Archive

Posts Tagged ‘กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)’

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมรุกคืบครั้งใหญ่ สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์หวังเชื่อมระบบซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรมผ่านโลกออนไลน์

June 15th, 2011 No comments

ปีแรกเน้นจับคู่ทางธุรกิจดึงโรงงานกับเอสเอ็มอีมาเจอกัน คาดลดต้นทุนสินค้าคงคลังได้อื้อ ประเดิมอุตฯรองเท้าและเครื่องนุ่งห่มนำร่อง

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดี กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ของกสอ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้สร้างระบบ e-supply chain หรือระบบห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาต่อยอดจากระบบ e-market place หรือระบบการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการพัฒนาการซื้อขายสินค้าอุตสาหกรรมระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ หรือ B2B ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

จุดมุ่งหมายหลักของระบบ e-supply chain ของกสอ.แตกต่างจากการสร้างระบบ e-market place เดิมที่มุ่งเน้นแต่การโชว์สินค้าเพื่อขาย หรือเป็นเพียงแค่แคตตาล็อคสินค้า แต่ในระบบใหม่จะมีการเพิ่มเติมแอพพลิเคชันและกลายเป็นเว็บไซต์สำหรับผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย และต้องการให้เกิดการทำ Business Matching หรือการจับคู่ทางธุรกิจ เพื่อเป็นห่วงโซ่ข้อแรก ทำให้โรงงานต่างๆ สามารถเข้าถึงการซื้อวัตถุดิบจาก SMEs ขนาดเล็กได้โดยตรง

ที่ผ่านมาเป้าหมายการซื้อขายผ่านระบบ B2B ในโครงการ ECIT มีการปรับเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยในปีนี้อยู่ที่ 100 ล้านบาท และมีอุตสาหกรรมเข้าร่วมกว่า 4,000 ราย แม้ยอดการขายจะไม่มากเพราะต้องการเน้นให้ผู้ซื้อขายทำธุรกรรมผ่านระบบปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงการ ECIT มีฐานข้อมูลที่ผ่านระบบออนไลน์ขนาดใหญ่เกิดขึ้น เป็นฐานข้อมูลที่มีตัวตนจริง และผ่านการคัดกรอง รวมถึงมีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมา สร้างประโยชน์สำหรับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมประเทศไทยในอนาคต นั่นคือการเกิดของระบบ e-Supply Chain

“ผู้ประกอบการทั้งโรงงานและธุรกิจ SMEs ที่เข้ามานำเสนอสินค้าวัตถุดิบผ่านระบบ e-supply chain ของกสอ. จะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องเข้ามาสร้าง หน้าร้านให้ลูกค้าที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมทั้งหลายได้รู้จักผ่าน Template หรือเว็บไซต์แม่แบบของกสอ. ซึ่งจะมีระบบเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ส่วนตัว เว็บไซต์สมาคม และเชื่อมผ่านระบบ Social network ยอดนิยมอีกด้วย เพียงแต่เข้ามาแก้ไขข้อมูลทั้งในส่วนของบริษัท สินค้า ราคา และคัดเลือกสินค้าจากผู้ผลิตที่ต้องการ ห่วงโซ่ข้อแรกของอุปทานก็จะเกิดขึ้นและจะเชื่อมโยงไปสู่โซ่ข้อต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด” ดร.พสุกล่าว

เป้าหมายของระบบ e-supply chain ในปีนี้จะเริ่มทดลองกับอุตสาหกรรมสองประเภทคือ อุตสาหกรรมรองเท้ากับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยทำงานผ่านส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย โดยมีสมาชิกของสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ( ATSME) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายย่อยที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเข้ามาเชื่อมต่อให้ครบทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งจะทำให้มีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 5,000 ราย ซึ่งในปีแรกจะยังไม่มุ่งหวังเรื่องยอดขาย แต่มุ่งหวังให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ และสร้างเครื่องมือทางโปรแกรมเพื่อทำให้ความต้องการของทั้งสองฝ่ายตรงกันก่อน

