Archive

Archive for August, 2012

เอ็มเทค สวทช. พัฒนาหัวพ่นทราย จากวัสดุเซรามิกส์ขั้นสูง ป้อนอุตสาหกรรม

August 21st, 2012 No comments


การผลิตในประเทศ สำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ , โลหะ , และกระจก ทดแทนการนำเข้าจาก อเมริกา , ญี่ปุ่น , จีน กว่า 48 ล้านบาทต่อปี

ศูนย์ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ () สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ () กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา ผลิตหัวพ่นทรายจากวัสดุเซ รามิกส์ขั้นสูง (อลูมินาเซรามิกส์) พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิต หัวพ่นทรายอลูมินาเซรา มิกส์ในระดับอุตสาหกรรม ให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มพร็อฟ เพื่อผลิตจำหน่ายในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าและเพื่อหวังลดต้นทุนการผลิต ให้กับ ผู้ประกอบการไทย

รศ.ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า หัวพ่นทราย เป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในเครื่องพ่นทรายสำหรับขัดผิววัสดุเพื่อทำความ สะอาดและตกแต่งให้เกิดความสวยงามที่ผิวของวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นการลอกสี ขัดสนิม กัดผิว ขจัดคราบเขม่า เกล็ดผิว ตลอดจนการเตรียมพื้นสำหรับชั้นเคลือบต่างๆ ซึ่งการใช้งานหัวพ่นทรายส่วนใหญ่จะใช้ในโรงงานโลหะและกระจก เช่น โรงงานผลิต ล้อแม็กซ์ โรงงานผลิตแม่พิมพ์โลหะ และโรงงานแกะสลักลวดลายกระจก เป็นต้น หัวพ่นทรายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีหลายแบบด้วยกัน แบ่งตามประเภทของวัสดุได้ 2 ชนิดคือ หัวพ่นทรายที่ทำจากเซรามิกส์ และหัวพ่นทรายที่ทำจากโลหะ แต่อายุการใช้งานของหัวโลหะจะน้อยกว่าหัวแบบเซรามิกส์ ซึ่งหัวพ่นทรายเซรามิกส์ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ หัวพ่นทรายที่ทำจากวัสดุเซรามิกส์ขั้นสูง หรือที่เรียกว่า อลูมินาเซรามิกส์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความ แข็งแรงสูง ทนต่อการสึกหรอเหมาะกับการใช้งาน ส่วนใหญ่ ประเทศไทยมักคุ้นเคยกับเซรามิกส์ที่เป็น เซรามิกส์ขั้นพื้นฐาน เช่น ถ้วยชามต่างๆ แต่ ในส่วนของหัวพ่นทรายที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนี้ เป็นวัสดุเซรามิกส์ ใน กลุ่มของอลูมินา ซึ่งในด้านการวิจัยและพัฒนานั้น เราจะใช้ผงอลูมินาผสมกับสารเติมแต่ง และพัฒนาคิดค้นวิธีที่จะทำให้อลูมินานั้นมีสมบัติและขนาดเม็ดผงตามที่เรา ต้องการ
จาก นั้นก็เข้าสู่กระบวนการอัดขึ้นรูปให้ได้หัวพ่นทรายตามขนาดของ เครื่องพ่นที่มีการใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว ในปัจจุบัน ซึ่งปริมาณความต้องการใช้งานหัวพ่นทรายอลูมินาเซรามิกส์ภายในประเทศ เฉลี่ยประมาณ 2,000-5,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 4,000,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยทั้งสิ้น และจากการสำรวจตลาดพบว่า เป็นหัวพ่นทรายที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น,ประเทศจีน,และประเทศสหรัฐ อเมริกา

รศ.ดร. วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า และจากผลการทดสอบหัวพ่นทรายอลูมินาเซรามิกส์ที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ มีคุณสมบัติและ คุณภาพในด้านการสึกหรอใกล้เคียงกับหัวพ่นทรายที่นำเข้าจากประเทศ ญี่ปุ่น ซึ่งถือได้ว่า มีอายุการใช้งานที่มากพอกับความต้องการของผู้ใช้งานในประเทศ เอ็มเทค จึงได้พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่ม กำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้งาน โดยร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มพร็อฟ เพื่อผลิตและ จำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมผู้ใช้งานภายในประเทศ ดังกล่าว จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างและการสาธิตกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหัวพ่นทรายอลูมิ นา เซรามิกส์ในระดับ อุตสาหกรรมให้มีปริมาณของเสียน้อยกว่า 10 % และด้วยความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนา หัวพ่นทรายอลูมินาเซรา มิกส์ พร้อมกับความร่วมมือกันกับภาคอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตในการลดต้นทุน ซึ่งไม่ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลกำไรที่มากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ใช้งานและผู้จำหน่าย ก็จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ทัดเทียมกับต่างประเทศ และมีราคาไม่สูงมากนัก ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ­­ที่สนใจจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอนาคตอีกด้วย

