Archive

Posts Tagged ‘สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์’

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประเดิมจับมือกรมบังคับคดี หวังปูฐานจับระบบไอทีกระบวนการยุติธรรมเข้าคลาวด์และ GIN

October 4th, 2012 No comments

ประเดิมใช้ 4 บริการ เชื่อมโยงทั้งในและนอก ประชาชนเกิดประโยชน์อื้อ

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี หรือ กบค. เปิดเผยว่า ขณะนี้กบค.ได้นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและบริการประชาชนเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบงานการบังคับคดีแพ่ง ซึ่งเป็นระบบการปฏิบัติงานในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดทุกภาค ที่สำคัญได้วางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของระบบการบริหารทั้งหมด โดยต้องลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของงบดำเนินงาน การตรวจสอบและระบบรักษาความปลอดภัยของระบบ การเตรียมความพร้อมในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่จะต้องใช้งานเพื่อรองรับการปฏิบัติงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมให้ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service ที่เป็น Portal กลางของภาครัฐสามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงร่วมกันทำงานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสรอ. จนนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้งานบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Government Cloud Computing ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ระบบ Government Monitoring และระบบ e-Portal

หลังจากทำบันทึกข้อตกลงกับสรอ.แล้ว ทางกบค.จะเริ่มนำระบบทั้งหมดมาใช้ทันที โดยเบื้องต้นจะเน้นที่ 3 ระบบก่อนคือ 1. ระบบ Government Cloud Computing เพื่อเป็นการตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไอทีทั้งหมดของกบค.อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าใช้ข้อมูลที่น่าสงสัย ซึ่งสรอ. มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบแบบ 24/7 หรือตลอดเวลาไม่มีหยุดพัก โดยจะตรวจสอบการใช้งาน หรือ Log File และการใช้งานระบบเครือข่าย เป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงและปลอดภัยในระบบไอทีของกบค. 2. ระบบ e-Portal ในเบื้องต้นจะใช้เชื่อมต่อระบบตรวจสอบบุคคลล้มละลาย ซึ่ง กบค. มีบริการในส่วนนี้อยู่แล้ว และเป็นที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย ส่วนระยะถัดไประบบจะเข้ามาตรวจสอบสถานะคดีแพ่ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้าใช้หรือ Authorize ของบุคคลให้สามารถตรวจสอบได้เฉพาะข้อมูลที่บุคคลนั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น

ส่วนระบบที่ 3 คือ ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ GIN ในระยะนี้ กบค.ตั้งเป้าหมายหลักในการนำระบบนี้มาใช้คือ ลดค่าใช้จ่ายระบบเครือข่าย ซึ่งเดิมกบค.ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สำหรับเป้าหมายต่อไปนั้น กบค.จะใช้งานระบบแบบเต็มรูป จะมีการตรวจสอบ Concurrent และ Traffic การใช้งานว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยการใช้บริการของ GIN สามารถเพิ่มแบนด์วิธได้ตามการใช้งานจริง จึงมีความยืดหยุ่นและเหมาะสม รวมถึงประหยัดงบประมาณภาครัฐด้วย
ระบบของสรอ.ที่กบค.จะนำใช้งานในอนาคต ได้แก่ ระบบคลาวด์ภาครัฐ เนื่องจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์และระบบปฏิบัติการที่สรอ. มีในขณะนี้ยังไม่สนับสนุนกับระบบของ กบค. ซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องประสานงานระหว่างสองหน่วยงานต่อไปอีกช่วงระยะหนึ่งเพื่อทดสอบการใช้งาน ทั้งนี้ระบบคลาวด์ภาครัฐที่กบค. ต้องการใช้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายทำหน้าที่ฐานข้อมูล มีระบบปฏิบัติการแบบ Solaris 9 ขึ้นไป หรือแบบ HP-UX ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลแบบ Oracle Enterprise 10g ขึ้นไป เพื่อใช้งานระบบงานบังคับคดีแพ่งที่พัฒนาโดยภาษา Java และระบบ Business Intelligent หรือ BI ในการวิเคราะห์วางแผนการปฏิบัติงาน

