Archive

Posts Tagged ‘ประชาคมอาเซียน’

ก.ไอซีที เผยแพร่แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 รองรับประชาคมอาเซียน

March 9th, 2012 No comments

นางสาวอารีวรรณ ฮาวรังษี รักษาการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ” ว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ถือเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศ โดยประเด็นที่เห็นได้ชัดเจน คือ โอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การลดอุปสรรคทางการค้า และโอกาสในการลงทุน ด้วยจำนวนประชากรที่รวมกันกว่า 600 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการค้ารวม 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่และดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังมีประเทศพัฒนาหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ให้ความสนใจภูมิภาคอาเซียน และเข้าร่วมเป็นคู่เจรจากับอาเซียน

นอกจากนี้ การเป็นประชาคมยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาค เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่วนเรื่องความท้าทายนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่อาเซียนต้องคำนึงถึง เช่น ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ผลกระทบทางลบจากการเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเป็นประชากรของอาเซียน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องพร้อมรับกับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งในเชิงรุกที่จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียน และในเชิงรับที่ต้องปกป้องและแก้ไขผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขณะนี้ กระทรวงไอซีที อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจต่างๆ ของกระทรวงฯ ทั้งด้านการพัฒนาไอซีที การเตือนภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านสถิติ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมืออาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนด้วย

ด้านนายอาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2558 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ TELMIN ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 จึงได้เห็นชอบโครงการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน หรือ ASEAN ICT MASTERPLAN 2015 และอนุมัติการสนับสนุนเงินจากกองทุน ASEAN ICT Fund เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางกิจกรรมความร่วมมือด้านไอซีทีและสนับสนุนการรวมกลุ่ม ของอาเซียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านไอซีที ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อร่วมพิจารณาจัดทำแผนแม่บทฯ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว

หลังจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ประชุมได้มีการรับรองแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 และมีการประกาศแผนแม่บทฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแผนแบบเบ็ดเสร็จที่มีการระบุยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน เป้าหมาย รวมทั้งระยะเวลาการดำเนินการภายใน 5 ปีที่ชัดเจน และภายหลังจากการรับรองแผนแม่บทฯ แล้ว ที่ประชุมอาเซียนยังได้เห็นชอบให้สมาชิกแต่ละประเทศจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แผนแม่บทฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการผลักดันแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ

กระทรวงฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 อย่างเป็นทางการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนบทบาทของประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจประมาณ 250 คน นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย มาร่วมให้ความรู้ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย

View :1622

ก.ไอซีที จับมือภาคเอกชนสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพรองรับประชาคมอาเซียน

September 9th, 2011 No comments

นาวาอากาศเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดโครงการสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพ ว่า จากนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลจะดำเนินการนั้น ได้มุ่งหมายที่จะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2558 โดยการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และความมั่นคง

กระทรวงไอซีที จึงได้ผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งพันธกิจหนึ่งของกระทรวงฯ ก็คือ การส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนด้วยการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก การพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของบุคลากรด้านไอทีของประเทศให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เทคโนโลยีของโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา เป็นต้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบุคลากรของประเทศอื่นๆ ได้

“จากการสำรวจมูลค่าตลาดไอซีทีปี 2553 ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พบว่า มีมูลค่ากว่า 607,385 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์นั้นมีมูลค่าเพียง 11.91% ของมูลค่าตลาดรวมหรือ 72,400 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า ศักยภาพของบุคลากรไอซีทีไทยในการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการนั้นยังมีอยู่มาก และพร้อมที่จะพัฒนาให้มากขึ้นไปอีกได้ ดังนั้น การพัฒนาทักษะระดับสูงของบุคลากรไอซีทีไทย ให้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างแอพพลิเคชั่น โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงฯ จะดำเนินการในรูปแบบ Public-Private Participation หรือ PPP ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ก็คือ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงไอซีที และภาคเอกชนที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

กระทรวงไอซีที จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาซอฟต์แวร์ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม , อุทยานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย (TCEP) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการสร้างนักพัฒนาโปรแกรมมืออาชีพ หรือ CAS Code Camp เพื่อพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟต์แวร์ให้มีความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมบนอุปกรณ์มือถือ และสามารถใช้แนวคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ โดยการจัดฝึกอบรม 6 หลักสูตร คือ หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา iPhone / iPad หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา Android หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์พกพา Microsoft Phone หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรม Game ด้วย Microsoft XNA หลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรมระดับองค์กรด้วย Microsoft Visual Studio และหลักสูตรนักพัฒนาโปรแกรม Microsoft Share Point

“โครงการ CAS Code Camp นี้ จะเปิดฝึกอบรมพัฒนาทักษะความรู้ให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวน 6,000 คน ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากกระทรวงไอซีที บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาซอฟต์แวร์ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งความรู้ที่ได้รับนี้จะสามารถใช้เป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพได้ และกระทรวงไอซีที คาดหวังว่า โครงการฯ นี้จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรด้านไอซีทีในประเทศไทยได้ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้การพัฒนาบุคลากรไอซีที เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

View :1696