Archive

Posts Tagged ‘ตลาดการค้าเสรี’

สถาบันรหัสสากลจับมือกับกรีนสปอต นำร่องทำ GS1 Traceability เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเพิ่มศักยภาพในตลาดการค้าเสรี

February 27th, 2012 No comments

สถาบันรหัสสากล จับมือกับ กรีนสปอต นำร่องทำ GS1 Traceability เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ติดตาม ตรวจสอบสินค้าได้ทั้งซัพพลายเชน เพื่อความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพ และความเชื่อมั่น รองรับการเปิดตลาดการค้าเสรี รวมทั้งต่อยอดและขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อไป

นางพิชญา วัชโรทัย ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยของ Innova Market Insights ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ได้ระบุแนวโน้มของสินค้าอาหารที่คาดว่าจะได้รับความนิยม หนึ่งในแนวโน้มนั้นคือ Location : อาหารนั้นจะต้องสามารถระบุแหล่งที่มาน่าเชื่อถือ และตรวจสอบย้อนกลับได้ เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนมีแนวโน้มสนใจถึงแหล่งที่มาของสินค้าอาหารมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค สอดคล้องกับการที่บริษัท กรีนสปอต จำกัด ต้องการตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการรู้จักสินค้ามากขึ้น อยากรู้ว่าทำมาจากอะไร หรือใช้วัตถุดิบอะไร มาจากที่ไหนบ้าง ในขณะเดียวกันทางสถาบันรหัสสากลก็ได้มีโครงการที่จะประยุกต์ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานสากล ทำให้บริษัทสามารถสอบย้อน และติดตามการเคลื่อนที่ของสินค้าตลอดทั้งซัพพลายเชนได้ ดังนั้นสถาบันรหัสสากล จึงได้ร่วมมือกับบริษัท กรีนสปอต จำกัด จัดทำ GS1 Traceability ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งการทำงานมีขอบเขตดังนี้คือ
1. การจัด Training เกี่ยวกับเรื่อง GS1 Global Traceability ให้กับพนักงานระดับปฏิบัติ และระดับผู้บริหาร
2. การตรวจประเมินกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัท กรีนสปอต จำกัด (GTC Program)
3. ให้คำปรึกษาในการประยุกต์ใช้งานบาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1
4. พัฒนาระบบ EPCIS (Electronic Product Code Information Service) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับให้กับบริษัท กรีนสปอต จำกัด

นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท กรีนสปอต จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตลาดเครื่องดื่มของโลก กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการผลิต และการจำหน่ายอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคของคนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน และสำคัญที่สุดคือ ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ตลาดธุรกิจเครื่องดื่มทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านความปลอดภัยของอาหารที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื้อปนเปื้อนในเครื่องดื่มน้ำอัดลม หรือการปนเปื้อนของเมลามีนในนม ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใส่ใจต่อความปลอดภัยทางด้านอาหารและเครื่องดื่มมากยิ่งขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา

โดยความร่วมมือกับสถาบันรหัสสากล เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตามมาตรฐานสากล GS1 และระบบ EPCIS (Electronic Product Code Information Service) ในสินค้าเครื่องดื่มไวตามิ้ลค์ จะช่วยให้ กรีนสปอต สามารถสอบย้อนแหล่งที่มา และติดตามการเคลื่อนที่ของสินค้าได้ทั้งภายใน (Internal Traceability) และระหว่างองค์กร (External Traceability) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในคุณภาพแก่ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ไวตามิ้ลค์ที่ดื่มอยู่นั้นใช้วัตถุดิบเมล็ดถั่วเหลืองจากที่ใด กระบวนการเก็บเกี่ยวเป็นเช่นไร ตลอดจนกระบวนการผลิต และการจัดจำหน่ายไปยังผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภายในองค์กร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง ร้านค้าปลีก จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค รวมทั้งยังมีส่วนช่วยเปิดประตูการค้าสู่เวทีโลกได้กว้างขึ้น ทำให้ลูกค้าในต่างประเทศมั่นใจต่อคุณภาพของไวตามิ้ลค์ แบรนด์ และที่มาของผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

หลังจากสิ้นสุดโครงการ GS1 Traceability นี้จะเป็น Best Practice สำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยในการประยุกต์ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานสากล GS1 และ การประยุกต์ใช้ระบบ EPCIS (Electronic Product Code Information) รวมทั้งยังสามารถขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆเพื่อให้เกิดมาตรฐานทางด้านการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability Standard) ในประเทศไทย และทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของสินค้า (Traceability) ซึ่งจะเป็นการยกระดับสินค้าให้มีความเป็นมาตรฐานระดับสากล ส่งผลให้เกิดความปลอดภัย และเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ในระดับสากลต่อไป

ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เป็นการสอบย้อนถึงแหล่งที่มาของสินค้า รวมทั้งติดตามการเคลื่อนที่ของสินค้าในซัพพลายเชน ซึ่งระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ดี และมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สามารถมั่นใจได้ว่า วัตถุดิบหรือสินค้าที่ได้รับมาจากแหล่งที่มีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อนจากส่วนประกอบที่เป็นอันตราย รวมทั้งหากพบว่า สินค้ามีปัญหายังจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาออกจากตลาดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว แต่ด้วยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทยที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจำนวนมากในการซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมทั้งมีการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย ส่งผลให้เทคโนโลยีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ใช้ภายในองค์กร (Internal Traceability) ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการทางธุรกิจ (Business Requirement) และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้

ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในซัพพลายเชน นอกจากผู้ประกอบการจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับระหว่างองค์กร (External Traceability) อีกด้วย ซึ่งระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าว ต้องเป็นระบบที่เป็นมาตรฐานกลางได้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถใช้งานและแชร์ข้อมูลระหว่างคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งซัพพลายเชน ในส่วนของเทคโนโลยีมาตรฐานสากลระบบ EPCIS (Electronic Product Code Information Service) เป็นมาตรฐานกลางในการเก็บและร่วมแชร์ “เหตุการณ์(Event)” ที่เกิดขึ้นกับสินค้าระหว่างคู่ค้าในซัพพลายเชน ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถใช้งานในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มร่วมกับเลขหมายบาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1 และ Batch/Lot s หรือ Serial Number เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ตลอดทั้งซัพพลายเชน

การใช้งานระบบ EPCIS ที่เป็นมาตรฐานสากลร่วมกันนี้ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนเครื่องดื่มทุกรายสามารถแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวระหว่างคู่ค้าทั่วโลกผ่านระบบ Object Name Service (ONS) ที่เปรียบเสมือนสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองอิเล็กทรอนิกส์ในการค้นหาแหล่งข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นการเคลื่อนที่ของสินค้าได้ตลอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

“นอกจากระบบ EPCIS จะสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีก เช่น อุตสาหกรรมเนื้อโค อุตสาหกรรม Healthcare และทางด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมต่อการเปิดตลาดการค้าเสรีที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน” ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล กล่าวในที่สุด

View :2659