View :2380

ทรูออนไลน์ ปักหลักเบอร์ 1 ผู้นำบรอดแบรนด์ ประกาศเดินหน้าลุยขยายตลาดสู่มากกว่า 50 จ.ว.ทั่วประเทศ

August 21st, 2012 No comments

ปักหลักเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อันดับ 1 ของประเทศ เผยความสำเร็จครึ่งปีแรก 2555 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการขยายบริการอัลตร้าไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต ผ่านเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 ในตลาดต่างจังหวัด ส่งผลให้จำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 130,000 ราย รวมเป็น 1.47 ล้านราย ทั้งเพิ่มรายได้ธุรกิจบริการบรอดแบนด์ ทรูออนไลน์เป็นประมาณ 6 พันล้านบาท โดยการเติบโตหลักมาจากการขยายตัวของลูกค้าบ้านและบริการ WiFi ซึ่งมีอัตราเติบโตสูงถึง 20.5% เทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งทรูออนไลน์ยังได้รับเลือกให้เป็นแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในระดับสูงสุดของประเภทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2012 โดยได้รับรางวัล Platinum Award จากนิตยสาร “รีดเดอร์ไดเจสท์” พร้อมประกาศรุกเดินหน้าบริการบรอดแบนด์ครอบคลุมมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศภายในสิ้นปี เน้นการทำตลาดแบบทริปเปิ้ลเพลย์ด้วยข้อเสนอแบบคอนเวอร์เจนซ์ และเตรียมทัพบริการเสริมเพิ่มคุณค่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายเจริญ ลิ่มกังวาฬมงคล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ ทรูออนไลน์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ด้วยความสำเร็จของการดำเนินงานของทรูออนไลน์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 ที่สามารถเติบโตทั้งฐานลูกค้าและรายได้ อันเป็นผลจากการขยายบริการอัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ตผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 ในตลาดต่างจังหวัดเป็นปัจจัยสำคัญ ทรูออนไลน์ จึงสานต่อกลยุทธ์รุกขยายโครงข่ายและการให้บริการอัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต จากทรูออนไลน์ ในต่างจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยภายในสิ้นปีนี้จะให้บริการบรอดแบนด์ครอบคลุมมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแนวทางการขยายตลาดของทรูออนไลน์ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะเป็นไปในรูปแบบ Triple Play ข้อเสนอแบบคอนเวอร์เจนซ์ที่แตกต่างเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ โดยจะรวมความคุ้มค่าจาก 3 บริการของกลุ่มทรู คือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต จากทรูออนไลน์ เคเบิ้ลทีวี-จากทรูวิชั่นส์ และโทรศัพท์บ้านแบบไม่มีรายเดือน ซึ่งมั่นใจว่าไม่มีผู้ให้บริการรายใด ที่สามารถให้บริการในลักษณะเดียวกันได้

นอกจากนี้ ยังจะเดินหน้ายกระดับคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพโครงข่ายหรือบริการหลังการขาย รวมถึงการสรรหาบริการเสริมพร้อมสิทธิพิเศษให้มากยิ่งขึ้น โดยบริการเสริมจากทรูออนไลน์ จะมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้า อัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต จากทรูออนไลน์ ให้เต็มประสิทธิภาพ และเติมเต็มชีวิตรอบด้านให้ได้รับความสะดวกสบาย ในขณะเดียวกัน ทรูออนไลน์ ยังได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้าน CSR สนับสนุนการเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยกำหนดที่จะมอบอัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต ความเร็ว 50 Mbps ให้แก่โรงเรียนในทุกจังหวัดที่ทรูออนไลน์ขยายโครงข่าย DOCSIS 3.0 ไปถึง รวมทั้งการเดินหน้าให้ความร่วมมือกับภาครัฐเปิดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ICT WiFi และการร่วมมือกับเทศบาลเมือง และเทศบาลนครต่างๆ ในการให้บริการ Free WiFi เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ข่าวสาร ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น

นายนนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป สายงานบริการบรอดแบนด์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า น่ายินดีที่จากผลสำรวจของส่วนงานศูนย์ข้อมูลและวิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคม สำนักพัฒนานโยบายและกฎกติกา สำนักงาน กสทช. รายงานว่า อัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต จากทรูออนไลน์ มีส่วนแบ่งด้านการตลาดบรอดแบนด์เป็นอันดับ 1 ของประเทศด้วยสัดส่วน 43.5 % สอดคล้องกับการเติบโตทั้งจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รายใหม่ในครึ่งปีแรกที่มีลูกค้าเพิ่มมากกว่า 130,000 ราย ทำให้ในปัจจุบันมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.47 ล้านราย ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าใหม่สุทธิที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2555 มีการเติบโตสูงขึ้นถึง 65% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมี ARPU หรือรายได้เฉลี่ยของผู้ใช้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน เพิ่มสูงขึ้นถึง 709 บาทต่อเดือน ซึ่งการเติบโตรักษาความเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์ของทรูออนไลน์ เป็นผลจากการไม่หยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมบริการ โดยเฉพาะเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 ที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