การเชื่อมโยงแบบนี้จะมีประโยชน์กับฐานข้อมูลใหญ่ของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากหลายครั้งที่ข้อมูลของแต่ละส่วนไม่ตรงกันทำให้การกำหนดนโยบายทางภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปส่งเสริม หรือแก้ไขปัญหาทำได้ยาก รวมถึงการค้นหาข้อมูลเพื่อติดต่อค้าขายกับต่างประเทศก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่เมื่อมีการจัดระบบทั้งหมดก็จะทำให้เกิดรากฐานใหญ่ทั้งระบบต่อไป อีกทั้งในอนาคตยังนำระบบทั้งหมดเชื่อมโยงกับโปรแกรมบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร หรือ Enterprise Resource Planning ( ERP ) ผ่านระบบ Cloud Computing ที่ ECIT สนับสนุนให้ SME ดำเนินการก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นเพียงแค่นำฐานข้อมูลของระบบ e-Supply Chain มาปรับแต่งให้ตรงกับฐานข้อมูลของ SME ที่ใช้งานผ่าน ERP ก็จะทำให้ข้อมูลภายในของ SME เชื่อมโยงกับระบบ e-Supply Chain ในทันทีด้วยความถูกต้องแม่นยำ และเป็นระบบมากที่สุด

ศ.ดร ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ทำวิจัยระบบ e-supply chain ต่อยอดจากระบบ e-market place เพื่อรองรับกลุ่มผู้ประกอบการจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนสามารถสร้างเป็นโซลูชันที่ช่วยเหลือทางด้านการซื้อขายในภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ตั้งแต่การเพิ่มระบบ E-Catalog to Bill of Materials (BOM) คือระบบที่สามารถจำแนกชิ้นส่วนย่อย จากสินค้าที่ขายสู่ลูกค้า ว่าจะต้องใช้ชิ้นส่วนย่อยกี่ชิ้น ซื้อกับซัพพลายเออร์ใครบ้าง ต้องใช้ของเมื่อไร ต่อด้วยระบบ E-Procurement คือระบบที่ทำหน้าที่ต่อจาก BOM ในการจัดตารางการจัดซื้ออย่างเป็นระบบ ให้ได้มาซึ่งชิ้นส่วนย่อยทุกชิ้นที่ต้องการ มี E-Logistics คือระบบที่สามารถตรวจสอบระยะทางระหว่าง บริษัทกับซัพพลายเออร์แต่ละราย ผ่านระบบแผนที่ออนไลน์ ซึ่งจะสามารถคำนวนต้นทุนการขนส่งได้อย่างละเอียด และมีส่วนในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมระบบ Green Industry คือระบบที่บริษัทในเครือข่าย e-Supply chain สามารถทำการแลกเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ เครื่องจักรมือสอง เครื่องมือมือสองและเศษของเสียจากการผลิต ที่จะทำให้เกิดการลดต้นทุนในการซื้อของใหม่และยังสนับสนุนให้มีการรักษ์โลกมากขึ้นด้วย

ภาพที่จะปรากฏชัดในยุคต่อไปคือว่า ผู้ผลิตตัวจริง หรือเจ้าของสินค้าจะก้าวเข้ามาทำธุรกิจบนเว็บมากขึ้น รูปแบบของ e-Business จะเข้ามาแทนที่ e-Commerce ส่งผลให้องค์กรที่เข้าสู่ระบบนี้จะเข้าถึงซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการสร้างเครือข่าย ให้ครอบคลุมในรูปของกิจกรรมของ e-Business จากเฉพาะกิจกรรมการเชื่อมต่อเครือข่ายเฉพาะภายในบริษัท เป็นการเชื่อมต่อกับองค์กรภายนอกอย่างสมบูรณ์แบบ

นายครรชิต   จันทนพรชัย    นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย ( ATFIP) เปิดเผยว่า สมาคมจะนำกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า เข้าสู่ระบบ e-supply chain ของโดยจะมีการจัดสัมมนาชี้แจง และอบรมให้อย่างเร่งด่วน จากนั้นจะเชื่อมโยงผู้ผลิตกลุ่มอื่นๆ และทำการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพด้านการผลิตและจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตวัตถุดิบ เข้าสู่ระบบ e-supply chain โดยคาดว่า e-supply chain นี้จะสามารถทำให้ผู้ผลิตรองเท้าหาสินค้ามาผลิต รวมทั้งเลือกสินค้าทดแทน หรือสินค้าที่ใช้ข้ามกลุ่มได้ง่าย สามารถที่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้าและผู้ผลิตโดยตรง

