คือ มีผลิตภัณฑ์ดิจิตอลโปรเจคเตอร์กว่า 50 รุ่นใน 14 สายผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการใช้งานได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะกลุ่มธุรกิจองค์กร เอสเอ็มอี โซโห สถานศึกษา ใช้ในคอนเสิร์ต หรือ สถานที่ขนาดใหญ่ และสำหรับความบันเทิงภายในบ้าน ปัจจุบันวิวิเทคมีจำหน่ายแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน

“สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง ร่วมกับบริษัทฯ ได้พบกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง บริษัท ไอคอม เทค จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดย ไอคอม เทค เป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดไอทีในประเทศไทยมานานกว่า 7 ปี มีบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพสูง รวมทั้งมีระบบการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง ที่จะนำพาโปรเจคเตอร์แบรนด์วิวิเทค ให้เป็นที่รู้จักในตลาดประเทศไทยในวงกว้าง” มร. ออตโต้ กล่าว

มร. ริก เซียว เจี้ยน หมิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอคอม เทค จำกัด กล่าวว่า วิวิเทค เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี คุณภาพภาพ และมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรุ่นสำหรับทุกกลุ่มผู้บริโภค โดยไอคอม เทค หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์วิวิเทคอย่างเป็นทางการแล้ว จะดูแลในส่วนของการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดยจะเลือกช่องทางการจำหน่ายให้เหมาะสมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังเน้นการบริการ ทั้งบริการก่อนการขาย การให้ข้อมูลลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ การทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการบริการหลังการขาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง โดยบริษัทฯ จะนำผลิตภัณฑ์วิวิเทค เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ต่อผู้บริโภคภายในงานคอมมาร์ต ในวันที่ 3-6 พฤศจิกายนนี้

มร. อเล็กซ์ หลิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและผลิตภัณฑ์ บริษัท วิวิเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในโอกาสเปิดตัวแบรนด์วิวิเทคในประเทศไทยเป็นครั้งแรก บริษัทฯ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับปี 2555 ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ โปรเจคเตอร์วิวิเทค รุ่นคิวมิ “Qumi” โปรเจคเตอร์ระบบ HD ขนาดเล็กกะทัดรัดเพียง 6.3X1.2X3.9 นิ้ว และน้ำหนักเบาเพียง 0.6 กิโลกรัม ดีไซน์ทันสมัย สวยงามรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เหมาะกับการใช้งานของกลุ่มโฮม เอนเตอร์เทนเม้นท์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยช่องเชื่อมต่อที่รองรับอุปกรณ์ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งกล้องภ่ายภาพดิจิตอล คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ตโฟน และแท็ปเล็ต และโปรเจคเตอร์วิวิเทครุ่น D871st โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีระบบ DLP ให้ความบันเทิงเต็มรูปแบบด้วยระบบ 3D และคุณสมบัติที่ให้แสงสีและความสว่างสมจริงตอบสนองการใช้งานได้ดีเยี่ยมจึงทำให้โปรเจคเตอร์รุ่นนี้เป็นที่สุดของโปรเจคเตอร์อเนกประสงค์ และโปรเจคเตอร์วิวิเทครุ่น D963HD อีกระดับของโปรเจคเตอร์เพื่อความบันเทิงในบ้านและออฟฟิศ ด้วยฟังค์ชันการใช้งานที่ตอบสนองทุกการใช้งาน พร้อมการเชื่อมต่อด้วยระบบปฏิบัติการแบบผสมผสาน และเทคโนโลยีปรับความคมชัดภาพและรายละเอียดภาพอย่างเหนือระดับ ทำให้โปรเจคเตอร์วิวิเทค รุ่น D963HD ได้กลายเป็นวีดีโอโปรเจคเตอร์เหนืออุดมคติ

View :1731

ศาลปกครองพิพากษา กทช. ทำงานล่าช้า

September 16th, 2011 No comments

พิพากษา ทำงานล่าช้าสั่งเร่งพิจารณาแบบสัญญาภายใน ๙๐ วันแก้ปัญหา พรีเพด ด้านว่าที่ ประวิทย์ ฝากการบ้านชุดใหญ่ จี้สำนักงานต้องขยับตัว แก้ปัญหาผู้บริโภคระบบเติมเงิน

