Archive

Posts Tagged ‘นักวิทย์ฯดีเด่นประจำปี 55’

2 นักวิจัยด้านการแพทย์ มช.-มหิดล คว้ารางวัลนักวิทย์ฯดีเด่นประจำปี 55

August 2nd, 2012 No comments

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2555 “ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร” ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ “ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์” หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล หลังทั้งคู่ใช้เวลากว่า 20 ปี ผลิตผลงานวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 30 แล้วที่มูลนิธิฯ จัดให้มีการมอบรางวัลนี้ขึ้น ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสดุดีเกียรติคุณบุคคลผู้มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูงอันจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดศรัทธาและช่วยชี้นำเยาวชนที่มีความสามารถให้มุ่งศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน อันเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีทั้งหลาย เพราะมูลนิธิฯเชื่อว่า สังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมุ่งยกย่องเชิดชูบุคคลที่มีผลงานดีเด่น กอปรด้วยคุณธรรม จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง

“รางวัลที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นนี้เพื่อเป็นแบบอย่างให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังหรือวงการวิทยาศาสตร์ของไทยเห็นว่าคนที่ทำงานเก่งคนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นคนดีควรได้รับการยกย่องเพื่อแบบอย่างให้คนอื่นทำตาม ผมหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นตัวที่ทำให้คนไทยเห็นความสำคัญของงานวิจัย ซึ่งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาที่เราได้คัดเลือกคนเก่ง คนดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างชาติทั่วโลก ผมคิดว่ารางวัลนี้เป็นการกระตุ้นวงการวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของงานวิจัยของนักวิชาการไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ มีผลงานการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกเป็นการบอกกล่าวให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งเป็นการผลักดันกลุ่มนักวิจัยและบุคลากรให้มีกำลังใจและสามารถเอางานวิจัยเหล่านั้นไปขยายผล ให้คนทั่วไปในสังคมไทยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านั้นจากฝีมือคนไทยด้วยกัน”

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นนั้น จะใช้วิธีการเสนอชื่อเข้ามา ซึ่งในแต่ละปีมีการเสนอชื่อผู้เข้ารับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยเกณฑ์ที่คณะกรรมการใช้พิจารณาคือ ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติจำนวนมาก และผลงานวิชาการดังกล่าวมีผู้อ้างอิงถึงเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นักวิจัย 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2555”ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงทำให้คนเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ซึ่งพบได้บ่อยในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ Heart Attack และ ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีผลต่อการฟื้นฟูเซลล์สมอง โดยพบว่าสามารถสร้างเซลล์สมองให้ฟื้นคืนชีพได้ พร้อมสรรพคุณรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุและผู้ติดยาเสพติด ซึ่งนำไปสู่ข้อมูลในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคทางระบบประสาทและสมอง

ขณะที่รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งทางมูลนิธิฯก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 นั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ กล่าวต่อว่า แม้รางวัลนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่ตนเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งสีสันของงานที่แสดงให้เห็นว่า วงการวิทยาศาสตร์ไทยยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดเจตนารมณ์การทำงานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการให้รางวัลนี้ เพื่อให้กำลังใจนักวิจัยรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี และชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีศักยภาพ รวมถึงสิ่งที่พวกเขาทำมานั้นดีแล้วและควรทำดีต่อไปหรือทำให้ดีมากขึ้น ซึ่งรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2555 ได้แก่ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สัมฤทธิ์ วัชรสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

“การมอบรางวัลทั้ง 2 รางวัลนี้ ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าเป็นการช่วยกระตุ้นงานวิจัยที่เราเชิดชูสนับสนุนให้ไปต่อได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องเติมเต็มอีกมากมาย ผมคิดว่าประเทศไทยยังขาดในส่วนนี้ โดยเฉพาะในกระบวนการที่เรียกว่า ต่อยอด เพราะงานวิจัยมันมากกว่าการต่อยอดแต่รวมไปถึงการผลิต หรือเรียกรวมๆว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยี นั่นคือการถ่ายทอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ตรงนี้บ้านเราขาด เนื่องจากการเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิตมีน้อยมาก ฉะนั้นถ้าจะกระตุ้นงานวิจัยเหล่านี้ให้เดินต่อไปได้ ภาครัฐต้องสนับสนุนเอาจริงเอาจังร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำผลงานวิจัยไปใช้ ซึ่งภาครัฐจะทำเองคนเดียวไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการค้า เป็นเรื่องของการตลาดต้องมีการลงทุนสูง ในส่วนนี้หากมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วยจะทำให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไทยได้รับการถ่ายทอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้มากยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ยืนยันว่า การเชิดชูสนับสนุนคนเก่งคนดีในสังคมไทยสามารถทำได้ทุกสายอาชีพ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะมูลนิธิฯเชื่อว่า การที่สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของนักวิจัยที่เก่ง เป็นคนดี และมีคุณธรรม จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป จากผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ผนวกกับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อนงานวิจัยเหล่านี้ไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกๆด้านต่อไป

View :1213