Archive

Posts Tagged ‘ก.ไอซีที’

ก.ไอซีที Road Show ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ ดึงผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมลงทุนในไทย

April 15th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้ร่วมเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นพร้อมนายกรัฐมนตรีและคณะ ระหว่างวันที่ 5 – 9 มีนาคม 2555 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ แนบแน่นทุกระดับระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ในโอกาสพิเศษครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น และสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยของรัฐบาลไทย ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ร่วมเดินทางเพื่อไป Road Show ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้ทราบถึงนโยบายด้าน ICT ของไทยหรือ SMART THAILAND ซึ่งให้สิทธิพิเศษสำหรับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงทำให้การไป Road Show ในครั้งนั้นได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

“ประเทศญี่ปุ่นได้ให้การยอมรับประเทศไทยว่า มีจุดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานและศักยภาพในการผลิตงานที่มีมาตรฐาน จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งบริษัทหลายแห่งของไทยได้ร่วมงานกับบริษัทต่างชาติทั้งในระดับฮอลลีวูด รวมทั้งบริษัทของญี่ปุ่น มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความกังวลในเรื่องระบบการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐาน และความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล จึงได้มีการชี้แจงถึงการดำเนินโครงการ SMART THAILAND ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยสำหรับปี พ.ศ. 2554 – 2563 หรือ ICT 2020 ที่มีเป้าหมายในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ในอีก 3 ปีข้างหน้า และร้อยละ 95 ภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ฝ่ายญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงด้านมัลติมีเดียของญี่ปุ่น อาทิ Bandai, TOEI เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อร่วมกันผลิตผลงานที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและส่งออกไปทั่วโลก รวมถึงยังได้เชิญชวนผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาจัดกิจกรรมต่างๆ ในประเทศไทย หรือร่วมในงานแสดงสินค้าที่ประเทศไทยจัดขึ้น และจัดให้มีการจับคู่ทางธุรกิจให้มากขึ้นกว่าที่เคยทำกันมาในอดีต พร้อมกันนี้ ยังมีแนวคิดที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมาถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยรวมทั้งผู้ประกอบการไทย เพื่อยกระดับคุณภาพและขีดความสามารถของบุคลากรไทยในการทำงานร่วมกันในอนาคตอีกด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

และในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา บริษัท IDA (International Digital Artist) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตผลงานต่างๆ ในรูปแบบ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ของเล่น และเกม ชั้นแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น ได้ตอบรับคำเชิญและเดินทางมาเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยได้แสดงเจตจำนงที่จะมาลงทุนและร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยในการผลิตผลงานที่มีชื่อเสียงในระดับโลก พร้อมทั้งได้แสดงความชื่นชมที่ กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญและเข้าใจในอุตสาหกรรม Digital content เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น บริษัท IDA ยังพร้อมที่จะประสานงานในการเชิญผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาและผู้ประกอบการไทย รวมถึงยังได้ชื่นชมผลงานผู้ประกอบการไทยและตั้งใจที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Character ในลักษณะเดียวกับไอ้มดแดงที่เคยโด่งดังมากในอดีตเพื่อนำออกเผยแพร่ทั่วโลก

“การตอบรับคำเชิญและเดินทางมาเยือนประเทศไทยของผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงจากญี่ปุ่นในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของการเดินทางไป Road Show ที่ประเทศญี่ปุ่นที่เห็นเป็นรูปธรรม และเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะต้องมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย และนำไปสู่ความสำเร็จก้าวต่อๆ ไปของประเทศอย่างแน่นอน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1260

ก.ไอซีที เผยแพร่แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 รองรับประชาคมอาเซียน

March 9th, 2012 No comments

นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี รักษาการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ” ว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ถือเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศ โดยประเด็นที่เห็นได้ชัดเจน คือ โอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การลดอุปสรรคทางการค้า และโอกาสในการลงทุน ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า 600 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวม 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่และดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังมีประเทศพัฒนาหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ให้ความสนใจภูมิภาคอาเซียน และเข้าร่วมเป็นคู่เจรจากับอาเซียน

