Archive

Posts Tagged ‘ก.ไอซีที’

ก.ไอซีที จับมือภาคเอกชนส่งเสริมเทคโนโลยี Cloud Computing

September 5th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “Digital Economy and Scorecard” ว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล ได้ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยตื่นตัว และเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน เพื่อใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในเวทีโลกยุคดิจิทัล

โดยเทคโนโลยี Cloud Computing จัดเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในระยะเวลาที่ผ่านมา และได้วางแผน ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในเรื่องบุคลากร ตลอดจนความพร้อมในเรื่องนโยบายและกฎหมาย โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) จัดงานสัมมนา “Digital Economy and Cloud Computing Scorecard” สำหรับผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องกรอบนโยบายและกฎหมายของประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing ความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะประเมินความพร้อมของกรอบนโยบายและกฎหมายของประเทศต่างๆ เหล่านี้ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ ที่เรียกว่า เศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล

“งานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมทางด้านนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล (Digital Economy) ของ 14 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบ โดยผลการศึกษานี้เน้นในเรื่องความพร้อมสำหรับการรองรับเทคโนโลยี Cloud Computing รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนจะสามารถนำกลับไปพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากรอบนโยบายและกฎหมายในส่วนงานได้

เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะมีจุดแข็งอย่างชัดเจนในกรอบนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Cloud Computing แต่ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสที่จะพัฒนากรอบนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีความพร้อมที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค และให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Cloud Computing ” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1611

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นสร้างบริการภาครัฐยุคใหม่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

September 5th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา หัวข้อ “บริการภาครัฐยุคใหม่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ว่า การพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้เร่งรัดพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม และการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท ช่วยสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยกระดับคุณภาพการศึกษา เสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ตลอดจนส่งเสริมการลดใช้พลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

การดำเนินงานส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ประสบความสำเร็จ คือ การสนับสนุนให้มีบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างแพร่หลาย ดังนั้น จึงควรมีการผลักดันและจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินงานให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แก่ประชาชน โดยบริการอิเล็กทรอนิกส์หลักๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก คือ บริการ e-Government เช่น การทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ ทะเบียนราษฎร์อิเล็กทรอนิกส์ บริการ e-Education คือ การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรูปแบบต่างๆ บริการ e-Health คือ การบริการสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ และบริการ e-Agriculture คือ การบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร ซึ่งการผลักดันบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เหล่านี้ ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางเข้ารับบริการต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ขณะที่ในบางประเทศ ได้มีการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จนประสบความสำเร็จและมีการดำเนินงานอย่างแพร่หลายแล้ว ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาบริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ เช่น การบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านสาธารณสุขในประเทศอินเดีย หรือแถบประเทศยุโรป มาประกอบการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การวางกรอบแผนการดำเนินการบริการภาครัฐบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสัมฤทธิ์ผล กระทรวงฯ จึงได้จัดการประชุมสัมมนา Smart Thailand ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลในการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริการภาครัฐทั้ง 4 ด้าน ตลอดจนเปิดรับฟังความคิดเห็นและร่วมอภิปรายแนวคิดดังกล่าว เพื่อการพัฒนาโครงข่ายและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

“ประเทศไทยมีความสามารถและศักยภาพในการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐที่ไม่แพ้ประเทศอื่น ซึ่งโครงข่ายความเร็วสูงนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายด้านอื่นของรัฐบาล เช่น นโยบายการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน การสร้างสันติสุขและความปลอดภัยให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถใช้โครงข่ายในการให้บริการด้านสาธารณสุขทางไกล รวมทั้งนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงฯ จึงหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้มีการร่วมกันให้ข้อมูล และร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การดำเนินโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และก่อประโยชน์สูงสุดให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูล และบริการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยต่อไป” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1494

ก.ไอซีที ระดมความคิดเห็นวางนโยบายรัฐเพื่อบริหารดาวเทียมสื่อสารในประเทศ

September 3rd, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “นโยบายของรัฐในการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ” ว่า ปัจจุบันนานาประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการอวกาศและถือเป็นนโยบายระดับชาติที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนและพัฒนากิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอวกาศของประเทศ ก็คือ ประเด็นด้านความมั่นคงของรัฐ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศได้ใช้กิจการอวกาศเป็นเครื่องมือในการสะสมองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่ความเป็นผู้นำด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในระยะยาว ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ดังนั้น กระทรวงไอซีที ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจในการกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ จึงต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานและผลักดันไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน ตลอดจนวางรากฐานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอวกาศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

