Archive

Posts Tagged ‘กสทช.’

กสทช. สุภิญญา ประวิทย์ ร่วมเสวนาเครือข่ายภาคใต้ หนุนภาคประชาชนมีส่วนร่วม

June 29th, 2013 No comments

ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลงพื้นที่สงขลา ร่วมเสวนากับเครือข่ายประชาสังคมภาคใต้ ระบุ การจัดการเรื่องร้องเรียนยังอืด หน่วยงานกำกับดูแลจำกัดตัวเองทำงานอยู่แต่ในกรอบ ด้านวิทยุโทรทัศน์ หนุนภาคประชาสังคมร่วมออกแบบหน้าตาทีวีสาธารณะ เตือนอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.เท่านั้น

ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้จัดเวทีเสวนาร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมภาคใต้ โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายด้าน เช่น ด้านคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ด้านพลังงาน ด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงสื่อท้องถิ่น ทั้งจากจังหวัดสงขลา ยะลา ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ ปัตตานี สตูล เข้าร่วม

นายประวิทย์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนทางสังคม และจำเป็นต้องเป็นเครือข่ายที่มีความหลากหลายจากทุกภาคส่วน เป็นกลุ่มตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ใช่กลุ่มจัดตั้ง ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงจากกลุ่มธุรกิจใดๆ แต่เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อภาคประชาชน ทั้งนี้ในระหว่างการเสวนา ตัวแทนเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สอบถามถึงแนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียนที่ควรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายประวิทย์กล่าวว่า การจัดการเรื่องร้องเรียนที่เครือข่ายพบว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการนั้น ตามกฎหมายหมายได้ให้สิทธิผู้บริโภค ตรวจสอบ สำนักงาน กสทช. และกสทช.ได้ด้วย เช่น การแก้ไขเรื่องร้องเรียนต้องแล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน หรืออาจเสนอความเห็น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนจำนวน ๓๐๐ กว่าเรื่องที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุม กทค. ทั้งที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฯ มานานแล้ว ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคสามารถเสนอความเห็นหรือแนวทางที่ควรจะเป็นร่วมกันได้

นอกจากนี้ยังพบว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไทยจะมีประเด็นเรื่อง “งานนอกอำนาจ” ทำให้บางปัญหาที่คาบเกี่ยวหลายหน่วยงานนั้นเกิดพื้นที่สีเทาที่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปจัดการเพราะเกรงการก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ผู้อื่น ต่างจากในต่างประเทศที่แม้กฎหมายจะมีการทับซ้อนของอำนาจหน้าที่กันแต่ไม่เกิดปัญหาในการดำเนินงาน

“ไทยมีประเด็นเรื่องช่องว่างระหว่างอำนาจหน้าที่ เนื่องจากไม่กล้าทำนอกอำนาจตัวเอง ปัญหาที่เห็นได้ชัดเช่น ตู้เติมเงิน มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ต่างปฏิเสธว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรง สุดท้ายปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข” นายประวิทย์กล่าว

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์กล่าวว่า เนื่องจากในปีนี้จะมีการจัดสรรคลื่นโทรทัศน์ใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากระบบทีวีอนาลอคเป็นทีวีดิจิตอล ภาคประชาสังคมควรร่วมกันจับตาดูว่า ช่องความถี่ซึ่งจัดสรรเป็นสถานีโทรทัศน์มากขึ้นถึง ๔๘ ช่องนั้นในเชิงความเป็นเจ้าของหรือการถือครองนั้นจะมีการกระจายจากภาครัฐมาสู่ภาคประชาชนจริงหรือไม่ ทั้งนี้ใน ๔๘ ช่องซึ่งจะเป็นช่องทีวีสาธารณะจำนวน ๑๒ ช่องนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นถึงรูปแบบของทีวีสาธารณะที่ควรจะเป็นนั้นควรมีหน้าตาอย่างไร เพราะทีวีสาธารณะไม่ได้หมายถึงช่องของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

“โอกาสมักมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า หากต้องมีช่องทีวีใหม่ที่เป็นฟรีทีวี เราจะปล่อยให้ กสทช. ออกแบบ หรือภาคประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมด้วย จึงอยากให้เครือข่ายร่วมออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อเสียงของฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสื่อเงียบ ก็ทำให้เสียงที่คิดต่างจากเราดังกว่า“ นางสาวสุภิญญากล่าว

View :1227
Categories: 3G, Telecom Tags:

กสทช. เร่งสางปัญหาดาวเทียมไอพีสตาร์ของไทยคม ตั้งทีมตรวจข้อกฎหมาย หาแนวทางออกใบอนุญาตใน 30 วัน

February 28th, 2013 No comments

สำนักงาน ตั้งคณะทำงานศึกษาการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารไอพีสตาร์ ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) กำหนดหาคำตอบแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการใน 30 วัน สังคายนาปัญหาการเป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน

รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณี (IP STAR) ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสถานะของการประกอบกิจการที่ชัดเจน โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กิจการโทรคมนาคมนั้นรวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย ทำให้การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. และประธาน กสทช. แจ้งถึงกรณีปัญหาของเรื่องนี้ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาชี้ว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน โดยไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 และไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน ดังนั้นจึงเห็นควรมีการเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ การให้บริการในปัจจุบันของไอพีสตาร์ที่ใช้วงโคจรของประเทศไทยถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และ กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทได้หรือไม่