การเติบโตที่ผ่านมาในครึ่งปีแรกนั้น เป็นผลจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการทำตลาดแบบ Localized Marketing ที่ประยุกต์แผนการตลาดและโปรโมชั่นให้เข้ากับตลาดต่างจังหวัดแต่ละท้องถิ่นที่ขยายบริการครอบคลุมไปมากกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับลูกค้าเดิม อาทิ การดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุทกภัย ซึ่งสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี และยังส่งผลให้ อัลตร้า ไฮ-สปีด อินเทอร์เน็ต จากทรูออนไลน์ ได้รับความไว้วางใจในคุณภาพและการให้บริการ ทั้งนี้ นิตยสาร “รีดเดอร์ไดเจสท์” ได้มอบรางวัล Platinum Award ในหมวดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2012 ให้แก่ทรูออนไลน์ ในฐานะแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นระดับสูงสุด และเป็นผู้นำนวัตกรรมโครงข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยได้รับคะแนนจากการสำรวจความเห็นจากผู้บริโภคในสังคม นับเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่ทรูออนไลน์ ภาคภูมิใจ อันจะเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาธุรกิจและบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

“ทรูออนไลน์จะยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการบรอดแบนด์ทั้งแบบมีสายและไร้สายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบ สนองไลฟ์สไตล์คนทุกกลุ่ม ให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทัดเทียมกัน และที่สำคัญคือเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ” นายเจริญ กล่าวสรุป

View :1394

นิยมพานิช มั่นใจสตอเรจเซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็ม ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ “สินค้าดี บริการเป็นเลิศ”

August 21st, 2012 No comments

ศูนย์จำหน่ายรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มั่นใจเลือกใช้เซิร์ฟเวอร์ไอบีเอ็มเพาเวอร์ซิสเต็มส์ และสตอเรจไอบีเอ็มสตอร์ไวซ์ วี 7000 เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ รองรับการขยายสาขาและแผนกระตุ้นการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยสร้างรายได้ขยายตัว 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นายภาณุพงศ์ ศักดาทร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิยมพานิช จำกัด ซึ่งขณะนี้มีฐานการดำเนินธุรกิจอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ได้ลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจและเพิ่มจำนวนสาขาและร้านตัวแทนต่างอำเภอจากทั้งหมด 82 แห่ง เป็น 94 แห่ง โดยความต้องการเร่งด่วนที่สุด คือ สตอเรจเซิร์ฟเวอร์ที่ให้ความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการประมวลผลมากขึ้น ช่วยให้เห็นข้อมูลแบบ real-time มีความเสถียรมากขึ้น รวมทั้งต้องประหยัดไฟและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

“จากการที่บริษัทฯ ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของไอบีเอ็มมานาน 8 ปี รู้สึกประทับใจและไว้วางใจในประสบการณ์บวกความเชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม จึงตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีไอบีเอ็มพาวเวอร์ซิสเต็มส์ มาช่วยรันข้อมูล และใช้ไอบีเอ็มสตอร์ไวซ์ วี 7000 เป็นสตอเรจเซิร์ฟเวอร์ ทำให้การประมวลผลระบบ SAP ที่เก็บข้อมูลในการขาย ระบบบัญชีและการจัดสต็อก รวมถึงการขาย (Sales Record) มีความคล่องตัวขึ้น สามารถตัดและเช็คสต็อกได้แบบ real-time ทำให้ทราบรายละเอียดสินค้าในปัจจุบัน ว่ามีตัวไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ สถานะเป็นอย่างไร ซึ่งส่งผลให้สามารถตัดสินใจบนฐานข้อมูลมีที่อยู่จริง ง่ายต่อการวางแผนการขาย คิดแคมเปญ และการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มในคลังสินค้า นอกจากนี้ ไอบีเอ็มสตอร์ไวซ์ วี 7000 ยังสามารถเรียกใช้หรือสำรองข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม ทำให้การจัดเก็บข้อมูลไม่เกิดความซ้ำซ้อน รวมถึง เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดไฟ ตอบโจทย์ของบริษัทฯด้านการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายภาณุพงศ์ กล่าว

นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยีชั้นนำเข้าเสริมความล้ำหน้าแก่ระบบไอทีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสานต่อความเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของนิยมพานิช ความสำเร็จนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็มที่ต้องการสร้างพันธมิตรและส่งเสริมให้ธุรกิจในภูมิภาคก้าวสู่ความเป็น Smart Business ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นยอด ประกอบกับการให้บริการที่เป็นเลิศ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ซึ่งทั้งไอบีเอ็มพาวเวอร์ซิสเต็มส์ และไอบีเอ็มสตอร์ไวซ์ วี 7000 ล้วนตอบโจทย์ขององค์กรยุคใหม่ที่มีภาระและความท้าทายในการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลในปัจจุบัน”

