Archive

Posts Tagged ‘ก.ไอซีที’

ก.ไอซีที แจงแนวทางดำเนินการเมื่อพบเว็บไซต์ไม่เหมาะสมทางสื่อออนไลน์

November 25th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า การให้บริการเว็บไซต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบไปอย่างรวดเร็วมาก โดยปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นเครือข่ายสื่อสังคมที่เผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบ ข้อมูล ข่าวสาร และคลิปวิดีโอมากขึ้น ซึ่งทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสามารถแพร่ขยายไปทั่วโลก จึงทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดีนำเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ประสานความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ให้บริการได้ลบหน้า Facebook ที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นออก และทำให้ การดำเนินการระงับการเผยแพร่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใน 1 บัญชี (Account) ของ Facebook จะประกอบไปด้วยรูปต่างๆ ซึ่งอาจทำให้มีหน้าต่างๆ ได้มากถึงหลักร้อย URL และเมื่อรวมกับหน้าต่างๆ ที่ถูก Share หรือ Comment ก็จะทำให้จำนวน URL เพิ่มขึ้นไปอีก การระงับการเผยแพร่ใน 1 Account จึงทำให้มี URL ที่ไม่เหมาะสมหายไปประมาณ 100 -1,000 รายการ โดยในช่วงเดือนต.ค. – พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการระงับการเผยแพร่ไปแล้วกว่า 60,000 URL

ส่วนการกด Share หรือ Like หรือ Comment นั้น เป็นการกระทำที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยที่ผู้กระทำอาจไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลต่อในทางอ้อม กระทรวงไอซีที จึงขอให้ประชาชนที่หวังดีและต้องการปกป้องสถาบันปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ โดยหากพบเจอเว็บไซต์ไม่เหมาะสมขอให้แจ้งข้อมูลมาที่หมายเลข 1212 รวมทั้งหยุดการเข้าไปดูหน้าเว็บดังกล่าว และไม่บอกต่อ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับวิธีปฏิบัติเมื่อพบเจอเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น สิ่งที่ควรกระทำ คือ ห้ามกด Share โดยเด็ดขาด เช่นใน Facebook การกด Share จะทำให้เนื้อหาในเว็บไซต์นั้นไปปรากฏบนหน้าหลักของเพื่อนๆ ที่อยู่ในรายการชื่อของเรา ทำให้เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ไม่เหมาะสมนั้นโดยไม่รู้ตัว การ share เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เห็นถึงความไม่เหมาะสม และร่วมติเตียนผู้กระทำความผิดนั้น อาจจะทำให้การตรวจสอบเพื่อระงับการเผยแพร่นั้นทำได้ลำบาก เพราะฝ่ายตรวจสอบของผู้ให้บริการในต่างประเทศอาจเข้าใจไปว่า เนื้อหาที่เผยแพร่นั้นมีความน่าสนใจจึงมีการกด Share กันเป็นจำนวนมาก ทำให้การระงับการเผยแพร่ทำได้ยากขึ้น

นอกจากนั้นยัง ห้ามกด Like และห้าม Comment โดยเด็ดขาด เพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้ข้อความที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นไปปรากฏบนหน้า Wall หรือหน้าหลักของผู้กด Like และ Comment รวมทั้งจะเชื่อมต่อไปถึงหน้า Facebook ของกลุ่มเพื่อนอีกด้วย การที่ผู้ชม Facebook กด Like เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว หรือโต้ตอบ จะยิ่งสร้างความสนใจให้กลุ่มเพื่อนที่เห็น และอาจร่วมในกระบวนการโต้ตอบด้วย จึงเท่ากับเป็นการกระจายข้อมูลข่าวสารและเพิ่มกระแสความนิยมให้กับเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว

“ปัจจุบันพบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปโต้ตอบกับพวกที่เผยแพร่เว็บไม่เหมาะสมในลักษณะหมิ่นสถาบัน โดยการกด Like , Comment หรือ Share นั้น อาจถูกนำชื่อ และรูปถ่ายไปสร้างหน้า Facebook ปลอมและเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ดังนั้น กระทรวงฯ จึงอยากขอให้ประชาชนทุกคนอย่ากด Like , Comment หรือ Share เพราะอาจจะตกเป็นเหยื่อ แต่หากได้มีการกดไปแล้วขอให้ทำการลบ Share กด Unlike และลบ Comment ที่เคยทำเอาไว้ เพื่อลดการเผยแพร่ และเจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการตรวจสอบผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น

View :1293

ก.ไอซีที เปิดสายด่วน GCC 1111 กด 5 รับแจ้งขอความช่วยเหลือหรือติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง

October 6th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ทันกับเหตุการณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้เปิดช่องทางแจ้งข้อมูลความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชนของรัฐบาล GCC 1111 กด 5 ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และภาคส่วนต่างๆ โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งเหตุ หรือต้องการสอบถามสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 กด 5 โดยกระทรวงไอซีที จะนำข้อมูลมาบริหารและจัดระบบฐานข้อมูล พร้อมทั้งจัดส่งไปยังหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้นำข้อมูลนั้นไปใช้ดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างทันการณ์ ทั้งนี้ GCC 1111 กด 5 จะให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์รายวัน อาทิ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เส้นทางหลวงที่ใช้ได้ และใช้ไม่ได้ พร้อมทางเลี่ยง สถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน สรุปสถานการณ์พื้นที่อุทกภัยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายชื่อจังหวัดที่ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย (จำนวนอำเภอ/ตำบล) จำนวนราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน (ครัวเรือน) ตรวจรายชื่อผู้เสียชีวิต ข้อมูลการประกาศเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ประกาศเตือนภัยพายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ข้อมูลข่าวสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข่าวผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ถึงระดับน้ำ หน่วยงานราชการแจ้งข่าวเตือนภัยถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังสถานการณ์ต่างๆ เช่น ให้ระวังน้ำป่า ดินโคลนถล่ม โรคระบาดต่างๆ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รายชื่อบัญชีที่รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หน่วยงานหรือองค์กรที่รับบริจาคสิ่งของ เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 กด 5 ยังให้บริการข้อมูลมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ทั้งด้านการเกษตร ด้านเงินกู้ ด้านสุขภาพ และด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงข้อมูลการติดต่อต่างๆ อาทิ สายด่วนเพื่อสังคม หมายเลขกลุ่มฉุกเฉิน (Emergency Hotline) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการปัญหาเรื่องอุทกภัย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปภ.เขต ปภ.จังหวัด เป็นต้น

View :1535

ก.ไอซีที จับมือภาครัฐ และเอกชนบูรณาการแจ้งเตือนภัย เพื่อป้องกันภัยต่อประชาชน

September 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย และป้องกันภัยต่อประชาชน ว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยและเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับทราบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง กระทรวงฯ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชนผ่านช่องทางสื่อสารสารสนเทศที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

“กระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงกลาโหม กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม บจ.ไปรษณีย์ไทย ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการบูรณาการเพื่อการแจ้งเตือนภัย ป้องกันภัยต่อประชาชน