ระบบ e-supply chain   จะลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสื่อสาร และสร้างความสะดวกทางการค้าให้กับอุตสาหกรรมรองเท้าเป็นอย่างดี เนื่องจากมีอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน   ผลประโยชน์ทั้งทางตรงหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ หนัง ผ้า พื้นรองเท้า ส้นรองเท้า เป็นต้น การซื้อขายระหว่างกันได้หลากหลายทำให้เกิดการพัฒนาภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนการการจำหน่าย และช่วยสร้างความสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมากขึ้น การนำเสนอสินค้าตัวอย่าง การผลิตสินค้า รวมไปถึงการส่งมอบสินค้าได้เร็วขึ้น ( Lead Time Reducing)

นอกจากนั้นยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีไอทีเพื่อสิ่งแวดล้อม ( Green Technologies) ให้กับอุตสาหกรรมรองเท้า ในด้านการบริหารจัดการสินค้าและวัตถุดิบคงคลัง ลดปริมาณคงเหลือสินค้าคงคลัง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุมจม และเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมรองเท้า ส่งเสริมนโยบาย 3 R (Reduce ,Reuse and Recycle)

จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า ผู้ผลิตโรงงานรองเท้าในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ   2,251 ราย จำแนก เป็นโรงงานขนาดเล็ก 1,484 ราย โรงงานขนาดกลาง   742 ราย และที่เหลือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมากกว่า 2,000 คน จำนวน    25 ราย มีโรงงานที่ผลิตรองเท้าหนัง รองเท้าแตะ และชิ้นส่วนประกอบรองเท้า ประมาณ 1,758 ราย ที่มีการใช้วัตถุดิบ หนัง หนังฟอก หนังเทียม ประมาณ 213,111,120 ฟุตต่อปี เหลือใช้คงคลัง ประมาณ40,691,120 ฟุตต่อปี คิดเป็นมูลค่าของต้นทุนจมถึง 762,958,605 บาท นอกจากนี้มีการใช้ชิ้นส่วนประกอบรองเท้า ประเภทพื้นและส้นประมาณ   98,375,616 คู่ต่อปี และปริมาณเหลือใช้คงคลังเฉลี่ยต่อปี 9,090,816 คู่ ต้นทุนจมที่ในระบบคิดเป็นมูลค่า 525,247,146 บาท

ดังนั้นหากนำเอา ระบบ e-supply chain มาใช้กับอุตสาหกรรม จะการใช้วัตถุดิบเหลือใช้คงคลังของผู้ผลิตรองเท้าซึ่งมีการใช้อยู่เพียง 5 % เท่านั้น เพิ่มขึ้นเป็น 20% ถึง 30%   ซึ่งเท่ากับว่า นอกจากจากจะลดต้นทุนจมให้กับผู้ประกอบการผลิตรองเท้าที่มีวัตถุดิบเหลือใช้เกินความจำเป็นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่มีกำลังซื้อวัตถุดิบหลากหลาย เข้ามาเลือกซื้อวัตถุดิบจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางที่มีวัตถุดิบเหลือได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากผลของการใช้ e-supply chain ที่นำมาใช้บริหารจัดการวัตถุดิบเหลือใช้ในระหว่างอุตสาหกรรม ( Dead Stock Recycle) เพียง 5% ของทั้งหมดจะทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรองเท้าและประเทศ   ต้นทุนจมที่เกิดจากการนำวัตถุดิบหนังคงเหลือใช้กลับมาใช้จะลดลงประมาณ 38,147,930 บาท , และที่เกิดจากการนำพื้นรองเท้าคงเหลือกลับมาใช้ประมาณอีกประมาณ 26,262,357 บาท สรุปรวมลดต้นทุนจมให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมถึง 64,410,287 บาท และยังทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในค่าขนส่งที่แฝงอยู่ในราคาขายถึง 1,288,205 บาทต่อปี ได้ด้วย