ทั้งนี้ ตามหนังสือของ กสทช. ประวิทย์ ระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินกรณีดังกล่าวในคดีที่อัยการสูงสุดกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และพวก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยใช้วงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก และไม่เคยมีการยื่นขออนุญาตเข้ามาแต่อย่างใด

กรณีนี้จึงเป็นอีกกรณีสำคัญที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กสทช. จะตัดสินใจในแนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการของไอพีสตาร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการพิจารณาในราวปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากตามคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะทำงานไว้ 30 วัน

View :1325

ดีแทคแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศของสำนักงาน กสทช.

January 31st, 2013 No comments

ดีแทค : ความคืบหน้าการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

กรุงเทพฯ — 30 มกราคม 2556 – ดีแทคแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศของสำนักงาน ใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 บริษัทฯ ได้มีหนังสือชี้แจงถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีเนื้อหาระบุว่า บริษัทฯ มีนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามกฏหมาย และกฏระเบียบต่างๆ ของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยไม่มีการละเลยหรือเพิกเฉยแต่อย่างใด ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามปฎิบัติตามประกาศ สำนักงาน กสทช.เรื่องอัตราขั้นสูงดังกล่าวอย่างที่สุด โดยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้นำเสนอรายการส่งเสริมการขายใหม่ (package) หลายรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในประกาศฯ ของสำนักงาน กสทช. และเพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภค อาทิ ซิม 2499 – วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ซิม 15-16 ใหม่ – วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ซิม ปาท่องโก๋ – วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555
ในส่วนของรายการส่งเสริมการขายจำนวน 33 รายการ ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมานั้น บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว และยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพิ่มเติม ด้วยการการเปลี่ยนแปลงให้มีอัตราค่าบริการไม่เกินกว่าที่สำนักงาน กสทช.กำหนด จำนวน 11 รายการ อีกจำนวน 5 รายการ ซึ่งได้วางจำหน่าย และเปิดให้บริการมาเป็นเวลานานมากแล้ว บริษัทฯ จะยุติรายการต่างๆ ดังกล่าว ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 17 รายการ นั้น บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าทั้ง 17 รายการดังกล่าว หากทำการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการ หรือเงื่อนไขในการให้บริการ หรือยุติรายการต่างๆ ดังกล่าวในทันที ก็จะมีผลกระทบต่อการใช้บริการของลูกค้าของบริษัทฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายการต่างๆ ดังกล่าว เป็นการนำเสนอบริการในลักษณะ Bundle ทั้งในระบบเสียง การรับส่งข้อความ (sms) การรับส่งข้อมูล (data) และการใช้งานอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าบริการในระบบเสียงต่อนาทีไม่เกินกว่าที่สำนักงาน กสทช.กำหนดอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ บริษัทฯ จึงขอให้ กสทช. พิจารณาผ่อนปรนให้บริษัทฯ สามารถให้บริการตามรูปแบบและอัตราค่าบริการเดิมตามข้อตกลงที่มีอยู่เดิมกับลูกค้า ไปจนกว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้บริการที่ใช้บริการจากทั้ง 17 รายการดังกล่าว มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย ผู้ใช้บริการนั้นๆ ก็จะสามารถทำการเปลี่ยนรายการได้ด้วยตนเองผ่านทาง IVR *1003 ศูนย์รวมโปรโมชั่น หรือสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังหมายเลข 1678 เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงรายการได้

2. เรื่องการปฎิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 (“ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม”) หรือ การลงทะเบียนหมายเลข ในรูปแบบเติมเงิน (prepaid)

บริษัทฯ สนับสนุนและยินดีปฎิบัติตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช.ได้กำหนด โดยบริษัทฯ ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Prepaid ในส่วนข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 13 หลัก เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อลูกค้าซื้อซิมการ์ด Prepaid บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Prepaid เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 13 หลักทันที ผ่านช่องทาง Center และที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้จัดทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ค้าส่งและและกระจายสินค้า คู่ค้า และผู้ค้าปลีกผ่านผู้กระจายสินค้ารายใหญ่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ พบว่า มีอุปสรรคอย่างยิ่งในการดำเนินการ เนื่องจากผู้ใช้บริการบางส่วนเท่านั้นที่ยินยอมให้บริษัทจัดเก็บสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การดำเนินการของบริษัทในส่วนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ครบถ้วน

ในเรื่องนี้ บริษัทฯ ใคร่ขอให้สำนักงาน กสทช. ทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภค ได้ทราบอย่างทั่วถึง เกี่ยวกับประกาศของสำนักงาน กสทช. ในเรื่องนี้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของประกาศ และเพื่อผู้บริโภคจะได้นำบัตรประชาชนติดตัวมาด้วย สำหรับการจดทะเบียน ซื้อซิมการ์ด แบบ prepaid

3. เรื่องการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (“ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม”) หรือ การไม่ให้มีวันหมดอายุสำหรับ หมายเลขโทรศัพท์ ประเภทบัตรเติมเงิน

บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงาน กสทช.ว่าบริษัทฯ มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะปฎิบัติตามกฎหมายและทั้งยินดีให้ความร่วมมือทุกประการที่พึงกระทำได้ บริษัทฯ จะให้ความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช.โดยการจัดให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บค่าบริการเป็นการล่วงหน้า (prepaid) หรือแบบเติมเงินตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจะได้รับระยะเวลาใช้งานจำนวน 30 วันต่อการเติมเงินทุกมูลค่า

ล่าสุด วันที่ 30 มกราคม 2556 บริษัทฯ ได้มีหนังสือที่นำเสนอเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทพรีเพด โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า บริษัทฯ จะจัดให้ผู้ใช้บริการได้รับระยะเวลาใช้งานจำนวนไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อการเติมเงินทุกมูลค่า จนกว่า กทค.จะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในข้อเสนอและเงื่อนไขของบริษัทฯ และในการเติมเงินเข้าสู่ระบบทุกครั้ง บริษัทฯ จะนับระยะเวลาการใช้งานที่ผู้ใช้บริการได้รับ รวมกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ รวมระยะเวลาสูงสุดได้ 365 วัน สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ ในการรักษาหมายเลขโทรศัพท์ นั้น บริษัทฯ จะได้ปรึกษาหารือกับสำนักงาน กสทช. ต่อไป

ทั้งนี้ การปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว อาจะทำให้บริษัทฯ และผู้ประกอบการอื่นๆ ต้องประสบปัญหาขาดแคลนเลขหมายที่จะนำมาให้บริการ เนื่องจากในภาพรวมของภาคธุรกิจโทรคมนาคม มีหมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้บริการใดๆ ประมาณวันละ 100,000 เลขหมาย หรือ ประมาณปีละ 36.5 ล้านหมายเลข ดังนั้น ในหนังสือชี้แจง บริษัทฯ จึงได้ขอให้ กสทช. ได้พิจารณาจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติมให้แก่บริษัทฯ และผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษด้วย

View :1489

อนุฯคุ้มครองโทรคมนาคมเสนอ กสทช.เฉียบขาดสั่งปรับบริษัทมือถือสูงสุด ๕ ล้านบาทต่อวัน

January 7th, 2013 No comments

ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ระบุสำนักงาน ควรเฉียบขาด สั่งปรับสูงสุด ๕ ล้านบาทต่อวัน ชี้ อย่าให้คำสั่งปรับทางปกครองเป็นเพียงการให้บริษัทจ่ายค่าเช่าในการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น เผยตัวเลขผู้ใช้บริการถูกบริษัทยึดเงินเฉลี่ยรายละ ๕๐๐ บาทแล้ว โดย พรีเพดมีคนใช้บริการ ๗๐ ล้านเลขหมาย

กรณีปัญหากำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด) ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๓ ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อสำนักงาน กสทช.ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน ๓ ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อมูลการร้องเรียนพบว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๕ มีผู้บริโภคร้องเรียนกรณีนี้ทั้งสิ้น ๒,๔๙๔ กรณี ในจำนวนนี้เป็นผู้ร้องเรียนที่ถูกยึดเงินในระบบจำนวน ๖๘๗ กรณี เฉพาะรายที่แจ้งรวมเป็นเงินที่ถูกยึดจำนวน ๓๕๕,๒๒๕.๐๔ บาท หรือเฉลี่ยแล้วผู้ใช้บริการถูกยึดเงินจากระบบรายละ ๕๑๗.๐๖ บาท โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น ๗๐,๖๑๐,๔๙๐ เลขหมาย หากมีผู้บริโภคแม้เพียงร้อยละ ๑ หรือจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ คน ถูกยึดเงินในระบบก็รวมเป็นเงินถึง ๓๕๐ ล้านบาทแล้ว แต่เงินค่าปรับของ ๓ บริษัทถูกคิดแค่ ๓ ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ทั้งที่กระทำผิดกฎหมายและยึดเงินของผู้บริโภคไปแล้วจำนวนมาก

“ปัญหานี้ยืดเยื้อมานานคนใช้บริการมีมากถึง ๗๐ ล้านเลขหมาย สำนักงาน กสทช. ควรมีความเฉียบขาดมากกว่านี้ โดยเพิ่มค่าปรับทางปกครองในอัตราสูงสุดเป็นวันละ ๕ ล้านบาท เนื่องจากเป็นประเด็นที่เห็นการกระทำความผิดขัดต่อกฎหมายชัดเจน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้ทำความเห็นเสนอไปยัง กทค. ตั้งแต่เดือนกันยายนปี ๕๕ เพื่อขอให้มีการเพิ่มค่าปรับทางปกครองให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค ประเด็นสำคัญนั้น ไม่ใช่ต้องการเงิน แต่ต้องการให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงและนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการยุติการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการพรีเพดเสียที มิฉะนั้นคำสั่งปรับทางปกครองจะเป็นเพียงการให้บริษัทจ่ายค่าเช่าในการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น “ นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่สนับสนุนได้ดีก็คือ แม้ สำนักงาน กสทช. จะมีการออกคำสั่งทางปกครองไปแล้ว แต่ก็ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ถูกยึดเงิน และถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์อยู่เช่นเดิมหากนับตั้งแต่มีคำสั่งทางปกครองตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ปีที่ผ่านมา มีสูงถึง ๓๓๐ ราย แบ่งเป็น ถูกกำหนดระยะเวลาใช้บริการ ๑๖๐ ราย ถูกยึดเงิน ๔๓ ราย และถูกยึดเลขหมาย ๑๒๗ ราย