ไอบีเอ็มสตอร์ไวซ์ วี7000 เป็นสตอเรจที่มีสมรรถนะสูง มีระบบการใช้งานที่ง่าย ช่วยให้องค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ สำรองข้อมูลและผลิตภาพด้านการบริหารจัดการ ด้วยซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งานอย่างครบครัน รวดเร็ว ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของดิสก์ซิสเต็มขนาดกลาง (midrange) ที่ให้ความคุ้มค่าสูงสุด

ไอบีเอ็มพาวเวอร์ซิสเต็มส์ เป็นเซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้ธุรกิจบริหารจัดการซึ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์รุ่นล่าสุดจากไอบีเอ็มที่โดดเด่นในด้านสมรรถนะการประมวลผล และสามารถบริหารจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์และทรัพยากรเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว

View :1286

ไซแมนเทคเผยผลสำรวจ ชี้ องค์กรธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายข้อมูลดิจิตอลสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์

August 20th, 2012 No comments

ไซแมนเทค คอร์ป (Nasdaq: SYMC) เปิดเผยว่า องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของข้อมูลมากถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี ตามผลการสำรวจสถานะของข้อมูล (State of Information Survey) ฉบับแรก ตั้งแต่ข้อมูลลับของลูกค้า ไปจนถึงทรัพย์สินทางปัญญา ธุรกรรมทางการเงิน แต่ละองค์กรต้องบริหารจัดการดูแลข้อมูลจำนวนมหาศาล นอกจากจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในระยะยาวอีกด้วย ที่จริงแล้ว ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าข้อมูลดิจิตอลคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทั้งหมดขององค์กร

ผลการศึกษานี้อ้างอิงการตอบแบบสอบถาม 4,506 ชุดใน 38 ประเทศ รวมถึงแบบสอบถาม 100 ชุดจากประเทศไทย ผลการสำรวจนี้เปิดเผยว่าในประเทศไทย ราว 50 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าขององค์กรมาจากข้อมูลที่องค์กรนั้นๆ มีอยู่

“ข้อมูลนับว่ามีมูลค่าทางการเงินสำหรับองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ผลิตข้อมูลจำนวนมหาศาล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และปรับปรุงประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลดังกล่าวก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรได้เช่นกันหากไม่ได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน บริษัทต่างๆ จึงต้องมองหาหนทางใหม่ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับการปกป้องข้อมูลและปรับปรุงศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน” คุณประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของไซแมนเทค กล่าว
คลิกเพื่อส่งข้อความทวีต: องค์กรธุรกิจแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับข้อมูลดิจิตอลสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการดำเนินการที่คุ้มค่าแล้วหรือ? http://bit.ly/LjaIvn

ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีราคาแพง
องค์กรธุรกิจทุกขนาดต้องบริหารจัดการดูแลข้อมูลจำนวนมหาศาล โดยข้อมูลทั้งหมดที่องค์กรธุรกิจต้องจัดเก็บในปัจจุบันมีปริมาณสูงถึง 2.2 เซตตาไบต์ และโดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มบี) มีข้อมูลราว 563 เทราไบต์ เปรียบเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีข้อมูลโดยเฉลี่ย 100,000 เทราไบต์ นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังเปิดเผยว่าข้อมูลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 67 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีหน้าสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ และเพิ่มขึ้น 178 เปอร์เซ็นต์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มบี

โดยเฉลี่ยแล้ว องค์กรขนาดใหญ่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับข้อมูล 38 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มบีเสียค่าใช้จ่าย 332,000 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายต่อปีสำหรับพนักงานแต่ละคนในธุรกิจเอสเอ็มบีอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาก คือ 3,670 ดอลลาร์ เปรียบเทียบกับ 3,297 ดอลลาร์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงาน 50 คนเสียค่าใช้จ่าย 183,500 ดอลลาร์ในการจัดการข้อมูล ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 2,500 คนเสียค่าใช้จ่าย 8.2 ล้านดอลลาร์

ผลกระทบทางธุรกิจจากข้อมูลที่สูญหาย
หากข้อมูลธุรกิจสูญหาย ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง “ธุรกิจของบริษัทจะต้องหยุดชะงักชั่วคราวอย่างน้อยสองปี ก่อนที่จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง” ผู้จัดการฝ่ายไอทีในบริษัทวิศวกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เมื่อถูกถามถึงผลกระทบที่ได้รับจากการสูญเสียข้อมูลขององค์กร นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังเน้นย้ำถึงผลกระทบทางธุรกิจมากมายที่เกิดจากปัญหาข้อมูลสูญหาย เช่น สูญเสียลูกค้า (49 เปอร์เซ็นต์), ชื่อเสียงและแบรนด์ได้รับความเสียหาย (47 เปอร์เซ็นต์), รายได้ลดลง (41 เปอร์เซ็นต์), ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (39 เปอร์เซ็นต์) และราคาหุ้นดิ่งลง (20 เปอร์เซ็นต์)

