Archive

Posts Tagged ‘กระทรวงไอซีที’

ประกาศแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้ร่างพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่

October 24th, 2013 No comments

โลโก้4องค์กร

ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (“”) ได้มีประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ได้ทำการประชาพิจารณ์ร่างพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสายสารสนเทศ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ได้พิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีรายละเอียดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก อันจะเห็นได้จากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการปิดบล็อคเว็บไซต์ให้ง่ายขึ้น โดยตัดส่วนของการกลั่นกรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีออกไป และให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มากขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งทำให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกละเมิด รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดรายละเอียดและมาตรฐานของการจัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 3 วัน อันขัดต่อแนวปฏิบัติและกฎกระทรวงท้ายพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่บังคับใช้อย่างน้อย 3 เดือน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายและมีการตีความในการใช้อำนาจเกินขอบเขต รวมทั้งก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข่าว อาทิเช่น กองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้เข้าแทรกแซงและควบคุมการติดต่อสื่อสารประเภทโซเชียลมีเดีย อันได้แก่ การกดไลค์ กดแชร์ ผ่านเฟซบุ๊ค การใช้ Line จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
2045
นอกจากนี้ เนื้อหาที่แก้ไขของกฎหมายฉบับนี้ ยังขัดต่อหลักโครงสร้างขั้นพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต และก่อให้เกิดความรับผิดแก่บรรดาผู้ประกอบการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการมือถือ ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วไป อันจะเห็นได้จากร่างกฎหมายที่ระบุให้การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์และการครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ลามกอนาจารที่ส่งผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและมือถือผิดกฎหมาย แม้ประมวลผลอัตโนมัติโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและก่อให้เกิดปัญหาในการตีความในภายหลัง ซึ่งขัดต่อหลักการร่างกฎหมายอาญาที่ต้องเคร่งครัดและรัดกุมเพื่อให้การตีความและบังคับใช้กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป ฯลฯ

ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ สื่อมวลชนที่กล่าวข้างต้นจึงขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและอาจก่อให้เกิดความสับสนในการตีความเพิ่มเติมมากกว่าเดิม โดยสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาของร่างที่ประกาศใช้พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และให้มีการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว และควรตั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อสารมวลชน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการเชื่อมต่อบนอินเตอร์เน็ต หรือผู้ประกอบการเว็บไซต์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เข้าร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณายกร่างดังกล่าวด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

View :1620

กระทรวงไอซีที ผนึกกลุ่มทรู ขยายบริการ “ICT Free WiFi by TRUE” สู่จังหวัดนครราชสีมา

November 30th, 2012 No comments

หนุนโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษา เพิ่มโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วไทย

กรุงเทพฯ 30 พฤศจิกายน 2555: โดย นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงไอซีที ร่วมกับ โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบายล์ และนายเจริญ ลิ่มกังวาฬมงคล ผู้อำนวยการบริหาร ธุรกิจทรูออนไลน์ ขานรับนโยบาย SMART THAILAND ประกาศความร่วมมือเปิดให้บริการ ขยายสู่ต่างจังหวัด ประเดิมนครราชสีมาเป็นที่แรก พร้อมเดินหน้าปักหมุดทั่วไทย สนับสนุนโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงทุกที่ที่มีสัญลักษณ์ ICT Free WiFi by TrueMove H โดยมี ดร. วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าบ้านให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมติณสูลานนท์ ศาลาว่าการจังหวัดนครราชสีมา