ปัจจุบันกบค. มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU เชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของภาครัฐที่กบค. ต้องตรวจสอบข้อมูล เช่น ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับกรมการปกครอง ข้อมูลกับกรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น การเข้ามาใช้ระบบ GIN จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเช่าระบบเครือข่าย Lease Line ลงได้ และในส่วนของการส่งข้อมูลที่จะต้องประสานงาน เช่น สตม. กรมที่ดิน หน่วยงานอื่นสามารถเชื่อมโยงระบบของ กบค. ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จายในการเช่าระบบเครือข่าย รวมถึงเป็นการประหยัดพื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ระบบเครือข่าย และการดำเนินการอื่น ๆ ด้วย

“จำนวนสาขากบค. รวมทั้งหมด 108 สาขาทั่วประเทศ และมีสถานรักษาทรัพย์และโกดังเก็บสำนวนอีก 2 แห่ง รวม 110 แห่ง ซึ่งหากใช้งานระบบเครือข่าย GIN แบบเต็มรูปแบบจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

การเชื่อมโยงระบบของกบค. กับ สรอ. หลังจากลงบันทึกข้อตกลงแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ในการเข้าถึงระบบแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระบบมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นยังทำให้กระบวนการบังคับคดีสามารถเข้าถึงได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน และสถานะการปฏิบัติงานว่าดำเนินการถึงขั้นตอนใด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการสำหรับการปฏิบัติงานด้านการบังคับคดีแพ่งได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับคดีในสังคมได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่กบค. จะนำมาไว้บนบริการของสรอ. หลักๆ ได้แก่ระบบงานบังคับคดีแพ่ง ซึ่งเป็น Operation ของกบค. ส่วนระบบอื่นๆ ที่เป็นระบบการให้บริการประชาชน เช่น ระบบตรวจสอบข้อมูลบุคคลล้มละลาย กบค. ก็จะนำไปอยู่บนบริการของสรอ. เช่นกัน ในอนาคตกบค. จะนำระบบงานบังคับคดีล้มละลาย และระบบงานอื่นๆ ตามภารกิจหลักขึ้นบนบริการของสรอ. ทั้งหมด

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับกรมบังคับคดี หรือกบค. ในครั้งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ของสรอ. ในการที่จะนำข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมมาอยู่ในบริการของสรอ.ทั้งหมดในอนาคตอันใกล้ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานยุติธรรมทั้งหมดได้จัดทำโครงการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม หรือ DXC อยู่แล้ว เมื่อกบค.เข้าสู่ระบบของสรอ.แล้วโอกาสที่อีก 14 หน่วยงานในโครงการ DXC จะเข้ามาด้วยก็มีความเป็นไปได้สูง

จากเป้าหมายของสรอ.ในโครงการ DXC นั้นจะประกอบไปด้วย 1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี ฐานข้อมูลประกาศสืบจับ, ฐานข้อมูลผู้กระทำผิดกฎหมาย, ฐานข้อมูลคดีรถหาย, ฐานข้อมูลคดีคนหาย 2. สำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีฐานข้อมูลสาระบบคดี 3. กรมราชทัณฑ์ ที่มี ฐานข้อมูลผู้ต้องขัง 4. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่มี ฐานข้อมูลเยาวชนผู้กระทำผิด5. กรมคุมประพฤติ ที่มี ฐานข้อมูลผู้ถูกคุมประพฤติ, ฐานข้อมูลอาสาสมัครคุมประพฤติ

6. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI 7. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่มี ฐานข้อมูลผู้ต้องหาคดียาเสพติด 8. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่มี ฐานข้อมูลคดี 9. ที่มี ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร 10. กรมการขนส่งทางบก ที่มี ฐานข้อมูลทะเบียนรถยนต์, ฐานข้อมูลใบขับขี่รถยนต์

11. สำนักงานกิจการยุติธรรม 12. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม 13. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) ที่มี ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ครัวเรือน), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ศบย.), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (หมายจับ ป.วิอาญา), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (เป้าหมาย), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ปปส.), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ใบขับขี่), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (ทะเบียนรถ), ฐานข้อมูลข้อมูลบุคคล (หนังสือเดินทาง)

14. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี ฐานข้อมูลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้, ฐานข้อมูลบุคคลสูญหาย, ฐานข้อมูลร้องเรียนความไม่เป็นธรรม ซึ่งมีหลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาใช้บริการของสรอ.แล้ว และหากฐานข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงถึงกันบนบริการของสรอ. ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความปลอดภัย

View :1364

กรมการปกครองจับมือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ผลักระบบเลข 13 หลักของบัตรชาชน เข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