พร้อมขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มาก โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. ๑๒๐๐ เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค และให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๕ คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย

View :1359
Categories: 3G, Technology Tags:

กสทช. ผ่านร่างประกาศกระจายเสียงและโทรทัศน์ และโทรคมนาคม และงบประมาณประจำปี 2556

December 26th, 2012 No comments

พร้อมสนับสนุนโครงการบริการฟรี Wi-Fi

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ แถลงผลการประชุม ครั้งที่ 16/2555 วันพุธที่ 26 ธ.ค. 2555 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศ และเรื่องอื่นๆ โดยมีมติเห็นชอบร่างประกาศ เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 6 ฉบับ กิจการโทรคมนาคม 1 ฉบับ มีมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ส่วนโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ประชุมขอให้นำเรื่องกลับให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาทบทวนเพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 52(1) และสถานที่ติดตั้งมีความสอดคล้องกับแผน USO โทรคมนาคมของ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้โดยการกำหนดหลักเกณฑ์หมวดหมู่และการจัดลำดับรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จะเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพด้านเนื้อหา เทคนิค และความหลากหลายของสื่อและเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการดังกล่าวด้วย

2. เห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การอบรมและทดสอบเพื่อขอรับบัตรผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 27(6) และ (24) และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้เป็นบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และเพื่อสนองต่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาคุณภาพการประกอบกิจการตามแผนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

3. เห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล โดยหลังจากนี้จะได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยที่ร่างประกาศดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ประสงค์ประกอบกิจการการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลรับทราบหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไขหรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว

4. เห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล พ.ศ. … โดยหลังจากนี้จะได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

5. เห็นชอบผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และการปรับปรุงร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …

6. เห็นชอบผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และการปรับปรุงร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง พ.ศ. ….

นอกจากนี้ที่ประชุม กสทช. ยังได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทันภายในปี 2555 สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือ ไม่อนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือเช่าโครงข่ายโทรคมนาคม และค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge) ซึ่งจ่ายให้กับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือผู้ให้บริการโทรคมนาคมในต่างประเทศมาหักลดหย่อนจากรายได้การประกอบกิจการโทรคมนาคมก่อนการคำนวณค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และให้ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจากอัตราที่กำหนดไว้จากเดิมที่ประกาศไว้ในร่างประกาศนี้เป็นรายได้จากการประกอบกิจการ

รายได้ 0 – 100 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 0.25

เกิน 100 ล้านบาท ถึง 500 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 0.5

เกิน 500 ล้านบาทถึง 1,000 ล้านบาทอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 1.0

เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 1.5 เป็นต้น

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 3,513.60 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. 2,159.67 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายสำหรับภารกิจกระจายเสียงและโทรทัศน์ 610.29 งบประมาณรายจ่ายสำหรับภารกิจโทรคมนาคม 643.69 ล้านบาท รวมถึงเงินจัดสรรเข้ากองทุน 50 ล้านบาท เงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 50 ล้านบาทด้วย

ส่วนสาระสำคัญของโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้แก่ การกำหนดสถานที่ให้บริการเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 30,000 แห่ง จำนวน 150,000 จุด (Assess Point (AP)) หรือ ติดตั้งแห่งละ 5 AP ความเร็วในการให้บริการ 2Mbps ใช้งานได้ครั้งละ 20 นาที รวม 2 ชั่วโมง/คน/วัน โดยมีหลักการเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนสามารถมีโอกาสในการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเป็นจุดติดตั้งที่มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาใช้บริการ โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการดังกล่าวใน 2 มิติ คือ

1 มิติประโยชน์ในด้านสังคม และคุณภาพชีวิต ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายได้อย่างทั่วถึงในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และสถานศึกษา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลทางด้านดิจิทัล ด้านการศึกษา เป็นการนำ ICT เป็นสื่อการเรียนการสอนได้มากขึ้น ด้านเศรษฐกิจ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ประกอบ SMEs และ ประชาชนทั่วไป เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้าน ICT เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้าน ICT ในอนาคต และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงานที่ใช้ในการเดินทาง รวมถึงลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร เช่นการส่งโทรสาร และ การส่งเอกสารทางไปรษณีย์ เป็นต้น

มิติที่ 2 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ กล่าวคือ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ ช่วยเพิ่มอันดับของประเทศไทยในการจัดอันดับความพร้อมด้าน ICT ทั้งในระดับโลก และภูมิภาค และยกระดับความพร้อมทางด้าน ICT ของประเทศไทย ตลอดจนเป็นการยกระดับจุดยืนประเทศไทยในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและการค้าที่สำคัญ โดยนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจชาวต่างชาติสามารถติดต่อสื่อสารผ่านบริการภายใต้เงื่อนไชการใช้งานที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมขอให้นำเรื่องกลับให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาทบทวนเพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 52(1) และสถานที่ติดตั้งมีความสอดคล้องกับแผน USO โทรคมนาคมของ กสทช. ก่อน