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าที่ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยมีนายอนุภาพ ถิรลาภเป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เนื่องจากโจทย์ได้รับความเสียหายจากการที่ กทช. ไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยการพิจารณาแบบสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จเพื่อบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้การใช้บริการโทรศัพท์ระบบเติมเงินของผู้ร้องถูกกำหนดวันหมดอายุ และถูกระงับการใช้บริการ รวมถึงถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งใช้งานมากว่า ๑๐ ปี ขณะที่ผู้ให้บริการอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามสัญญาเดิมของการให้บริการ เนื่องจาก กทช. ยังพิจารณาสัญญาใหม่ไม่แล้วเสร็จ
“กรณีนี้ศาลพิเคราะห์แล้วว่า กทช. ใช้เวลาในการพิจารณาแบบสัญญานานเกินสมควร คือใช้เวลามากกว่า ๓ ปี ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ กทช.ปฏิบัติหน้าที่กสทช. ดำเนินการให้ความเห็นชอบหรือกำหนดแบบสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริษัท ให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน ทั้งนี้เนื่องจากการไม่พิจารณาแบบสัญญาส่งผลให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยังปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเดิม คือ หากผู้ใช้บริการไม่มีการเติมเงินเข้าระบบหรือไม่มีการใช้งานภายในระยะเวลาที่กำหนด เลขหมายก็จะถูกระงับสัญญาณ ทั้งที่เป็นการฝ่าฝืนต่อ ข้อ ๑๑ ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม “นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า จึงขอฝากการบ้านไปถึง สำนักงาน กสทช.ให้เร่งพิจารณาแบบสัญญาให้เสร็จภายใน ๙๐ วัน หรือกำหนดแบบสัญญามาตรฐานขึ้นมาซึ่งจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเรียนเรื่องการกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินได้ และเพื่อไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลปกครอง

View :1524

ดีแทคแสดงความยินดีกับรมว.ไอซีทีใหม่

August 10th, 2011 No comments

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่าขอแสดงความยินดีกับนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ดีแทคพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล และกระทรวงไอซีที ในการที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวไกลต่อไป ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคม ดีแทคเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการเข้าถึงข้อมูลและบริการอินเทอร์เน็ต ดีแทคพร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐมนตรีในการที่จะผลักดันวาระสำคัญนี้

ทั้งนี้ ดีแทครู้สึกยินดีกับทิศทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้ง กสทช และจัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนและประเทศไทย

View :1417

กฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว: ได้เวลาที่จะสะสางแล้วหรือยัง?

July 28th, 2011 No comments

โดย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อต่างๆ มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัท ว่ามีลักษณะของการถือหุ้นแทนหรือไม่ และมีบทความจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับปรุงนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดมากขึ้นดังเช่นในต่างประเทศซึ่งมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง อำนาจในการควบคุมบริษัทในทางปฏิบัติ ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องการลงทุนของคนต่างด้าวมิใช่เพียงเรื่องของนิยามของคนต่างด้าวเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อบทของกฎหมายในภาพรวมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราควรที่จะมีการแก้นิยามของ “คนต่างด้าว” พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ และอย่างไรดังนี้

ประการแรก นิยามของ “คนต่างด้าว” ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบันที่มีความหละหลวมนั้นมิได้เกิดจากความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ร่างกฎหมาย หากแต่เกิดจากเจตนาของรัฐบาลที่จะผ่อนปรน กฎ กติกาในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวเพื่อที่จะรักษาและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อประมาณสองทศวรรษมาแล้ว