และเพื่อให้การผลักดันภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ จึงต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติงานที่สอดคล้อง รวมทั้งเพื่อพัฒนาแนวนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดสัมมนาเรื่อง “นโยบายของรัฐในการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย” และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านกิจการอวกาศ อาทิ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มาร่วมให้ความรู้เชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดเอกภาพในการประสานงานและพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยในอนาคต

“การสัมมนาฯ นี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในกรอบนโยบายของรัฐ ในการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ และเสริมสร้างความเข้าใจในบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านกิจการอวกาศที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวคิดทิศทางการพัฒนานโยบายอวกาศของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนโอกาสและการลงทุนในกิจการดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับรูปแบบของการสัมมนาฯ จะเป็นการบรรยาย และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหัวข้อ กรอบนโยบายด้านการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ ข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ITU Policy and Regulations for Satellite Services และโอกาสในการลงทุนกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย เป็นต้น โดยกระทรวงฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงาน องค์กรด้านกิจการอวกาศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 100 คนเข้าร่วมการสัมมนาฯ

“กระทรวงฯ หวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในกรอบนโยบายของรัฐในการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย และประเด็นข้อกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ และผลักดันนโยบายด้านกิจการอวกาศของประเทศให้เป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดเอกภาพในการประสานงานและพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยในอนาคตต่อไป” นางจีราวรรณ กล่าว

Huawei

View :1448

ก.ไอซีที เดินหน้าแผนแม่บทฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 80% ของประชาชนเข้าถึงบรอดแบนด์ในปี 2558

August 31st, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึง ความคืบหน้าโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า กระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทบรอดแบนด์แห่งชาติ ทั้งด้าน Supply Side ซึ่งเป็นแผนการลงทุนกระจายโครงข่ายสื่อสารผ่านบรอดแบนด์ไปทั่วประเทศตามเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าถึงประชาชนร้อยละ 80 ภายในปี 2558 และแผนแม่บทด้าน Demand Side ซึ่งเป็นแผนการใช้งานโครงข่ายบรอดแบนด์โดยภาครัฐเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในภาครัฐเอง

โดยแผนแม่บทด้าน Supply Side นั้นจะประกอบด้วยแผนการลงทุนจัดหาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้เข้าถึงประชาชนตามเป้าหมายโครงการ และแผนการจัดตั้งหน่วยงานบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่จัดหา และบริหารโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้ประกอบการภาคเอกชน และ กสทช. ในการรวบรวมข้อมูล และความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนแม่บทที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็น ในวันที่ 9 กันยายน 2554 นี้ โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญ ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมอภิปรายรูปแบบโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติในต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับประเทศไทย เพื่อนำผล ที่ได้จากการสัมมนามาประกอบการทำแผนแม่บทฯ ต่อไป

ส่วนแผนแม่บทด้าน Demand Side จะประกอบด้วยแผนการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านต่างๆ แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นบริการหลักๆ ที่ให้กับประชาชนโดยรวมของประเทศ ใน 4 ด้าน ได้แก่ e-Education, e-Agriculture, e-Government และ e-Health ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนแม่บทฯ ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นสำหรับการจัดทำแผนแม่บทด้าน Demand Side นี้ในวันที่ 5 กันยายน 2554 และนำผลที่ได้จากการสัมมนามาประกอบการทำแผนแม่บทฯ ด้วยเช่นเดียวกัน

“กระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนแม่บทฯ แล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะได้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำหรับใช้เป็นกรอบการลงทุนและดำเนินการโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติต่อไป โดยคาดว่าโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ ถือเป็นโครงการสำคัญลำดับต้นๆ ที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ความสนใจและเร่งผลักดันให้เริ่มดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2555 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานแก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยลดค่าบริการ รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐสำหรับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ซึ่งโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาตินี้ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางจีราวรรณ กล่าว

View :1652

ก.ไอซีที เปิดตัวเว็บท่า www.pwdsthai.com สำหรับคนพิการ เพื่อบูรณาการข้อมูลสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม

August 11th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดใช้งานเว็บท่าสำหรับคนพิการ ว่า กระทรวงไอซีทีมีนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับคนพิการ เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยการพัฒนาเว็บท่า (Web Portal) สำหรับคนพิการ ในชื่อว่า เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลให้คนพิการ ได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