June 16th, 2012 No comments


หวังให้ทุกหน่วยงานดึงฐานข้อมูลหลักผ่านอินเทอร์เน็ต เชื่อประหยัดงบประมาณ และสร้างมาตรฐานการใช้งานภาครัฐใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนในระยะยาว

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาระบบบริการภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน โดยต้องอิงจากฐานข้อมูลจริงเพื่อยืนยันการเป็นตัวตนของแต่ละคน
ดังนั้นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย จึงมีความสำคัญอย่างมาก และเป็นความท้าทายของกระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องพัฒนาให้มีความก้าวหน้า ปลอดภัย และรองรับการใช้งานของทุกส่วนราชการต่อไป
การเชื่อมต่อกับระบบไอทีของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ.ในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้วางรากฐานข้อมูลประชากรมาตั้งแต่ปี 2525 โดยการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ และสร้างดัชนีให้กับรายการบุคคลทุกคนที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูล ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งปัจจุบันมี จำนวน 103 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเช่น กรมการกงสุล ใช้ในการบริการประชาชนด้านการออกหนังสือเดินทาง
กรมการขนส่งทางบก ใช้ในการออกใบอนุญาตขับรถ โดยเฉพาะกรมสรรพากรได้มีการปรับเปลี่ยนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
มาเป็นเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแทน

นอกจากนั้น กระทรวงมหาดไทย ยังให้ความสำคัญกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ให้สามารถจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ ไม่ต้องเดินทางกลับมาทำที่ประเทศไทย ซึ่งในปี 2555 จะดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนนำร่อง ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย จำนวน 6 แห่ง รวมทั้งได้สนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการพัฒนาระบบการเลือกตั้งทั่วไป สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ด้วย ซึ่งนับได้ว่า ในยุคของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น การได้ร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญในการขยายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไปสู่การให้บริการต่อประชาชนอย่างแท้จริง

นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หนึ่งในพันธกิจเร่งด่วนของกระทรวงไอซีทีในขณะนี้คือ การสร้างระบบการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐโดยใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน หรือ Citizen Smart Info ขึ้นมา โดยเป้าหมายสูงสุดของระบบนี้คือ การที่ประชาชนทั่วไปสามารถนำข้อมูลของตนเองที่เกี่ยวกับธุรกรรมภาครัฐมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสะดวกสบายและทั่วถึงนโยบาย Citizen Smart Info นั้นต้องการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลแบบ Single Sign On หรือการใช้รหัสผ่านครั้งเดียว ก็สามารถดึงข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองขึ้นมาได้
ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของตน เพื่อทำให้เกิดการวางแผนและบริหารกิจกรรมต่างๆ ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งต้องนำข้อมูลบัตรประชาชนจากกรมการปกครองมาเป็นตัวอ้างอิงหลัก ไปสู่บริการของหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ง่ายขึ้น จากเดิมหากหน่วยงานใดต้องการใช้ข้อมูลของกรมการปกครองก็จำเป็นต้องเดินสายต่อเชื่อมข้อมูลเข้าหากรมการปกครองโดยตรง ซึ่งสร้างภาระงบประมาณทั้งกรมการปกครองและหน่วยงานต่างๆ และยังทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการสถาปัตยกรรมทางด้านไอซีทีเป็นอย่างมาก

การลงนามสัญญาบันทึกข้อตกลงหรือ การทำ MOU ระหว่างกรมการปกครองกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสรอ.จึงเป็นการจัดระบบและสร้างความร่วมมือให้เกิดระบบ Citizen Smart Info ด้วยการที่สรอ.จะเข้าไปเพิ่มขนาดเครือข่ายจากกรมการปกครอง
ซึ่งเป็นปลายทางหลักเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มของสรอ. ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ หรือ Government
Information Network หรือ GIN แล้วสร้างระบบเซิร์ฟเวอร์ของสรอ.ให้เป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง

ดังนั้นสรอ.จะกลายเป็นแม่ข่ายหลักในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างๆ แทนกรมการปกครอง หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้ฐานข้อมูลบัตรประชาชนก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในรูปแบบของข้อมูลดิบ หรือผ่านระบบแอพพลิเคชันที่เขียนขึ้นมาครอบฐานข้อมูลนี้