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “โครงการ ICT Free WiFi เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งวันนี้ คนเมืองในจังหวัดนครราชสีมาจะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงแบบไร้สายได้อย่างทั่วถึง อันจะเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการพัฒนาจังหวัดทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาของนักเรียนในจังหวัดที่จะสามารถใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สะดวกยิ่งขึ้น ณ จุดที่ให้บริการ ICT Free WiFi by TrueMove H เสริมประโยชน์โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา หรือ Tablet ที่กระทรวง ICT ได้ดำเนินการแจกจ่ายให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว ทั้งนี้ มั่นใจว่า โครงการ ICT Free WiFi ที่ได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มทรู ที่ให้การสนับสนุนร่วมเปิดพื้นที่ให้บริการ ICT Free WiFi by TRUE ครอบคลุมมากถึง 50,000 จุดทั่วประเทศ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยยกระดับการศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียน สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ด้วยตนเองแม้อยู่นอกห้องเรียน อันเป็นการส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรบุคคลในประเทศ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรู ชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลโดยกระทรวงไอซีที ได้ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีสื่อสาร โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ในโครงการ ICT Free WiFi อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ต่างจังหวัด จะสามารถเรียนรู้ได้ทัดเทียมคนในเมืองใหญ่ กลุ่มทรู ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ WiFi ที่มีโครงข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศ จึงยินดีและมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงไอซีที อำนวยความสะดวกให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านเครือข่าย WiFi by TrueMove H ได้ทุกเวลา ทุกที่ที่มีสัญลักษณ์ ICT Free WiFi by TrueMove H ในอำเภอเมือง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมั่นใจว่าจะร่วมสร้างประโยชน์ เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชน รวมทั้งมอบคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ด้านอย่างแน่นอน

ดร. วินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าบ้าน ขอขอบคุณกระทรวงไอซีที และกลุ่มทรู ที่เลือกจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดลำดับต้นๆ ในการเปิดให้บริการ ICT Free WiFi by TRUE ช่วยให้เด็กนักเรียนที่ได้รับแท็บเล็ตจากโครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ได้รับประโยชน์สูงสุด เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ผ่านเครือข่ายคุณภาพ ทุกจุดที่มีบริการ นอกจากนี้ยังเอื้อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะจังหวัดนครราชสีมามียุทธศาสตร์ที่ตั้งเป็นประตูสู่ภาคอีสาน การมีบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงให้บริการ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และประชาชนในจังหวัดได้เป็นอย่างมาก”

ด้วยความพร้อมของกลุ่มทรูทั้งทางด้านการให้บริการ และศักยภาพของโครงข่ายที่มีคุณภาพ และครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ จึงสามารถให้บริการ ICT Free WiFi by TRUE โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านฮอตสปอต WiFi by TrueMove H จำนวน 50,000 จุดทั่วประเทศ ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 2 Mbps ยิ่งไปกว่านั้น ทรูมูฟ เอช ได้สร้าง SSID ชื่อ ICT Free WiFi by TRUE เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สนใจเข้าใช้บริการได้ทันที โดยสามารถลงทะเบียนรับ Username และ Password เมื่อเลือกโครงข่าย ICT WiFi by TRUE เพื่อใช้งานได้วันละ 30 นาที รวม 15 ชั่วโมงต่อเดือน และสามารถลงทะเบียนใหม่เพื่อต่ออายุการใช้งานได้ทุกๆ 3 เดือน และใช้งานได้ทุกที่ที่มีสัญลักษณ์

View :1832

กระทรวงไอซีที จับมือกระทรวงพลังงาน สนองนโยบายรัฐบาลสู่สมาร์ทไทยแลนด์ นำร่องสร้างต้นแบบ PTT Free Wi-Fi by TOT