นอกจากนี้ การเป็นประชาคมยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาค เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนเรื่องความท้าทายนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ผลกระทบทางลบจากการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเป็นประชากรของอาเซียน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพร้อมรับกับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งในเชิงรุกที่จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียน และในเชิงรับที่ต้องปกป้องและแก้ไขผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ กระทรวงไอซีที อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจต่างๆ ของกระทรวงฯ ทั้งด้านการพัฒนาไอซีที การเตือนภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านสถิติ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนด้วย

ด้านนายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2558 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TELMIN ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 จึงได้เห็นชอบโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 และอนุมัติการสนับสนุนเงินจากกองทุน ASEAN ICT Fund เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางกิจกรรมความร่วมมือด้านไอซีทีและสนับสนุนการรวมกลุ่ม ของอาเซียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีที ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อร่วมพิจารณาจัดทำแผนแม่บทฯ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว

หลังจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ประชุมได้มีการรับรองแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 และมีการประกาศแผนแม่บทฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแผนแบบเบ็ดเสร็จที่มีการระบุยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการภายใน 5 ปีที่ชัดเจน และภายหลังจากการรับรองแผนแม่บทฯ แล้ว ที่ประชุมอาเซียนยังได้เห็นชอบให้สมาชิกแต่ละประเทศจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนแม่บทฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการผลักดันแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

กระทรวงฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 อย่างเป็นทางการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนบทบาทของประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจประมาณ 250 คน นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย

View :1622

ก.ไอซีที Kick Off โครงการ Smart Province เลือก นครนายก เป็นจังหวัดนำร่อง

February 24th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการSmart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดนครนายก ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้จัดทำโครงการ (จังหวัดอัจฉริยะ) ขึ้น โดยกำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดนครนายก รวมถึงให้เป็นต้นแบบในการบริหารราชการ และขยายผลการดำเนินการสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการจัดทำ “จังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ” นี้ กระทรวงฯ ได้วางกรอบแนวทางและขอบเขตการดำเนินโครงการฯ ไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ดำเนินการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Infrastructure) ของจังหวัดนครนายก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้ใช้งาน 2. ดำเนินการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3.ดำเนินการด้านให้บริการข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประชาชนในระดับหมู่บ้าน

ด้านนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการSmart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งระบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นคุณภาพ เข้าไปใช้ในการบริหารจัดการจังหวัดต้นแบบ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัด 5 ประการ คือ ผลผลิตมวลรวมเพิ่มขึ้น รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นการกระจายรายได้ของประชาชนดีขึ้น ความสุขมวลรวมของประชาชนดีขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐลดลง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงได้มีการคัดเลือกจังหวัดนครนายก มาเป็นจังหวัดต้นแบบของโครงการฯ และได้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่ายในครั้งนี้

นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครนายกได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาวิสัยทัศน์จังหวัดที่สำคัญไว้ 4 ประการ คือ เป็นเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่ ศูนย์อาหารสุขภาพและอาหารปลอดภัย และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งการร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในโครงการ Smart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) ครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการพัฒนาประเทศที่มีกลไกหลักสำคัญ 4 กลไก คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนและประชาชนให้สอดคล้องและประสานกันอย่างมีเอกภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และประสิทธิภาพในการบริหารงานของทุกภาคส่วนในจังหวัดนครนายก รวมทั้งเพิ่มความยั่งยืนในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกด้วย