มาตรการป้องกันไม่เพียงพอ
เนื่องจากระดับความเสี่ยงที่สูงมาก ดังนั้นการปกป้องข้อมูลจึงนับเป็นภารกิจที่สำคัญสูงสุด แต่องค์กรธุรกิจต่างๆ ยังคงประสบปัญหาในการดำเนินการเรื่องนี้ เมื่อปีที่แล้ว 69 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจประสบปัญหาข้อมูลสูญหายในหลากหลายลักษณะด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ข้อผิดพลาดของบุคลากร อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หยุดทำงาน มีการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัย หรืออุปกรณ์สูญหายหรือถูกโจรกรรม นอกจากนี้ 69 เปอร์เซ็นต์พบเจอปัญหาข้อมูลลับถูกเปิดเผยสู่ภายนอกองค์กร และ 31 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล อีกหนึ่งปัญหาท้าทายที่สำคัญก็คือ องค์กรธุรกิจจัดเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วข้อมูล 42 เปอร์เซ็นต์เป็นข้อมูลซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่สตอเรจอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยมีสัดส่วนการใช้งานเพียงแค่ 31 เปอร์เซ็นต์ภายในไฟร์วอลล์ และ 18 เปอร์เซ็นต์ภายนอกไฟร์วอลล์

ความเสี่ยงและความไร้ประสิทธิภาพทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการที่องค์กรธุรกิจเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็นสำหรับการจัดเก็บและปกป้องข้อมูล ประเด็นปัญหาสำคัญที่ระบุโดย 30 เปอร์เซ็นต์ขององค์กรธุรกิจก็คือ การขยายของข้อมูล กล่าวคือ ข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไร้ระเบียบ เข้าถึงได้ยาก และมีข้อมูลซ้ำซ้อนมากมาย

องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่ข้อมูลอย่างจริงจัง
เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจปกป้องข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไซแมนเทคเสนอคำแนะนำดังต่อไปนี้:
• มุ่งเน้นข้อมูล ไม่ใช่อุปกรณ์หรือดาต้าเซ็นเตอร์: ด้วยแนวทางในการนำเอาอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ในที่ทำงาน (BYOD) และเทคโนโลยีคลาวด์ ข้อมูลไม่ได้อยู่ภายในอาณาเขตของบริษัทอีกต่อไป ดังนั้นมาตรการปกป้อง จึงต้องมุ่งเน้นที่ข้อมูลเป็นหลัก ไม่ใช่ที่อุปกรณ์หรือดาต้าเซ้นเตอร์
• ข้อมูลไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกันทั้งหมด: องค์กรธุรกิจจะต้องสามารถแยกข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ออกจากข้อมูลธุรกิจที่มีค่า และปกป้องข้อมูลดังกล่าวอย่างเหมาะสม
• ปรับปรุงประสิทธิภาพ: การขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (Deduplication) และการจัดเก็บข้อมูลระยะยาว (Archiving) ช่วยให้บริษัทปกป้องข้อมูลได้มากขึ้น แต่จัดเก็บข้อมูลในปริมาณที่น้อยลง เพื่อก้าวให้ทันกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
• ความสม่ำเสมอคือสิ่งสำคัญ: จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดนโยบายที่สม่ำเสมอสำหรับข้อมูล เพื่อบังคับใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าข้อมูลจะเก็บไว้ที่ใด เช่น ในอุปกรณ์ทางกายภาพ ระบบเวอร์ช่วล และระบบคลาวด์
• รักษาความคล่องตัว: วางแผนสำหรับความต้องการใช้งานข้อมูลในอนาคต โดยปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

View :1275

ก.ไอซีที เปิดศูนย์บริการด้าน ICT สำหรับคนพิการ

August 20th, 2012 No comments

นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ พัฒนาการบริการสุขภาพอนามัย ให้การสงเคราะห์ จัดการศึกษา จัดสวัสดิการ รวมถึงการประกอบอาชีพให้แก่คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม โดยจัดให้มีการคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการอันเป็นสาธารณะ ในการเข้าถึงอาคารสถานที่ ข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ภายใต้กฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 20 (6) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ยังระบุให้กระทรวงไอซีที ต้องจัดให้มีการให้หรือให้ยืมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพี่อการสื่อสารแก่คนพิการ ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร โดยให้บริการทั้งการให้ การให้ยืม อุปกรณ์ เครื่องมือ และโปรแกรมที่ใช้กับคนพิการ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงมีห้องฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้กับคนพิการ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล ผู้ดูแล และผู้ช่วยคนพิการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันจะส่งผลให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินงานตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 นั้น ได้กำหนดสาระสำคัญที่จะต้องดำเนินการเอาไว้คือ 1.หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ต้องจัดข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการสื่อสาธารณะ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