May 22nd, 2012 No comments

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ และเปิดโครงการ บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่สถานีบริการ ปตท. สาขาเพื่อสวัสดิการ ร.๑ รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีสองยักษ์ บมจ.ทีโอที และ บมจ.ปตท. นำร่องสร้างโมเดลความร่วมมือคืนประโยชน์ให้กับสังคม โดยร่วมกันให้บริการ อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ไม่คิดค่าใช้บริการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และยกระดับ ประเทศไทยในการจัดอันดับความพร้อมด้านไอซีที ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปี ๒๕๕๕ ไอซีที มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) เพื่อเตรียม พร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการพัฒนาด้าน ICT จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งความร่วมมือในการจัดโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่คิดค่าใช้บริการ PTT Free Wi-Fi by TOT ระหว่าง ปตท. และ ทีโอที จะเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการคืนประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อสนองนโยบายด้าน ICT สู่ Smart Thailand ส่งผลต่อการยกระดับประเทศไทยในการจัดอันอับความพร้อมด้านไอซีที ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือของ ปตท. และ ทีโอที ในการพัฒนาโครงการ PTT Free Wi-Fi by TOT ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศครั้งนี้ นับเป็นแบบอย่างความร่วมมือที่น่าชื่นชมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการแก่ประชาชนที่ดำเนินงานในรูปแบบเอกชน ด้วยการประสานประโยชน์จากจุดแข็งของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเทคโนโลยีไร้สาย (Wi-Fi) ของทีโอที กับ เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศของ ปตท. กว่า ๑,๓๐๐ แห่ง จะเพิ่มช่องทางให้คนไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ และข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สนองตอบนโยบายการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนไทยและประเทศไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติต่อไป

นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ทั่วประเทศ จะเป็น “จุดเชื่อมต่อ” ที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไทยในทุกเส้นทาง และเป็นอีกช่องทางที่มีศักยภาพในการนำพาองค์ความรู้สู่สังคมไทย และก้าวสู่สังคมอุดมปัญญา หรือ Smart Thailand ได้อย่างแท้จริง นับเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรทั้งในด้านธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ยังจะช่วยพัฒนางานบริการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น “เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส” อีกด้วย

ดร.มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า วันนี้ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การพัฒนา และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างทั่วถึง ด้วยความร่วมมือของกระทรวงไอซีที และกระทรวงพลังงาน ในการสนับสนุนผลักดันให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่สุด และ ทีโอที ซึ่งมีจุดแข็งในด้านโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยครอบคลุมทั่วประเทศ สู่เป้าหมายร่วมกันในการสนองนโยบายของรัฐบาล ด้วยการร่วมกันเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้บริการ หรือ PTT Free Wi-Fi by TOT เพื่อให้บริการกับประชาชนในสถานีบริการ ปตท. กว่า ๑,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการเมื่อเริ่มโครงการประมาณ ๒๐๐ แห่ง ใน กทม. และต่างจังหวัด และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการครบทั้ง ๑,๐๐๐ แห่ง ภายใน ๕ เดือน

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ทีโอที จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi การติดตั้ง และบริหารรวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ในการให้บริการ รวมถึงการให้บริการด้าน Call Center โดยผู้ใช้บริการจะสามารถใช้บริการ PTT Free Wi-Fi by TOT ด้วยการลงทะเบียน เพื่อขอรับรหัส Username และ Password สำหรับการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยรหัสดังกล่าวสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้วันละ ๒ ชั่วโมง ใช้งานได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐ นาที นาน ๖ เดือน ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน ๒M/๕๑๒ Kbps

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล และข่าวสาร ยกระดับคุณภาพชีวิต และการศึกษาของประชาชนในประเทศ ซึ่งตามแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ ๓ มีเป้าหมายในการกระจายการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งแบบมีสายและไร้สายให้ครอบคลุมมากกว่า ๘๐% ของประชากรทั้งประเทศภายในปี ๒๕๕๘ และเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดให้มีโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้บริการมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ โดย ทีโอที ได้นำร่องดำเนินการให้บริการ Free Wi-Fi ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และสถานีขนส่ง เป็นต้น

View :1670

ก.ไอซีที เปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

December 2nd, 2011 No comments


นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงถวายความจงรักภักดีในปีแห่งมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ว่า เนื่องในโอกาส ปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอถวายความจงรักภักดีด้วยการเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการเปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center : CSOC ขึ้น เพื่อดำเนินภารกิจในการปกป้องดูแลกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์และสังคมเครือข่ายที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย ตลอดจนปกป้อง ดูแลเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย

“การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงฯ ที่จะต้องสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเครือข่าย หรือ Social Network บนโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยดำเนินการผ่านทาง ศูนย์ CSOC ซึ่งเป็นการต่อยอดการดำเนินงานจากรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ได้ดำเนินการเอาไว้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ด้าน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ CSOC ที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นการต่อยอดการดำเนินงานเดิมที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต หรือ ISOC นั้น ซึ่งศูนย์ CSOC นี้ นอกจากจะมีภารกิจในการปกป้องดูแลสถาบันหลักของประเทศ และประชาชนแล้ว ยังมีหน้าที่ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบวิเคราะห์เว็บไซต์และข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายต่างๆ อันเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย”

นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังขอถวายความจงรักภักดีและร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการจัดทำ “โครงการถวายพระพรออนไลน์” ผ่าน www.welovekingonline.com เพื่อเป็นช่องทางให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยการร่วมลงนามถวายพระพร และเลือก e-postcard ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งหมด 9 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะนำเสนอวิดีโอสารคดีชุด “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” อันเป็นสารคดี ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน จากนั้นสามารถเลือกคำถวายพระพรที่ถ่ายทอดถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ ที่มีให้เลือก 5 ข้อความ ได้แก่ 1. ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน 2. ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ 3. ขอพระองค์ทรงหายจากอาการพระประชวรในเร็ววัน 4. ขอพระองค์ทรงอยู่คู่ฟ้าแผ่นดินสยามยิ่งยืนนาน และ 5. ร้อยรัดดวงใจ เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน ที่พระองค์ทรงฝ่าฟัน ให้ไทยนั้นได้ร่มเย็น

กระทรวงฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยและทุกภาคส่วน ร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผ่านเว็บไซต์ www.welovekingonline.com เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตลอดปี 2554 นี้

View :1902

ก.ไอซีที ศึกษาแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

July 28th, 2011 No comments

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้งานไบโอเมตริกในการบ่งบอกอัตลักษณ์บุคคล () เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์และสำรวจการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกในการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แม้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะมีการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกประเภทต่างๆ ได้แก่ ลายนิ้วมือ ภาพใบหน้า ดีเอ็นเอ ม่านตา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชนในรูปแบบของบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) อาทิ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart ID Card) การจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) ระบบการผ่านแดนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Border Control) การตรวจสอบประวัติอาชญากร เป็นต้น แต่การใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกดังกล่าว ยังเป็นการใช้งานเฉพาะภายในหน่วยงาน หรือระหว่างหน่วยงานตามที่มีข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น โดยยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานกลางการใช้งานข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการบูรณาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ผลักดันให้มีการดำเนินการกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะดำเนินการศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกของประเทศไทย และดำเนินโครงการนำร่องโดยทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ก่อนขยายผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำหนดมาตรฐานกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมของประเทศ

“วัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็เพื่อศึกษาและเสนอแนะกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยอิงตามแนวทางของมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อทดสอบการดำเนินงานตามกรอบแนวทางดังกล่าวโดยดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม ตลอดจนเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการกำหนดเป็นมาตรฐานด้านไบโอเมตริกของประเทศไทย ซึ่งในปี 2554 กระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาและจัดทำระบบทดสอบนำร่องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกข้ามหน่วยงานโดยใช้มาตรฐานด้านไบโอเมตริกสากล (ISO/IEC JTC1 SC37) เพื่อทำการกำหนดกรอบแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริก และร่างมาตรฐานกลางการใช้ข้อมูลไบโอเมตริกเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว

สำหรับการทดสอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลไบโอเมตริกนั้น ได้ดำเนินการร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมการกงสุล ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ทางเทคนิคแล้วมีความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้เห็นถึงโอกาสในการขยายรูปแบบการทำงานและการให้บริการฯ ให้กว้างขวางออกไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้างต้นยังพบอีกว่าการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้จริงยังคงมีอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกระทรวงฯ จะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับแก้ไขต่อไป