สำหรับโครงการ Smart Province (จังหวัดอัจฉริยะ) นี้ เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทยไปสู่“Smart Thailand” ซึ่งประกอบด้วย Smart Network , Smart Government และ Smart Business โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบการพัฒนา “Smart Province” ที่เหมาะสม รวมทั้งเพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อพัฒนาจังหวัดให้พร้อมสู่การเป็น “Smart Thailand” ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ และในระยะแรกของโครงการได้กำหนดให้ “จังหวัดนครนายก” เป็นต้นแบบของจังหวัดที่จะดำเนินการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อมุ่งสู่การเป็น “Smart Province” เนื่องจากมีความเหมาะสมของขนาดพื้นที่จังหวัด และความพร้อมทั้งด้านสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว การเกษตร

โดยการดำเนินงานในระยะแรกจะเชื่อมข้อมูลต่างๆ ลงในบัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และผู้ให้บริการเอกชนอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ จะมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหา ที่เกิดขึ้นเพื่อวางแนวทางที่เหมาะสม สร้างรูปแบบการบริหารจัดการและการให้บริการภาครัฐผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศได้อย่างทั่วถึง และสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อไป

View :1406

ก.ไอซีที จับมือ 7 หน่วยงานพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามกรอบ TH e-GIF

February 16th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ว่า กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการจัดทำ ปรับปรุง และเผยแพร่กรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (TH e-GIF) อย่างต่อเนื่องจนมาถึงเวอร์ชั่น 2.0 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องได้มีแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดด้านความแตกต่างของรูปแบบวิธีการในการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศที่เป็น ลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ประกอบกับผลการสำรวจสถานภาพการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน (Road Map) ในการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้พบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลร่วมเฉพาะกลุ่มธุรกรรม (Domain Specific Core Set) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละด้าน เพื่อมุ่งสู่การสร้างมาตรฐานข้อมูลกลางของประเทศ (Universal Core Set) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลด้านการเกษตรที่เป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงฯ ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ

ในปีงบประมาณ 2554 กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งพัฒนามาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือ “Agriculture Disaster Relief Information System (Aggie DRIS)” ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว จะเป็นการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และข้อมูลเกษตรกรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์การเกษตร ตามวิธีการที่ได้เสนอแนะไว้ในกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความสำคัญในการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันและส่งเสริมสนับสนุนการใช้ระบบงานดังกล่าวในด้านนโยบาย กระทรวงไอซีที จึงได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐเพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ระหว่างกระทรวงฯ กับ 7 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อเป็นข้อตกลงในการร่วมใช้ระบบข้อมูล และประชาสัมพันธ์การใช้งานระบบดังกล่าว

“การลงนามในครั้งนี้ เป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มอบหมายให้ทุกส่วนราชการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “เกษตรกร” ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ และเป็นกลุ่มอาชีพที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพื้นที่ทำกิน ผลผลิตทางการเกษตร และที่อยู่อาศัย ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก กระทรวงไอซีที จึงได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัยมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกระบวนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อันจะส่งผลให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันการใช้งานมาตรฐานข้อมูล และกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้ง “ระบบบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร” เพื่อมุ่งสู่การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มระบบ โดยให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้บูรณาการความร่วมมือและเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติต่างๆ ด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือหลังจากประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรได้อย่างทั่วถึง อันจะเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นได้

View :1469

ก.ไอซีที ห่วงใยเยาวชนช่วงวาเลนไทน์แนะใช้สื่อ ICT อย่างมีสติเพื่อความปลอดภัย

February 11th, 2012 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ในช่วงวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ที่กำลังจะมาถึงนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความเป็นห่วงเยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันการสนทนาต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถกระทำได้ง่าย เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านเว็บไซต์ การสนทนาบนโทรศัพท์มือถือในรูปแบบต่างๆ หรือ การนัดพบเจอกันผ่านเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็ได้มีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการตรวจสอบการใช้งานบนสื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ ข้างต้นนั้นกระทำได้โดยลำบาก เพราะเป็นการสนทนาระหว่างบุคคลที่มีรูปแบบแตกต่างกันไป

“กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตระหนักถึงภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำเยาวชนให้ระมัดระวังอันตรายจากการนัดพบกับบุคคลที่ติดต่อกันผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากบุคคลที่เราสนทนาด้วยนั้น อาจไม่ได้มีคุณสมบัติดีอย่างที่คิด หรือตามที่ได้มีการอวดอ้างไว้ในการสนทนาบนอินเทอร์เน็ตเสมอไป จึงขอให้เยาวชนตระหนักว่า หากมีการชักชวนเพื่อนัดพบกันในวันดังกล่าว ควรไตร่ตรองอย่างมีสติและระมัดระวังหรือปรึกษาผู้ปกครองก่อนไปตามที่นัดหมายกัน รวมทั้งขอให้บอกกล่าวกับบุคคลใกล้ชิดไว้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการถูกล่อลวงเพื่อหวังทรัพย์สินหรือการกระทำอื่นๆ อันอาจจะเป็นอันตรายต่อเยาวชนได้ ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอฝากถึงผู้ปกครองทุกท่านร่วมช่วยกันสอดส่อง และดูแลบุตรหลานในวันดังกล่าว เพื่อป้องกันหรือยับยั้งอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยควรให้ความรักความเข้าใจอย่างอบอุ่น รวมทั้งให้เวลากับเยาวชนในช่วงวันเวลาดังกล่าว ให้มากขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1382

รมว.ไอซีที หนุนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เดินหน้าพัฒนาแผนงานบูรณาการร่วม 3 ระบบ

February 1st, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบ เตือนภัยในเชิงบูรณาการ ว่า จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับแผนพัฒนาคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัย โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ใน 3 ระบบ คือ ระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ รวมทั้งระบบเตือนภัย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาระบบไอซีทีดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีการจัดทำแผนงานและโครงการในแนวทางของการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานและโครงการในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยในเชิงบูรณาการ โดยเชิญผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรับผิดชอบแผนงาน โครงการ รวมถึงงบประมาณของหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการทั้ง 17 ด้าน ได้แก่ การแจ้งเตือนภัย น้ำ นิวเคลียร์และรังสี พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและนิติวิทยาศาสตร์ คมนาคม ฐานข้อมูลและสารสนเทศ เชื้อเพลิงและพลังงาน การศึกษา การบริหารจัดการภัยพิบัติ การแพทย์และสาธารณสุข การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การบริจาค การฟื้นฟูบูรณะ การต่างประเทศ และความมั่นคง มานำเสนอแผนงานและโครงการในด้านที่รับผิดชอบ เพื่อให้มีการนำผลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นไปปรับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับกระทรวงทั้ง 17 ด้านของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมถึงสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ ความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานด้วย

ในการดำเนินโครงการดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นหน่วยงานที่มีเทคโนโลยีในการเป็นคลังและศูนย์กลางของข้อมูล เพื่อให้ผู้บริหารได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ก็สามารถเข้ามาใช้ข้อมูลประกอบการปฏิบัติงานได้อีกด้วย นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง เทคโนโลยีระบบสัญญาณเตือนภัยจากภัยพิบัติ ดินถล่ม โดยให้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวไปพร้อมๆ กันด้วย

การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการในภาพรวมของประเทศในเชิงบูรณาการที่เป็นไปในทิศทางและมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์เดียวกัน โดยหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ระดับกระทรวงทั้ง 17 ด้าน จะมีแผนปฏิบัติการในด้านที่ตนรับผิดชอบไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง และหน่วยงานระดับกรม สำนัก ศูนย์ฯ ต่างมีความเข้าใจอันดีในการจัดทำแผนงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

View :1378

ก.ไอซีที เดินหน้าสร้างความรู้ “ระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติ”

January 30th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเพื่อการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ “ระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติ และวิสัยทัศน์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ว่า ในการบริหารจัดการสาธารณภัยนั้น มีเป้าหมายเพื่อการหลีกเลี่ยง ลด หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการปัจจัยสำคัญต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการข้อมูล และเครือข่ายข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และความน่าเชื่อถือในการประมวลผลข้อมูล เพื่อการแจ้งเตือนล่วงหน้า และการบูรณาการ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