“เว็บท่าสำหรับคนพิการนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การใช้ชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมในสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนพิการกับหน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว” นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับจุดเด่นของเว็บท่าสำหรับคนพิการ คือ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วยเทคนิค TWCAG 2.0 เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นลักษณะ One Stop Service เช่น ข่าวสารแวดวงคนพิการ ความรู้เกี่ยวกับคนพิการ สถิติข้อมูลคนพิการ สุขภาพกายและจิตใจของคนพิการ บริการด้านการศึกษาของคนพิการ บริการด้านอาชีพของคนพิการ บริการด้านกีฬาและนันทนาการของคนพิการ บริการด้านสังคมของคนพิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ระบบให้ – ยืมคืนอุปกรณ์เครื่องมือ ระบบจัดเก็บข้อมูลครุภัณฑ์คนพิการที่ดำเนินการติดตั้ง ณ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น เพื่อให้สอดรับกับการออกกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ที่ได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีผลให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต้องจัดทำข้อมูล ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้ แต่จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐมากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้จัดทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานสำหรับคนพิการตามมาตรฐาน TWCAG ดังนั้น ในเว็บท่าสำหรับคนพิการนี้จึงมีข้อมูลความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้รวมอยู่ด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถศึกษาและปรับปรุงเว็บไซต์ตามมาตรฐาน TWCAG อีกทั้งเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย” นางจีราวรรณ กล่าว

ส่วนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมพัฒนาเว็บท่าสำหรับคนพิการนั้น กระทรวงฯ จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่คนพิการและผู้สนใจทั่วประเทศ โดยจะจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pwdsthai.com

View :1642

ก.ไอซีที แนะวิธีหลีกเลี่ยงภัยจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ในลักษณะ Impersonation

August 6th, 2011 No comments

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของสังคมเครือข่าย () เช่น facebook, hi5, twitter ได้ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ในลักษณะของการ “บอกต่อ” หรือ “ปากต่อปาก” ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งได้ ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการกำหนด และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยทั้งที่เป็นผู้รับสารรวมถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว ยังมีผู้ไม่ประสงค์ดีที่ใช้ไปในทางไม่เหมาะสม เช่น การเผยแพร่ข้อมูล เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล สถาบัน หรือก่อความไม่สงบ โดยปัจจุบันมีภัยจากเครือข่ายสังคมออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า หมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นจากการที่มิจฉาชีพสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ปลอมเพื่อหลอกลวงให้ผู้อื่นเชื่อว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นของผู้นั้นจริง โดยผู้ที่ทำการลอกเลียนแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น จะพยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับของผู้ที่ถูกทำ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการคนอื่นเข้าใจผิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ที่ถูกทำฯ ซึ่งอาจส่งกระทบในทางลบทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น เมื่อประสบภัย Impersonation วิธีการปฏิบัติ คือ หากเป็นผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation ใน twitter ที่จะมีคนติดตาม หรือ Follow ซึ่งระบบนี้จะมีกล่องข้อความแจ้งชื่อผู้ติดตามให้ทราบ โดยผู้ที่ถูกกระทำไม่ควรยกเลิกการแสดงข้อความดังกล่าว เพราะจะเป็นหลักฐานว่ามีใครบ้างที่ติดตามเรา ซึ่งปกติแล้วผู้ที่กระทำ Impersonation จะทำการติดตามผู้ที่ถูกกระทำ Impersonation เพื่อสังเกตพฤติกรรมและคอยติดตามลักษณะการพูดคุยและการดำเนินชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ซึ่งข้อความเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานได้

ส่วนผู้ที่ถูกทำ Impersonation ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ควรดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานทันที เมื่อทราบว่ามีผู้กระทำ Impersonation โดยอ้างอิงชื่อเรา หลังจากดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ควรจะแจ้งให้ผู้ใช้อื่นที่ติดตามเราในเครือข่ายทราบว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่ใช่ตัวตนของเราพร้อมแจ้งให้ทราบว่าการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการสนทนาของเรา

จากนั้นดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เช่น สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการออกหนังสือในการยื่นคำร้องขอ IP Address จากทางบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นหนึ่งในหลักฐานในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดและเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

View :1485

ก.ไอซีที จัดอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด

July 14th, 2011 No comments

นายวรพัฒน์  ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชาสัมพันธ์ “หลักสูตรการอบรมคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิด” ว่า ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ () ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและใช้งานกันอยู่ทั่วไป เช่น ข้อมูลที่อยู่ในรูปของทะเบียน ข้อมูลสถิติ เป็นต้น  และประเภทที่ 2 ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) หมายถึง ข้อมูลที่แสดงถึงวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นโลก  และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งแสดงอยู่ในรูปของตำแหน่งโดยกำหนดเป็นพิกัด (Coordinate) ข้อมูลดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาในลักษณะที่เป็นข้อมูล จะเรียกว่า ข้อมูลเชิงพื้นที่