View :1471

ก.ไอซีที เพิ่มศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

March 28th, 2011 No comments

นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่า จากประกาศกระทรวงฯ เรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 28 ได้กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ ต้องผ่านการอบรมด้านจริยธรรม สืบสวนสอบสวน ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Security) และการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics) แล้วแต่กรณี และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามประกาศแนบท้ายพระราชบัญญัติฯ ด้วย ดังนั้น กระทรวงฯ จึงต้องมีการส่งเสริมสมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
“กระทรวงฯ มีหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติฯ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติฯ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจตั้งแต่การรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษทางอาญา และมีอำนาจในการสอบสวนด้วย โดยที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงฯ เคยปฏิบัติภารกิจในลักษณะนี้มาก่อน” นายวินัย กล่าว
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ภายใต้โครงการส่งเสริมสมรรถนะของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ขึ้น เพื่อจัดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตามหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยอ้างอิงหลักสูตรตามภาคผนวกของประกาศกระทรวงฯ เรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ และหลักสูตรอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งจัดการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติฯ และสามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมข้าราชการ ส่วนราชการ องค์กรห้างร้านต่างๆ ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต  ร้านอินเทอร์เน็ต และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติฯ อีกด้วย
นายวินัย ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงฯ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และควรดำเนินการอย่างไรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยได้เชิญวิทยากร ผู้มีความรู้ความสามารถจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ ยังได้มีการวางแนวทางกระจายกำลังพนักงานเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ให้ขยายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่ประชาชนจะได้มีที่พึ่งพาเมื่อประสบปัญหาทางด้านอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังจะจัดให้มีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังการแต่งตั้ง เพื่อให้มีการปรับความรู้และมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
นอกจากการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ แล้ว กระทรวงฯ ยังได้มีการจัดทำ (ร่าง) คู่มือแนะแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคที่สอดคล้องกับกฎหมายตามพระราชบัญญัติฯ อีกด้วย โดยในคู่มือดังกล่าวได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการทั่วไปในการสืบสวนคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เช่น ความผิดในลักษณะต่างๆ พยานหลักฐานที่อาจพบตามลักษณะความผิดนั้นๆ ขั้นตอนปฏิบัติในกรณีความผิดลักษณะต่างๆ การแจ้งเบาะแสในคดีความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาในเรื่องรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีความผิดลักษณะต่างๆ เช่น การสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต การประสานงานให้ได้มาซึ่งข้อมูล การเข้าค้นและยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเก็บรักษาพยาน การส่งต่อพยานหลักฐาน เป็นต้น
“ส่วนในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้น กระทรวงฯ ได้มีแนวทางเผยแพร่หลักการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ โดยจะให้ความรู้ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ของกระทรวงฯ ขณะที่การเผยแพร่ความรู้ให้กับร้านให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น กระทรวงฯ ได้ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ตสามารถดำเนินการได้ถูกต้อง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากร้านต่างๆ ที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ให้บริการที่ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงฯ ก็ได้ดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับร้านอินเทอร์เน็ต เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ให้ช่วยกระจายองค์ความรู้สู่ร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านั้น เพื่อกวดขันให้มีการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องต่อไป” นายวินัย กล่าว

View :1486

ก.ไอซีทีเสนอคณะรัฐมนตรีขอมติหน่วยงานไทยร่วมสนับสนุนการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหาร ITU

August 16th, 2010 No comments

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิด เผยว่า ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้กระทรวงต่างๆ ของไทยได้พิจารณาหยิบยกประเด็นการสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทย ในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร (Council) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ( International Telecommunication Union หรือ ) เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในโอกาสที่มีผู้แทนระดับสูงหรือเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิก เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานไทย หรือในโอกาสที่ผู้บริหารระดับสูงของไทยเดินทางไปราชการต่างประเทศ และมีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศสมาชิก

“เนื่องจากการเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU ในครั้งนี้ มีการแข่งขันสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มามาก ซึ่งเห็นได้จากจำนวนประเทศที่ลงสมัครในครั้งนี้มีมากขึ้น และประเทศต่างๆ ได้ใช้รูปแบบการหาเสียงและแลกเสียงข้ามสาขา และกระจายไปในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย ซึ่งมีจำนวนที่นั่ง 12 ที่นั่ง ขณะที่มีประเทศที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวนถึง 17 ประเทศ กระทรวงฯ จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขอให้ทุกหน่วยงานของประเทศไทยร่วมสนับ สนุน” นายจุติ กล่าว

การเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของ ITU กำหนดจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมใหญ่ผู้มีอำนาจเต็ม ( ITU Plenipotentiary Conference) ค.ศ. 2010 หรือ PP- 10 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ เมืองฮัวดาลาฮารา ( Guadalajara) ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 4-22 ตุลาคม 2553 ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ให้ประเทศไทยโดยกระทรวงไอซีทีสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหาร ของ ITU วาระ ค.ศ. 2010 – 2014 และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการขอเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของ ITU ในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งของประเทศไทย กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกันดำเนินการขอเสียง/แลกเสียง ของไทยกับประเทศสมาชิก ITU ในหลายๆ ช่องทาง โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก ITU ประจำประเทศไทยเพื่อขอรับการสนับสนุน และยังได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สถานเอกอัครราชทูตของไทยประจำประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพ ITU เพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการขอเสียงการสมัครรับเลือกตั้งของไทยอีก ด้วย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีก็ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคม/ ICT ของประเทศสมาชิก ITU เพื่อขอเสียง/แลกเสียงด้วย

ขณะเดียวกัน กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ ITU และเตรียมท่าทีของไทยเพื่อแสดงบทบาทของประเทศไทยในเวทีการประชุมระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้แต่งตั้ง “ คณะกรรมการเตรียมการสำหรับการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ.2010 ” ซึ่งมีปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธานกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีที กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งได้อนุมัติให้ดำเนิน “โครงการการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งซ้ำเป็นสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทร คมนาคมระหว่างประเทศ ปี ค.ศ. 2010” โดยจัดทำเอกสารแผ่นพับหาเสียง รวมถึงของที่ระลึกสำหรับหัวหน้าคณะผู้แทน รองหัวหน้าคณะผู้แทน และผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม PP- 10

ITU เป็นทบวงการชำนัญพิเศษภายใต้สหประชาชาติ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวน 191 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และมีสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สำหรับสภาบริหาร ITU ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 46 ประเทศ ประเทศละ 1 ที่นั่ง ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนในการคัดเลือกออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา 8 ที่นั่ง ยุโรปตะวันตก 8 ที่นั่ง ยุโรปตะวันออก 5 ที่นั่ง แอฟริกา 13 ที่นั่ง และเอเชียและออสตราเลเซีย 12 ที่นั่ง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยมีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายและวางแผนงานด้านโทรคมนาคม รวมถึงการบริหารงานของ ITU ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งประสานงานในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของ ITU , ควบคุมดูแลและบริหารการเงิน รวมถึงทรัพยากรบุคคล ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ประเทศสมาชิกในการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญ อนุสัญญา และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของ ITU ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารครั้งแรกในการประชุมใหญ่ผู้แทน ผู้มีอำนาจเต็ม พ.ศ. 2516 และได้รับการเลือกตั้งซ้ำเป็นสมาชิกสภาบริหารอีก 7 สมัยติดต่อกัน ทำให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ตลอดจนการบริหารและแก้ไขปัญหาสำคัญของ ITU มาโดยลำดับ อันเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้การยอมรับ การปฏิบัติเช่นนี้ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในการวางแผนงานการ พัฒนาและการปรับปรุงกิจการโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้าและทันสมัยจนอยู่ใน ระดับมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

View :1427