นอกจากนี้ e-supply chain จะก่อให้เกิดผลดีทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมคือ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการค้าข้ามอุตสาหกรรม Cross Section Industry เช่น การสั่งซื้อรองเท้า ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการค้าได้อย่างมาก

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า จากที่ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าในแบบต่างๆ ได้เข้าไปอยู่ในระบบ e-market place ของทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจะมีฝ่ายจัดซื้อทั้งในและต่างประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงรู้จักแหล่งของวัตถุดิบ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้ดีอยู่แล้ว และรูปแบบการซื้อขายปกติทางผู้ผลิตวัตถุดิบจะเข้ามานำเสนอทางออกของปัญหาในการผลิต เพื่อทำให้โรงงานเครื่องนุ่งห่มเลือกสินค้านั้นๆ มาทดแทนสินค้าเก่า ทำให้ระบบ e-supply chain ปกติที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะเข้ามาสู่ระบบได้ค่อนข้างยาก

ระบบ e-supply chain ของทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นการอุดช่องว่าง เหล่านี้ โดยจะทำให้โรงงานเครื่องนุ่งห่มทั้งหลายได้เห็นกลุ่มซัพพลายเออร์กลุ่มใหม่ ซึ่งต่อไปทางสมาคมจะร่วมกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดกิจกรรมเพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบได้มาร่วมกิจกรรมกับทางเจ้าของโรงงานที่เป็นสมาชิกสมาคม เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์เรียนรู้ปัญหา และพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการซึ่งกันและกัน หลังจากนั้นก็จะใช้ระบบนี้เชื่อมโยงในการซื้อขายในที่สุด

ส่วนเรื่องของ dead stock management นั้น ทางสมาคมได้หารือกับทางม.พระนครเหนือแล้ว โดยเฉพาะความกังวลของระบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่คือ ระบบส่วนใหญ่มักไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ทันท่วงที เกิดปัญหาการ update ข้อมูลไม่ทัน ทำให้สินค้า dead stock ที่แจ้งยังไม่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ เมื่อผู้ซื้อต้องการสินค้ากลับไม่มีสินค้าอยู่จริง ดังนั้นระบบของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีความยืดหยุ่นและจะเน้นสร้าง Trust หรือความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้อย่างสูงสุด รวมถึงการชี้แจงข้อมูลของสินค้า dead stock อย่างละเอียด เช่น เป็นสินค้าเกรดเอ หรือบี ต้องไม่ทำให้เกิดความสงสัยถึงคุณภาพของสินค้ากลุ่มนี้ได้

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ( ATSME) เปิดเผยว่าสมาชิกของสมาคม ATSME ที่เข้าร่วมกับโครงการนี้มีอยู่กว่า 7,000 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ 5 ภาค และ 11 เขตศูนย์ภาค เป็นฐานในการสนับสนุนและส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นน้ำไปสู่อุตสาหกรรมหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาระบบ e-market place ถือเป็นจุดเริ่มแรกของเปิดตลาดสู่ภาคอุตสาหกรรม

เมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผลักดันให้เกิดระบบ e-supply chain เกิดขึ้น ยิ่งจะทำให้กลุ่มลูกค้าของโรงงาน SMEs มีเว็บแอพพลิเคชันทางด้านกระบวนการทำงานรองรับ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กลาย เป็นช่องทางในการสื่อสารการตลาดมากกว่า 1 ทาง คือ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสื่อสารกันได้ด้วยข้อมูลที่แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อไปนี้ระบบเว็บของสมาชิกสมาคมจะถูกจัดรวมกลุ่ม และมองเห็นกลุ่มผู้ซื้อที่ชัดเจน และสร้าง site reference ให้กับธุรกิจในทันที ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการผลิต การตลาด ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก สร้างความร่วมมือทางธุรกิจที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และเกิดการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ย่อยๆ ในห่วงโซ่อุปทานได้ เป็นการรวมกลุ่มที่ทำให้สามารถแบ่งปันทรัพยากร ( Share Resource ) ระหว่างกันได้ในกรณีที่เกิดปัญหาในกระบวนการ เช่น ด้านการจัดหาวัตถุดิบ และ/หรือสั่งซื้อวัตถุดิบมาเกินความต้องการใช้งาน

View :9447