ในทางปฏิบัติต่อจากการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้เสร็จแล้ว ทุกหน่วยงานหากจะใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนเพียงแค่ทำความตกลงกับกรมการปกครอง หลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนทางด้านไอทีเพิ่มเติมก็สามารถเชื่อมต่อข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ GIN ซึ่งไม่มีค่าบริการ ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทุกหน่วยงานก็จะต้องเร่งพัฒนาแอพพลิเคชันของตนเองเป็นระบบ Web Services เพื่อเรียกการใช้งานผ่านคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ. ได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นจะเกิดมาตรฐานกลางของแอพพลิเคชันต่างๆขึ้นมา
ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลข้ามหน่วยงานด้วยกันทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันถ้าหากแอพพลิเคชันและข้อมูลเหล่านั้นติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ.ด้วยแล้วก็จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการเรียกใช้บริการง่ายขึ้นอีกด้วย จากแผนงานหลักของสรอ.ในการเร่งพัฒนาระบบ GIN และคลาวด์คอมพิวติ้งให้มีประสิทธิภาพแล้ว คาดว่าภายในปีนี้จะมีบริการหลักของหน่วยงานรัฐมาเข้าสู่ระบบเพื่อบริการประชาชนได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์คนพิการ สปสช.,โครงการพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเมื่อหน่วยงานเข้ามาใช้บริการแล้ว จะดึงดูดให้บริการส่วนอื่นๆ เข้ามาต่อเชื่อมเพื่อใช้ฐานข้อมูลร่วมกันได้ง่ายขึ้น และคาดว่าภายในปีหน้าจะมีหน่วยงานไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยงานเข้ามาเชื่อมต่อฐานข้อมูลร่วมกันได้ และคาดว่าภายใน 3 ปีนี้จะมีหน่วยงานรัฐที่พร้อมจะเข้ามาร่วมในโครงการ Citizen Smart Info มากกว่า 50%

นอกจากการผลักดัน Citizen Smart Info กระทรวงไอซีทียังดำเนินการในส่วนอื่นๆ ไปพร้อมกันไม่ว่าจะเป็น smart province, โครงการ ICT Free Wifi และอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมในการใช้ Citizen Smart Info ได้อย่างสมบูรณ์แบบไปพร้อมๆ กัน

นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า งานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเป็นด่านแรกของการให้บริการภาครัฐ เนื่องจากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิสูจน์ ยืนยัน และรับรองตัวบุคคล เพื่อการเข้าถึงบริการภาครัฐและเอกชนได้ ดังนั้น หากมีการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของส่วนราชการต่าง ๆ กับกรมการปกครองแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันกรมการปกครอง ได้อนุญาตให้ส่วนราชการต่าง ๆ เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง จำนวน 103 หน่วยงาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณการใช้งานจากการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรของกรมการปกครอง มากกว่าปีละ 100 ล้านรายการ โดยหน่วยงานที่มีการใช้งานมากที่สุดคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ใช้สูงถึง 24,500,547 รายการต่อปี รองลงมาคือ กรมการขนส่งทางบก 14,296,246 รายการ ขณะที่หน่วยงานอันดับสามคือ กรมสรรพากร 13,131,703 รายการ ทุกหน่วยงานมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคเอกชน ที่กฎหมายยังไม่อนุญาตให้สามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ได้นั้น กรมการปกครองได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ การอนุญาตให้ใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card แทน หรือเรียกว่า Smart Card Off-line
ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว
จำนวน 86 หน่วยงาน เพื่อต้องการอ่านข้อมูลตามรายการที่ปรากฏตามหน้าบัตรประจำตัวประชาชนที่กรมการปกครองได้จัดเก็บไว้ใน IC Chip ซึ่งรวมถึงภาพใบหน้า

นอกจากนั้นยังได้จัดเก็บข้อมูลของส่วนราชการอื่น ๆ ที่จำเป็นไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนด้วย เช่น ข้อมูลการแสดงสิทธิการรักษาพยาบาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงสิทธิการรักษาพยาบาลต่อสถานพยาบาลได้ ในส่วนของภาคเอกชน เช่น ธนาคาร รวมทั้งสถาบันการเงิน ได้เห็นประโยชน์ในการใช้งานโปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการแอบอ้าง สวมตัวเจ้าของรายการบุคคล ซึ่งการอ่านข้อมูลจาก IC Chip ในบัตรฯ สามารถพิสูจน์ ยืนยัน ตัวตนที่แท้จริงได้ และช่วยลดขั้นตอนการบันทึกข้อมูลใหม่ที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ ลดการใช้กระดาษ ลดความเสี่ยงการใช้เอกสารปลอม ที่สำคัญประชาชนได้รับบริการที่ถูกต้อง สะดวก รวดเร็วมากขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า แผนดำเนินการ 3 ขั้นตอนเพื่อทำให้โครงการ การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริการภาครัฐโดยใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน (Citizen Smart Info) ลุล่วงนั้นประกอบด้วย ขั้นที่ 1 คือการลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับกรมการปกครองในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกหน่วยงานภาครัฐสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของกรมการปกครองและนำไปใช้ได้ทันที โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ในขั้นตอนนี้ทางสรอ.ใช้วิธีบริหารจัดการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) ขึ้นมาใหม่
จากเดิมเป็นการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