โดยจากการหารือสรุปว่า หน่วยงานรับผิดชอบที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน จะเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งกระจายข่าวสารให้แก่ประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในยามปกติ และขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารให้แก่ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อนำไปวิเคราะห์และตัดสินใจกรณีที่จะมีภัยพิบัติกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ก่อนกระจายข้อมูลแจ้งเตือนภัยไปสู่ประชาชน หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยใช้ช่องทางต่างๆ อาทิ วิทยุภาคประชาชน วิทยุสื่อสาร หอกระจายข่าว สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย Social Network , website รวมถึงข้อความสั้น (SMS) ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ประชาชนรับทราบได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายให้ร่วมเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือสังคมด้วยการสนับสนุนการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับเกณฑ์การกระจายข้อมูลและข่าวสารของศูนย์เตือนภัยฯ นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.รายงาน เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิด คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย โดยจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยช่วยเหลือและกู้ภัย ตลอดจนประชาชน 2.เฝ้าระวัง เป็นการกระจายข่าวเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แต่ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและการเข้าใจผิดของประชาชน โดยจะกระจายข่าวให้กับผู้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลในการชี้แจงกับประชาชน
3. เตือนภัย เป็นการกระจายข่าวเมื่อคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ ที่จะเป็นอันตรายมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยจะมีการให้รายละเอียดของภัย ความรุนแรง ผลกระทบ เวลาที่คาดหมายว่าภัยจะเกิดคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อลดอันตราย ลดความสูญเสีย คำแนะนำในการช่วยเหลือกู้ภัย และ 4. ยกเลิก เป็นการกระจายข่าว เมื่อสถานการณ์ภัยพิบัติกลับสู่ภาวะปกติ และทำการตรวจสอบข้อมูลจากทุกๆ แหล่ง จนเป็นที่แน่ใจและเป็นไปตามเกณฑ์ยกเลิกสถานการณ์ของภัยแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีความปลอดภัย และให้หน่วยช่วยเหลือกู้ภัยดำเนินการบรรเทาสาธารณภัยได้ต่อไป

View :1693

ก.ไอซีที จับมือ มศว ประสานมิตร พัฒนาความรู้ด้านไอซีทีให้บุคลากร

September 29th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน การพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากําลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบุคลากรในศาสตร์สาขาอาชีพอื่นๆ ทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ รวมถึงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนมั่นคง

ดังนั้น กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์ บุคลากร และนิสิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อวิจัยและพัฒนางานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการสื่อสารและการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนและขยายผลงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการสื่อสาร และการสร้างนวัตกรรมของทั้งสององค์กรไปสู่ชุมชนและสังคม

สำหรับขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1.ร่วมกันส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของทั้งสององค์กรให้มีความรู้ในเชิงวิชาการ และความรู้ในภาคปฏิบัติ 2.ร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในทุกรูปแบบ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกงาน 3.ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ โดยการจัดกิจกรรม และ/หรือโครงการที่สนับสนุนการจัดทำและเผยแพร่ผลงานทางวิชาการตลอดจนการวิจัยที่มีคุณภาพ 4.ร่วมกันจัดสรรและใช้ผลงาน และ/หรือ องค์ความรู้ ทั้งที่มีอยู่เดิมและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เพื่อให้บริการแก่ชุมชนและสังคม โดยการจัดกิจกรรม และ/หรือ โครงการที่ให้บริการและการเป็นที่ปรึกษาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 5.ร่วมกันจัดสรรและใช้ทรัพยากรด้านอาคารสถานที่ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนอุปกรณ์เทคโนโลยีและเครือข่ายสารสนเทศของทั้งสององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 6.ร่วมกันประเมินผลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 2 ปี โดยจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2556

“การลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จรวมทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน นิสิต/นักศึกษา และชุมชนในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถทางวิชาการ ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิตประจำวันและอาชีพของชุมชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือทางด้านงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ระหว่างกันอีกด้วย” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1875

ก.ไอซีที จัดโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

September 22nd, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการ “สายใยไอซีทีห่วงใยประชาชน”ขึ้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท อุบลราชธานี และสิงห์บุรี ซึ่งจะดำเนินการในเรื่อง การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การติดตั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม การติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง การจัดรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ การจัดตั้งระบบ e-Conference เพื่อใช้สนับสนุนการสั่งการแก้ปัญหากรณีระบบสื่อสารขัดข้องในพื้นที่ รวมทั้งการจัดหาพาหนะขนส่งสิ่งของบริจาคเพื่อแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอ การจัดอาหารและน้ำดื่มเพื่อแจกจ่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (fit its) ร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเพื่อเข้าไป ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบข้อขัดข้อง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการประสานงานและ บูรณาการการปฏิบัติกับหน่วยงานหลักในพื้นที่ อันจะเป็นช่องทางให้เกิดการวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ในอนาคต

“ในการวางแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันนั้น ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านต่างๆ โดยให้กรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามและรายงานสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ ประมวลผล ประเมินสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินเพื่อแจ้งข่าว – เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ เสี่ยงภัย เช่น โทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน 192 โทรสาร วิทยุสั่งการ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และอื่นๆ

นอกจากนั้น ยังให้มีการเตรียมความพร้อมของรถสื่อสารดาวเทียมเคลื่อนที่ โดยให้วางไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันที พร้อมกันนี้ให้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั้งโครงข่ายหลัก และโครงข่ายสำรองให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา จัดเตรียมและสำรองอุปกรณ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมและอื่นๆ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ จัดเตรียมแผนที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดนั้นๆ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สำรองให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ตรวจสอบและจัดเตรียมฐานข้อมูลและระบบบริหารจัดการ จัดเตรียมระบบด้านการเตือนภัยให้พร้อม และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งระบบเตือนภัยให้รับทราบ ตลอดจนตรวจสอบระบบแจ้งเตือนภัยในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้ทันที” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับการคาดการณ์สภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าจะมีฝนตกเป็นระยะต่อไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม 2554 ฝนจึงจะเบาบางลง หลังจากนั้นร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นในภาคใต้ตอนบน ส่วนการคาดการณ์สภาวะน้ำท่วมนั้น เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีจำนวนมากและอยู่ในสภาวะวิกฤติ จึงคาดว่าสภาพน้ำท่วมจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปนานอีกพอสมควร บางพื้นที่อาจจะท่วมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลทำได้ลำบาก

View :1398

ก.ไอซีที ยกระดับการพัฒนา TH e-GIF เพื่อก้าวสู่ SMART e-Government Thailand

September 16th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ยกระดับการพัฒนา เพื่อก้าวสู่ ” ว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนากรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (Thailand e-Government Interoperability Framework: TH e-GIF) เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐและบูรณาการระบบข้อมูลภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการเพิ่มขึ้น และยกระดับความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการพัฒนากรอบแนวทางในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานตลอดมา จนปัจจุบันได้พัฒนามาถึงเวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งกรอบแนวทางดังกล่าวได้เสนอแนะวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 10 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเตรียมการเบื้องต้น การกำหนดวิสัยทัศน์ การจัดทำสถาปัตยกรรมในด้านต่างๆ ไปจนถึงการกำกับดูแล และปรับปรุงมาตรฐาน ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีบุคลากรในแต่ละระดับที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไปตามลักษณะการปฏิบัติงาน

“ในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2553 ได้มีการสำรวจสถานภาพการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงาน (Road Map) ในการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลร่วมเฉพาะกลุ่มธุรกรรม (Domain Specific Core Set) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละด้าน เพื่อมุ่งสู่การสร้างมาตรฐานข้อมูลกลางของประเทศ (Universal Core Set) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนั้น รัฐบาลและกระทรวงฯ ยังมีนโยบายที่ต้องการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั่วประเทศ ดังนั้น ในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2554 กระทรวงฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และร่วมกันพัฒนามาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือ “Agriculture Disaster Relief Information System (Aggie DRIS)” ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวจะเป็นการ บูรณาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ และบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์การเกษตร ตามวิธีการที่ได้เสนอแนะไว้ในกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” นางจีราวรรณ กล่าว

และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้รับทราบผลการดำเนินงาน และมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงแบบบูรณาการ ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติมากขึ้น รวมทั้งให้สามารถนำเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานตนเองได้ กระทรวงฯ จึงได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้เห็นถึงประโยชน์รวมถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและกระบวนการเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ จากกรณีศึกษาของระบบมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (Aggie DRIS) ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม

“ในงานสัมมนาดังกล่าว จะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ข้อเสนอด้านกลไกความร่วมมือเพื่อผลักดันการจัดทำมาตรฐาน และพัฒนาระบบเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมของประเทศ” รวมทั้ง “ระบบทะเบียนกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ และบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” ให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนผู้สนใจ จำนวนประมาณ 300 คนได้รับทราบ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะเป็นข้อเสนอสำคัญในการผลักดันความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งเพื่อพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ และส่งเสริมการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับที่ก้าวหน้าขึ้นของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้าน SMART e-Government Thailand ด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ในการดำเนินงานปี 2554 กระทรวงฯ ยังจะทำมีการผลักดัน และสนับสนุนการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านมาตรฐานการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหา และอุปสรรค พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลในระดับประเทศต่อไป

View :1429

ก.ไอซีที แถลงความก้าวหน้าการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี

September 12th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แถลงความก้าวหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ว่า ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติและประสานงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ยังได้จัดผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เข้าปฏิบัติงานที่ศูนย์สนับสนุนอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ณ กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อประสานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ กำหนดข้อสั่งการพร้อมแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานต่างๆ  และประชาชนทราบ ตลอดจนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้ารายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อปฏิบัติงานในส่วนการประมวลข้อมูลสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชน เพื่อรายงานรัฐบาลผ่าน ศอส.

“ในการดำเนินงานของกระทรวงฯ ได้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการแบบ One Stop Service ตามมาตรการ 2P 2R คือ 1.ด้านการเฝ้าระวัง โดยได้ประสานการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเตือนภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา เพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งเตือน รวมทั้งได้เฝ้าระวังสภาวะอากาศและประเมินข้อมูลที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการเตือนภัยล่วงหน้า และได้แจ้งข่าวในรูปของประกาศหรือการแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งสื่อมวลชน วิทยุ-โทรทัศน์ รวมถึงข้อความสั้น (SMS) วิทยุสื่อสาร Social Network , website เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสทฯ ตรวจสอบและเตรียมความพร้อมโครงข่ายและเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมหลักให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้     ทุกพื้นที่ รวมทั้งวางระบบสื่อสารสำรองในภาวะฉุกเฉิน คือ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเคลื่อนที่ ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นการล่วงหน้า ตลอดจนได้ติดต่อซักซ้อมการแจ้งเตือนภัยระหว่างศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กับศูนย์เตือนภัยภาคประชาชน คือ ประชาชนผู้มีจิตอาสาและกลุ่มวิทยุสมัครเล่นเอาไว้ด้วย     

2. ด้านการแจ้งเตือนภัย เมื่อมีความชัดเจนว่าจะเกิดภัยพิบัติ กรมอุตุนิยมวิทยาและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกระชับความชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะภัยและพื้นที่  พร้อมประเมินสถานการณ์เพื่อการแจ้งเตือนทุก 3 – 6 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งผลการวิเคราะห์ผลกระทบในมิติของความรุนแรงและพื้นที่ ตลอดจนการคาดการณ์เพื่อประโยชน์    ในการบรรเทาและช่วยเหลือ รวมทั้งวางระบบการสื่อสารสำรองผ่านเครือข่ายประชาชนผู้มีจิตอาสาและวิทยุสมัครเล่น ตามนโยบายการเตรียมพร้อมแห่งชาติเพื่อใช้ในพื้นที่วิกฤติที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารด้วยเครือข่ายอื่นได้ รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์ตลอด   24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ประสานการบรรเทาภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทา   สาธารณภัยมีปัญหาหรือไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 192

3. ด้านการฟื้นฟู สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บมจ.ทีโอที บมจ.กสทฯ ได้สนับสนุนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงและซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ส่วนบจ.ไปรษณีย์ไทย ได้สนับสนุนการขนส่งสิ่งของในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาการบรรเทาและการฟื้นฟู นอกจากนั้นกระทรวงฯ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานการบรรเทาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่การติดต่อมีปัญหา หรือไม่สามารถติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยบรรเทาสาธารณภัยได้

4. ด้านการแก้ปัญหา กระทรวงฯ และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้กำกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็น 3 ลักษณะ คือ พื้นที่ประสบภัย ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์  ได้กำกับดูแลการติดต่อสื่อสารโดยให้ บมจ.ทีโอที เข้าพื้นที่และวางระบบสื่อสารโทรศัพท์ทางสายเพื่อการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในจุดที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ได้ คือ บ้านต้นขนุน ตชด ๓๑๒ น้ำไผ่ น้ำปาด ห้วยคอม พร้อมทั้งวางระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายและ e-Conference ที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้บางพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้รับหน้าที่ติดต่อกับประชาชนและประสานงานกับหน่วยช่วยเหลือผ่านหมายเลข 192 รวมทั้งติดตามสถานการณ์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือประชาชน

พื้นที่เสี่ยงภัย คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนและน้ำในแม่น้ำ ลำห้วย เพื่อแจ้งพื้นที่ให้แจ้งเตือนภัยทางเครือข่าย “หอกระจายข่าว” และทางสัญญาณเตือนภัย โดยประสานงานตรงกับผู้รับผิดชอบในการบริหารสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้น้ำ  ได้เอ่อล้นฝั่ง บางพื้นที่ได้ไหลเข้าท่วมแล้ว  และฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนบางพื้นที่ได้ปักธงแดง แสดงสถานการณ์อันตรายแล้ว

และ พื้นที่เฝ้าระวัง คือ ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้ติดตามสภาวะอากาศและปริมาณฝนซึ่งกำลังตกหนักในพื้นที่ จ.ระนอง จ.พังงา จ.สตูล และภาคใต้ตอนล่าง เพื่อประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง รวมทั้งให้ผู้มีจิตอาสารีบรายงานสถานการณ์ตามช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง และประสานงานบมจ.ทีโอที เตรียมเข้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายการติดต่อสื่อสารสำรอง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1572

ก.ไอซีที จับมือภาคเอกชนสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพรองรับประชาคมอาเซียน

September 9th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดโครงการสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพ ว่า จากนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลจะดำเนินการนั้น ได้มุ่งหมายที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2558 โดยการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง

กระทรวงไอซีที จึงได้ผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งพันธกิจหนึ่งของกระทรวงฯ ก็คือ การส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนด้วยการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก การพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของบุคลากรด้านไอทีของประเทศให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยีของโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา เป็นต้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบุคลากรของประเทศอื่นๆ ได้

“จากการสำรวจมูลค่าตลาดไอซีทีปี 2553 ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พบว่า มีมูลค่ากว่า 607,385 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์นั้นมีมูลค่าเพียง 11.91% ของมูลค่าตลาดรวมหรือ 72,400 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า ศักยภาพของบุคลากรไอซีทีไทยในการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการนั้นยังมีอยู่มาก และพร้อมที่จะพัฒนาให้มากขึ้นไปอีกได้ ดังนั้น การพัฒนาทักษะระดับสูงของบุคลากรไอซีทีไทย ให้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างแอพพลิเคชั่น โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงฯ จะดำเนินการในรูปแบบ Public-Private Participation หรือ PPP ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ก็คือ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงไอซีที และภาคเอกชนที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาซอฟต์แวร์ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม , อุทยานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย (TCEP) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพ หรือ CAS Code Camp เพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟต์แวร์ให้มีความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมบนอุปกรณ์มือถือ และสามารถใช้แนวคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ โดยการจัดฝึกอบรม 6 หลักสูตร คือ หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา iPhone / iPad หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา Android หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา Microsoft Phone หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรม Game ด้วย Microsoft XNA หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมระดับองค์กรด้วย Microsoft Visual Studio และหลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรม Microsoft Share Point

“โครงการ CAS Code Camp นี้ จะเปิดฝึกอบรมพัฒนาทักษะความรู้ให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวน 6,000 คน ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากกระทรวงไอซีที บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาซอฟต์แวร์ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งความรู้ที่ได้รับนี้จะสามารถใช้เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพได้ และกระทรวงไอซีที คาดหวังว่า โครงการฯ นี้จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรด้านไอซีทีในประเทศไทยได้ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้การพัฒนาบุคลากรไอซีที เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1696