“ในปัจจุบันข้อมูลเชิงพื้นที่ได้มีกระบวนการจัดทำและผลิตที่ก้าวหน้าไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำและผลิตข้อมูลดังกล่าว  นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีความต้องการที่จะนำไปใช้งานในการจัดการเชิงพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย ในขณะเดียวกัน ชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ในระบบรหัสเปิด ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่สามารถหามาใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เริ่มมีการใช้งานในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งแม้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักแต่บางส่วนก็มีศักยภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชุดคำสั่งประยุกต์ที่ใช้ในการจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งจัดซื้อมาในราคาแพง แต่ปัญหาที่สำคัญของชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่ระบบรหัสเปิด คือ ใช้งานได้ค่อนข้างยาก และยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าที่ควร  ทำให้ผู้ใช้ยังขาดความคุ้นเคย และไม่กล้าที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานจริง” นายวรพัฒน์ กล่าว

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ จึงได้มีการจัดทำโครงการศึกษาและพัฒนาชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดด้านภูมิสารสนเทศทั้งระบบขึ้น รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรมหลักเป็นการฝึกอบรมชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดให้ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย Desktop GIS, Web-based GIS, Photogrammetry และ Remote Sensing ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและผู้สนใจจากกลุ่มต่างๆ

“การจัดอบรมฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประยุกต์ใช้ชุดคำสั่งประยุกต์ด้านการจัดการเชิงพื้นที่รหัสเปิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้งานในทุกภาคส่วน และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คำสั่งฯ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน   พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมฯ ทั้งหมดประมาณ 103 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 61 แห่ง หน่วยงานภาคเอกชน 18 แห่ง และสถาบันการศึกษา 24 แห่ง” นายวรพัฒน์ กล่าว

View :1500

ก.ไอซีที ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไอซีที

July 1st, 2011 No comments

นางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หลังจากประกาศใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการออกอนุบัญญัติ ได้แก่ กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบใหม่ รวมทั้งได้มีการปรับแก้พระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติต่างๆ เพื่อรองรับกับกฎหมายดังกล่าวอีกหลายฉบับ   โดยในส่วนของกระทรวงไอซีที นั้น ได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ตามมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการฯ เช่นกัน ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 และจะมีผลใช้บังคับหลังครบกําหนด 180 วันนับแต่วันประกาศฯ

“ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงไอซีที จึงมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการสื่อสาธารณะ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารที่อยู่ในความควบคุมดูแล โดยให้มีรูปแบบวิธีการ หรือช่องทางที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น การปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ หรือ ซึ่งคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญ คือ การออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม การจัดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร ให้เป็นไปตามความต้องการพิเศษของคนพิการแต่ละประเภท”  นางจีราวรรณ กล่าว

สำหรับประโยชน์ที่คนพิการจะได้รับจากกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ก็คือ การได้รับข้อมูลข่าวสาร  การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ จากหน่วยงานของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งการได้รับบริการจากรัฐ คือ กระทรวงไอซีที ในการขอรับรายการอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการใช้ยืมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์  อุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์ เครื่องปริ้นเตอร์อักษรเบรลล์ เครื่องอ่านหนังสือสำหรับคนพิการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์อ่านหน้าจอ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ขยายจอภาพ เป็นต้น

นอกจากนั้นกฎกระทรวงดังกล่าว ยังจะทำให้คนพิการ และผู้ดูแลคนพิการได้รับการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร หรือบริการสื่อสาธารณะอย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งการออกกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้คนพิการ ทั้งในเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ การไม่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงปัญหาคนพิการทางสายตาที่ไม่รู้อักษรเบรลล์  โดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ จะต้องมีการพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยผ่านทางเว็บไซต์ รวมทั้งปรับปรุงเว็บไซต์ให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีการจัดการฝึกอบรมด้าน ICT ให้แก่คนพิการ จัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกตามความรับผิดชอบทางกฎหมาย ตลอดจนการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ให้แก่ผู้พิการที่ไม่รู้อักษรเบรลล์ อีกด้วย

View :1702

ก.ไอซีที แจงคืบหน้าตั้ง บจ.สินเชื่อไปรษณีย์ไทย

July 1st, 2011 No comments

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าการจัดตั้งโครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย ว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สินเชื่อไปรษณีย์ไทย จำกัด (สปณ.) ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังได้มีหนังสือแจ้งรายชื่อคณะกรรมการของ สปณ.

