Archive

Posts Tagged ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’

ซอฟต์แวร์พาร์คเร่งผนึกกำลัง 3 พาร์ค ร่วมขยายความเข้มแข็งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยสู่ระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ AEC 2015

January 31st, 2012 No comments

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ 3 เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัดคือ อีสานซอฟต์แวร์พาร์ค ซอฟต์แวร์พาร์คภูเก็ต และโคราชซอฟต์แวร์พาร์ค ก่อตั้งกลุ่มเครือข่ายซอฟต์แวร์พาร์คในประเทศไทย หรือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอทีไทยสู่ระดับภูมิภาค เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจประชาคมอาเซียนในปี 2558 (ASEAN Economic Community: AEC 2015)

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่า “สวทช. เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และไอทีเป็นอุตสาหกรรมฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอื่นๆ และเป็นปัจจัยที่เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ และ สวทช. มีหน่วยงานที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไอที 2 หน่วยงานด้วยกัน คือ NECTEC ซึ่งมีมุ่งเน้นการทำวิจัยด้านไอทีและอิเลคทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์พาร์ค มุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการและการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเป็นพาร์คแห่งแรก และเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการซอฟต์แวร์พาร์คในไทย ทั้งนี้เพื่อขยายผลการดำเนินงานของซอฟต์แวร์พาร์ค จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรี หรือ AEC 2015 เพราะหากไม่เตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมให้ทั่วถึงส่วนภูมิภาคของประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในอนาคต”

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า “การรวมกลุ่ม Thailand Software Park Alliances (TSPA) นั้น เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดผลในภาพรวมต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ โดยเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การขยายผลการจัดกิจกรรมต่างๆ ของซอฟต์แวร์พาร์ค ออกสู่พาร์คต่างๆในภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ 1. การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเจ้าหน้าที่และบริษัทผู้เช่าในพาร์คต่างๆ 2. การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการขยายตลาดซอฟต์แวร์ ผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างช่องทางในการทำธุรกิจและบุกตลาดในประเทศร่วมกัน 3. การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพในการออกตลาดต่างประเทศ และเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และ 4. กิจกรรมส่งเสริมการใช้ไอทีในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น โดยกิจกรรมต่างๆ ของซอฟต์แวร์พาร์คที่มีอยู่เดิมจะพยายามขยายผลออกสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น ภายใต้ศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน”

ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “พาร์คต่างๆ ทั้งที่ดำเนินงานโดยภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน แม้ว่าจะจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งเน้นที่ต่างกันในแต่ละแห่ง แต่ทุกพาร์คมีเป้าหมายร่วมเดียวกันคือการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังร่วมมือกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละแห่ง เพื่อพัฒนาเป็นเครือข่าย และร่วมวางแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 อันจะส่งผลให้มีการเปิดเสรีในด้านการตลาด การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างอิสระ ซึ่งหากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย รวมถึงบุคลากรไอทีไทยไม่เตรียมพร้อมรับมือ จะทำให้เกิดความเสียเปรียบจากการเปิด AEC 2015 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงในปัจจุบันนี้ Business Model ในการดำเนินธุรกิจซอฟต์แวร์กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยมีแนวโน้มว่ารูปแบบของซอฟต์แวร์จะเเปลี่ยนจาก Product เป็น Service มากขึ้น หากผู้ประกอบการไม่เตรียมตัวอาจจะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจและขาดศักยภาพในการแข่งขันโดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยของ AEC 2015 เข้ามาร่วมด้วย

โดยในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คเองในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทในการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จึงได้มุ่งเน้นแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ภายใต้หลักการตามที่คณะกรรมการบริหารของซอฟต์แวร์พาร์คได้ให้แนวทาง 3 ประการคือ 1. การดำเนินงานให้สอดคล้องกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆที่มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเกิดความเป็นเอกภาพในการทำงาน อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 2. ผลักดัน Emerging Technology อาทิเช่น Cloud and Mobile Technology ให้เกิด Ecology ที่สมบูรณ์และมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะสร้างประสิทธิภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้เป็นอย่างดี 3. ผลักดันการรวมตัวของเครือข่ายซอฟต์แวร์พาร์คในประเทศเพื่อขยายผลกิจกรรมออกสู่ภูมิภาค และร่วมวางแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ AEC 2015 รวมถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงการขยายผลความร่วมมือของเครือข่ายซอฟต์แวร์พาร์คในระดับเอเชีย โอเชียเนีย (Asia Oceania Software Park Alliance) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน”