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ไทยประกาศใช้เพื่อจำกัดสิทธิการลงทุนของต่างชาติฉบับแรก ประกาศฯดังกล่าว ได้จำกัดสัดส่วนหุ้นส่วนคนต่างด้าวในธุรกิจในบัญชีแนบท้ายกฎหมายไว้ไม่เกินร้อยละ 49 สำหรับธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีแนบท้าย (ก)–(ค) บัญชีดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและบริการบางประเภทที่เกี่ยวโยงกับการประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรม หัตถกรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ฯลฯ โดยความแตกต่างระหว่างบัญชีแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามอยู่เดิมจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย และ วิธีการและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวรายใหม่จะสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามเหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือ บัญชี (ค) นั้นห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทโดยไม่ระบุสาขา ข้อจำกัดดังกล่าวยังคงปรากฏอยูในบัญชี 3 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้ในข้อ 3 ของประกาศฯ ว่า หมายถึง “ นิติบุคคล ซึ่งทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว “ ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้สอบสวน บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ บริษัท เอบีบี อาเซีย อาบราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 49 และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน เอเซีย อาบราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยอีกร้อยละ 49 อีกชั้นหนึ่งทำให้มีสัดส่วนของทุนรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 74 เกินกว่ากึ่งหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวเนื่องจากทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ[1]

สืบเนื่องจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีของบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลไทยในหลายลำดับชั้นของการถือหุ้นและพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่มีสัญชาติเป็นคนต่างด้าวหากนับรวมการถือหุ้นทางอ้อมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต่างด้าวมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าหากมีการตีความคำจำกัดความของคำว่า “ทุน” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 โดยให้ยกเลิกบทนิยามของคำว่า `คนต่างด้าว’ ในข้อ 3(1) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คนต่างด้าว” หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น’ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ ชั้นเดียวโดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นคนไทยกับต่างชาติที่ร้อยละ 49:51 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้กลับไปเหมือนกับนิยามที่กำหนดใน ปว. 281 ย่อมหมายถึงการปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศดังเช่นนโยบายของคณะปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขนิยามของคนต่างด้าว และคงจะยิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ นิยามของคนต่างด้าวในต่างประเทศมีความรัดกุมกว่าประเทศไทย หากแต่ประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าวเพียงไม่กี่สาขา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุก “สาขาบริการ” ในขณะที่ประเทศอื่นมักจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในสาขาบริการหลักๆ เช่น การธนาคาร การขนส่ง การสื่อสาร เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า จีน เวียดนาม กลับมีข้อกำหนดสัดส่วนทุนต่างชาติ “ขั้นต่ำ” ไม่ใช่ “ขั้นสูง” เพราะเขาต้องการดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ หากแต่มีการกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าไทย ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 20 และมีนิยามของคนต่างด้าวที่ค่อนข้างรัดกุม หากแต่กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Federal Communication Commission หรือ FCC) สามารถอนุญาตให้บริษัทต่างชาติประกอบกิจการได้หากเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งต่างจากในกรณีของกฎหมายไทยที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาบางแห่งยังมีการร่างประกาศที่จะทำให้นิยามของคนต่างด้าวสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนมีความเข้มขึ้นเพื่อที่ป้องกันมิให้บริษัทต่างชาติเข้ามา “ฮุบ’ บริษัทไทย หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าหากต่างชาติที่ให้บริการแก่ประชาชนคนไทยอยู่นั้นต้องถอนทุนไปทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดแล้ว คนไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ครั้นจะหันไปพึ่งพากฎหมายป้องกันการผูกขาดของเราก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 12 ปี

ผู้เขียนมองไม่เห็นว่า การห้ามธุรกิจต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทแบบครอบจักรวาลที่เป็นอยู่นั้นเป็นผลดีอย่างไรต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทย เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราห้ามเปรอะไปหมดทำให้เราก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะมีธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากในหลากหลายสาขา รวมถึงบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงจำนวนมากแถวพัทยาที่เป็นของคนต่างด้าวที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนแบบ “ปากว่า ตาขยิบ” ของไทย คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยบางกลุ่มที่พอใจที่จะเห็นคู่แข่งต่างชาติถูกกีดกันในการประกอบธุรกิจ และพร้อมที่จะงัดกฎหมายนี้ออกมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางธุรกิจกับคู่แข่งที่มีหุ้นส่วนต่างชาติ เพราะหากปราศจากการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายอำนาจทางธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดภายในประเทศได้ง่ายดายขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะทบทวนบัญชี 3 ของกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ“ธุรกิจไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน” หากภาคบริการของไทยยังคงไม่พร้อมที่จะแข่งขันหลังจากเวลาเนิ่นนานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีนับจากที่มี ปว. 281 ในปี พ.ศ. 2515 เราก็คงต้องเลิกพูดกันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะภาคบริการจะเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำให้เราล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