2.จัดให้มีบริการให้ยืม – การให้อุปกรณ์และเครื่องมือด้าน ICT แก่คนพิการ โดยคนพิการสามารถยื่นคำขอต่อหน่วยงานได้ทั้งในส่วนกลาง และท้องถิ่น ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนในเขตท้องที่จังหวัดอื่นให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานสถิติจังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 3.ส่งเสริม พัฒนาและฝึกอบรมให้กับคนพิการ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล ผู้ดูแลคนพิการ เพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการสื่อสาธารณะ

ส่วนการจัดตั้งศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจภายใต้กฎกระทรวง คือ 1.เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการ พร้อมทั้งเป็นศูนย์สาธิตการใช้งานอุปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้กับคนพิการทุกประเภท และ 2.เป็นสถานที่ดำเนินการฝึกอบรมความรู้ด้าน ICT ให้กับคนพิการทุกประเภท

สำหรับศูนย์ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ นี้ ตั้งอยู่ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้น 7 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร บี) ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยเปิดให้บริการในเวลาราชการตั้งแต่ 8.30 น. – 16.30 น. ระหว่างวันจันทร์ – วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0-2141-7038

View :1306

ก.ไอซีที จัดอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และอบรมความรู้ด้าน ICT แก่ผู้ด้อยโอกาส

August 17th, 2012 No comments

นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นกิจกรรมอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้และอบรมความรู้ด้าน ICT สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ว่า กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาให้ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสสามารถนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศตามนโยบายและวิสัยทัศน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ว่า “ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand)”

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐที่มีพันธกิจเป็นผู้รักษาการตาม กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 จึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการตามกฎกระทรวงดังกล่าว โดยเฉพาะกฎกระทรวงข้อ 14 ที่กำหนดให้กระทรวงฯ ต้องจัดให้คนพิการ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล ผู้ดูแลคนพิการ หรือผู้ช่วยคนพิการ ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร หรือบริการสื่อสาธารณะ อย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้าน นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้จัด “กิจกรรมอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และอบรมความรู้ด้าน ICT สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส” เพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พัฒนาเว็บไซต์ และกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยในส่วนการจัดอบรมผู้พัฒนาเว็บไซต์จากหน่วยงานภาครัฐนั้น เป็นการพัฒนาศักยภาพให้สามารถปรับปรุงเว็บไซต์ของหน่วยงานเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือ เว็บไซต์ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งคนที่มีร่างกายปกติและคนพิการ

ส่วนการอบรมผู้ใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสนั้น เป็นการอบรมให้กลุ่มดังกล่าวสามารถนำ ICT มาใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาตนเองและสามารถนำไป ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ได้ อีกทั้งเป็นการช่วยลดช่องว่างและสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสารสนเทศอีกด้วย โดยกิจกรรมฯ นี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน และได้จัดฝึกอบรมผู้พัฒนาเว็บไซต์แล้ว จำนวน 1,452 คน ผู้สูงอายุจำนวน 351 คน คนพิการและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1,550 คน และวิทยากรอาสาสมัคร จำนวน 53 คน

“และเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นกิจกรรมอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และอบรมความรู้ด้าน ICT สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนแนวความคิดต่อเนื้อหาหลักสูตรรูปแบบการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของวิทยากรแต่ละหลักสูตร จากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้ได้หลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและเทคโนโลยีปัจจุบันมากยิ่งขึ้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

View :1284

รมว.ไอซีที ร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ ๙

August 17th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ครั้งที่ 9 () ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในระหว่างวันที่ 7 – 8 สิงหาคม 2555 โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ นี้กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 – 3 ปี เพื่อผลักดันให้ 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคมีการขับเคลื่อนด้าน ICT อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและยั่งยืน

โดยในการประชุมฯ ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับเกียรติขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมภายใต้ Session ที่ 4 : Promoting Regional Economic Integration and Strengthening Cooperation in the ICT Sector ในหัวข้อ “Shaping Priority Areas for the Future ICT Cooperation” ซึ่งมีประเด็นที่ประเทศไทยได้เสนอให้กรอบความร่วมมือเอเปคด้าน ICT ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้าน ICT ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Bridging the Digital Divide) ความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cyber security) และเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ (International Cooperation)

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม TELMIN 9 ยังได้มีการพิจารณารับรองปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg Declaration) ซึ่ง ปีนี้ได้กำหนดหัวข้อหลัก (theme) ของปฏิญญาเอาไว้คือ การสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Building confidence and security in the use of ICT to promote economic growth and prosperity)

สำหรับรายละเอียดภายใต้ปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มี 5 หัวข้อ คือ 1.การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตรูปแบบใหม่ 2.การเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3.การส่งเสริมความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ 5.การเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ส่วนผลของการประชุม TELMIN 9 นั้น จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองวลาดิวอสตอก สหพันธรัฐรัสเซีย ในระหว่างวันที่ 5 – 9 กันยายน 2555 นี้ด้วย