ผศ.วันชัย สุ่มเล็ก ผอ.ศูนย์ประสานงานเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ E-Saan Software Park กล่าวว่า “บทบาทของอีสานซอฟต์แวร์พาร์คที่ผ่านมาคือ ช่วยสนับสนุนจังหวัดขอนแก่นในนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ พัฒนานักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นผู้ประกอบการด้านไอทีโดยผ่านกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubate) พัฒนาบัณฑิตของสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ในแต่ละปีสถาบันการศึกษาในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ได้ผลิตบุคคลากรด้านซอฟต์แวร์และไอทีจำนวนกว่า 1000 คน แต่ปริมาณงานทางด้านไอที รวมถึงบริษัทซอฟต์แวร์และไอทีในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงยังมีไม่มากพอที่จะรองรับบุคคลากรที่สถาบันการศึกษาผลิตได้ ส่งผลนักศึกษาที่จบการศึกษาทางด้านไอทีเหล่านั้นต้องจากถิ่นฐานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลหรือเปลี่ยนไปทำงานในด้านอื่นที่ไม่ใช้ความรู้ด้านไอที สิ่งที่อีสานซอฟต์แวร์ปาร์ควางแผนที่จะดำเนินการต่อไป คือ ร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ฯ สถาบันการศึกษาต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาผ่านกระบวนการสหกิจศึกษาโดยคาดหวังว่านักศึกษาจะเข้าใจธุรกิจด้านนี้ และมีคุณลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจมาก โดยจะนำจุดแข็งในเรื่องของการสร้างคน และมุ่งมั่นที่จะสร้างอีสานซอฟต์แวร์พาร์คให้เป็น “Thailand Local Outsourcing Center” เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และสร้างบุคลากรไอทีให้พร้อมเพื่อรองรับการขยายตัวของ AEC 2015”

นางปวันรัตน์ ปานรักษา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ““จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดขนาดใหญ่เป็นที่สองของประเทศไทย ที่มีแหล่งรายได้หลัก มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งการขับเคลื่อนกิจการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นกลไกสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการซอฟต์แวร์ ตลอดจนแรงงานทางด้าน ICT เป็นจำนวนมาก แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมายังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่สาคัญ 3 ประการ คือ 1. นักศึกษาทางด้าน ICT ที่จบมาจากสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการประกอบอาชีพทางด้าน ICT ไม่อยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน 2. ผู้ประกอบการ ICT ในพื้นที่มีจานวนน้อยเกินไป และมีขนาดเล็ก ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของกิจการต่างๆที่มีในโคราชซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดใหญ่ และ 3. ขาดการเชื่อมโยงระหว่างกิจการต่างๆ ที่มีความต้องการทางด้าน ICT กับผู้ประกอบการ ICT

สำหรับความร่วมมือในกลุ่ม Thailand Software Park Alliances ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดกิจกรรมสำหรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และการขยายฐานการตลาดของธุรกิจซอฟต์แวร์ออกสู่พื้นที่จังหวัดนครราชสีมามากขึ้น โดยกิจกรรมหลักของความร่วมมือจะเน้นไปในส่วนของการจับคู่ระหว่างธุรกิจผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้ไอทีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและใกล้เคียง”

นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภูเก็ต หรือ Software Park Phuket กล่าวว่า “การรวมตัวของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ ที่แต่ละพาร์คซึ่งมีจุดแข็งแตกต่างกัน สามารถมารวมตัวและผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพร้อมรับมือกับ AEC 2015 ต่อไป

ผลการดำเนินงานของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภูเก็ต ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการโดยการจัดกิจกรรมอบรมสัมมนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวนกว่า 100 โครงการ รวมถึงการให้การสนับสนุนการบ่มเพาะธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และ ICT จำนวน 22 ราย ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนงานวิจัยให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้แล้วยังสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อสังคม เช่น เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างโอกาสในการทำงานของนักศึกษาผ่านกิจกรรมการศึกษาดูงานและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สูงวัยที่สนใจเทคโนโลยี เป็นต้น
ภายใต้ความร่วมมือและความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต ผนวกกับจุดแข็งของการเป็นเมืองน่าอยู่ในสายตาของนานาชาติ ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้ภูเก็ตมีโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาเสริมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมใหม่นี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมอุดมปัญญา ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตได้ในอนาคต
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ภูเก็ต ยังคงมุ่งมั่นและพร้อมที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น “Value Creation” ด้วยแนวคิด “Lifestyle, Inspiration, Creativity” ด้วยวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยง สนับสนุนการสร้างและการพัฒนาสังคมผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เพื่อก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ เพื่อการเข้าถึงตลาดใหม่ในประชาคมโลก และเป็นฐานรากที่เข้มแข็งสู่การนำความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศอย่างยั่งยืน”

View :2006