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นสร้างบริการภาครัฐยุคใหม่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

September 9th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา หัวข้อ “ทางเลือกรูปแบบธุรกิจโทรคมนาคม” ว่า เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งรัดการขยายและยกระดับโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้บริการ และให้บริการด้วยคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน ส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยราคาที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร ยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ ตลอดจนลดการลงทุน ที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

เพื่อให้การดำเนินโครงการ SMART THAILAND บรรลุเป้าหมายที่ต้องการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 80 ใน ปี พ.ศ. 2558 และให้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 95 ในปี พ.ศ.2563 ด้วยอัตราค่าบริการที่เหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมภาคเอกชนสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นธรรม รวมทั้งภาครัฐดำเนินการลงทุนโครงข่ายในส่วนที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและจัดหาบริการภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนนโยบาย SMART THAILAND ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

“ในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ ออสเตรเลีย ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และได้มีการผลักดันนโยบายบรอดแบนด์เป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวขึ้น โดยเรียกว่า National Broadband Network Company หรือ NBNCo ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมสัมมนา Smart Thailand หัวข้อ “ทางเลือกรูปแบบธุรกิจโทรคมนาคม” ครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำเสนอทางเลือกในการจัดตั้งและรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย SMART THAILAND ในด้านการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทของการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้บรรลุเป้าหมายในการที่จะให้ประเทศไทยเป็น SMART THAILAND” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

การสัมมนาฯ ครั้งนี้ ได้มีการเชิญผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมในการสัมมนากว่า 100 คน เพื่อรับทราบถึงแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายและจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในต่างประเทศ โดยกระทรวงฯ จะมีการนำเสนอแนวทางในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทย และทางเลือกในการจัดตั้งหน่วยงานที่จะขึ้นมาดูแลโครงข่ายฯ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวทางในการดำเนินโครงการฯ พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและร่วมอภิปรายแนวคิดดังกล่าว เพื่อนำไปพัฒนาแผนแม่บทในการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทยด้วย

“ในการดำเนินโครงการ SMART THAILAND นี้ กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นไปที่การขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไปให้ถึงในทุกตำบลของประเทศไทยที่ปัจจุบันยังไม่มีโครงข่ายเข้าถึง เพื่อให้ชุมชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานราชการสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ใช้งาน และองค์กรภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแล จึงจะสามารถทำให้โครงการฯ นี้ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1565

ก.ไอซีที จับมือภาคเอกชนส่งเสริมเทคโนโลยี Cloud Computing

September 5th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “Digital Economy and Scorecard” ว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล ได้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยตื่นตัว และเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน เพื่อใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในเวทีโลกยุคดิจิทัล

โดยเทคโนโลยี Cloud Computing จัดเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในระยะเวลาที่ผ่านมา และได้วางแผน ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในเรื่องบุคลากร ตลอดจนความพร้อมในเรื่องนโยบายและกฎหมาย โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) จัดงานสัมมนา “Digital Economy and Cloud Computing Scorecard” สำหรับผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องกรอบนโยบายและกฎหมายของประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing ความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะประเมินความพร้อมของกรอบนโยบายและกฎหมายของประเทศต่างๆ เหล่านี้ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ ที่เรียกว่า เศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล

“งานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมทางด้านนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล (Digital Economy) ของ 14 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบ โดยผลการศึกษานี้เน้นในเรื่องความพร้อมสำหรับการรองรับเทคโนโลยี Cloud Computing รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนจะสามารถนำกลับไปพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากรอบนโยบายและกฎหมายในส่วนงานได้

เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งอย่างชัดเจนในกรอบนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Cloud Computing แต่ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสที่จะพัฒนากรอบนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความพร้อมที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค และให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Cloud Computing ” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1548