View :1612

กสทช.ประวิทย์ย้ำเหตุผล ทำไมบริษัทต้องลดราคาค่าบริการอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์

November 29th, 2012 No comments

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้ชัดผู้ให้บริการซึ่งได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3 G ควรลดค่าบริการให้ถูกลงกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนประกอบการลดลงจากสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการ

สำหรับเหตุผลประการแรกคือ การให้บริการ ครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตแล้ว ทำให้บริษัทไม่ต้องส่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น กสท. และทีโอที อีกต่อไป เพียงแต่จ่ายแค่ค่าธรรมเนียมรายปีประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากเดิมที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในระบบสัมปทาน 20-30 เปอร์เซ็นต์ อีกประการคือค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือค่าไอซี ซึ่งที่ผ่านมา ให้บริษัทกำหนดราคากันเอง และมีการกำหนดไว้ที่ 1 บาท แต่มีการคิดค่าโทรภายในเครือข่ายเพียง 25 สตางค์ ดังนั้นสำหรับการให้บริการ ค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจึงควรลดลงเหลือเพียง 50 สตางค์ ซึ่งหมายถึงจะทำให้ต้นทุนลดลงอีกร้อยละ 50
“ค่าไอซีลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐก็ไม่ต้องจ่ายอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อต้นทุนลดลงเห็นๆ ค่าบริการก็ต้องลดลงด้วย ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าต้นทุนลดแล้วค่าบริการไม่ลด บริษัทก็ได้กำไรเต็มๆ ดังนั้นค่าบริการจึงควรลดลงทันทีไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์“ กสทช.ประวิทย์ กล่าว

กสทช.ประวิทย์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนลงได้อีกและทำให้บริการได้ดีหรือดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้ กสทช.กำหนดให้มีการจัดทำประกาศเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ คือ 1. การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องกันโครงข่ายไว้ร้อยละ 10 เพื่อเป็นผู้ขายส่งบริการให้รายย่อย โดยพื้นที่โครงข่ายร้อยละ 10 นี้ผู้ชนะการประมูลไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่สนับสนุนให้เกิดรายย่อยและให้รายย่อยเป็นผู้ทำการตลาดให้ 2. การสนับสนุนให้มีการใช้บริการข้ามเครือข่ายภายในประเทศ หรือโรมมิ่ง ( Roaming) ภายในประเทศ เช่น ในพื้นที่ห่างไกล หากเครือข่ายที่ใช้บริการไม่มีสัญญาณ แต่มีสัญญาณของเครือข่ายอื่นก็สามารถโรมมิ่งกันได้ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้งานได้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“กรณีเจ้าที่ 1 ไม่มีสัญญาณ แต่เจ้าที่ 2 มีสัญญาณ เราก็สามารถโรมมิ่งและจ่ายค่าบริการผ่านเจ้าแรกได้ เป็นการลดต้นทุนการให้บริการ ไม่ต้องรอให้ต้องขยายบริการให้เต็มพื้นที่กันทุกเครือข่าย ซึ่งมาตรการนี้ระบบ 2G เมืองไทยยังไม่เคยมี มีกรณีที่โรมมิ่งระหว่างคลื่น 900 ของเอไอเอส กับคลื่น 1800 ของดีพีซี แต่ก็เป็นการโรมมิ่งเจ้าเดียวกัน ในขณะที่ระบบ 3G ที่วางแผนไว้นั้น ทั้ง 3 เจ้าโรมมิ่งกันได้หมด เช่น พื้นที่นี้ยังไม่ได้ตั้งเสาก็ไปขอโรมมิ่งกับเจ้าที่มีโครงข่ายแล้ว ก็จะทำให้เข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน” กสทช.ประวิทย์กล่าว

ส่วนแนวทางที่ 3 ซึ่งจะทำให้เป็นการลดต้นทุนของบริษัทคือ การใช้โครงข่ายร่วมกัน หรือ Infrastructure Sharing จากการที่ปัจจุบันในพื้นที่เดียวกันจะพบเสาสัญญาณของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างลงทุน แต่ในระบบ 3G ทุกบริษัทสามารถใช้เสาส่งสัญญาณร่วมกันได้ มาตรการนี้ได้ประโยชน์ทั้งลดต้นทุนของผู้ประกอบการและลดปัญหาความไม่พอใจของประชาชนกับเสาสัญญาณ

