Archive

Posts Tagged ‘สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)’

สบท. เตือนใช้บริการโรมมิ่งอันลิมิท ก็หมดตัวได้

August 12th, 2011 No comments

สบท.เตือนใช้บริการโรมมิ่งอันลิมิท ก็หมดตัวได้ หากไม่รู้จักตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกเฉพาะเครือข่ายที่แพ็คเกจกำหนด พบหนุ่มนักศึกษาเที่ยวเกาหลีอาทิตย์เดียว กลับมาเจอบิลกว่าสองแสนบาท เหตุพกไอโฟนไปด้วยและต่อเน็ตตลอดเวลา เพราะนอนใจว่าเลือกแพ็คเกจไม่จำกัดแล้ว

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม () เปิดเผยว่า การใช้บริการโรมมิ่งยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ร้องเป็นนักศึกษาเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีเพียง 6 วัน โดยพกโทรศัพท์ไอโฟนพร้อมสมัครใช้แพ็คเกจอันลิมิต แต่กลับมาถึงเมืองไทยถูกเรียกเก็บค่าโทรศัพท์จากการใช้บริการดาต้าเป็นเงินสองแสนกว่าบาท เพราะเครื่องไปเลือกจับสัญญาณเครือข่ายนอกแพ็คเกจเป็นบางช่วง

“แพ็คเกจอันลิมิทหรือแพ็คเกจไม่อั้นทั้งหลายเป็นแพ็คเกจที่บริษัทมักจะเลือกทำสัญญากับเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งในประเทศปลายทาง ไม่ใช่ทุกเครือข่าย เช่นถ้าเครือข่ายของไทยไปเลือกทำสัญญาการเชื่อมสัญญาณกับ 10 บริษัท บริษัทไทยจะเลือกทำสัญญาอันลิมิตแค่บริษัทเดียว อีก 9 บริษัทไม่ใช่ ดังนั้นเมื่อไปถึงปลายทางผู้ใช้ต้องตั้งค่าระบบเครื่องให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้นด้วยถึงจะอันลิมิทจริง “ ผอ.สบท. กล่าว

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเลือกเครือข่ายได้ถูก ล็อคเครือข่ายได้สำเร็จ การจะใช้ในปริมาณเท่าไหร่ก็จะอยู่ในโปรโมชั่นที่เลือกไปคือ อันลิมิทอาจจะราคา 1,500 หรือ3,000 บาท ไม่เกินนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้ล็อคเครือข่าย แล้วเครื่องไปจับสัญญาณเครือข่ายอื่นก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขอันลิมิทและจะกลายเป็นว่า ใช้เท่าไหร่ก็ต้องจ่ายเท่านั้นและคิดตามปริมาณข้อมูลด้วย อย่างเกาหลี ญี่ปุ่นหรืออเมริกา ซึ่งมีบริการ 3G เพราะฉะนั้นข้อมูลจะไหลเร็วมาก เช่นรายนี้เพียงไม่กี่วันที่เครื่องจับสัญญาณดาต้านอกเครือข่ายพบว่าใช้ไปกว่า400 เมกกะไบต์ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเมกะไบต์ละ 500 กว่าบาท ขณะที่มีการใช้ในเครือข่ายที่กำหนด 180 เมกะไบต์ ส่วนนั้นถูกเรียกเก็บตามแพ็คเกจ 1,750 บาท

ผอ.สบท.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การจำกัดวงเงินสูงสุดไว้ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากเพราะปัจจุบันการรายงานการใช้บริการระหว่างประเทศยังทำได้ไม่ตรงตามเวลาที่ใช้จะมีการล่าช้าของการแจ้งผล

“โดยหลักทางเทคนิคค่าใช้จ่ายในต่างประเทศไม่ได้โอนข้อมูลมาเป็นวินาทีอาจรายงานเป็นวันหรือ 24 ชั่วโมง เช่นทำการจำกัดไว้ที่ 5,000 บาท แต่พอใช้ในต่างประเทศวันแรกเป็นแสน แล้วผ่านไปวันหนึ่ง ต่างประเทศเพิ่งแจ้งกลับประเทศไทย เพราะมีการดีเลย์ของข้อมูล ไม่เหมือนอยู่ในเมืองไทยเพราะบริษัทในเมืองไทยคุมค่าใช้จ่ายเองพอถึง 5,000 ก็ตัดได้เลย แต่กรณีโรมมิ่งไม่ใช่ เพราะข้อมูลกว่าจะส่งผ่านมาจะมีความล่าช้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ดังนั้นต่อให้ควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ก็อย่าชะล่าใจ เพราะต่อให้มีการใช้เกินวงเงินแล้วเครื่องก็จะยังไม่ตัดยังใช้ได้อยู่” นายประวิทย์กล่าว