จากจุดเริ่มนี้สรอ.ได้เข้ามาตั้งค่าการใช้งาน GIN ให้กับหน่วยงานหลักที่มีความจำเป็นมากขึ้นตามความต้องการใช้งานจริง ในกรณีของระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองที่จะต้องเป็นฐานข้อมูลหลัก ทางสรอ.ได้เพิ่มปริมาณขนาดของเครือข่ายเป็น 50 MPs ในปีนี้
และหากมีความต้องการดึงฐานข้อมูลจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทางสรอ.ก็พร้อมจะเพิ่มขนาดเครือข่ายให้เป็น 100 MPs ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นขนาดเครือข่ายที่ใหญ่มากขณะเดียวกันฐานข้อมูลทั้งหมดของกรมการปกครองจะเข้ามาใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งของสรอ.
ที่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ระบบ GIN อยู่แล้วสามารถดึงฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายภายในนี้ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องต่อสายตรงไปยังกรมการปกครองเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้อย่างมาก

การดำเนินการประการที่สอง ทางสรอ.มีข้อตกลงกับทางกรมการปกครองในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงมีระบบความปลอดภัยสูงสุดด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถขยายฐานการใช้งานไปได้อย่างไม่จำกัด
โดยมีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยมาสนับสนุน และยังทำให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เข้ามาใช้งานสามารถเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ร่วมกัน
เพื่อทำให้เกิดเอกภาพในการใช้งานระหว่างกันในอนาคต โดยงบประมาณในส่วนของการพัฒนาศูนย์ดาตาเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์คอมพิวติ้งนั้น ทางสรอ.จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดหา โดยในปีแรกจะใช้ประมาณ 50 ล้านบาท และจะเร่งเพิ่มเติมงบประมาณมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐ 30 หน่วยงานอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบ

ดังนั้นทิศทางจากนี้ไป จะมีทั้งหน่วยงานรัฐที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลของกรมการปกครองมากขึ้น โดยลงทุนระบบคอมพิวเตอร์น้อยลง ขณะเดียวกันแต่ละหน่วยงานก็สามารถแบ่งปันข้อมูลของหน่วยงานตัวเองเข้ามาในระบบมากขึ้น และกรมการปกครองรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้งานได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางสรอ.จะทำหน้าที่ในการประสานงาน และเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการวางระบบสถาปัตยกรรมในส่วนนี้ต่อไปอีกประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของสรอ.ในโครงการ Citizen Smart Info คือ การทำต้นแบบให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ง่าย โดยสรอ.จะนำไปเชื่อมโยงกับโครงการ Smart Province หรือจังหวัดอัจฉริยะ ด้วยการจัดทำกล่องอัจฉริยะต้นแบบไปติดตั้งที่จังหวัด เพื่อเป็นเครืองทดลองใช้ หรือ demo ซึ่งในกล่องนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐทุกรูปแบบ โดยอิงกับฐานข้อมูลบัตรประชาชนของตนเอง ซึ่งในอนาคตกล่องรับสัญญาณนี้จะเหมือนกล่องรับชมทีวีดาวเทียมปกติ และสามารถไปติดตั้งตามบ้านได้ หรือเป็นแอพพลิเคชันเสริมให้กับผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณที่นอกจากจะดูทีวีตามปกติ ยังสามารถใช้งานฐานข้อมูลส่วนบุคคลได้ต่อไป

View :1777

สรอ.เดินหน้า ใส่บริการเสริม ปรับเครือข่ายสื่อสารเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐเป็น GIN 2.0

March 28th, 2012 No comments

มั่นใจช่วยหน่วยงานรัฐเชื่อมต่อบริการภาครัฐสำคัญๆ ผ่านเครือข่ายได้ทันที พร้อมปรับสร้างเครือข่ายใหม่ลดความซ้ำซ้อน เสริมเทคโนโลยีไฮเทครองรับ เพิ่มความเร็วของการใช้งาน