“การตั้งเสาเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หลายกรณีมีการก่อสร้างโครงเหล็กปล่อยคลื่นอยู่ข้างบ้าน ประชาชนก็เกิดข้อสงสัย อีกอย่างเสาพวกนี้มีสายล่อฟ้าอยู่ ชาวบ้านก็จะบอกว่า ฟ้ามันผ่าบ่อยขึ้น เดือดร้อน หากมีการแชร์เสาสัญญาณ ปัญหาก็จะน้อยลง รวมถึงยังลดต้นทุนได้ ขณะนี้ทั้ง 3 บริษัทต้องเช่าพื้นที่เอกชนเพื่อตั้งเสา หากเป็นการแชร์ใช้ร่วมกันจาก 3 เสาเหลือเสาเดียว จาก 5-6 ล้านบาทก็เหลือ 1-2 ล้านบาท และตัวส่งสัญญาณก็ใช้ร่วมกันได้ ยกตัวอย่างไฟเบอร์ออฟติก ของเอไอเอสก็เดินทั่วทุกภาค ดีแทคก็เดินทั่วทุกภาค ของทรูมูฟก็เดินทั่วทุกภาค เช่นกรณีดีแทควันดีคืนดีไฟเบอร์ออฟติกขาด หรือมีเส้นสำรองก็ขาดอีก แต่ถ้ามีการแชร์ใช้ ก็ไม่ต้องลงทุนไฟเบอร์ออฟติกใหม่ เป็นหลักการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งในต่างประเทศจะใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงเหล็กและสายส่งร่วมกัน” กสทช.ประวิทย์กล่าว

กสทช.ประวิทย์กล่าวสรุปว่า กติกาเหล่านี้เป็นการชี้ทิศว่า นโยบาย กสทช. ต้องการให้ต้นทุนประกอบการลดลง ซึ่งถ้าไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อต้นทุนลดแล้ว ค่าบริการก็ต้องลดลงด้วย ทั้งนี้ ทั้งมาตรการสนับสนุนรายย่อย การทำให้เกิดโรมมิ่ง และการแชร์โครงข่าย ได้มีการยกร่างประกาศและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว น่าจะออกเป็นประกาศที่มีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้สรุปตัวร่างสุดท้ายมาเสนอบอร์ด ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งติดตามต่อไป

View :1488
Categories: 3G Tags:

กสทช. เยี่ยมชมดีแทคทดสอบ 4G เร็ว 150 Mbps

November 7th, 2012 No comments

6 พฤศจิกายน 2555 – พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เข้าเยี่ยมชมการสาธิตเทคโนโลยี บนคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ณ ดีแทคเฮ้าส์ อาคารจัตุรัสจามจุรี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และทีมงานให้การต้อนรับ ผลการทดสอบปรากฏว่า ความเร็วการใช้งานดาวน์โหลดทำได้สูงสุดถึง 150 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) และอัพโหลดทำได้สูงสุดถึง 50 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) หรือเร็วกว่า ประมาณ 5 เท่า พร้อมทั้งชมการสาธิตการอัพเกรดโครงข่ายใหม่ ซึ่งดีแทคจะสามารถอัพเกรดสู่เทคโนโลยี 4G ได้ภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง อันสะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และโครงข่ายที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียในปัจจุบัน

View :1262
Categories: 3G Tags: ,

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำกับดูแลบริการ 3G ของกสทช.

October 23rd, 2012 No comments

โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างรุนแรง จากการจัดประมูลล้มเหลว เนื่องจากออกแบบการประมูลให้ไม่มีการแข่งขันกันจริง จนสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาประเมินของคลื่นความถี่ ได้พยายามกู้ศรัทธาองค์กร โดยประกาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ว่า จะกำกับดูแลผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มงวดขึ้น ทั้งที่การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องทำเป็นปรกติอยู่แล้ว

โดยรูปธรรม กสทช. ได้ประกาศที่จะกำกับอัตราค่าบริการ ทั้งบริการเสียงและข้อมูลที่จัดเก็บจากผู้บริโภคให้ลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากอัตราในปัจจุบันที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 899 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้อัตราค่าบริการในปีแรกลดลง 10% ปีที่ 2 ลดลง 15% และปีที่ 3 ลดลง 20% นอกจากนี้ กสทช. ยังประกาศที่จะกำกับดูแลคุณภาพบริการ และให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผน CSR และแผนคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนประกาศว่าจะปรับปรุงกระบวนการของตนในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค

บทความนี้จะนำเสนอข้อคิดเห็นต่อท่าทีดังกล่าวของ กสทช. และจะเสนอแนะว่า หาก กสทช. มีความจริงใจที่จะกำกับดูแลบริการ 3G ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงแล้ว ควรดำเนินการอย่างไร

การกำกับอัตราค่าบริการ

อันที่จริงแม้ กสทช. ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ค่าบริการ 3G ก็ควรต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะต้นทุนของผู้ประกอบการจะลดลงทันทีจากการไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐประมาณ 21-23% ของรายได้ โดยเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมอื่น รวมประมาณ 5.5% แทน การเข้าสู่ระบบใบอนุญาตดังกล่าว โดยลำพังจึงทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงเกินกว่า 15% อยู่แล้ว ขอเพียงตลาดมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ ต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการก็จะถูกโอนถ่ายมาเป็นค่าบริการที่ลดลงของผู้บริโภคโดย กสทช. ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในปัจจุบัน และบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีอยู่มากมาย ที่สำคัญคือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ซึ่งเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการ ยังถูกกำหนดอยู่ที่ 0.99 บาทต่อนาที ซึ่งสูงกว่าต้นทุนจริงที่ผู้เขียนเคยคำนวณไว้ที่ 0.27 บาทต่อนาที ที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยให้เอกชนรวมหัวกันกำหนดค่า IC สูงกว่าต้นทุนจริงมาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะเสียประโยชน์ไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาท

หากไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้เพื่อให้กลไกตลาดทำงาน กสทช. ก็จะไม่สามารถกำกับดูแลให้ค่าบริการ 3G ลดลงได้อย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการอาจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งตัดบางบริการออกไปเพื่อให้ดูราคาถูกลง หรือยัดเยียดขายพ่วงบริการอื่นที่ไม่จำเป็นเข้ามา ตลอดจนไปถึงการปฏิเสธไม่ลดราคาลงตามที่กำหนด โดยอ้างปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น ค่าแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้กสทช. จะสามารถลดค่าบริการ 3G ลงได้จริง 20% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ราคาค่าบริการของไทยตอนนั้น ก็ใช่ว่าจะถูกกว่าราคาของต่างประเทศ ในปัจจุบัน บริษัท StarHub ในสิงคโปร์ คิดค่าบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ซึ่งไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (unlimited) เพียงเดือนละ 670 บาท และแม้ในอินเดีย บริษัท Air Tel ก็คิดค่าบริการโทรศัพท์ 3G ซึ่งจำกัดปริมาณข้อมูลที่ 3.1 GB ในราคาเพียง 340 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกเป็นครึ่งหนึ่งของบริการที่คล้ายกันในประเทศไทย ในอนาคต ราคาค่าบริการในต่างประเทศก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำลงไปอีก เนื่องจากตลาดโทรคมนาคมของประเทศเหล่านั้นมีการแข่งขันมากกว่าประเทศไทย การลดราคาบริการ 3G ของไทยลงเพียง 20% จึงยังไม่เพียงพอ

เมื่อครั้ง กสทช. ยกร่างแผนแม่บทประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้เขียนเคยเสนอให้ กสทช. กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญ (เช่น บริการ 3G และบรอดแบนด์) ของไทย ต้องมีราคาถูกอย่างน้อยเป็นที่สองในอาเซียน เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการขานรับจากกลุ่มผู้บริโภค กสทช. ก็ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องอัตราค่าบริการในรูปอื่นแทนเลย โดยเพียงชี้แจงแบบขอไปทีว่า ตัวชี้วัดต่างๆ ที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว กว่า กสทช. จะคิดออกว่าผู้บริโภคควรได้ราคาที่เหมาะสม องค์กรก็เกิดวิกฤติศรัทธาแล้ว

การคุ้มครองผู้บริโภค

การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ กสทช. ล้มเหลวอย่างมาก ผู้อ่านทุกคนคงเคยมีประสบการณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อย และบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช. ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ เลย

นอกจากนี้ เมื่อดูสถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค เราจะพบว่า ในช่วงเดือน พ.ย. 2554-พ.ค. 2555 มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณา ไม่เสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต โดยสาเหตุสำคัญของความล่าช้าดังกล่าวก็คือ กสทช. ปล่อยให้สำนักงาน กสทช. เข้าเกียร์ว่าง ไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากรอให้ผู้ประกอบการชี้แจงและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคเอง เสมือนหนึ่งการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เป็นภารกิจโดยสมัครใจของผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกิจกรรม CSR

ความไม่ใส่ใจในการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประกาศเจตนารมย์ของ กสทช. ที่ออกมาดูว่างเปล่า ไร้มีน้ำหนัก จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองยังหวังว่า กสทช. จะพยายามพลิกวิกฤติขององค์กรในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ

หาก กสทช. จริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตั้งเป้าให้อัตราค่าบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของไทยมีราคาถูก อย่างน้อยเป็นอันดับที่สองในอาเซียน

2. ปรับลดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไม่ให้เกิน 25 สตางค์ต่อนาที และปรับลดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง

3. เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค โดยสั่งการให้สำนักงาน กสทช. สนับสนุนการทำหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ และไม่บั่นทอนการทำงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าว โดยใช้กลไกอื่น

4. ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยยกเลิกประกาศห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ซึ่งมีผลกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งในการประมูล 3G ที่ผ่านมา จนมีผู้เข้าประมูลเหลือเพียง 3 ราย และการประมูลใบอนุญาตอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต

View :1683

กสทช. เคาท์ดาวน์ประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ยืนยันกระบวนการโปร่งใสเป็นธรรม

September 21st, 2012 No comments

ประกาศเริ่มนับถอยหลังประมูล คลื่นความถี่ 2.1 GHz อีกครั้งกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศ สู่การเป็น “เครือข่ายไทย เครือข่ายโลก” พร้อมเผยวิธีการประมูลและกระบวนการที่โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น ด้วยมาตรฐานสากล ดีเดย์ 16 ตุลาคม นี้

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เผยวันนี้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เต็มรูปแบบ เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับเสียงตอบรับจากทุกฝ่าย 16 ตุลาคม 2555 คือ วันที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ครั้งแรกของประเทศไทย

การพัฒนาเครือข่าย 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จะทำให้สามารถใช้งานโทรคมนาคม ได้อย่างสมบูรณ์ครอบคลุมทุกรูปแบบ วันนี้เราทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศได้มาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การสื่อสารยุค 3G สมบูรณ์แบบ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศในการรองรับนโยบายเปิดเสรีอาเซียน ที่กำลังจะมาถึง