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศและสมัครใช้บริการโรมมิ่งควร สอบถามชื่อเครือข่ายที่เราต้องใช้เมื่ออยู่ต่างประเทศ แล้วเมื่อไปถึงให้ตั้งระบบเครื่องด้วยตัวเองให้ล็อครับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายนั้น รวมถึงสังเกตหน้าจอขณะใช้บริการเป็นระยะๆว่า เครื่องรับสัญญาณของเครือข่ายใดอยู่ นอกจากนี้อาจใช้วิธีการซื้อซิมการ์ดในประเทศนั้นๆแทน เพราะโดยส่วนใหญ่ค่าบริการจะถูกกว่า

“ถ้าเราต้องการติดต่อสื่อสาร มันไม่ได้มีเครื่องมือเดียว ไม่ได้ต้องเอาโทรศัพท์เราไปโรมมิ่งต่างประเทศ เพราะในประเทศนั้นเค้าก็มีซิมขาย ส่วนใหญ่ค่าบริการมักจะถูกกว่าค่าบริการโรมมิ่ง ยกตัวอย่างถ้าชาวต่างชาติมาไทย เค้าซื้อซิม เอไอเอส ดีแทค เค้าจะจ่ายถูกเหมือนเรา ดังนั้นหากเราไปต่างประเทศเราก็ต้องคิดเหมือนกันว่า บ้านเค้ามีซิมอะไรหรือไม่ประเภทอันลิมิทหกเจ็ดร้อยบาท ขณะที่ใช้โรมมิ่งของประเทศเราเนี่ยกลับมาโดนไปสามสี่แสน ดังนั้นเราต้องฉลาดที่จะเลือกด้วย” นายประวิทย์กล่าว

View :1693

ปัญหาพรีเพดและคิดตังค์ผิด ถูกร้องมากที่สุด

July 10th, 2011 No comments

​สบท.เผยผลร้องเรียนครี่งปี กำหนดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินหรือพรีเพดยังถูกร้องเรียนไม่เลิก ฮัทช์ เอไอเอส ดีแทค  นำโด่ง  ด้านทรู ยังตกเลขเพราะครองแชมป์คิดเงินผิด  ผอ.สบท.เตือนปัญหาโรมมิ่งน่าห่วง เพราะร้องน้อยแต่สูญเป็นแสน
 
​นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงผลการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน มกราคม – มิถุนายน 2554 ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือ ร้อยละ 4 และเรื่องอื่นๆ อีกร้อยละ 2

ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า เกินครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 55 ของเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงิน เพราะผู้บริโภคยังต้องเดือดร้อนจากการที่ถูกกำหนดวันหมดอายุและต้องเติมเงินทั้งที่เงินยังมีอยู่ในระบบ การถูกยึดเงินในระบบ เป็นต้น ประเด็นต่อมาคือเรื่องของการคิดค่าบริการผิดพลาดมีจำนวน 257 เรื่อง โดยที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงเนื่องจากมูลค่าความเสียหายสูงคือ ปัญหาการใช้บริการโรมมิ่ง หรือการใช้บริการข้ามแดนระหว่างประเทศ

“ครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ยอดเงินที่ผู้บริโภคโต้แย้งจากการถูกบริษัทเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งมียอดรวมมากกว่า 1 ล้านบาท จากการร้องเรียนไม่ถึง 30 ราย เพราะแต่ละรายถูกเรียกเก็บค่าบริการสูงเป็นหมื่นบาท สูงสุดประมาณสามแสนบาท ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น การใช้ไอโฟน 3 ไอโฟน 4 แบลคเบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งไอแพด แล้วเกิดการเชื่อมต่ออัตโนมัติโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัว รวมถึงการที่ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องจากผู้ให้บริการด้วย “ผอ.สบท.กล่าว

นายประวิทย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือนั้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีไวร์เลส หรือ ฮัทช์ และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกร้องเรียนมากที่สุดในเรื่องการกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงิน ขณะที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ถูกร้องเรียนในปัญหาค่าบริการผิดพลาด มากที่สุด ส่วนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นพบว่า ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ มาตรฐานการให้บริการ เช่น ถูกระงับบริการโดยไม่ทราบสาเหตุ สัญญาณหลุดบ่อย รองลงมาคือปัญหาค่าบริการผิดพลาด และปัญหาการยกเลิกบริการ โดย บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด ถูกร้องเรียนจากผู้ใช้บริการมากที่สุด จำนวน 189 เรื่อง ตามมาด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 76 เรื่อง และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด จำนวน 21 เรื่อง

​ขณะที่การให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)  ถูกร้องเรียนจากผู้ใช้บริการมากที่สุด ในประเด็นปัญหาค่าบริการผิดพลาดและมาตรฐานการให้บริการ
 