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ หรือ สรอ. เปิดเผยว่า ในไตรมาสสามของปีนี้ สรอ.ได้ผลักดันให้ ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐหรือระบบ GIN เป็นเวอร์ชั่น GIN2.0 โดยจะทำเครือข่าย GIN ให้เป็นเครือข่ายที่ทันสมัยที่รองรับทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการผนวกเข้ากับระบบบริการสำคัญๆของภาครัฐ เพื่อเสริมประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้งานเครือข่าย GIN

เครือข่าย GIN2.0 ได้ยกระดับโครงข่ายหลักเป็นไปสู่ IPV6 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถรองรับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดได้ โดยหน่วยงานที่เชื่อมต่อสามารถเข้าสู่ระบบ IPV6 โดยอัตโนมัติ แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ต้องดำเนินการปรับปรุงระบบภายในของตนให้เป็น IPV6 เช่นกัน ซึ่งสรอ. กำลังช่วยผลักดันอยู่ทั้งการให้ความรู้ และเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการเร่งให้เครือข่ายทั้งระบบเข้าสู่โปรโตคอลนี้โดยเร็วที่สุด นอกจากนั้น GIN2.0 ยังมีระบบ Time Stamp, Single Sign On, Advanced VDO Conference, System Center Configuration Manager (SCCM) ที่ทำให้ระบบ GIN2.0 มีความทันสมัยที่สุด โดยจะทยอยผลักดันออกมาให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานทุกหน่วยเมื่อเชื่อมต่อเข้ากับ GIN2.0 แล้ว หากมีการบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานรัฐอย่าง ระบบทะเบียนราษฎร์ ของกรมการปกครอง ที่เป็นระบบแจ้งรายละเอียดและยืนยันตัวบุคคล รหัส 13 หลักของงานทะเบียนราษฎร์ ประโยชน์คือ สามารถตรวจสอบประวัติบุคคลทั่วไปได้ โดยผ่านเครือข่าย GIN โดยที่ไม่ต้องเดินสายต่อตรงไปที่กรมการปกครองอีก, นอกจากนี้สรอ. ยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับอีกหลายระบบงาน อย่างเช่น ระบบ GFMIS ของ กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ ประโยชน์คือ หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เชื่อมกับระบบนี้ผ่าน GIN2.0 สามารถกรอกความก้าวหน้าในการใช้งบประมาณของหน่วยงานไปยังกรมบัญชีกลางได้ทันที

ระบบ NSW ของกรมศุลกากร ซึ่งเป็นระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในด้านการทำใบอนุญาตการส่งออก-นำเข้า ซึ่งหน่วยงานรัฐต่างๆ สามารถตรวจสอบการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้เข้ากับหน่วยงานของตนเองได้โดยทันที, ระบบ CABNET ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือ สลค.ซึ่งเป็นระบบการแจ้งวาระการประชุมและส่งเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการนำเรื่องเข้าประชุมครม. สามารถตรวจสอบวาระที่มีอยู่แล้ว และยังสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาของการนำเสนอเรื่องเข้าประชุมของหน่วยงานตนเองได้ ทำให้เวลาที่ใช้ในการประสานงานลดน้อยลง

ระบบ GSMS ของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นระบบการบริหารยุทธศาสตร์ขององค์การภาครัฐ เป็นระบบที่ช่วยในการออกแบบและการวางแผนการจัดการยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนการปฎิบัติการและการติดตามความก้าวหน้าในการปฎิบัติงาน หน่วยงานภาครัฐที่ใช้ GIN2.0 ก็สามารถเชื่อมโยงและตรวจสอบแผนของหน่วยงานของตนเองเข้ากับระบบของกพร.ได้โดยทันที และสุดท้ายคือ ระบบเชื่อมโยงระบบสารบรรณภาครัฐ ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือเป็นแอพพลิเคชันหลักในการทำงานอย่างหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน

การเชื่อมโยงระบบงานหลักๆ ของภาครัฐ ให้สามารถใช้บริการผ่าน GIN ได้จะช่วยภาครัฐลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณด้านเครือข่ายได้เป็นอย่างมาก โดยหน่วยงานไม่จำเป็นต้องเดินสายเครือข่ายตรงไปที่หน่วยงานบริการระบบหลักต่างๆ อีกต่อไป สามารถใช้ผ่านเครือข่ายที่ให่บริการและดูแลโดยสรอ. ไดทันที ทั้งนี้ สรอ. เตรียมพิจารณาระบบงานอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป

สิ่งที่เสริมเข้ามาเพิ่มเติมจากเครือข่าย GIN เดิมอีกประเด็นคือ สรอ.ได้ทำการออกแบบโครงข่ายเน็ตเวิร์คใหม่ถือเป็นการลดความซ้ำซ้อนของโครงข่าย จากเดิมที่เน้นการเดินสายโครงข่ายคู่กันไประหว่าง CAT และ TOT ในจำนวนเท่ากัน มาเป็นการปรับเครือข่ายหลักและสำรองตามความต้องการจริงของหน่วยงานุผู้ใช้บริการ โดยเสริมบริการสำคัญตามมาตรฐานสากล และมีสร้างระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความสะดวก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเป้าหมายของสรอ.ในการให้บริการคือ หน่วยงานรัฐในกรุงเทพมหานคร จะมีการรับรองระดับการให้บริการ หรือ Service Level Agreement (SLA) ไม่ต่ำกว่า 99.3% ขณะที่ต่างจังหวัดจะเป็น 99.00% โดยเป็นการรับรองระดับบริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่ 99.50% ในปี 2555 และในปีถัดไปที่ กทม.จะเป็นขยับเพิ่ม SLA เป็น 99.50% ขณะที่ต่างจังหวัดจะเพิ่มเป็น 99.30% สำหรับอินเทอร์เน็ตเกตเวย์จะยังเพิ่มเป็น 99.95% โดยเน้นการบริหารเครือข่ายหลักไปที่ระดับกระทรวง และจังหวัดเป็นหลัก

นอกจากนั้นทางสรอ.ยังได้จัดทำระบบคอลล์เซ็นเตอร์ ที่เป็นศูนย์กลางการรับแจ้งและตอบปัญหาตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีหยุดพัก อย่างไรก็ตามแม้ว่าสรอ.จะทำการปรับปรุงการบริการส่วนเสริมที่ใช้ทางด้านเทคโนโลยี การบริการ และการเชื่อมโยงส่วนของข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาเสริม แต่ในส่วนของโครงข่ายหลักซึ่งถือว่าเป็นส่วนของการลงทุนนั้นในปีนี้สรอ.ได้รับพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 55 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเครือข่าย GIN เพื่อรองรับการใช้งานให้กับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งได้ครบถ้วนตามที่ร้องขอ จึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากหน่วยงานรัฐนั้นๆ เพื่อให้บริการได้ตามวัตถุประสงค์ ด้วยการโอนงบประมาณหรือจัดทำสัญญาจ้างกับ สรอ. ในช่วงปีแรกเข้ามาแทนที่

View :1510

ครม. ตั้งประธานและกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่ ก.ไอซีทีเสนอ

May 18th, 2011 No comments

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ว่า หลังจากที่ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ.ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา โดยพระราชกฤษฎีกามาตรา 13 ได้กำหนดให้มี “ คณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ” ที่ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการบริหารจัดการหรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อสำนักงาน ทั้งด้านทรัพยากรบุคคล ด้านการเงิน การบัญชี และงบประมาณ การตรวจสอบประเมินผล และการบริหารความเสี่ยง ด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“ จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงฯ เสนอ ได้แก่ นายวรากรณ์ สามโกเศศประธานกรรมการ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการและทรัพยากรบุคคล และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสำนักงาน นางจารุพร ไวยนันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี และงบประมาณ การตรวจสอบประเมินผลและ การบริหารความเสี่ยง พ.อ. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายไชยเจริญ อติแพทย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ” นายจุติ กล่าว

สำหรับประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนนี้ ได้ผ่านกระบวนการสรรหาตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2554 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ซึ่งกระบวนการสรรหานั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการผู้ทำหน้าที่สรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยวิธีการทาบทามตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาฯ หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาได้เสนอรายชื่อบุคคลผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน และมอบหมายให้เลขานุการคณะกรรมการฯ ไปตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นให้เรียบร้อย เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลตามที่เสนอภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชกฤษฎีกา แล้วจึงดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเหลือจำนวน 6 คน พร้อมทั้งเลือกประธานกรรมการ จำนวน 1 คน ด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงแบบลับ ตามบทบัญญัติหมวด 5 ของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งหากพ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกแต่ต้องไม่ติดต่อกันเกินสองวาระ

View :1433