View :1282

ไอบีเอ็มเปิดรับสมัครผู้ประกอบการหน้าใหม่ ในโครงการ สมาร์ทแคมป์ ช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจรับตลาดยุคดิจิตอล

August 17th, 2012 No comments

ไอบีเอ็มเปิดตัวโครงการ SmartCamp Kickstart ASEAN รับสมัครผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาธุรกิจร่วมลงทุนภายใต้วิสัยทัศน์ Smarter Planet ของไอบีเอ็ม กิจกรรม SmartCamp KickStart เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Global Entrepreneur Program ของไอบีเอ็ม โดยจะเปิดโอกาสให้บริษัทที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นได้พบปะพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงนักลงทุนในธุรกิจร่วมทุน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะคอยให้คำแนะนำและช่วยพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นในส่วนของผลิตภัณฑ์ บุคลากร และการส่งเสริมการขาย

โครงการ SmartCamp KickStart Singapore เปิดรับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 24 สิงหาคม 2012 และจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในวันที่ 31 สิงหาคม 2012 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถส่งใบสมัครผ่านทางเว็บไซต์ http://www.f6s.com/ibmsmartcampsingaporesept10th#programs/ajax-application บริษัทที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องนำเสนอแนวคิดธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในระหว่างการจัดงาน SmartCamp KickStart ที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 10 กันยายน 2012 ผู้ชนะในระดับภูมิภาคอาเซียนจะได้เข้าร่วมการฝึกอบรม 12 สัปดาห์ซึ่งจัดโดยไอบีเอ็ม ทั้งยังมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Asia SmartCamp ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันที่ 24 กันยายน 2012 โดยผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในระดับเอเชียที่ปักกิ่งจะได้เข้าร่วมการคัดเลือก IBM SmartCamp Global ในรอบสุดท้าย และร่วมชิงรางวัลสูงสุด ผู้ประกอบการดีเด่นแห่งปี (Entrepreneur of the Year) จากไอบีเอ็ม

ไอบีเอ็มพยายามค้นหาบริษัทหน้าใหม่ที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มอนาคตสดใสมากที่สุดทั้งในระดับโลกและระดับอาเซียน โครงการ SmartCamp ร่วมสร้างสรรค์โลกที่ฉลาดขึ้นภายใต้แนวคิด Smarter Planet และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในการทำตลาดให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ลูกค้าของไอบีเอ็มได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

ไอบีเอ็มมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และนับตั้งแต่ที่ริเริ่มโครงการ IBM Global Entrepreneur เมื่อปี 2010 ไอบีเอ็มได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งองค์กรธุรกิจใหม่ๆ กว่า 500 แห่งในอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น พลังงานสีเขียว สาธารณสุข และคมนาคมขนส่ง

ไอบีเอ็มช่วยบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่ โดยเปิดโอกาสให้เข้าถึงเครือข่ายคู่ค้าที่แข็งแกร่งของไอบีเอ็ม ซึ่งประกอบด้วยคู่ค้าและพันธมิตรกว่า 121,000 รายทั่วโลก และช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านี้เพื่อให้พร้อมสำหรับการวางจำหน่ายในตลาด ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ร่วมทำงานกับบริษัทหน้าใหม่กว่า 1,500 ราย เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

สมัครเข้าร่วมโครงการ SmartCamp ในอาเซียนได้ที่:

http://www.f6s.com/ibmsmartcampsingaporesept10th#programs/ajax-application

View :1510

ศาลยกฟ้องคดี 107 บาท คำสั่ง กทช. ชอบแล้ว ผู้บริการโทรศัพท์ไม่มีสิทธิเก็บเงินค่าเชื่อมต่อสัญญาณใหม่จากผู้บริโภค

August 16th, 2012 No comments

ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่เอไอเอสเป็นโจทย์ฟ้อง กทช. ตุลาการผู้แถลงคดีชี้การออกคำสั่งห้ามเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ภายหลังถูกระงับบริการ จำนวน 107 บาท ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว กสทช. ประวิทย์เรียกร้องผู้ให้บริการปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้อง

สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช. ได้ออกคำสั่งที่ 08/2552 เรื่อง ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการการขอเปิดใช้บริการภายหลังถูกระงับการให้บริการ จำนวน 107 บาท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศ เห็นว่าคำสั่งของ กทช. ออกโดยไม่ชอบ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นคดีดำที่ 1808/2552 ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว โดยมีคำตัดสินเป็นที่สุดว่าให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องพ้นกำหนดระยะเวลา

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้พิจารณาในส่วนเนื้อหาคดี และชี้ว่า คำสั่งของ กทช. ชอบทั้งเหตุผลและกฎหมายแล้ว