View :1357

เปลี่ยนเครือข่ายเบอร์เดิม อ่วม ผู้บริโภคยังผจญภัยกับการใช้บริการ

January 21st, 2011 No comments

1 เดือนแรก”เปลี่ยนเครือข่าย เบอร์เดิม”ผู้บริโภค 20,000 ราย ผจญสารพัดปัญหาไร้สาระ ผอ.สบท.เตือนอย่าทำให้การใช้สิทธินี้ยากเย็นเกินไป ด้าน กสทช. สุรนันท์ ระบุ กฎ 90 วัน ผู้ให้บริการจะมากำหนดเองไม่ได้ ด้านตัวแทนเคลียร์ริ่งเฮ้าส์คาดมีนาคมให้บริการได้ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม () ได้จัดการเสวนา “ 1 เดือนคงสิทธิเลขหมาย…ชาตินี้ได้ใช้ เมื่อไหร่จะเป็นธรรมและทั่วถึง” นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกล่าวว่า จากการสำรวจตรวจสอบปัญหาจากการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายฯ ของผู้บริโภค ซึ่งมีการแจ้งปัญหาทั้งจากการโทรเข้ามาสอบถามและร้องเรียนกับ และ การแสดงความคิดเห็นบนหน้าเว็บไซค์ต่างๆ พบว่า มีปัญหาหลากหลายเรื่องหลักๆได้แก่ การถูกปฏิเสธบริการ เนื่องจากคำนำหน้าชื่อไม่ตรง ชื่อสะกดไม่เหมือน ติดหนี้ค่าบริการ ยังไม่จดทะเบียนซิมการ์ด(กรณีที่ใช้บริการแบบเติมเงิน หรือ prepaid หรือจดทะเบียนแล้วต้องรอ 7 วัน จึงจะสามารถใช้สิทธิได้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาการย้ายแล้วใช้งานไม่ได้ การไม่ได้รับเอสเอ็มเอสแจ้งผล เป็นต้น
“ยังมีกรณีการถูกกำหนดให้ต้องอยู่กับผู้ให้บริการรายเดิม 90 วัน จึงสามารถโอนย้ายครั้งใหม่ได้ ทั้งที่ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายค่าโอนย้าย 99 บาท หรือ ติดหนี้ค่าบริการไม่กี่สตางค์ ชื่อนำหน้าเป็นคุณกับนางสาว มีศูนย์ให้บริการน้อยเกินไป การบอกรายละเอียดไม่ครบเกี่ยวกับเงินคงเหลือในระบบเติมเงิน ซึ่งความจริงผู้ให้บริการรายเดิมต้องคืนให้กับผู้บริโภค เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้การใช้บริการยากลำบาก และส่งผลให้ผู้บริโภคไม่อยากใช้สิทธิจึงไม่ควรทำให้การใช้สิทธินี้ ยากเย็นเกินไป ” ผอ.สบท.กล่าว
ด้านนายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานกรรมการ บริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (เคลียร์ริ่งเฮ้าส์) กล่าวว่า หล้งเปิดบริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 53 – 17 ม.ค. 54 มีผู้ยื่นขอใช้บริการทั้งสิ้น 20,000 ราย เป็นผู้ใช้บริการจากต่างจังหวัดร้อยละ 20 โดยในระยะแรกของการให้บริการพบว่า มีลูกค้าร้อยละ 50 ถูกปฏิเสธ และร้อยละ 80 ของปัญหาการโอนย้ายคือ การสะกดชื่อไม่ตรงกัน การชำระเงิน และผู้ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงินไม่จดทะเบียนซิม อย่างไรก็ตามปัจจุบันเหลืออัตราในการโอนย้ายไม่สำเร็จ ประมาณร้อยละ 28 ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางเทคนิคและกฎเกณฑ์ ที่ผู้ให้บริการต้องการเร่งให้บริการ การทดสอบระบบยังไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็น ทำให้เกิดปัญหา
“ปัจจุบันสามารถให้บริการโอนย้ายได้ 200 รายต่อวัน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์จะสามารถเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก ภูเก็ต ระยอง อยุธยา และอุดรธานี ทำให้สามารถใช้บริการเพิ่มอีก 100 รายต่อวัน โดยคาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนมีนาคมนี้จะสามารถให้บริการได้ตามช๊อปของแต่ละเครือข่ายได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ประสิทธิภาพสูงสุดที่ตั้งไว้คือสามารถให้บริการได้ 1,200,000 เลขหมายต่อปี “นายปรีมนต์กล่าว
ด้านนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. กล่าวว่า ความสำเร็จของบริการนี้คือ ประชาชนต้องได้ใช้บริการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังไม่มีนโยบายที่ผู้บริโภคจะต้องอยู่กับผู้ให้บริการร ายเดิม 90 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการโอนย้ายที่ผู้ให้บริการกำหนด
“ 90 วัน ไม่ควรเป็นข้อจำกัด เพราะไม่เป็นเงื่อนไขในการโอนย้ายที่ผู้ให้บริการไปตั้งกันเอง ไม่ควรนำมาเป็นข้อจำกัด ถ้ามีการกำหนดไว้เช่นนั้น ก็ต้องแก้ไขปรับปรุง” นายสุรนันท์กล่าว

View :1285