“จากปัจจัยดังกล่าว สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้จัดทำระบบการบริหารจัดการข้อมูลในสภาวะวิกฤติขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยทั้งในระดับชาติ และในระดับท้องถิ่น ตลอดจนศักยภาพด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในระยะต่างๆ พร้อมทั้งได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ระบบงานดังกล่าว รวมถึงการนำเสนอข้อมูลทิศทาง นโยบาย และวิสัยทัศน์ของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารจัดการพิบัติภัย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนส่งเสริมประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ทำให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องในภารกิจดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ต้องเรียนรู้ ศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การทำงานได้อย่างสมบูรณ์ สามารถบริหารจัดการข้อมูล แจ้งเตือนภัย ควบคุม สั่งการ และให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านพิบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ เชื่อถือได้ทั้งในยามปกติ และในสภาวะวิกฤติ

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ทำการศึกษา ออกแบบ และจัดทำต้นแบบ เพื่อใช้เป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการพิบัติภัย

ดังนั้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบบงานดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงได้จัดการสัมมนาฯ ขึ้น เพื่อนำเสนอภาพรวม และรูปแบบของระบบงาน ตลอดจนวิธีการในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างองค์กรภาคต่างๆ รวมทั้งนำเสนอทาง นโยบาย และแนวทางการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งทางด้านความคิด และความร่วมมือในการบริหารจัดการข้อมูลพิบัติภัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการทำงานของหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มศักยภาพในระบบการบริหารจัดการ การปฏิบัติการ และการตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ทั้งระบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล แม่นยำ ทั่วถึง มีเสถียรภาพมั่นคง และเชื่อถือได้

View :1572

ก.ไอซีที ร่วมมือ มสธ. พัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT

January 30th, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช () ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีบทบาทสำคัญยิ่งกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการเตรียมความพร้อมของประชาชนและชุมชนให้มีศักยภาพพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งเครื่องมือที่จะพัฒนาคนในภาคส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม ที่กระทรวงฯ มีอยู่ นั่นคือ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่พร้อมจะให้หน่วยงาน ภาคส่วน และภาคีร่วมกันใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการให้เกิดขึ้นกับชุมชน

“ในอนาคต ICT จะกลายเป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริมของการพัฒนาในทุกๆ เรื่อง รวมถึงการดำรงชีวิตตาม วิถีเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยไว้เป็นแนวทาง ในการดำรงชีวิต การเรียนรู้ การทำความเข้าใจ การทดลองเปลี่ยนแปลง และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง จึงมีความสำคัญในการน้อมนำมาสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น กระทรวงไอซีที และ มสธ. จึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนและวางแนวทางการใช้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นเครื่องมือของชุมชนพอเพียง” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้น กระทรวงฯ จะร่วมกับ มสธ. และหน่วยงานภาคีพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ICT อย่างน้อย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการสร้างความรู้ ความเข้าใจและภูมิคุ้มกัน ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 2.หลักสูตรสำหรับผู้นำสตรีเพื่อสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว 3.หลักสูตรสำหรับผู้นำเยาวชนในศูนย์ชุมชนสร้างสรรค์ และ 4.หลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการศึกษาทางไกล และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุนชน ซึ่งปี 2555 นี้ จะดำเนินการในชุมชนนำร่อง จำนวน 840 แห่ง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปี 2554 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 ก่อนจะขยายผลไปยังชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่พสกนิกรอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือกับ มสธ. ครั้งนี้ เป็นการขยายพันธมิตรเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมและการสร้างประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่มีอยู่ ทั่วประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในปี 2555 นี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะร่วมกับ มสธ.ในการคัดสรรชุมชนที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และต้องการที่จะเป็นชุมชนนำร่องจำนวน 840 ชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนเหล่านั้นได้ใช้สื่อและหลักสูตรออนไลน์ที่จะพัฒนาขึ้น โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาผลักดันในเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ รวมถึงการติดตามแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิค เพื่อให้ชุมชนได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนได้ทุกเมื่อ และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