“นั่นหมายถึงว่า ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นด้วยกับ กทช. ว่า ผู้ประกอบกิจการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ส่วนศาลนั้นไม่ได้พิจารณาเนื้อหา เนื่องจากเพียงพิจารณาประเด็นแรกเรื่องเงื่อนไขการฟ้องก็ไม่ผ่านแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็หวังว่า ผู้ประกอบการจะยอมรับและทำตามกติกา เพราะก่อนหน้าที่ กทช. จะมีคำสั่งนี้ออกมา ต้องถือว่าผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินอันไม่ควรได้จากผู้บริโภคไปมากแล้ว” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนปี พ.ศ. 2552 นั้น ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์ ทั้งประเภทพื้นฐานและเคลื่อนที่ ต่างมีการเรียกเก็บค่าเปิดบริการใหม่หลังระงับบริการ หรือค่า reconnection charge จากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ทราบกันว่าเสมือนเป็นบทลงโทษสำหรับผู้บริโภคที่ชำระค่าบริการล่าช้าจนกระทั่งเกิดการระงับบริการหรือตัดสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นเมื่อนำเงินไปชำระและขอต่อสัญญาณใหม่ ก็จะมีการเรียกเก็บเงินจำนวน 100 บาท หรือบางรายเรียกเก็บถึง 200 บาท รวมภาษีมูลเพิ่มแล้วเป็นจำนวน 107 บาท และ 214 บาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ คำสั่งของ กทช. ที่ห้ามเก็บเงินดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีกรณีร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่เห็นว่า การเรียกเก็บเงินนี้เป็นการทำผิดกฎหมาย เพราะอยู่นอกกรอบค่าบริการที่ กทช. อนุญาต อีกทั้งในข้อเท็จจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปิดสัญญาณใหม่ให้ใช้บริการโทรศัพท์นั้นแทบไม่ต้นทุนใดๆ เนื่องจากเป็นการต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ กทช. ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้และออกคำสั่งห้ามดังกล่าวเป็นการทั่วไป

View :1681
Categories: Telecom Tags:

ก.ไอซีที ส่งเสริม e-Commerce ไทยก้าวไกลสู่ AEC 2015

August 16th, 2012 No comments

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “ส่งเสริม ไทยก้าวไกลสู่ ” ว่า ในปี พ.ศ.2558 หรือ ในปี ค.ศ. 2015 ทั้ง 10 ชาติอาเซียนจะมีการรวมตัวกัน ภายใต้ชื่อ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community : AEC) เพื่อสร้างตลาดรวมทั้งฐานการผลิตเดียวกัน และแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ตลอดจนสร้างอำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้า ในภูมิภาคอื่นๆ โดยได้มีการกำหนดให้แต่ละประเทศมีจุดเด่นด้านต่างๆ เช่น ประเทศพม่า มีจุดเด่นด้านสาขาเกษตรและประมง ประเทศมาเลเซีย มีจุดเด่นด้านสาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ ประเทศสิงคโปร์ มีจุดเด่นด้านสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ ส่วนประเทศไทย มีจุดเด่นด้านสาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบิน

“ประเทศไทยนั้น มีภูมิประเทศอยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆ อย่างไร ก็ตาม ไทยยังมีโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย หากมีการพัฒนาโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึง มีระบบการเงินการธนาคารที่เข้มแข็ง สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนตั้งแต่การเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และการบริการไปจนถึงการตลาด เพื่อให้เกิดการค้าขายอย่างครบวงจรเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานได้ดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่สิ่งสำคัญ คือ ผู้ประกอบการที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 38 ของจีดีพี จากจำนวนSMEs ที่มีมากถึง 2.9 ล้านราย และจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความต้องการในการเข้าถึงตลาด และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นายวรพัฒน์ กล่าว

ด้าน นางสมใจ ประเสริฐจีรังกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน e-Commerce โดยบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จากปีแรกที่ทำการสำรวจ คือ ปี พ.ศ. 2550 ที่มีมูลค่าขายรวม 305,159 ล้านบาท มาเป็น 608,587 ล้านบาท ในการสำรวจรอบปี พ.ศ. 2553 ซึ่งพบว่ามีมูลค่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 199.432 หรือประมาณ 2 เท่าตัว

ดังนั้น จึงได้มีการดำเนินการโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้มีการจัดประชุมแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลมาจัดทำเป็นแนวทางในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 5 อันดับแรก คือ 1. อุตสาหกรรมแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ 2. อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 4. อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ และ 5. อุตสาหกรรมบริการด้านการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานประชุมวิชาการโครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในหัวข้อ “ส่งเสริม e-Commerce ไทยก้าวไกลสู่ AEC 2015” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และผู้สนใจทั่วไปในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งเพื่อร่วมวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของธุรกิจ e-Commerce ไทย ในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ตลอดจนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการนำข้อมูลไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจต่อไป

View :1667