“นับแต่ได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัท คณะกรรมการ สปณ.ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ เช่น การเลือกตั้งรองประธาน กรรมการ สปณ. การเลือกตั้งรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สปณ. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ สปณ. ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการ สปณ. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ค.54 โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน จากกระทรวงการคลัง ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบงาน IT และกระบวนการบริหารจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถออกแบบบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด” นายจุติ กล่าว

นอกจากนั้นคณะกรรมการ สปณ. ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารงานบุคคลในเรื่อง การกำหนดโครงสร้าง อัตรากำลัง และแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน   รวมทั้งยังได้พิจารณาวิธีการปฏิบัติงานด้านการเงินของ สปณ. การว่าจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้สอบบัญชี และการทำประชาพิจารณ์   พร้อมกันนี้คณะกรรมการ สปณ. และผู้บริหาร ปณท ได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนกว่า 300 คนที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2554 โดยได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ รวมถึงรับรู้ความต้องการและทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าการให้สินเชื่อของ สปณ. มิได้เป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาล และไม่ต้องการให้เป็นการเพิ่มภาระหนี้กับประชาชน พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอแนะความคิดเห็น และตอบข้อซักถาม ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ พบว่าประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ มาก่อนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรการเงินชุมชนในพื้นที่ ส่วนประชาชนที่ยังไม่เคยกู้เงินจากสถาบันการเงินและแหล่งเงินกู้ใดๆ เลยมีอยู่จำนวนไม่มากนัก เช่น กลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นที่จะกู้เงิน กลุ่มที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน กลุ่มที่อยู่กับพ่อแม่แต่ต้องการแยกครอบครัว กลุ่มแม่บ้าน เป็นต้น

View :1410

ก.ไอซีที ติดตั้งครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ให้คนพิการ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม

February 28th, 2011 No comments

นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวโครงการติดตั้งครุภัณฑ์คนพิการและพิธีมอบครุภัณฑ์คนพิการ ว่า กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน ครู ผู้ปกครอง และชาวบ้าน ตลอดจนคนพิการและผู้สูงอายุ ได้รับโอกาสในการเข้าถึงและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงด้านข้อมูลข่าวสาร โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้  ICT ชุมชน ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้จัดตั้งไปแล้ว จำนวน 879 ศูนย์ และกำลังจะดำเนินการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,000 ศูนย์ พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการติดตั้งครุภัณฑ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มเติมในศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สมาคม มูลนิธิ ศูนย์ฝึกอาชีพ และมหาวิทยาลัย จำนวน 120 แห่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เพื่อเป้าหมายให้เกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงโลกดิจิทัล  ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
“นโยบายการติดตั้งครุภัณฑ์คนพิการและผู้สูงอายุนี้ มุ่งหวังเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัล โดยมุ่งเน้นให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้ามาใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน  ซึ่งในการดำเนินการนั้น จะมีการติดตั้งอุปกรณ์และโปรแกรมสำหรับคนพิการทางการมองเห็น คนสายตาเลือนราง คนพิการทางการได้ยิน คนพิการทางการสื่อความหมาย และผู้สูงอายุ อาทิ  โปรแกรมอ่านจอภาพ และโปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย (ตาทิพย์) ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยในการเข้าถึง ไอซีที สำหรับคนพิการทางสายตา ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีการจัดหาเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์เพื่อพิมพ์เอกสารเป็นอักษรเบรลล์ให้คนพิการทางสายตาสามารถอ่านเอกสารสิ่งพิมพ์ได้ และยังมีชุดอุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้พิการที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร เช่น ชุดอุปกรณ์ช่วยพูดพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้มีความบกพร่องทางการสื่อสารให้สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ
กระทรวงฯ หวังว่าการดำเนินงานกิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านไอซีที  ให้แก่กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้วยไอซีที และเพิ่มพูนทักษะการใช้ไอซีทีมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถนำ องค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ต่อไป” นางสาวจิตภัสร์ กล่าว
สำหรับรายละเอียดการดำเนินการติดตั้งครุภัณฑ์คนพิการครั้งนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 รายการ ได้แก่ 1.โปรแกรมอ่านหน้าจอภาษาอังกฤษ (Screen Reader) 2.โปรแกรมอ่านหน้าจอภาษาไทย (Thai Jaws Braille) 3.โปรแกรมแปลง   สื่อสิ่งพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ 4.โปรแกรมแปลงสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ภาษาไทย 5.โปรแกรมแปลงภาพเป็นอักษรและเสียงสังเคราะห์ 6.โปรแกรมสังเคราะห์เสียงภาษาไทย (ตาทิพย์) 7.โปรแกรมขยายจอภาพ 8.โปรแกรมแปลงภาพเป็นอักษรภาษาอังกฤษ (Open Book) 9.โปรแกรมแปลงภาพเป็นอักษรภาษาไทย (Arnthai) 10.อุปกรณ์ช่วยพูดพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง 11.เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Braille Printer) 12.โต๊ะวางเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์  และ13. กระดาษเฉพาะสำหรับเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์  ซึ่งรายการครุภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยให้คนพิการสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

View :1885