ผู้เขียนเห็นว่า บัญชีสามควรให้การคุ้มครองแก่ ธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเท่านั้น มิใช่ส่งเสริมให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางตลาดสูงเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมและผู้บริโภคไทย จากการผูกขาดตลาด ประเทศไทยจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ หากนโยบายของภาครัฐยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคบริการที่สำคัญของประเทศ

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความกล้าหาญที่จะเข้ามารื้อกฎหมายฉบับนี้เพื่อปฏิรูปให้ภาคบริการของประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับภาคการผลิตของเราที่เติบโตแข็งแกร่งจากทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และจากแรงกดดันของการแข่งขันจากทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายที่กีดกันคู่แข่งจากต่างชาติแต่อย่างใด.

——————————————————————————–

[1] บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เลขเสร็จ 332/2535) เรื่อง ความหมายของคนต่างด้าว ตามข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ 2515 (กรณีบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด)

View :1527

นโยบายการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ใครควรเป็นผู้กำหนด?

July 28th, 2011 No comments

By

ในการประชุมของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () รักษาการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ () เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ…. โดยให้มีการเพิ่มเติมข้อความในส่วนของการเกริ่นนำของร่างประกาศว่าเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มิใช่เป็นการเร่งรัดดำเนินการในห้วงระยะเวลาปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เขียนยิ่งมีข้อสงสัยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเร่งรัดของ รักษาการ กสทช. ชุดนี้ก่อนที่จะหมดวาระในเวลาเพียงอีกเดือนกว่าๆ หรือไม่

ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนดังเช่นของ กรณี พ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ (สืบเนื่องจากการที่บริษัท True Move ขอให้มีการตรวจสอบว่าบริษัท เป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่) หากแต่จะเป็น กฏ กติกาที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เนื่องจากประกาศดังกล่าวได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวจากอำนาจในการควบคุมบริษัท (corporate control) โดยพิจารณาจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น สิทธิในการออกเสียง แหล่งที่มาของเงินทุน การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาบริหาร การโอนราคา ฯลฯ ในการรับฟังความคิดเห็นนั้น (ซึ่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ลงในเว็บไซต์ ต้องขอ) ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมากกว่า 1 รายได้ทักท้วงว่า นิยามของคำว่า ”อำนาจในการควบคุม” ในร่างประกาศฯ ดังกล่าวกว้างเกินไป ชี้วัดได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการตีความ นอกจากนั้นแล้ว การประเมินว่าคนต่างด้าวมีอำนาจในการควบคุมเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของอำนาจการควบคุมโดยรวมของกิจการนั้นยิ่งไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎ กติการในการกำกับดูแลธุรกิจที่มีความคลุมเครือและให้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวางแก่หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้ ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นในประเทศไทยนั้น เป็นปัจจัยที่ทำลายภาคธุรกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนต้องเสียเวลาและเงินตราในการวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจเพื่อให้มีการตีความที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือเป็นโทษต่อคู่แข่งมากกว่าที่จะใช้เวลาในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ข้อ 3 ของร่างประกาศดังกล่าวระบุไว้ว่า “ … คณะกรรมการอาจพิจารณายกเว้นการบังคับใช้ประกาศนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน แก่การครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทั่วในทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหมาะสมเป็นรายกรณีไป” กสท. ได้ท้วงติงว่าข้อความนี้ให้อำนาจแห่งดุลยพินิจแก่หน่วยงานกำกับดูแลโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส แต่การชี้แจงของสำนักงาน กสทช. เพียงระบุว่า “ผู้ประกอบการที่ดำเนินการแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางธุรกิจ ซึ่งก็เป็นหลักที่ยอมรับได้อย่างเป็นสากลและมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด” ผู้เขียนอาจไม่ฉลาดพอ เพราะต้องยอมรับว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าที่ สำนักงาน กสทช. กล่าวมาได้ตอบข้อข้องใจของ กสท. อย่างไร