View :1553

ก.ไอซีที จัดอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด

January 27th, 2012 No comments

นายชัยโรจน์ จิรพัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการอบรมในหลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด ภายใต้โครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด ว่า ปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่ () ซึ่งหมายถึง ข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลก และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่แสดงอยู่ในรูปของตำแหน่งโดยกำหนดเป็นพิกัด (Coordinate) ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาในลักษณะที่เป็นข้อมูลจะเรียกว่า “” นั้น ได้มีกระบวนการจัดทำและผลิตที่ก้าวหน้าไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำและผลิตข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่จำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการที่จะนำไปใช้งานในการจัดการเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดด้านภูมิสารสนเทศทั้งระบบขึ้น เพื่อลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศในการจัดซื้อชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านภูมิสารสนเทศประเภทต่างๆ จากต่างประเทศในราคาที่ค่อนข้างสูง โดยการพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดดังกล่าวจะทำให้ได้ชุดคำสั่งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหา รวมทั้งมีศักยภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดคำสั่งที่จัดซื้อมาในราคาแพง

และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่พัฒนาขึ้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการอบรม 4 หลักสูตรเพื่อให้ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ คือ 1.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดทำและพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์รหัสเปิด (Desktop GIS) 2.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์รหัสเปิดด้านการจัดทำระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Web-based GIS) 3.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด (Remote Sensing) และ 4.หลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศรหัสเปิด (Photogrammetry)

“การจัดอบรมทั้ง 4 หลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประยุกต์ใช้ชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานในทุกภาคส่วนได้รับทราบ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คำสั่งฯ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมฯ ทั้งหมดประมาณ 103 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 61 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 18 แห่ง และสถาบัน การศึกษา 24 แห่ง

ส่วนการอบรมฯ ในครั้งนี้เป็นการอบรมในหลักสูตรชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการประมวลผลข้อมูล จากภาพถ่ายดาวเทียมรหัสเปิด รุ่นที่ 3 จำนวน 30 คน ซึ่งใช้เวลาอบรมให้ความรู้ 4 วัน และผู้ที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้อีกด้วย” นายชัยโรจน์ กล่าว

View :1573

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

January 26th, 2012 No comments

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) ครั้งที่ 5 ตามกฎกระทรวงมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ภายใต้ โครงการพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท ว่า กระทรวงฯ มีนโยบายในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมได้รับ การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านไอซีทีและมีโอกาสเข้าถึงไอซีทีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคนพิการที่ขาดโอกาส และความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวในปัจจุบัน โดยกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความเชื่อมั่นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ จะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาสังคมและประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งในด้านความสะดวก เครื่องมือหรืออุปกรณ์เฉพาะทาง ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ด้านไอซีทีสำหรับคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนา ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการทุกประเภท เพื่อศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลความต้องการทางด้านการบริการ หรือข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลความต้องการของคนพิการแต่ละประเภท เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกรอบแนวทางเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะทางด้านกิจกรรม และวิธีการปฏิบัติของกระทรวงฯ ตลอดจนเพื่อนำไปใช้ในการให้บริการและสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการทุกประเภทได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องมีการจัดเวทีสำหรับระดมความคิดเห็นซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการทุกประเภท ตลอดจนบริการสื่อสาธารณะ ตามกฎกระทรวงมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จำนวน 10 ครั้ง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คนพิการและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านคนพิการ สถาบันการศึกษาของรัฐ/เอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น เข้าร่วมครั้งละประมาณ 20 คน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความต้องการต่างๆ จากบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการเหล่านั้น ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นการระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 5 ที่กระทรวงฯ จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดแนวทางเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง

View :1609