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการนำโครงข่าย 3G มาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา Tele-Education และการสาธารณสุข Tele-Health ในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความสับสนของประชาชนในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้รองรับกับเครือข่ายของ ผู้ให้บริการ 3G เมื่อบ้านเราใช้เทคโนโลยี 3G มาตรฐาน ก็จะสามารถรองรับเครื่องลูกข่ายที่รองรับ 3G ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดได้ และที่สำคัญยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทย จากเดิมในยุคผูกขาดด้วยระบบสัมปทานไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเป็นครั้งแรก

นายพิทยาพล กล่าวว่า กสทช. ใช้วิธีจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 กำหนดไว้ สำหรับรูปแบบที่จะใช้ในการประมูล กทค. และ กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz สาระสำคัญของร่างประกาศประกอบด้วย จำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถถือครองได้ (Spectrum Cap)คือ 15 MHz และมีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz โดยมีราคาประมูลตั้งต้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 MHz

ในทุกขั้นตอน กสทช. ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำเอาคลื่นย่าน 2.1 GHz มาให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนทุกคน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz รวมถึงเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการจัดประมูลจะกระทำด้วยความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ตลอดจนถือเป็นวันสำคัญที่ทุกฝ่ายในวงการโทรคมนาคม ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ มาพร้อมใจรวมพลังเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมกันสนับสนุนให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เกิดขึ้น

ในส่วนของสำนักงาน กสทช. เอง ก็ได้เตรียมพร้อมทั้งในด้านสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสารสนเทศ ความปลอดภัย และการประชาสัมพันธ์ สำหรับการประมูล โดยมีคณะกรรมการดำเนินการประมูล 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานเตรียมการประมูล คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานรับและตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต และคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต ดูแล สำหรับที่ปรึกษาการประมูลได้บริษัท พาวเวอร์ อ็อกชั่น มาเป็นที่ปรึกษา และดูแลระบบซอฟท์แวร์การประมูล

นายพิทยาพล กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนรวมพลัง และให้การสนับสนุนการประมูล 3G ครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยของเราได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศเพิ่มโอกาสในการลงทุน 16 ตุลาคม 2555 นี้ วันประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของประเทศไทย ณ สำนักงาน กสทช.

View :1410

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บท 3 แผน

February 10th, 2012 No comments

การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ….) และ (ร่าง) ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) และ (ร่าง) แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙)

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ () ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ….) และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม (พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) ในวันศุกร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. โดยเป็นการจัดพร้อมกันทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยส่วนกลางจัด ณ ศูนย์แสดงสินค้าและ การประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และ ภาคใต้ ณ โรงแรมเมโทรโพล จังหวัดภูเก็ต

กำหนดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันศุกร์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง โดยภาคเช้าเป็นพิธีเปิดการประชุมโดยการถ่ายทอดสดสัญญาณพิธีเปิดจากสถานที่จัดการประชุมในส่วนกลาง (ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี) ไปยังสถานที่จัดการประชุม ณ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นจะเป็นการนำเสนอร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติและรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมฯ และในภาคบ่าย จะเป็นการนำเสนอร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมหรือร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมฯ

อย่างไรก็ตาม การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในส่วนภูมิภาคจะรับฟังความคิดเห็นเฉพาะร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก่อน โดยร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะสำหรับภาคเหนือ ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดอุบลราชธานี

ประเด็นที่ได้นำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ของร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม นอกจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ แล้ว มีประเด็นหลักๆ ดังนี้

๑. ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ จะรับฟังความเห็นในประเด็นหลักเกี่ยวกับรายละเอียดเกี่ยวกับตารางกำหนดคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ รายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่กำหนดให้ใช้ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการอื่น เครื่องมือในการบริหารคลื่นความถี่ กรอบแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ ๖ ด้าน

๒. ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะรับฟังความเห็นในประเด็นหลักเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร การพัฒนาคุณภาพการประกอบกิจการ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อไปสู่องค์กรกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

๓. ร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม จะรับฟังความเห็นในประเด็นหลักเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการ การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ การบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม การเตรียมความพร้อมและการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป องค์กรเอกชน กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรวิชาชีพและสื่อมวลชน กลุ่มผู้ประกอบกิจการ และนักลงทุน รวมทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการโทรคมนาคม จำนวนประมาณ ๑,๑๐๐ คน ในส่วนกลาง และประมาณ ๓๐๐ คน ในแต่ละส่วนภูมิภาค ซึ่ง กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจถึงความเป็นมา หลักการ เหตุผล และสาระสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าว ก่อนที่แผนแม่บทฯ ทั้ง ๓ ฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับ เพื่อพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในระยะ ๕ ปี ข้างหน้า ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และคาดหวังที่จะได้รับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มีต่อร่างแผนแม่บทฯ อันจะเป็นประโยชน์ต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในการนำไปปรับปรุงร่างแผนแม่บทฯ และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน ไตรมาสที่ ๑

View :1940