ในลักษณะเดียวกัน DTAC ก็ได้หยิบยกประเด็นว่า หากการครอบงำอำนาจในการควบคุมบริษัทของคนต่างด้าวนั้นเป็นไปโดยถูกกฎหมาย (ไม่มีนอมินี) และเกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้นไทยที่อาจขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมจึงไว้วางใจให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเป็นผู้บริการจัดการก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่เสียหาย ทั้งนี้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่ได้ห้ามต่างชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในบริษัทไทยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม นิยามของคนต่างด้าวในกฎหมายดังกล่าวที่จงใจดูการถือหุ้นชั้นเดียวในการกำหนดสัญชาติของบริษัทนั้นสะท้อนชัดเจนว่ากฎหมายต้องการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นผู้ควบคุมนิติบุคคลไทยได้โดยการถือหุ้นทางอ้อมเพียงแต่ในการถือหุ้นในแต่ละลำดับชั้นนั้น ผู้ถือหุ้นข้างมากต้องเป็นคนไทย ในประเด็นนี้ข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้บริษัทควรที่จะมีอิสระในการกำหนดโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทเอง แต่ในบางบริษัท “กรรมการมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ถือหุ้นเป็นพิเศษจนไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทแต่เลือกที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแทน” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่หรืออำนาจที่จะมาตัดสินใจว่ากรรมการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่หรือ และ ผลประโยชน์ของบริษัทมิใช่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือ ? แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า ประกาศฯ ดังกล่าวมีความจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย

เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านเศรษฐกิจที่พิจารณาเรื่องการประมูลคลื่น ได้ตั้งคำถามเดียวกันว่า กทช. มีแนวนโยบายและเหตุผลอย่างไรในการนำเสนอร่างประกาศซึ่งเป็นการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ในช่วงเวลาที่ กทช. ต้องการจะชักจูงให้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลคลื่น 3 G จากการทำ Road show ในหลายประเทศ

อนึ่ง ข้อ 5 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล พ.ศ. 2549 กำหนดให้ กทช. ต้องดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ในกรณีที่มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจควบคุม หรือกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ผู้ประกอบการแต่ละราย ตลอดจนผลดีผลเสียต่อผู้บริโภคคนไทย ผู้เขียนได้พยายามติดต่อ สำนักงาน กสทช. เป็นเวลาเกือบ 2 วันเพื่อที่จะได้มาซึ่งรายงานดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากมีการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างเจ้าหน้าที่หลายส่วนโดยอ้างว่า ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่อยู่ไปประชุม ทั้งๆ ที่ระเบียบข้อ 5 ดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า การเสนอร่างประกาศฯ ต่อคณะกรรมการฯ ต้องแนบรายงานการประเมินผลกระทบไปด้วยทุกครั้ง เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้มีบุคคลคนเดียวที่รับผิดชอบหรือรับรู้หรือ ? ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รายงานดังกล่าวจะต้องปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลโดยไม่ต้องร้องขอ (และไม่ได้) เช่นนี้

ผู้เขียนคิดว่า แม้ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบของ สำนักงาน กสทช. และตามกฎหมายแล้ว แต่ กสทช. ยังไม่สามารถชี้แจงประเด็นหรือปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของประกาศฯ เพื่อคลายข้อกังวลต่างๆ ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบของร่างประกาศฯ ดังกล่าวต่อสภาพการแข่งขันในตลาดและต่อเศรษฐกิจไทยตามที่กำหนดในระเบียบของ สำนักงาน กสทช. เอง ทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการในการออกประกาศฯ ดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดข้อครหาว่าเป็นการเร่งรัดเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น

สุดท้าย ผู้เขียนมีความเห็นว่า การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นประเด็นทางนโยบายที่มีความสำคัญระดับประเทศมิใช่เป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาจะเข้ามาใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจโดยไร้หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ชัดเจน โปร่งใส และปราศจากข้อมูลและหลักฐานของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ได้เวลาหรือยังที่ธุรกิจและประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการรับรู้ที่มาที่ไปของกฎ ระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ?

View :1434